จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...ทีมข่าวอาเซียนโพสต์ทูเดย์
นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2559 จนถึงวันนี้ เกือบ 4 เดือนของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ซึ่งหลายๆ คนคาดหวังว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในการเชื่อมโยงกันของประเทศในกลุ่มอาเซียน ทว่าในความเป็นจริงแล้วกลับไม่มีความคืบหน้าที่ชัดเจน นอกเสียจากการเชื่อมโยงกันทางเส้นทางคมนาคมขนส่งและการค้าระหว่างประเทศอาเซียนที่ดูจะคึกคักหลังจากเศรษฐกิจโลกอ่อนแอ
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยไปอาเซียนในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2559 มีมูลค่า 8,965.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกโดยรวมทุกประเทศขยายตัว 0.7% หรือมีมูลค่า 34,704.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่การนำเข้าของไทยในอาเซียนช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีมูลค่า 5,792.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 12.8% จากช่วงเดียวกันของปี 2558 ทำให้การค้าโดยรวมของไทยและอาเซียนลดลง 3.7%
มูลค่าการนำเข้าที่ลดลงมากทำให้การค้ารวมของไทยกับอาเซียนลดลงจาก 15,303.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันเมื่อปี 2558 เป็นมูลค่า 14,758.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2559 หรือลดลง 3.7%
อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ให้ความเห็นไว้ว่า 3-4 เดือนที่ผ่านมา หลังเข้าสู่เออีซี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่วนที่เห็นการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็เป็นไปตามธรรมชาติ ตามภาวะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (ซีแอลเอ็มวี) ประกอบด้วย กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่เติบโตสูง ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้เกิดจากการที่ภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นศูนย์
สิ่งที่ อัทธ์ มองว่าทุกสิ่งอย่างยังคงเหมือนเดิมนั้น ดูจากระเบียบการค้าชายแดนระหว่างกัน ที่ยังใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form D) ของแต่ละประเทศเหมือนเดิม ไม่มีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการค้าชายแดน การขนถ่ายสินค้าระหว่างกันยังไม่มีการเชื่อมโยงกัน การขนส่งสินค้าผ่านในแต่ละประเทศก็ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมในการผ่านแดนเช่นเดิม
ยกตัวอย่างกรณีการขนส่งสินค้าข้ามแดนที่ด่านเชียงของที่จะต้องผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่ประเทศจีนนั้น สินค้าจากไทยก็ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมในการขนถ่ายสินค้าผ่านแดนชายแดนทั้งในส่วนของ สปป.ลาว และจีนอยู่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีความพยายามในการเจรจากับทาง สปป. ลาว เพื่อให้รวมเป็นศูนย์ขนถ่ายสินค้าเดียวกับไทยแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้การค้าระหว่างกันติดขัด เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการคุยกันในระดับประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งเห็นว่าไทยจำเป็นที่จะต้องคุยกับเพื่อนบ้านแบบไตรภาคีทั้งในส่วนของไทย-สปป.ลาว-จีน และไทย-เมียนมา-จีน ขณะที่ สปป.ลาว และจีนมีการเจรจาในการขนถ่ายสินค้าระหว่างกันแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของสิทธิของเพื่อนบ้านที่จะบริหารจัดการบริเวณชายแดน เช่น สปป.ลาว เปรียบเสมือนทางผ่านสินค้าจากไทยเข้าไปจีน จึงทำให้ต้องมีจุดพักสินค้า เพื่อให้ได้ค่าธรรมเนียมในการขนถ่ายสินค้า ซึ่งจุดนี้เองที่ถือว่าเป็นข้อจำกัดสำคัญในการสร้างให้เกิดความร่วมมือและเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง
“เท่าที่มองตอนนี้ หลังเข้าสู่เออีซีไปแล้วก็ยังเหมือนเดิมกับตอนก่อนเข้าสู่เออีซี เพราะแต่ละประเทศยังกั๊กๆ กันอยู่ ยังไม่มีการนั่งโต๊ะเจรจากันอย่างจริงจัง ภาพรวมที่ออกมาเลยดูเหมือนไม่เคลื่อนหรือคืบหน้าไปเท่าที่ควร” อัทธ์ กล่าว
อย่างไรก็ดี เชื่อว่าการร่วมมือและเชื่อมโยงกันในอาเซียนน่าจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากกฎเกณฑ์กติกาการค้าชายแดนที่รัฐบาลแต่ละประเทศเจรจากัน และเชื่อว่าจะคลี่คลายและคืบหน้าไปเองตามธรรมชาติ จากการที่ สปป.ลาว และเมียนมามีการพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจของประเทศตัวเองให้เข้มแข็งขึ้น ซึ่งคงต้องใช้เวลา
นอกจากนี้ การที่จีนเข้ามามีบทบาทในกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะบริเวณด่านการค้าชายแดนของทุกประเทศและในทุกๆ กิจการ ทั้งกิจการโลจิสติกส์ สินค้าเกษตร การท่องเที่ยวและโรงแรม ก็น่าจะเป็นตัวผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างอาเซียนด้วยกันมากขึ้นเช่นกัน
“ตอบยากที่จะบอกว่าจะเห็นการเชื่อมโยงกันของอาเซียนอย่างแท้จริงได้เมื่อไหร่ เพราะขึ้นอยู่ที่แต่ละประเทศว่าจะพัฒนาแค่ไหน แต่ก็หวัง (ลึกๆ) ว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ จะเห็นการเปิดกติกาของอาเซียนมากขึ้น โดยเหตุผลที่มั่นใจว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะการลงทุนในซีแอลเอ็มวีที่เพิ่มมากขึ้นจะเป็นตัวผลักดันให้กฎกติกาการค้าระหว่างกันเปิดเสรีมากขึ้น ซึ่งเมื่อนั้นก็จะเห็นความร่วมมือและความเชื่อมโยงกันของอาเซียนที่ชัดเจนขึ้น” อัทธ์ กล่าว
ศิรินารถ ใจมั่น อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สิ่งที่ภาครัฐจะเร่งดำเนินการหลังจากนี้ คือ การจัดทำมาตรฐานระดับสากล และมาตรฐานระหว่างประเทศในแต่ละกลุ่มสินค้า ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าระหว่างกันในกลุ่มประเทศอาเซียน แม้สินค้าบางรายการจะลดอัตราภาษีลง แต่มาตรฐานสินค้าในแต่ละประเทศที่ยังไม่เอื้ออำนวย ทำให้การค้าไม่สะดวกเท่าที่ควร
รวมถึงการจัดทำระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (เนชั่นแนล ซิงเกิล วินโดว์) แบบไร้เอกสาร หรือการใช้เอกสารเพียงชุดเดียวในการดำเนินการ ที่แต่ละประเทศจะต้องจัดทำระบบดังกล่าวเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลไปสู่ อาเซียน ซิงเกิล วินโดว์ ด้วย ซึ่งได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้อีก 10 ปีข้างหน้า หรือ วิชั่น 2016-2025 ไว้แล้ว เพื่อจัดทำกฎระเบียบที่สอดคล้อง และอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างชาติอาเซียน
ขณะเดียวกัน อีกเรื่องที่สำคัญ คือ แนวนโยบายเขตเศรษฐกิจของแต่ละชาติสมาชิกอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศมีเขตเศรษฐกิจของตัวเอง และกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่อาจเป็นอีกหนึ่งปัญหาอุปสรรคสำคัญในการค้าระหว่างชาติอาเซียนในอนาคต
กุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ในส่วนงานของกรมศุลกากร คือ มุ่งเน้นอำนวยความสะดวกด้านการค้าให้มากที่สุด ซึ่ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ติดตามงาน โดยเฉพาะเรื่องเนชั่นแนล ซิงเกิล วินโดว์ ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2559 นี้ ซึ่งขณะนี้ได้ลงนามร่วมกับ 15 หน่วยงาน เหลืออีก 8 หน่วยงาน ที่จะต้องเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันให้แล้วเสร็จ เพื่อขยายไปสู่ “อาเซียน ซิงเกิล วินโดว์” ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ
ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมา กรมศุลกากรได้ลงนามความร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการค้าระหว่างกัน ที่ลงนามไปแล้ว คือ มาเลเซีย และกัมพูชา ที่กำลังจะลงนามเร็วๆ นี้ คือ ลาว และเมียนมา รวมถึงการจัดตั้งเขตปลอดภาษีในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
จับตา8แผนความร่วมมือปี'59
สำหรับการดำเนินการภายในอาเซียนปี 2559 ซึ่ง สปป.ลาว ในฐานะประธานอาเซียน ได้นำเสนอประเด็นสำคัญต่อที่ประชุม AEM Retreat เมื่อต้นเดือน มี.ค. มีจำนวน 8 เรื่องที่จะต้องเร่งผลักดัน
1.อาเซียน เทรด ฟาซิลิเทชั่น เฟรมเวิร์ก หรือเอทีเอฟเอฟ (ASEAN Trade Facilitation Framework : ATFF) มุ่งการดำเนินการเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่มีอยู่ภายใต้อาเซียนครอบคลุม 4 ประเด็น ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรและการขนส่ง ความโปร่งใสของกฎระเบียบ และกระบวนการค้าด้านการค้า การสร้างมาตรฐาน กฎเกณฑ์และความสอดคล้องทางเทคนิค และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน
2.อาเซียน ฟู้ด เซฟตี เรกูลาทอรี่ เฟรมเวิร์ก (ASEAN Food Safety Regulatory Framework) ซึ่งจะเป็นเอกสารกรอบแนวทางพื้นฐานร่วมสำหรับสมาชิกอาเซียนในการจัดตั้งระบบกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของอาหารที่สอดคล้องกันในอาเซียน ซึ่งกรอบนี้จะต้องพิจารณาให้การรับรองร่วมกัน โดยรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจด้านสุขภาพและด้านเกษตร โดยขณะนี้คณะกรรมการด้านสาธารณสุขและด้านการเกษตรกำลังจัดทำร่างเอกสาร
3.ดราฟต์ อินสติตูชั่นแนล เฟรมเวิร์ก ออน แอกเซส ทู ไฟแนนซ์ ฟอร์ เอ็มเอสเอ็มอี (Draft Institutional Framework on Access to Finance for MSMEs) กำหนดกรอบการดำเนิน การในการเข้าถึงแหล่งทุนของ MSMEs ของอาเซียน ซึ่งเป็น 1 ใน 5 เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2025 (พ.ศ. 2568)
4.การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เอื้อต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ประกอบด้วย รีพอร์ท ออน สตาร์ทติง อะ บิซิเนส (Report on Strating a Business) มีเป้าหมายหลัก คือ การจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงระบบการเริ่มต้นธุรกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเอกสารได้ศึกษาภาพรวมการเริ่มต้นธุรกิจของสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศ และ ทาริฟฟ์ ไฟน์เดอร์ (Tariff Finder) เป็นฐานข้อมูล เพื่อการค้นหาอัตราภาษีของสมาชิกอาเซียนและคูู่เจรจา
5.ดราฟต์ ไกด์ไลน์ ฟอร์ เอสอีแซด ดีเวลอปเมนต์ แอนด์ คอลลาบอเรชั่น (Draft Guidelines for SEZ Development and Collaboration) เป็นเอกสารซึ่งแนวทางเบื้องต้นในการกำหนดนโยบายเรื่อง SEZ ว่าครอบคลุมเรื่องใดบ้าง โดยเป็นกรอบแนวทางกว้างๆ ซึ่งในการดำเนินการต้องขึ้นอยู่กับกฎหมายที่เกี่ยวข้องของประเทศสมาชิก
6.ปฏิญญาเวียงจันทน์ เรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างการพิจารณา)
7.รางวัลด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอาเซียน (คณะทำงานด้านการท่องเที่ยวอยู่ระหว่างการพิจารณาหลักเกณฑ์) และสุดท้าย
8.มาสเตอร์แพลน ฟอร์ ซีแอลเอ็มวี ดีเวลลอปเมนต์ (Master Plan for CLMV Development) รวบรวมโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หรือซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ในกรอบต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและอนุภาค และจะนำเสนอต่อรัฐมนนตรีเศรษฐกิจและผู้นำ CLMV ต่อไป
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน