จากประชาชาติธุรกิจ
เด็กพิเศษ (Special Child) หมายถึง เด็กที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ มีความต้องการพิเศษ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือการมีส่วนร่วม การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้เด็กพิเศษไม่ได้หมายถึงเฉพาะเด็กที่มีความบกพร่อง และด้อยกว่าเด็กอื่นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเด็กที่มีความสามารถพิเศษ หรือมีศักยภาพในบางด้านมากกว่าเด็กอื่นๆอีกด้วย
โดยทั่วไปแล้ว เด็ก ๆทุกคนย่อมมีความแตกต่างหลากหลายกันไป และมีความพิเศษที่มีแง่มุมที่เป็นจุดเด่น จุดด้อย และรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกัน แม้แต่ฝาแฝดยังมีความคิดเห็นบางประเด็นที่เป็นของตนเอง และไม่เหมือนกับคู่แฝดได้ ดังนั้นในเรื่องของการเรียนการสอนในโรงเรียนก็เช่นเดียวกัน หากเด็ก ๆ แต่ละคนมีโอกาส หรือทางเลือกที่หลากหลายในการที่จะได้รับการเรียนการสอน หรือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ใด ๆ ให้เหมาะสมกับวิถีทางแห่งการเรียนรู้ที่เป็นแนวทางที่ตนเองถนัด หรือเป็นการเรียนรู้ที่ผ่านทางระบบประสาทการรับรู้ที่ตนเองรับได้ดี เช่นบางคนฟังบ่อย ๆจะจำได้ แต่บางคนต้องเห็นผ่านตา หรืออ่านซ้ำ ๆจึงจำได้ เป็นต้น หากทำให้ขบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้ผ่านทางช่องทางที่แต่ละคนถนัด หรือรับได้ดีแล้วจะมีการพัฒนาเกิดเป็นองค์ความรู้ต่อไปได้มาก อย่างไรก็ตามในกรณีที่เป็นระบบโรงเรียนทั้งหลายนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วในแต่ละโรงเรียนมีจำนวนนักเรียนมาก และจำนวนคุณครูน้อย จึงมีความจำเป็นที่ระบบการเรียนการสอนหรือหลักสูตรจะมีจำนวนไม่มาก เพราะค่อนข้างยากในการบริหารจัดการหากมีหลักสูตรที่แยกย่อยเป็นรายบุคคล
อย่างไรก็ตามสำหรับกรณีที่เป็นเด็กพิเศษนั้น มีความจำเป็นที่ในแต่ละบริบทที่อยู่รอบข้างเด็ก ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สังคมรอบ ๆ ตัวเด็ก รวมทั้งโรงเรียน ควรมีระบบที่รองรับความพิเศษของเด็กพิเศษแต่ละรายที่แตกต่างกันในแต่ละวิชาที่เด็กเรียน และอาจมีวิชาที่เรียนร่วมกันกับเด็กอื่น ๆได้บ้าง เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ทางสังคม หรือด้านปฏิสัมพันธ์ การสื่อสารต่างๆ ที่ไม่จำเพาะเจาะจงที่จะต้องเป็นด้านวิชาการอ่านเขียน หรือบวกลบคูณหารเท่านั้น
ประเภทและตัวอย่างของเด็กพิเศษ
1. เด็กที่มีความบกพร่องต่าง ๆ เช่น บกพร่องทางสติปัญญา การได้ยิน การมองเห็น การเคลื่อนไหว การสื่อสาร การเรียนรู้ อารมณ์ พฤติกรรม พัฒนาการ และความพิการซ้ำซ้อน
2. เด็กด้อยโอกาส เช่น เด็กต่างด้าว เด็กเร่ร่อน พลัดถิ่น หรือนอกระบบ เป็นต้น
3. เด็กที่มีศักยภาพพิเศษเฉพาะด้าน เช่น คำนวณ ภาษา กีฬา ศิลปะ หรือเด็กที่มีไอคิวสูงมาก เป็นต้น
ดังนั้นในกรณีที่ผู้ปกครอง หรือคุณครูที่ดูแลเด็ก ๆที่สงสัยว่าเด็กจะมีความพิเศษ ที่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือดูแลแบบองค์รวมที่แตกต่างจากเด็กอื่น ๆ แล้ว ควรมีแนวทางในการให้ข้อมูลกับผู้ปกครอง เพื่อพาเด็กมารับการตรวจประเมินจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัย และวางแนวทางในการรักษาดูแลจากทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน เพื่อให้เป็นที่เข้าใจร่วมกันว่าในการเรียนร่วมนั้นมิใช่เป็นการช่วยเหลือแบบได้สิทธิพิเศษแต่อย่างใด หากแต่เป็นการช่วยในประเด็นที่เด็กมีความบกพร่องอยู่ และเป็นการเติมหรือเสริมหรือช่วยบางอย่างเพื่อให้ความบกพร่องนั้นน้อยลงในกรณีที่ต้องเรียนร่วมกับเด็กปกติอื่นๆ ยกตัวอย่างที่พบ เช่นโรคการเรียนรู้บกพร่อง (LD: Learning Disorders) โรคสมาธิสั้น(ADHD: Attention Deficit Hyperactive Disorders) โรคออทิสติก (Autism) โรคความบกพร่องทางพัฒนาการหลายด้าน (PDD: Pervasive Developmental Disorders) และอื่น ๆ อีกมาก ที่ควรมีแนวทางการช่วยเหลือแบบรูปธรรมให้ชัดเจน และเหมาะสมกับเด็กแต่ละราย เช่น ในบางรายคุณครูอาจช่วยอ่านและอธิบายโจทย์ในกรณีที่เด็กมีภาวะด้านการเรียนรู้ด้านการอ่านบกพร่อง โดยหากไม่ช่วยเหลือ และมุ่งผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์เพียงด้านการเรียน หรือคะแนนจากสมุดรายงานผลการเรียน จะทำให้เด็กเหล่านี้เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ ในด้านที่ดีอื่น ๆ ที่ถูกละเลยหรือมองข้ามไป ทำให้เกิดผลกระทบตามมาได้อีก เช่น ถ้าผลการเรียนไม่ดี จะถูกตำหนิ ทำให้เสียความมั่นใจ มีปัญหาทางอารมณ์ และมีปัญหาทางพฤติกรรมตามมาเพิ่มเติม จนไม่อยากไปโรงเรียนได้ หากยังไม่ได้รับความช่วยเหลือจะส่งผลให้มีปมด้อย ไม่มั่นใจในตนเอง อาจคบเพื่อนเกเร ชวนกันโดดเรียน เป็นต้น
การช่วยเหลือดูแลเบื้องต้นที่ควรทำ
หาข้อดีและข้อด้อยในตัวเด็ก และปรับให้เหมาะสมโดยเสริมในจุดดี และช่วยพัฒนาในจุดที่ด้อยของเด็ก เช่น เด็กอาจไม่เก่งเลข แต่การอ่านภาษาไทยทำได้ดีมาก หรือ ไม่เก่งทุกวิชา แต่กีฬา และดนตรีถนัดมาก หากทราบรายละเอียดของเด็กพิเศษ หรือแม้แต่เด็กปกติที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละราย และเน้นเสริมสร้างจุดเด่นให้มีความภาคภูมิใจ และค่อย ๆ พัฒนาในส่วนที่ต้องเสริมเพิ่มเติมต่อไปด้วย โดยสร้างแรงจูงใจ แทนการตำหนิ วิชาใดเรียนร่วมได้ก็จัดร่วม หากวิชาใดมีความจำเป็นที่ต้องจัดแยกเฉพาะ ก็จัดแบบเดี่ยว หรือกลุ่มย่อยเล็กๆ หากผู้ปกครอง และคุณครูมีทัศนคติและมุมมองที่เป็นไปในทางบวกกับเด็กพิเศษแล้ว รวมทั้งยอมรับในตัวเด็กและภาวะที่เด็กเป็นมุ่งเสริมความมั่นใจ ให้เด็กๆ โดยดูจากจุดแข็งที่เด็กๆมีอยู่ แต่อาจถูกมองข้ามไป
หากพ่อ แม่ และผู้ปกครองหลายๆท่านในครอบครัว รวมทั้งคุณครูหลาย ๆท่านในโรงเรียนร่วมด้วยช่วยกันอย่างสม่ำเสมอแล้ว การเรียนร่วมของเด็กๆพิเศษต่างๆ ในแต่ละโรงเรียน คงไม่ใช่เรื่องยากหรือวุ่นวายมาก แต่อาจเป็นโอกาสให้เด็กปกติ ผู้ปกครอง รวมทั้งคุณครู และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย มีโอกาสในการพัฒนาตนเองและมีสิ่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมกันไปกับเด็กๆด้วยเช่นเดียวกัน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน