จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์นอกรอบ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ภาวะภัยแล้งโดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2559 ช่วยดันราคาสินค้าเกษตรรายการหลักพุ่งอย่างชัดเจน ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน
อย่างไรก็ดี ข้าวและปาล์มน้ำมัน เป็นรายการที่ราคาน่าจะยังยืนอยู่ในระดับดีได้อย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี ขณะที่ยางพาราและมันสำปะหลัง น่าจะได้รับแรงหนุนจากปัจจัยชั่วคราวอย่าง "ภัยแล้ง" ที่ทำให้ราคาดีขึ้น แต่คาดว่า ราคาไม่น่าจะยืนอยู่ในระดับดีได้จนถึงสิ้นปีนี้ ดังนั้น ผู้ประกอบการปลายน้ำที่ใช้สินค้าเกษตรเหล่านี้เป็นวัตถุดิบ อาจต้องมีการวางแผนในการบริหารด้าน "ต้นทุน" อย่างเป็นระบบ อันจะช่วยประคองผลกระทบต่อกำไรของธุรกิจในภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงมีความผันผวน
แม้ ราคาสินค้าเกษตรหลักที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงภัยแล้งจะส่งผลดีต่อเกษตรกรที่มี สินค้าในมือให้ได้รับอานิสงส์แต่ภาพรวมราคาสินค้าเกษตรทั้งปีคาดว่าอาจยังให้ภาพที่ไม่สดใสนัก จากปัจจัยด้านอุปทานที่ยังอยู่ในระดับสูง ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เพิ่งจะเริ่มทยอยฟื้นตัว และอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าที่ยังชะลอ ทำให้เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังคงต้องเผชิญความยากลำบากด้านรายได้ที่อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคธุรกิจที่ต้องอาศัยกำลังซื้อฐานราก เช่น ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร ธุรกิจบริการทางการเกษตร เป็นต้น
จากสถานการณ์ภัยแล้งที่คุกคามหลายพื้นที่ของไทยมาตั้งแต่ช่วงปลายปีก่อนต่อเนื่องมาในปี 2559 ได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรสำคัญหลายรายการ ทำให้ผลผลิตขาดตลาด ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 2 ได้เห็นการขยับขึ้นของราคาสินค้าเกษตรอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่มีผลผลิตในมือให้ได้รับอานิสงส์ไปด้วย
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าผลจากภัยแล้งผนวกกับผลของฤดูกาล ทำให้สินค้าเกษตรได้รับความเสียหาย จนผลผลิตขาดตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงดันราคาสินค้าเกษตร บางรายการให้ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2559 จะเห็นราคาขยับขึ้นอย่างชัดเจน เมื่อเทียบกับช่วงที่ราคาลงไปต่ำสุดในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2559 ทั้งข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน
อย่างไรก็ดี การที่ราคาสินค้าเกษตรที่ขยับขึ้นดังกล่าว หากจะสามารถยืนรักษาระดับไว้ได้จนถึงสิ้นปีนี้ คงต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ทั้งปัจจัยภายในประเทศ อย่างสถานการณ์น้ำฝนที่จะส่งผลต่ออุปทาน และปัจจัยนอกประเทศ อย่างราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าราคาสินค้าเกษตรที่ขยับขึ้นในช่วงภัยแล้งดังกล่าว อาจมีสินค้าเกษตรบางรายการที่ยังสามารถยืนรักษาระดับราคาที่ดีต่อไปได้จนถึงสิ้นปี และมีสินค้าเกษตรที่อาจได้รับแรงหนุนจากผลของปัจจัยชั่วคราวเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้ราคาไม่สามารถยืนต่อไปได้ และอาจปรับลดลงในช่วงที่เหลือของปี โดยมีสินค้าเกษตร ดังนี้
ข้าว ผลจากภัยแล้งที่น่าจะลากยาวกินเวลาครึ่งแรกของปี ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังเสียหายกว่าร้อยละ 24.5 ส่งผลให้ราคาขยับขึ้น และการระบายสต๊อกของรัฐบาลในช่วงเวลาที่เหมาะสมอาจช่วยหนุนราคาระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาสถานการณ์น้ำในช่วงครึ่งหลังของปี
ปาล์มน้ำมัน ผลผลิตน่าจะทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น ราคาอาจมีแนวโน้มอ่อนตัวลงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ราคาน่าจะอยู่ในเกณฑ์ดี คาดราว 5 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.5 จากความต้องการใช้ปาล์มน้ำมันที่มีรองรับทั้งในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงาน ซึ่งปริมาณการผลิตยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการในปีนี้
สินค้าเกษตรที่อาจไม่สามารถยืนรักษาระดับราคาได้ได้แก่ยางพารา-ผลผลิตน่าจะทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้นประกอบกับอุปสงค์จากจีนน่าจะยังชะลอตัวเป็นปัจจัยกดดันราคายาง แม้ราคาน้ำมันในตลาดโลกเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ผลผลิตยางพารายังคงเพิ่มขึ้น แม้จะประสบภัยแล้งและอากาศร้อนจัดช่วงต้นปี อีกทั้งการควบคุมอุปทานยางผ่านมาตรการภาครัฐด้วยการโค่นต้นยาง จะสามารถลดอุปทานได้ส่วนหนึ่ง แต่ผลผลิตยางยังอยู่ในระดับสูง แม้คาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปีนี้จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ราว 45-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ผลของอุปสงค์ที่ชะลอตัวเทียบกับอุปทานที่ยังคงสูง น่าจะมีมากกว่าผลของราคาน้ำมัน ทำให้คาดว่าราคายางแผ่นดิบชั้น 3 จะอยู่ที่ราว 41 บาทต่อกิโลกรัม หรือลดลงร้อยละ 9.2
มันสำปะหลัง-ผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น และอาจต้องเผชิญปัจจัยเสี่ยงด้านคำสั่งซื้อจากจีนที่อาจชะลอลง จากมาตรการการใช้ข้าวโพดในสต๊อกของจีนมาผลิตเอทานอล แทนการใช้มันสำปะหลัง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันราคามันสำปะหลัง แม้ผลผลิตทั้งปีอาจลดลงไปอยู่ที่ 28 ล้านตัน (ปี 2558 อยู่ที่ 32 ล้านตัน) แต่ด้วยแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ไม่สูงนัก และมาตรการการใช้ข้าวโพดของจีน จะยังเป็นแรงกดดันสำคัญต่อราคามันสำปะหลังในปีนี้
จากมุมมองต่อ แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรหลักในระยะที่เหลือของปี2559ดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบ การกลางและปลายน้ำที่ใช้ข้าวและปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบอาจมีต้นทุนการผลิต เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการกลางและปลายน้ำที่ใช้ยางพาราและมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบ อาจมีต้นทุนถูกลง
อย่างไรก็ดี บางพื้นที่ บางจังหวัด อาจมีปัจจัยเฉพาะในรายละเอียดที่แตกต่างจากภาพรวมได้ เช่น ปริมาณน้ำ ผลผลิตต่อไร่ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการควรมีการเตรียมพร้อม เพื่อวางแผนในการบริหารด้านต้นทุนการผลิตอย่างเป็นระบบ อันจะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อกำไรของธุรกิจในภาวะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงมีความผันผวน
นอกจากนี้ เมื่อหันกลับมามองด้านความเป็นอยู่ของเกษตรกร แม้ราคาสินค้าเกษตรที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงภัยแล้ง จะช่วยหนุนราคาให้เกษตรกรที่มีสินค้าในมือได้รับอานิสงส์ แต่ในภาพรวม ด้วยผลลบจากปริมาณผลผลิตที่เสียหายไปจากภัยแล้ง น่าจะมีมากกว่าผลบวกจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคา ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังอาจต้องเผชิญกับปัญหารายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 ส่งผลกระทบต่อไปยังภาคธุรกิจที่ต้องอาศัยกำลังซื้อฐานรากให้ต้องเผชิญความท้าทายเช่นกัน อาทิ ธุรกิจค้าปลีก ร้านอาหาร ธุรกิจบริการทางการเกษตร รวมถึงสินค้าเกี่ยวเนื่อง เช่น รถจักรยานยนต์ ที่ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2559 ยอดขายรถจักรยานยนต์หดตัวร้อยละ 7.7 เป็นต้น
ผู้ประกอบการควรมีการเร่งขยายช่องทางการตลาด มีการประชาสัมพันธ์ จัดโปรโมชั่นผ่อนชำระสินค้าด้วยอัตราดอกเบี้ยพิเศษ และขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติมจากลูกค้ากลุ่มเกษตรกร เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน