จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
อดีตปลัด กทม. “ประเสริฐ สมะลาภา” เฮ ศาล ปค. สั่งเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการของ กทม. จากเหตุซื้อที่ดินตาบอดบางซื่อ เพื่อไว้จอดรถขยะ ชี้เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วย กม. ระบุ ที่ดินไม่ได้แพงเกินจริง การจัดซื้อเป็นไปตามมติคณะผู้บริหาร กทม. ไม่ใช่ใช้อำนาจสั่งการโดยอำเภอใจ
วันนี้ (22 ก.ย.) ศาลปกครองกลางมี คำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรุงเทพมหานครที่ 3811/2551 ลงวันที่ 15 ส.ค. 51 ลงโทษทางวินัยไล่ นายประเสริฐ สมะลาภา อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ออกจากราชการ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของ รมว.มท. ที่เห็นชอบตามมติคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ให้ปลด นายประเสริฐ ออกจากราชการ และคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 5199/2559 เรื่อง ลดโทษข้าราชการลงวันที่ 9 ธ.ค. 52 ที่ลงโทษปลดนายประเสริฐ ออกจากราชการ จากเหตุถูกถูก ป.ป.ช. ชี้มูลว่า กระทำผิดวินัยร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ กรณีจัดซื้อที่ดินเพื่อใช้เป็นที่จอดรถขยะกรุงเทพมหานคร ในเขตบางซื่อ แพงเกินจริง เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะออกบนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่มีอยู่จริง นายประเสริฐ ไม่ได้กระทำผิดวินัยร้ายแรง ตามฐานความผิดมาตราต่าง ๆ ที่ระบุไว้ในคำสั่งลงโทษ
ส่วนเหตุที่ศาลเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่นายประเสริฐ ออกจากราชการนั้น ระบุว่า จากพยานหลักฐานข้อเท็จจริงฟังได้ว่า การดำเนินการจัดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 69706-69720 เลขที่ 2835 และ เลขที่ 2852 รวม 17 โฉนด พร้อมสิ่งปลูกสร้างจากนายสุพจน์ - นางสุณี มโนมัยพันธุ์ ไม่ได้เกิดจากการริเริ่ม หรือใช้อำนาจสั่งการโดยอำเภอใจของนายประเสริฐ แต่เป็นการดำเนินการตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. และมติคณะผู้บริหาร กทม. แม้ในชั้นแรกหลังจากมีผู้เสนอขายที่ดินตามประกาศฯ ผอ.เขตบางซื่อ ได้มีหนังสือไปยังสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ ขอทราบผลการประเมินราคาซื้อขายปัจจุบัน ที่ดินรวม 15 โฉนด โดยไม่ได้สอบถามรายละเอียดดังกล่าวของที่ดิน 2 แปลง โฉนดเลขที่ 2835 และ โฉนดเลขที่ 2852 และต่อมาแม้ ผอ.เขตบางซื่อ ได้มีบันทึกข้อความถึงนายประเสริฐว่า ที่ดินราย นายสุพจน์ มีความเหมาะสม ที่ กทม. จะซื้อไว้ โดยเป็นการเสนอความเห็นทั้งที่ยังไม่ได้มีการสอบถามราคาประเมินครบทุกแปลง และนายประเสริฐ ไม่ได้ทักท้วงอาจจะถือว่านายประเสริฐบกพร่องอยู่บ้าง
แต่ก็ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐาน ว่า นายประเสริฐ มีส่วนร่วมรู้เห็น สั่งการให้มีการสอบถามราคาประเมินเฉพาะที่ดินเพียงจำนวน 15 โฉนด และเห็นชอบกับความเห็นหรือข้อเสนอของผู้อำนวยการเขตบางซื่อ ตามบันทึกข้อความดังกล่าว ที่นายประเสริฐเกษียณท้ายบันทึกดังกล่าว ว่า ให้นำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมในการจัดซื้อ เช่าที่ดิน และอาคารเพื่อประโยชน์ของทางราชการกรุงเทพมหานคร (กซช.) พิจารณาก็เป็นการปฏิบัติตามจารีตประเพณี หรือแนวทางการปฏิบัติราชการของ กทม. ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับการจัดซื้อที่ดิน หรือตามนโยบายของ กทม. และคำสั่งของผู้ว่าฯ กทม. โดยถูกต้องตามมาตรา 64 พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538 แล้ว การไม่ทักท้วง จึงยังไม่ถึงขั้นจะรับฟังได้ว่าเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายอย่าง ชัดแจ้ง และเมื่อ กซช. ที่มีมติว่าเห็นควรจัดซื้อที่ดินของรายนายสุพจน์ - นางสุณี มโนมัยพันธุ์ โดยผู้ฟ้องคดีไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย จึงไม่อาจฟังได้ว่านายประเสริฐ มีส่วนร่วมกับ ผอ.เขตบางซื่อ ในการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือมีส่วนร่วมในการตัดสินกับคณะตรวจสอบที่ดินหรืออาคาร ซึ่งกรุงเทพมหานครจัดซื้อหรือเช่าเพื่อประโยชน์ของทางราชการกรุงเทพมหานคร (ตซช.) และ กซช. ในการมีมติเห็นควรจัดซื้อที่ดินจากรายนายสุพจน์ - นางสุณี มโนมัยพันธุ์
ส่วนกรณีที่ไม่มีการเรียกบริษัท วินโล จำกัด ผู้เสนอขายที่ดินอีกรายไปเจรจาต่อรองนั้น เมื่อ ตซช. พิจารณาเห็นว่า ที่ดินของบริษัท วินโล จำกัด เป็นที่ดินเปล่าที่ยังไม่มีการถมดิน บริเวณมีบ้านพักอาศัยหนาแน่น ทางเข้าออกคับแคบกว้าง 6 เมตร อาจมีปัญหาในการนำรถใหญ่เข้าออก ขณะที่ดินรายนายสุพจน์ - นางสุณี ไม่ต้องถมดิน บางส่วนเป็นลานคอนกรีตเสริมเหล็ก ทางเข้าออกกว้าง 8 เมตร เป็นการขายพร้อมอาคารสิ่งปลูกสร้างที่ กทม. สามารถปรับปรุงใช้สอยเพื่อประโยชน์ได้ จึงเสนอความเห็นว่าควรจัดซื้อที่ดินรายนายสุพจน์ - นางสุณี ที่มีความเหมาะสมเป็นประโยชน์แก่ กทม. มากกว่า
โดย กซช. พิจารณาแล้วมีมติเห็นด้วย ซึ่งตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ข้อ 20 วรรคสอง และข้อ 53 (2) และ (6) สามารถเชิญเจ้าของที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้างมาเสนอราคาโดยตรงเพียงรายเดียว ได้ หากต่อรองแล้วราคายังสูงอยู่ก็สามารถเชิญเจ้าของที่ดินและหรือสิ่งก่อสร้าง รายอื่น ๆ มาเสนอราคาและต่อรองราคาได้จนกว่าจะเป็นที่พอใจ
การที่มีผู้เสนอขายที่ดินตามประกาศ จำนวน 2 ราย ทั้งที่สามารถเรียกเพียงรายใดรายหนึ่งมาเสนอราคาและต่อรองราคาได้นั้น ก็เป็นการดำเนินการในชั้นก่อนถึงการพิจารณาจัดซื้อโดยคณะกรรมการจัดซื้อโดย วิธีพิเศษ เพื่อหาผู้เสนอราคาที่จะเป็นประโยชน์มากที่สุดแก่ กทม. ก่อนที่จะได้มีการเจรจาต่อรองราคาต่อไปจากคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษใน ชั้นหลังต่อไป เมื่อ ตซช. และ กซช. เห็นว่า ที่ดินที่นายสุพจน์ - นางสุณี มโนมัยพันธุ์ เสนอขายเหมาะสมกว่า และราคาถูกกว่าที่ดินของรายบริษัท วินโล จำกัด การที่มีการเรียกนายสุพจน์ - นางสุณี มโนมัยพันธุ์ มาเจรจาต่อรองราคาเพียงรายเดียว จึงไม่อาจฟังได้ว่า กรณีนี้เป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง การพัสดุ พ.ศ. 2538 ในเรื่องการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษได้ และไม่มีผลทำให้การไม่ทักท้วงของนายประเสริฐในเรื่องนี้ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้อง
อีกทั้ง ตามประกาศสำนักงานเขตบางซื่อเรื่องขอซื้อที่ดินเพื่อจัดทำเป็นที่จอดรถของ ทางราชการ ซึ่งมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 ไร่ และมีทางเข้าออกสะดวก หาได้ระบุว่าต้องถึงขนาดเป็นทางสาธารณประโยชน์ไม่ และจากถ้อยคำของพยานบุคคลหลายปาก ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ชัดแจ้งว่า ประชาชนและบริษัทผู้ประกอบกิจการได้มีการใช้ซอยเรียงปรีชา เป็นทางเข้า - ออก มาโดยตลอด โดยกรรมการ กซช. และกรรมการ ตชซ. พร้อมกับ ผอ.เขตบางซื่อ ได้ไปลงพื้นที่ตรวจสอบที่ดิน และเห็นว่า ที่ดินมีทางเข้าออก จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทักท้วงว่าที่ดินที่จะซื้อมีทางภาระจำยอมหรือ ไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลแพ่ง ว่า ซอยเรียงปรีชา เป็นภาระจำยอมของที่ดิน นายสุพจน์ ที่เสนอขาย และโดยที่ที่ดินทั้ง 17 โฉนด มีอาณาเขตติดต่อกัน จึงรับฟังไม่ได้ว่า ที่ดินที่นายสุพจน์ - นางสุณี เสนอขาย ไม่มีทางเข้า - ออก ตามประกาศขอซื้อที่ดินของสำนักงานเขตบางซื่อแต่ประการใด
ส่วนการดำเนินการจัดซื้อที่ดินดังกล่าวแพงเกินจริงและไม่สามารถใช้ ประโยชน์ในที่ดินได้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เห็นว่า ราคาประเมินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขานนทบุรี เฉลี่ยตารางวาละ 62,000 - 65,000 บาท จากธนาคารมหาชน สาขาถนนประชาราษฎร์ ตารางวาละ 62,500 บาท โดยเป็นราคาเฉลี่ยทั้ง 17 แปลง จากธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตารางวาละ 60,000 บาท โดยเป็นการประเมินที่ดินจำนวน 15 แปลง อีกทั้งราคาประเมินของที่ดินข้างเคียงระยะห่าง 1 กิโลเมตร ตารางวาละ 62,580 บาท 41,000 บาท และ 40,000 บาท ดังนั้น ราคาที่ กทม. จัดซื้อมาในราคาตารางวาละไม่เกิน 59,700 บาท จึงเห็นว่าเป็นราคาที่ไม่ได้สูงหรือแพงกว่าราคาซื้อขายในท้องตลาด ถือไม่ได้ว่าเป็นราคาที่แพงเกินไป
และศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษา ยืนให้เพิกถอนคำสั่ง กทม. ที่สั่งให้นายประเสริฐชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ กทม. เพราะฟังได้ว่า การจัดซื้อเป็นราคาที่เหมาะสมกับสภาพที่ตั้งและราคาท้องตลาด เมื่อรวมราคาสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาท มีมูลค่าทรัพย์สินมากกว่าที่ได้จ่ายเงินไป ทั้งปรากฏว่า กทม. ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามวัตถุประสงค์แล้ว
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน