สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

Quarterly GNP

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์เรื่องเล่า "หม่อมเต่า" โดย ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล

ธนาคาร BIS (Bank for International Settlements) นักการเงินหรือนักธุรกิจทุกคนคงเคยได้ยิน แต่คงไม่ค่อยแน่ใจว่าเขาทำอะไร คนกระทรวงการคลังก็ไม่ค่อยแน่ใจว่าเขาทำอะไร และแบงก์ชาติเองที่เข้าใจดีก็มีไม่กี่คน

ธนาคารนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2473 เพื่ออำนวยความสะดวกให้เยอรมนีชำระหนี้สงครามโลกครั้งที่ 1

ผู้ถือหุ้นมีแต่ประเทศยุโรปที่ชนะสงครามและสหรัฐอเมริกา ยุโรปมีหุ้นมากกว่าสหรัฐอเมริกามาก ตอนนั้นฐานะของสหรัฐยังไม่ถึงกับทุกวันนี้

เมื่อจุดมุ่งหมายมีว่าให้ นำเงินเยอรมันไปชำระหนี้ประเทศอื่นชนิดที่จริงๆแล้วก็รับภาระไม่ไหวจึงเป็น ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้นมานั่นแหละ



ธนาคารนี้ตั้งอยู่ที่กรุงบาเซิล ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นประเทศไม่ฝักใฝ่ค่ายใด และมีลักษณะพิเศษ คือเป็นจุดศูนย์กลางของยุโรป

สมัยนั้นทุกคนเดินทางโดยรถไฟ รถไฟของยุโรปทุกสายที่จะไปประเทศอื่นผ่านเมืองนี้ จากกรุงออสโล นอร์เวย์ไปโรม บาเซิลอยู่ครึ่งทางพอดี ไปที่ไหนก็เรียกว่าครึ่งทางพอดีทั้งนั้น คล้าย ๆ ชุมทางหาดใหญ่สำหรับภาคใต้ของเรา ต่างตกลงมาพบกันที่นี่ มาพบกันครึ่งทาง

ในที่สุดหมดวาระเรื่องเยอรมนีชำระหนี้ แต่ยังใช้ธนาคารอยู่เป็นที่ประชุมระหว่างธนาคารกลางและการถือหุ้นยุโรป ยังเป็นเสียงข้างมากอยู่เสมอ

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อหน้าที่ชำระหนี้สงครามหมดไป และธนาคาร BIS ยังมีบทบาทอยู่ สหรัฐอเมริกาจึงทนไม่ไหวที่จะเห็นยุโรปมีเสียงมากกว่าตนอย่างมาก ได้เสนอว่าควรจะเพิ่มทุน ฝ่ายยุโรปเข้าใจดี แต่ก็ทำเป็นไม่เข้าใจ

ยอมตกลงให้เพิ่มทุนและเชิญประเทศที่กำลังพัฒนา ที่กำลังมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เข้ามาถือหุ้นของทุนที่เพิ่มนั้น อเมริกาก็ยังเป็นเสียงส่วนน้อยอยู่วันยังค่ำ

ประเทศไทยไม่ได้เข้าไปถือหุ้น ทำไมก็ไม่ทราบ คงอธิบายยาก จะบอกว่าไม่มีเงินก็ฟังไม่ขึ้น

การซื้อหุ้นธนาคารกลาง "ของธนาคารกลาง" มันต้องมีเงินให้ได้นั่นแหละ รู้เข้าเช่นนี้ผมก็ให้ซื้อหุ้น BIS ไว้เป็นสิ่งแรกเลย

หลังจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ผมไปที่นิวยอร์กเขาบอกว่า "ขอโทษ นึกว่าประเทศไทยไม่สำคัญ" ขากลับมีการเชิญประชุมจาก BIS เลยแวะไปที่บาเซิล ซึ่งไม่เคยไป และไม่รู้ว่าเขาเชิญไปทำไม นึกว่าเชิญไปประชุมผู้ถือหุ้นหรือคณะกรรมการธนาคาร ถามใครก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเขาเชิญมาทำไม

สภาพของประเทศไทยและของธนาคารแห่งประเทศไทยขณะนั้นสับสนมากมีวิธีเดียวที่จะทำงานคือใครเชิญไปไหนก็ไปแล้วดูว่าเขาเชิญมาทำไม อะไร

ไปแล้วก็สบาย เขารับรองดี บรรดาผู้ว่าการธนาคารส่วนใหญ่จะอยู่ที่โรงแรมชื่อ Les Trois Rois ซึ่งเป็นกษัตริย์ 3 พระองค์ แต่จะเป็นองค์ไหนบ้างค้นไม่พบ

โรงแรมโก้และเงียบสงัดดี Napoleon และ Pablo Picasso ก็เคยพำนักที่นี่

โรงแรมตั้งอยู่กลางเมือง ห่างจากธนาคาร BIS พอสมควร และอยู่ติดริมแม่น้ำ Rhine เงียบ ๆ ตามแบบฉบับนักการเงินระดับสูง ถึงเวลาไปประชุมเขาก็เชิญเข้าห้องประชุม มีผู้ว่าการธนาคาร 20 คนในห้องประชุมนั้น

ธนาคาร BIS เขารับรองดีมาก ผมยังไม่เข้าใจว่าทำไมได้เข้าไปประชุมกลุ่ม 20 ผู้ว่าการ

อย่างที่ว่านั่นแหละผมเป็นคนขี้สงสัย กลับมาเลยต้องพยายามทำความเข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็เดินแต้มต่อยาก

ถามเจ้าหน้าที่ได้ความว่าโชคดีที่ ประเทศไทยมีกฎหมายกำหนดว่าต้องมีเงินตราต่างประเทศสำรองเงินบาทที่ออกใช้ อย่างน้อย60%ตอนที่เราเรียกว่า"ล้มละลาย"ถึงแม้จะมีเงินสำรองระหว่างประเทศ คำนวณตามภาระหนี้สินและทรัพย์สินเป็นลบอยู่มากมาย แต่มีเงินจริง ๆ สำรองอยู่ 22 พันล้านเหรียญ ใช้สำรองเงินบาทที่ขายเอาตัว (ไม่) รอด ไม่ได้แยกต่างหากออกจากเงินสำรองระหว่างประเทศชนิดอื่น

เมื่อเป็นเช่นนั้นเงินสำรองนี้ก็ต้องอยู่ที่ไหนสักแห่งหนึ่งและแห่งที่ปลอดภัยที่สุดแห่งหนึ่งคือธนาคารBIS

ถ้านำไปฝากที่สหรัฐหรือที่อังกฤษ ก็ยังเสี่ยง สหรัฐบอกว่าไม่เคยเบี้ยวหนี้ แต่เคยบอกว่าพันธบัตรสหรัฐแลกเป็นทองคำหรือเงินดอลลาร์ได้ และแล้วพอมีทองคำไม่พอ ก็บอกว่าแลกได้เป็นเงินดอลลาร์อย่างเดียวเท่านั้น เปลี่ยนจาก "In Gold We Trust" เป็น "In God We Trust" ตัวอักษรหายไปตัวเดียว แต่ต้องเรียกว่า เปลี่ยนหลักการโดยสิ้นเชิง เดี๋ยวนี้ธนบัตรสหรัฐทุกใบก็มีประโยคนี้ ลองพลิกดูสิครับ

สหรัฐบอกว่าไม่เคยเบี้ยวหนี้ อย่างนี้ไม่เรียกว่าเบี้ยวหนี้ ก็ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรแล้ว อังกฤษเองก็ชมเชยตัวเองว่าไม่เคยเบี้ยวหนี้ แต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 พันธบัตรของอังกฤษถึงกำหนดชำระหนี้ ไม่มีเงินจะชำระคืน ก็ประกาศเปลี่ยนเป็น Per-petual Bond ไม่มีวันชำระคืน แต่ให้ดอกเบี้ยเหมือนเดิม กลายเป็นตราสารสำคัญที่สุดของโลกชนิดหนึ่ง เพราะเป็นตราสารที่ไม่หมดอายุ ซื้อขายกันไปได้เรื่อย ๆ

แต่นั่นก็เกิดมาจากการเบี้ยวหนี้ที่ครบกำหนดชำระแล้วไม่มีเงินชำระ มันไม่มีอะไรที่เรียกว่า "แน่นอน" อย่างแท้จริง ฝากเงิน BIS นี่แหละดีที่สุด เพราะธนาคารกลางทุกประเทศฝากเงินที่ธนาคารนี้ถ้าธนาคารล้มก็จะต้องเดือดร้อนกันทั่วหน้า คงไม่มีใครปล่อยให้ BIS ล้มเป็นแน่เป็นสิ่งสุดท้ายที่จะล้มในโลกนี้

เราเลยมีเงินฝากอยู่ตอนนั้น ซึ่งอยากจะบอกว่ามีฝากอยู่เท่าไหร่ แต่แบงก์ชาติคงไม่ยอม ทั้งตัวเลขตอนนั้นและตัวเลขตอนนี้ ตามประสาคนมีเงินมาก ไม่อยากบอกใครว่ามีเงินเท่าใด

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงแน่นอนว่าเขาต้องเอาใจเราพอสมควร ผมก็เลยได้บุญอันนี้ ทำงานช่วงนั้นรู้สึกว่ามีแห่งเดียวที่นับถือเราบ้าง

การประชุมผู้ว่า การธนาคารกลางเป็นการประชุมชนิดเดียวที่ผมเคยประชุมและทุกคนตั้งใจช่วยกัน เป็นที่สุดไม่มีใครแข่งกับใครหรือคิดจะเอาเปรียบใครเพราะจริง ๆ แล้วถ้าประเทศใดมีปัญหา ธนาคารกลางของประเทศอื่นเสียหายด้วยหมดทั้งนั้น ไม่มีความดีเกิดขึ้น ระบบการเงินของโลกเชื่อมโยงกัน และความดี ความเจริญและมั่นคง เป็นประโยชน์แก่ทุกคน เมื่อไหร่มีความไม่มั่นคงในแห่งใด ทุกคนเดือดร้อนหมด

ทุกคนในที่ประชุมจึงอธิบายอย่างดีว่าตนทำอะไรอยู่ เท่าที่ผมเห็นไม่มีการซ่อนความลับหรือลับลมคมในอะไร ทุกคนอธิบายว่า ตัวเองคิดอะไรและทำอะไรอยู่ แล้วก็รายงานว่าประเทศของตนเจริญหรือไม่เจริญแค่ไหน รายได้ประชาชาติไตรมาสที่แล้วเพิ่มเท่าไหร่ ระดับเงินเฟ้อเป็นอย่างไร

ถึงตรงนี้ก็ยุ่งละสิ ! ประเทศไทยไม่มีตัวเลขรายได้ประชาชาติรายไตรมาส เขาก็คงเห็นใจ เพราะรู้อยู่แล้วว่าเป็นแบบนี้แหละถึงได้ฉุดกันพังไป ระเนระนาดไปเกือบครึ่งของเอเชีย และแม้ประเทศมหาอำนาจก็เดือดร้อนด้วย เพราะระบบการเงินปั่นป่วนไปหมด

ประชุมไปครั้งสองครั้งผมชักสงสัย นี่มันประชุมอะไรกันหนอ เพราะเขาคุยกันแล้วก็ไม่ได้มีข้อเสนอ ไม่ได้มีมติ ไม่ได้มีอะไรเลย พอจะเข้าใจว่าไม่ใช่การประชุมผู้ถือหุ้นของธนาคาร BIS และก็ไม่ใช่ประชุมคณะกรรมการบริหารของธนาคาร BIS เพราะดูว่าเขาประชุมกันไปเรียบร้อยแล้วก่อนที่จะประชุมกลุ่ม 20 นี้

กลับมาเมืองไทย นั่งคิด เอ๊ะ ! แล้วเขาประชุมอะไรกัน จะว่าเป็นการประชุม Basel Committee แต่กฎบาเซิลนั้น จริง ๆ แล้วธนาคาร BIS ก็ไม่ได้เป็นคนออก คนที่ออกคือ Basel Committee ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 1975 จากกลุ่ม 10 ประเทศใหญ่

แล้วเดี๋ยวนี้ก็ขยายเพิ่มไปอีก เช่น มีเกาหลีเข้าไปอยู่ในกลุ่มด้วย จึงทำให้มีเกิน 10 ประเทศ แต่ก็ยังเรียกว่า Group of Ten แล้วเราก็ไม่อยู่ในกลุ่มนี้ เพราะว่าไม่เคยทำตัวให้ยิ่งใหญ่จนถึงจะร่วมสั่งการบริหารการเงินของโลกได้

กฎบาเซิลที่ออกมาเราทำตามก็ได้ไม่ทำตามก็ได้เพราะเราไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการแต่ถ้าไม่ทำตามกฎบาเซิลไม่บังคับธนาคารในประเทศไทยให้ทำตาม คงยุ่ง

เพราะนักการเงินของโลกซึ่งมีเงินมากมายลงทุนในประเทศไทยมากมาย เขาก็จะไม่นับถือ และเมื่อไม่นับถือโอกาสถูกถอนเงินออกก็สูง เลยต้องทำตามกฎมาเป็นประเพณีโดยตลอด แล้วธนาคารแห่งประเทศไทยออกกฎภายในประเทศเพื่อให้กฎบาเซิลมีผล ก็ถูกต่อว่าต่าง ๆ นานาแต่คงดีกว่าอยู่เองหนึ่งเดียวในโลก

เมื่อไม่ใช่การประชุมทั้ง 3 ชนิด แล้วมันประชุมอะไรกันหนอ มีแค่ 20 ประเทศ ถ้าเป็นเช่นนั้น Thailand ต้องนั่งอยู่ใกล้กับ United Kingdom และ United States คือ Mervyn King กับ Alan Greenspan ผู้ยิ่งใหญ่ทางการเงินของโลกในขณะนั้น จำได้ว่ามี Turkey คั่นกลาง 1 ประเทศ วันดีคืนดีผมเลยใช้วิธีบุกตามแบบของผมที่หลายคนว่าไม่สมควร ผมหันไปถามท่านทั้งสองว่า "Tell me. What am I doing here ?" ได้รับคำตอบว่า "We think you need to know." ผมมีความสุขมาก มีความสำคัญกับโลกถึงกับขนาดนั้น

แต่นั่นแหละ เวลาทำงานแล้วไม่รู้เรื่องก็ต้องคิดไปเรื่อย พักหนึ่งไปประชุมอีกหนสองหนก็เข้าใจ เราไม่มีตัวเลขรายได้ประชาชาติรายไตรมาสอยู่คนเดียว แล้วเขาจะมานั่งบอกอะไรเรามากมายนัก ค่อย ๆ คิดไตร่ตรองที่เขาบอกว่า "We think you need to know." นั้น จริง ๆ คงเป็นวิธีสุภาพที่จะพูดว่า "We think we need to know." คือเขาอยากรู้ว่าประเทศไทยทำอะไร คราวที่แล้วทำเขาแสบจริง ๆ พังเสียหายกันไปทั่วโลก เลยต้องหนีบเอาไว้ให้ดี

กลับมาเมืองไทยก็ค่อนข้างอับอาย เพราะเป็นประเทศเดียวที่ไม่มีรายได้ประชาชาติรายไตรมาส จะบอกเขาว่าเคยศึกษาเรื่อง GNP เรื่องอะไร ก็รู้ดีว่าตัวเลขทั้งหมดนั้นเป็นตัวเลข Make เพราะจริง ๆ แล้วประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ ก็เหมือนกันหมด จดตัวเลขได้ยากมาก ใครจะไปรู้ได้ว่าชาวนาได้ราคาเท่าไหร่สำหรับข้าวและพืชผลที่ปลูก พอเดาออกว่าปลูกกี่แสนกี่ล้านไร่ เพราะสมัยนี้ดูจากภาพดาวเทียมยิ่งมองเห็นว่ามีพื้นที่ปลูกเท่าไหร่

แต่ได้ราคาเท่าไหร่ไม่ได้มีใครจดไว้ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายต่างๆนานา

นิติบุคคลเมืองไทยสมัยนั้นมีอยู่186,000 นิติบุคคล มีกำไรเพียง 115,000 นิติบุคคล แล้วคำนวณมูลค่าเพิ่มอย่างไร รายได้ประชาชาตินิติบุคคลที่ขาดทุนเป็นลบหรือ ก็ใช้วิธีเอาสัดส่วนของคนที่กำไรมาประมาณปรับคูณรายรับของคนที่ขาดทุนนั่นแหละ ออกมาเป็นรายได้ประชาชาติหรือมูลค่าเพิ่มที่เกิดมาจากส่วนนิติบุคคล

แล้วจริง ๆ แล้วรายได้ประชาชาติก็รู้ได้เกือบตลอดเวลา คำนวณได้ตลอดเวลาถ้าจะทำเสียอย่าง

เพราะนิติบุคคลต้องยื่นแบบทุกเดือน แต่ไม่มีใครยอมทำให้ ดูจะมีความสุขกัน สบายใจกัน ไม่มีใครเดือดร้อน ยกเว้นผม เพราะว่าเข้าไปอยู่ในห้อง 20 คนนั้น แล้วเป็นคนเดียวที่บอกว่า "Sorry, we don′t have a quarterly GNP." แต่ความจริงถ้าอยากรู้จริง ๆ ก็พอประมาณได้

พอดีมีการแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคนใหม่ เป็นครั้งแรกที่ท่านรั้งตำแหน่งใหญ่ คุณสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม ต่อมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นอะไรต่าง ๆ นานา

แต่นั่นเป็นงานตำแหน่งแรกที่ท่านมีอำนาจและมีหน้าที่ ผมไม่ได้เขียนเรื่องนี้มาก่อนนะครับ ทั้งที่อยากจะชมเชยท่าน เพราะท่านเป็นญาติใกล้ชิดมาก ท่านเป็นลูกพี่ลูกน้องกับภรรยาผม ก็ไม่อยากจะเขียนชมกันเอง แล้วความจริงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องเล่าสนุก ๆ มากกว่า

แล้วที่น่าสนุกกว่านั้นก็คือ ผมมักถูกกล่าวหาว่าชอบชน ชอบบุก ชอบรุก ชอบอะไรต่างๆ แล้วก็ไม่เคยได้ตัวเลข Quarterly GNP มาสักที

เที่ยวนี้ลองคิดใหม่ทำใหม่ พอท่านสรรเสริญมานั่งในที่ประชุม ครม.ครั้งแรก ผมก็ลองใช้วิธีใหม่ ลองใช้วิธีชม ยกมือบอกว่าท่านนายกฯ ครับ ท่านเลขาธิการสภาพัฒน์คนใหม่ท่านดีจังเลย พอขึ้นมาท่านก็บอกว่าท่านจะทำ Quarterly GNP ให้ ก็จบไปแค่นั้น

พูดวันจันทร์นะครับเพราะเป็น ครม.เศรษฐกิจ วันพฤหัสบดีก็ได้ Quarterly GNP แล้ว เพราะมันทำได้อยู่เสมอ เพียงแต่จะรวบยอดบวกมาให้หรือไม่รวบยอดบวกมาให้เท่านั้น

ขอสดุดีท่านสรรเสริญ ณ ที่นี้ แม้จะเป็นญาติกัน ประเทศไทยก้าวหน้าขึ้นอีกหน่อย ที่สำคัญพอผมไปประชุม BIS ก็ไม่ขายหน้าใครอีกแล้วหลังจากนั้น เพราะผมบอกได้ว่าไตรมาสนี้ GNP เราเพิ่มเท่าไหร่

ช่วยหรือไม่ช่วยก็ไม่รู้ เพราะเราก็ไม่ได้สำคัญกับโลกนัก แต่ทำให้เราอย่างน้อยไม่อับอายขายหน้าว่าด้อยพัฒนาขนาดนั้นเชียว

ขอสรรเสริญ สดุดีท่าน เพราะทำให้ผมได้หน้า สบายใจ


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : Quarterly GNP

view