จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
ก.ล.ต.เพิ่มความเข้มกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียน เสนอ Sustainability Road map สู่เป้าหมายเติบโตอย่างยั่งยืน
กระแสเรียกร้องให้คณะกรรมการบมจ.ซีพี ออลล์ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนระดับแนวหน้า หามาตรการจัดการกับ 3 ผู้บริหารของ ซีพี ออลล์ ให้รับผิดชอบต่อกรณีใช้ข้อมูลภายในเข้าซื้อหุ้นแม็คโคร ดูท่าจะไม่จบลงง่ายๆ เพราะสังคมส่วนใหญ่ต้องการให้คณะกรรมการซีพี ออลล์ ลงดาบ 3 ผู้บริหารอย่างเด็ดขาด
ทว่าจนถึงวันนี้คณะกรรมการ ซีพี ออลล์ ยังไม่มีท่าทีที่จะจัดการกับ 3 ผู้บริหารตามที่สังคมเรียกร้องและยังคงอุ้ม 3 ผู้บริหารให้นั่งแท่นบริหารงานต่อ อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยไม่สนใจกระแสสังคมที่ต้องการให้บริษัทจดทะเบียนมีธรรมาภิบาลเป็นธงนำใน การบริหารงาน ดำเนินงานอย่างโปร่งใส
ขณะที่ก.ล.ต.เองก็มีความพยายามที่จะให้บริษัทจดทะเบียนไทยมีการพัฒนา อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนระดับสากล โดยนำ CG เข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่พึ่งเริ่มดำเนินการ แต่ได้เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2002 ซึ่งได้แต่งตั้งคณะกรรมการบรรษัทภิบาลแห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อนเรื่อง CG ให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยกำหนดเป็นปีแห่งบรรษัทภิบาล ทำให้การแก้ไขกฎหมายและกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว
วรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ตั้งแต่การแก้ไขกฎหมายให้ได้มาตรฐานสากล เช่น การเพิ่มคุณสมบัติ หน้าที่ความรับผิดชอบ และมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ของกรรมการ สิทธิของผู้ถือหุ้นรายย่อยในการแก้ไขวาระการประชุม อนุมัติรายการสำคัญ และการฟ้องร้องกรรมการเพื่อเรียกประโยชน์ที่กรรมการหรือผู้บริหารได้รับไป โดยมิชอบคืนให้แก่บริษัทจดทะเบียน มาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส รวมทั้งเพิ่มบทบาทของก.ล.ต. ในการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีของบริษัทจดทะเบียน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ มาประกอบ เช่น การมีคู่มือแนวปฏิบัติที่ชัดเจน ให้ บจ. ใช้เป็นแนวทาง การเข้าร่วมโครงการประเมินต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศ และระดับบริษัทจดทะเบียน การให้รางวัลต่าง ๆ เพื่อสร้างกำลังใจ ทำให้ระดับ CG ของไทยมีการได้พัฒนามาโดยตลอด
ปี 2556 ได้จัดทำแผนพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนขึ้น และเสนอ Sustainability Road map สำหรับบริษัทจดทะเบียนให้คณะกรรมการ ก.ล.ต. เห็นชอบในเดือน ธ.ค. 2556 โดยให้ความสำคัญกับ 3 ประเด็น ประกอบด้วย CG in substance, CSR in procuss ,Anti-corruption in practice (ดูภาพประกอบ)
ในปี 2557 กำหนดให้บจ. เปิดเผยข้อมูลนโยบายและมาตรการดำเนินการเกี่ยวกับ CSR in process และ Anti-corruption ในแบบ 56-1 ซึ่งจากการสำรวจในปี 2557 พบว่า 2 ใน 3 ของ บจ. มีการทำ CSR in process แต่ยังอยู่ในระดับเบื้องต้นคือ เป็นไปตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และมีเพียง 4% เท่านั้นที่พัฒนาในระดับสากล
เปิดเผยข้อมูลทำ CSR in process เพิ่ม
ทั้งนี้ ในปี 2558 กลต. ได้สุ่มสำรวจพบว่า จำนวน บจ. ที่เปิดเผยว่ามีการทำ CSR in process มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 89% จากเดิมที่เปิดเผย 82% ของจำนวนบริษัทที่ทำการสำรวจ
อย่างไรก็ดี บจ. ส่วนใหญ่ยังคงมองเรื่อง CG / ESG แยกออกจากการประกอบธุรกิจ และมองว่าการมี CG เป็นเรื่องของการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ ในขณะที่ในปัจจุบัน มีปัจจัยต่าง ๆ ที่ผลักดันให้ บจ. ต้องมี CG/ESG อยู่ในกระบวนการประกอบธุรกิจมากขึ้น เช่น ประชาคมโลกให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นกับการประกอบธุรกิจที่มีความรับผิดชอบ ต่อสังคมสิ่งแวดล้อม โดยไม่เห็นแต่ประโยชน์ทางด้านการเงินแต่เพียงอย่างเดียว ดังจะเห็นได้จากการมีหลักการสากลด้านความรับผิดชอบต่อสังคม เช่น ISO 26000 (มาตรฐานที่ให้คำแนะนำแก่ธุรกิจในการนำหลักความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวด ล้อม ไปปฏิบัติโดยสมัครใจ)
UN Global compact (หลักการ 10 ข้อ ประกอบด้วย 4 หมวด ที่กล่าวถึงสิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านคอร์รัปชั่น) Global Reporting Initiative (แนวปฏิบัติในการรายงานความยั่งยืน) และล่าสุดสหประชาชาติก็ได้กำหนดเป้าหมายสู่ปี 2030 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน การตื่นตัวกับปัญหาภาวะโลกร้อน ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาคอร์รัปชั่น
แนะธุรกิจปรับตัว
ขณะที่นักลงทุนสถาบันในต่างประเทศมีแนวโน้มที่จะเลือกลงทุนหรือเลือก คู่ค้า ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ธุรกิจที่ต้องการเงินทุนจากผู้ลงทุนจึงต้องปรับตัว
ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวผลักดันให้ภาคธุรกิจของไทยต้องนำ CG/ESG เข้าไปอยู่ในกระบวนการประกอบธุรกิจ คือประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสร้างประโยชน์ต่อกิจการ และเป็นหนทางที่จะทำให้ บจ. สามารถสร้างคุณค่าให้แก่กิจการได้อย่างยั่งยืน
สู่เป้าหมายเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) นั้น ตลาดทุนถือว่ามีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะเป็นแหล่งระดมทุนให้แก่ภาครัฐและเอกชน และการประกอบธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนถือเป็นกลไกในการขับเคลื่อนระบบ เศรษฐกิจ ก่อให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้ และเป็นช่องทางการออมการลงทุนของประชาชน ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนจึงต้องไม่ละเลยประโยชน์และผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้เสีย โดยไม่เห็นแต่ผลกำไรทางธุรกิจแต่เพียงอย่างเดียว
ก.ล.ต. ในฐานะผู้กำกับดูแลตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์ และองค์กร/สมาคม/หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้และมีนโย บายร่วมกันที่จะส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้บริษัท จดทะเบียนประกอบธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมมา ตั้งแต่ปี 2555 โดยร่วมกันออก “แนวทางความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ” ซึ่งครอบคลุมหลักการ 10 ด้านได้แก่ กำกับดูแลกิจการที่ดี ประกอบกิจการด้วยความเป็นธรรม ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน
เคารพสิทธิมนุษยชน ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ร่วมพัฒนาชุมชนหรือสังคม มีนวัตกรรมและเผยแพร่นวัตกรรม และจัดทำรายงานความยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ของสหประชาชาติ
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน