จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
สภาการหนังสือพิมพ์ฯหารือ"พล.ต. อ.จักรทิพย์" กรณีการดำเนินคดีกับสื่อฯ เสนอให้ลบชื่อจากทะเบียนประวัติอาชญากร บก.ผู้พิมพ์ฯ หลังคดีถึงที่สุด
นายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พร้อมคณะกรรมการบริหารสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้เดินทางเข้าพบ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะผู้บริหารของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เกี่ยวกับการนำเสนอข่าว และภาพข่าวของสื่อมวลชนในปัจจุบัน เพื่อนำมาปรับปรุง และเป็นแนวทางการทำงานของ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายตุลย์ ศิริกุลพิพัฒน์ กรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า การเข้าพบ ผบ.ตร. ของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในฐานะที่สื่อมวลชน และตำรวจมีหน้าที่เหมือนกัน คือ ทำความจริงให้ปรากฏ โดยมีประเด็นข้อหารือเกี่ยวกับการฟ้องร้องบรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ฐานหมิ่นประมาท ตาม พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ซึ่งเรื่องนี้มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาออกมาหลายฉบับ คุ้มครองเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าว และ ระบุชัดว่า บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา ไม่ต้องรับผิดในความผิดฐานหมิ่นประมาท จึงอยากให้ตำรวจพิจารณาอย่างรอบคอบ และให้ความเป็นธรรม ในการดำเนินคดี เช่นเดียวกับการแจ้งความดำเนินคดีบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ทั้งที่บรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด เนื่องจากรับผิดชอบในส่วนของสื่อสิ่งพิมพ์เท่านั้น ตรงนี้อยากให้ตำรวจให้ความเป็นธรรม พิจารณาดำเนินคดีเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจริงๆ เท่านั้น
"ประเด็นต่อมา คือ การบันทึกประวัติอาชญากรรมของบรรณาธิการ ที่ถูกฟ้องคดีหมิ่นประมาท หลายกรณีแม้คดีถึงที่สุดแล้ว แต่กลับไม่มีการลบออกจากระบบของกองทะเบียนประวัติอาชญากรรม ความล่าช้าดังกล่าว ทำให้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การทำธุรกรรมต่างๆ และประเด็นสุดท้ายที่มีการหารือ คือ กรณีที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าว และภาพโดยนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวหรือทำแผนประทุษกรรม ซึ่งอาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดย พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยินดีที่จะรับข้อเสนอ เพื่อนำไปพิจารณาให้ความเป็นธรรม"นายตุลย์ กล่าว
ด้านนางสุวรรณา จิตประภัสสร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับประเด็นสำคัญที่ได้มีการหารือกันในวันนี้ คือ กรณีที่ตำรวจนำตัวผู้ต้องมาแถลงข่าว ทำแผนประกอบคำรับสารภาพ หรือ ชี้จุดเกิดเหตุ เนื่องจากทางสภาการหนังสือพิมพ์ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมากว่า กรณีดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ต้องหา ขณะที่สื่อมวลชนเองก็เคยถูกฟ้องร้องถูกดำเนินคดี จากการนำเสนอภาพข่าวดังกล่าว จึงหารือเพื่อกำหนดมาตรการร่วมกันในการแก้ไขปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เคยมีคำสั่ง หรือ ระเบียบห้ามไม่ให้นำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว เว้นแต่กรณีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
พล.ต.อ.จักรทิพย์ ยืนยันว่า ที่ผ่านมาตำรวจทำตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาก่อนทุกครั้ง อย่างไรตามทาง ผบ.ตร. รับปากว่าจะมีการพิจารณาอย่างรอบคอบมากขึ้นในการนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวทุก ครั้ง ทั้งนี้ ตนเองมองว่าการที่ตำรวจ และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างใกล้ชิด จะทำให้การทำหน้าที่ของตำรวจและสื่อมวลชน พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น การกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาลดน้อยลง
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน