จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"สมเด็จช่วง"นั่งหัวโต๊ะประชุมมหาเถรสมาคม(มส.) สรุปกรณี"ธัมมชโย"ยุติแล้ว หลังจากเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานีและเจ้าคณะภาคไม่รับฟ้องตามกฎนิคหกรรม เมื่อปี 42 และผู้ฟ้องไม่ยื่นอุทธรณ์ ทำให้ไม่มีการพิจารณาว่าปาราชิกหรือไม่ ส่วนคดีทางโลก อัยการก็ถอนฟ้องไปแล้ว อ้างเคยประชุมเรื่องนี้นับ 100 ครั้ง หลังมีพระลิขิตสังฆราช ไม่ได้ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เตรียมส่งหนังสือแจงดีเอสไอภายใน 12 ก.พ.นี้
วันนี้ (10 ก.พ.)ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ได้มีการประชุมคณะกรรมการมหาเถรสมาคม(มส.)โดยมีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธานการประชุมโดยใช้เวลาการประชุม กว่า 2 ชั่วโมง
นายชยพล พงษ์สีดา รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) แถลงผลประชุม มส.ว่า ที่ประชุม มส.ได้เห็นชอบร่างหนังสือชี้แจงกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กรณีการตอบสนองพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช และข้อกล่าวหาคดียักยอกทรัพย์ของพระเทพญาณมหามุนี (พระธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ซึ่งก่อนหน้านี้ พศ.และผู้แทน มส.ได้หารือกับ ดีเอสถึง 2 ครั้ง โดยร่างหนังสือชี้แจงมีสาระโดยสรุปว่า พศ.และ มส.ยืนยันได้ตอบสนองต่อพระลิขิตของสมเด็จพระสังฆราช กรณีพระธัมมชโยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะมีการตีความว่า พระลิขิต เป็นพระบัญชาหรือพระดำริก็ตาม ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ในช่วงปี 2542 - 2544 มส.ได้มีการประชุมหารือในเรื่องดังกล่าวนับ 100 ครั้ง
นายชยพล กล่าวว่า การดำเนินคดีทางสงฆ์ใช้กฎนิคหกรรมฉบับที่ 11 ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 หากเปรียบในคดีทางโลกจะเริ่มต้นจากศาลชั้นต้น โดยมีเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี รองเจ้าคณะภาค และเจ้าคณะภาค ร่วมกันพิจารณา ในปี 2542 ที่มีการยื่นฟ้องคดีทางสงฆ์กล่าวหาพระธัมมชโย ในขณะนั้นดำรงสมณศักดิ์ที่พระราชภาวนาวิสุทธิ์ ซึ่งคณะพิจารณาของศาลชั้นต้นทางสงฆ์ไม่รับคำร้องของผู้ยื่นฟ้องคดี 2 คน คือ นายสมพร เทพสิทธา และนายมาณพ พลไพรินทร์ เนื่องจากคำร้องไม่สมบูรณ์และศาลชั้นต้นทางสงฆ์ได้เปิดโอกาสให้อุทธรณ์ภายใน 30 วัน แต่ผู้ยื่นฟ้องคดีไม่มายื่นอุทธรณ์และได้ถอนฟ้องไป 1 คน ทำให้การพิจารณาคดีในทางสงฆ์ต้องยุติลง และไม่มีการพิจารณาไปถึงกระบวนการที่ชี้ชัดว่า พระธัมมชโยอาบัติ ปาราชิก หรือไม่ ดังนั้น คดีทางสงฆ์จึงไปไม่ถึงการพิจารณาในขั้นศาลอุทธรณ์ทางสงฆ์ คือเจ้าคณะใหญ่หนกลาง และไม่ถึงขั้นศาลฎีกาทางสงฆ์ คือ มส. ขณะที่ผู้ยื่นฟ้องคดีทางสงฆ์ก็ได้มีการยื่นฟ้องคดีทางโลกพร้อมกันไปด้วย แต่ในเวลาต่อมาผู้ร้องขอถอนฟ้องทำให้อัยการถอนฟ้องคดี ส่งผลให้คดีทางโลกสิ้นสุดลงไปด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าหากจะมีการฟ้องร้องพระธัมมชโยอีกจะต้องเป็นข้อกล่าวหาในคดีอื่นๆ ที่เป็นคดีใหม่ ไม่ใช่กรณีข้อกล่าวหายักยอกที่ดิน โดยผู้ที่ต้องการฟ้องคดีทางสงฆ์จะต้องไปยื่นฟ้องที่เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เพราะเป็นเจ้าคณะปกครองโดยตรง
สำหรับกรณีที่ดีเอสไอ มองว่า มส.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 หรือไม่ กรณีของพระธัมมชโยยืนยันว่า พศ.และมส.ดำเนินงานเรื่องนี้อย่างเต็มที่แล้ว ส่วนการมองว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละ ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ทาง พศ.จะส่งหนังสือชี้แจงดีเอสไอโดยเร็วที่สุด หรืออย่างช้าไม่เกินวันที่ 12 ก.พ.นี้
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน