จากประชาชาติธุรกิจ
ผู้ ว่าการธนาคารกลางทั่วโลกรวมตัวชุมนุมกันอยู่ที่ "แจ็กสันโฮล" ในรัฐไวโอมิง สหรัฐอเมริกา 25-27 ส.ค. ที่ผ่านมา ท่ามกลางการจับตาจากทั่วโลกว่าผลการหารือในหัวข้อ "การออกแบบกรอบนโยบายการเงินเพื่ออนาคต" จะมีทิศทางอย่างไร นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 2008
บรรดาผู้ว่า การแบงก์ชาติ พยายามอย่างหนักในการใช้นโยบายการเงิน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและสร้างงาน ในการกอบกู้ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ แนวทางดังกล่าวจำเป็นต้องสิ้นสุดลงในทันที เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบในทางลบในอนาคต
จึงเกิดคำถามว่า "ถึงเวลานั้นแล้วหรือไม่" ซึ่งที่ประชุมต้องขบคิดให้แตกก่อนจะ "ออกแบบ" กรอบนโยบายใด ๆ ในอนาคต จึงจำเป็นต้องใคร่ครวญเพื่อให้แนวทางนโยบายใหม่ครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดผล กระทบเป็นปัญหาใหญ่ในระบบการเงินโลกขึ้นมาอีกครั้ง
ปมปัญหาแรกสุด ที่ส่งอิทธิพลต่อที่ประชุมแจ็กสันโฮล คือปัญหา "เสพติดอัตราดอกเบี้ยต่ำ"
ปัญหา นี้แสดงออกให้เห็นครั้งแรกในปี 2013 เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะเริ่มกระชับนโยบายการเงิน เล่นเอาตลาดเงินโลกดิ่งเหมือนโยนก้อนหินลงสระน้ำ เพราะเศรษฐกิจใหญ่อย่างตุรกีและบราซิล เต็มไปด้วยหนี้สินในรูปเงินดอลลาร์มหาศาล และอีกครั้งเมื่อทางการจีนมะงุมมะงาหรากับการลดค่าหยวนเมื่อปีก่อน ส่งผลให้เฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้แค่ 0.25% ในเดือน ธ.ค. โดยเฉพาะกรณีของญี่ปุ่นที่ประกาศใช้ "อัตราดอกเบี้ยติดลบ" และหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า มาริโอ ดรากี ประธานธนาคารกลางแห่งยุโรป (อีซีบี) กำลังใช้แนวทางเดียวกันกับญี่ปุ่น
"อัตราดอกเบี้ยติดลบ" คือธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยให้กับธนาคารกลาง คิดเป็นสัดส่วนกับจำนวนเงินที่ฝากเอาไว้ เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารปล่อยกู้หรือไม่ก็นำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความ เสี่ยงสูงขึ้น
โดยมีการคาดหมายว่า ดรากีน่าจะอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวในกลุ่มประเทศ "ยูโรโซน" อีกครั้งในปีนี้ เพราะผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของ 19 ประเทศยูโรโซนตอนนี้ต่ำมากเกิน 1% เล็กน้อย ในเวลาเดียวกับที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ห่างไกลจากเป้า 2% มากเหตุผลสำคัญอยู่ที่บรรดามหาเศรษฐีทั้งหลาย เริ่มเก็บเงินไว้ในกระเป๋าหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์กันมากขึ้น
แม้ ว่าในบางประเทศ อาทิ ฝรั่งเศสจะส่งสัญญาณการฟื้นตัวในภาคเอกชนแต่หลายประเทศยังคงตกอยู่ในภาวะถด ถอยภาวะชะงักงันในยูโรโซน จึงจะยังคงเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องคำนึงถึงอยู่ต่อไป
ในขณะเดียวกัน สภาวะเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่าง "บราซิลและตุรกี" ก็แสดงให้เห็นถึงความเปราะบางพร้อมจะพลิกผันได้ตลอดเวลา ซึ่งแค่ 2-3 ปี เศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศนี้ตกอยู่ในภาวะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจจีนกับรัสเซีย ก็ชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด
ปัญหาในประเทศเศรษฐกิจใหม่ ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ว่าการฟื้นตัวจากวิกฤต 2008 เกิดขึ้นแล้ว ทำให้ธนาคารกลางหลายประเทศชะลอการปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติเช่นเดียวกัน
ปม ปัญหาสุดท้าย ที่ต้องคิดกันหนัก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นก็คือ "สงครามค่าเงิน" เนื่องจากธนาคารกลางของหลายประเทศ มุ่งมั่นที่จะกดให้ค่าเงินของตัวเองอยู่ในระดับต่ำ เพื่อผลการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดส่งออก ตัวอย่าง คือ ญี่ปุ่น ที่นารุฮิโก คูโรดะผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ทั้งลดอัตราดอกเบี้ยลงสู่แดนลบ และดันค่าเงินเยนลงสู่ระดับต่ำ เมื่อค่าเงินเยน/ปอนด์กับหยวนและยูโรเพิ่มสูงขึ้น ก็มีแนวโน้มที่แบงก์ชาติญี่ปุ่นจะออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินออกมาอีกในปี นี้
มีการตั้งข้อสังเกตว่า การส่งออกของอิตาลีและฝรั่งเศสในปีนี้ เป็นผลมาจากการที่ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัด
ขณะ ที่ธนาคารกลางอังกฤษก็ดูเหมือนจะพอใจกับผลกระทบของ "เบร็กซิต" ที่มีต่อค่าเงินปอนด์ในเวลานี้ระดับหนึ่ง เพราะทำให้สินค้าส่งออกของอังกฤษราคาลดลงนั่นเอง จีนเองก็พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้อัตราแลกเปลี่ยนของหยวนกับสกุลเงินหลัก ๆ อยู่ในระดับต่ำ
แม้แต่สหรัฐอเมริกาเอง "เจเนต เยลเลน" ประธานเฟด คงไม่ชอบใจแน่ ถ้าหากค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น จนกลายเป็นปัญหากับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกัน
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน