จากประชาชาติธุรกิจ
ในการประชุม อเมริกัน คอลเลจ ออฟ คาร์ดิโอโลจี ในนครชิคาโก รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา นายแพทย์ เบรนท์ มูห์เลสตีน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ ในฐานะผู้อำนวยการร่วมการวิจัยระบบหัวใจและหลอดเลือด ของสถาบันศูนย์การแพทย์โรคหัวใจอินเตอร์เมาเทน แห่งนครซอลท์เลคซิตี สหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึงผลการศึกษาวิจัยด้วยการสังเกตการณ์ซึ่งพบว่า ผู้ป่วยชายสูงอายุที่มีภาวะหลอดเลือดอุดตัน ซึ่งเข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการหัวใจวายและอาการสำคัญอื่นๆ ลงได้มากเมื่อเทียบกับชายสูงอายุที่ไม่ได้รับการบำบัดด้วยวิธีการดังกล่าว
ข้อสรุปดังกล่าวได้จากการศึกษาวิจัยด้วยการสังเกตการณ์ต่อกลุ่มตัวอย่างชายรวม 755 คน อายุระหว่าง 58-78 ปี ที่มีอาการป่วยหนักด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจและระดับเทสโทสเตอโรนต่ำ จากการเฝ้าสังเกตต่อเนื่องพบว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างซึ่งไม่ได้รับเทสโทสเตอโรน มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการหัวใจวาย, ภาวะสโตรค (ภาวะอุดตันของเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง), หรือเสียชีวิตในอีก 3 ปีถัดมา
ทั้งนี้หลังจาก 1 ปีผ่านไป 64 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยที่ไม่ได้รับเทสโทสเตอโรนเสริม จะเกิดภาวะหลอดเลือดร่วมหัวใจรุนแรงเกิดขึ้น ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับฮอร์โมนจะเกิดภาวะแบบเดียวกันเพียง 21 เปอร์เซ็นต์ หลังจาก 3 ปีการติดตามกลุ่มตัวอย่างพบว่า ผู้ป่วย 125 คนที่ไม่ได้เข้ารับเทสโทสเตอโรนบำบัด เกิดอาการภาวะหลอดเลือดร่วมหัวใจรุนแรง ในขณะที่ผู้เข้ารับการบำบัดเกิดอาการเพียง 60 รายเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์มูห์เลสตีนยอมรับว่าการวิจัยโดยการสังเกต ซึ่งเป็นรูปแบบการวิจัยที่อ่อนด้อยที่สุด ไม่ได้บ่งชี้ให้เห็นหลักฐานเพียงพอต่อการเสนอให้ผู้ป่วยทั้งหมดเข้ารับการบำบัดด้วยฮอร์โมน แต่ก็มีนัยสำคัญสำหรับเป็นพื้นฐานในการทำวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มในระดับคลินิกต่อไปเพื่อหาทางยืนยันเรื่องนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบัน เทสโทสเตอโรน ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อหัวใจ สำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกา เพิ่งมีคำสั่งเมื่อปี 2015 กำหนดให้ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เทสโทสเตอโรน ต้องระบุถึงอันตรายดังกล่าวกำกับไว้กับบรรจุภัณฑ์ด้วย
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน