จาก โพสต์ทูเดย์
โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ
เสียงโทรศัพท์จากบริษัทประกัน ธนาคาร และค่ายโทรศัพท์มือถือต่างพากันกระหน่ำเข้ามาหาผู้รับที่อยู่ปลายสายอย่างไม่มีทีท่าจะวางมือ เพียงเพื่อต้องการนำเสนอสินค้า โดยใช้กลยุทธ์โฆษณาแบบเข้าถึงในอีกความหมายคือ “บังคับให้ฟัง” โดยปลายสายไม่เคยให้เบอร์โทรศัพท์หรือใช้บริการกับบริษัทเหล่านั้นมาก่อน
นอกจากถือเป็นการคุกคามสิทธิส่วนบุคคลแล้ว ยังหว่านล้อมหวังฉกเงินในกระเป๋าสตางค์ออกไปไม่ทันรู้ตัวเช่นกัน
ชลลดา บุญเกษม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน เปิดเผยว่า กรณีที่พนักงานบริษัทเอกชนโทรศัพท์เข้ามาหาเพื่อเสนอขายสินค้า ส่วนใหญ่มีการร้องเรียนเข้ามามากคือ การขายประกันชีวิต รองลงมาคือ บริษัทค่ายมือถือที่พยายามเสนอขายแพ็กเกจบริการอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งไม่รู้ว่านำข้อมูลส่วนตัวมาได้อย่างไร ทั้งที่ไม่เคยใช้บริการหรือเกี่ยวข้องด้วยมาก่อน
ยิ่งทำให้เกิดความกังวลเมื่อข้อมูลส่วนตัวของลูกค้ามีการซื้อขายต่อๆ กันมาโดยไม่ได้รับอนุญาต นำไปสู่การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เป็นภัยต่อความมั่นคงในชีวิตและครอบครัว เดือดร้อนรําคาญยากจะปฏิเสธ
ชลลดา กล่าวว่า การพูดคุยจากพนักงานแม้จะไม่ได้ข่มขู่ พูดจาว่าร้ายกระทบต่อจิตใจ แต่มีลักษณะพูดเร็วเหมือนหุ่นยนต์ ไม่เปิดช่องให้ถามว่าสะดวกรับฟังหรือไม่ จากนั้นก็มัดมือด้วยการบอกว่า “ตอนนี้คุณลูกค้าสามารถรับบริการได้แล้ว” หรือ “เดี๋ยวจะมีเมสเซนเจอร์ไปส่งเอกสารให้ที่บ้านทันที” ลักษณะเช่นนี้เป็นการบังคับให้ลูกค้าตอบตกลงโดยไม่มีทางเลือก
ชลลดา กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้เริ่มพบเห็นขบวนการโทรศัพท์ระดมโทรเข้ามาบอกว่าถูกรางวัล หรือได้รับสิทธิพิเศษ เข้าข่ายหลอกลวง อาทิ อ้างว่าโทรมาจากธนาคารแห่งหนึ่งแล้วบอกว่าลูกค้าได้ใช้บัตรเครดิตของทางธนาคาร ดังนั้นต้องชำระเงินภายในวันเวลาที่กำหนด แต่ถ้าจะขอผ่อนผันต้องแจ้งเลขที่บัตรประชาชน ลักษณะนี้พึงระวังทันทีว่าเข้าข่ายหลอกลวง เพราะเลขที่บัตรประชาชนสามารถนำไปใช้อ้างอิงเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อดำเนินการต่อในเรื่องต่างๆ ได้
ธุรกิจต่อมาที่เข้าข่ายกวนใจสร้างความเดือดร้อนคือ บริการข้อความ (เอสเอ็มเอส) ดาวน์โหลดเพลงฟรี ข้อความดูดวงประจำวันฟรี ชักจูงใจคนด้วยการให้บริการฟรีก่อน กระตุ้นให้คนสนใจลองกดเข้ามาดู ทั้งที่ยังไม่ได้ตัดสินใจปรากฏว่ามีข้อความยืนยันการรับบริการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นหากลูกค้าต้องการขอยกเลิกจะทำได้ยุ่งยากมาก
“กลเม็ดหลอกลวงสามารถล้วงเงินในกระเป๋าของเราได้อย่างไม่ทันระวังตัว ขณะนี้ปัญหาใหญ่คือประชาชนไม่รู้ว่าตัวเองถูกละเมิดสิทธิ หากตอบตกลงไปเพื่อตัดความรำคาญ ผลเสียจะตามมาอีกมากจนยากจะแก้ไขดังนั้นจึงควรมีมาตรการป้องกันหรือสืบสาวที่มาที่ไปว่าบริษัทนั้นๆ นำเบอร์ส่วนตัวของผู้อื่นมาได้อย่างไร เพื่อปกป้องเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ รวมถึงมีมาตรการลงโทษกับผู้ที่นำข้อมูลมาเปิดเผยหาประโยชน์ส่วนตัวอีกด้วย” ชลลดา กล่าว
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ฉายภาพผลกระทบจากการคุกคามทางข้อมูลโทรศัพท์มือถือซึ่งได้ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่ามีเบอร์โทรศัพท์จำนวนกว่า 30 ล้านรายชื่อถูกขายอยู่ในท้องตลาดทุกวัน ขณะเดียวกันยังพบการซื้อขายข้อมูลเชิงลึกมากขึ้น คือ ไม่ใช่เพียงแค่เบอร์กับชื่อเท่านั้น ยังรวมไปถึงข้อมูลพฤติกรรมการโทรเข้า-ออก มีการระบุตำแหน่งโลเกชั่นเบสเซอร์วิส ซึ่งทำให้รู้ได้ว่าผู้ใช้โทรศัพท์อยู่ที่ใด โทรหาใครเป็นประจำ ถือเป็นการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวขั้นร้ายแรงที่สุด
“เรื่องนี้อันตรายอย่างมาก เพราะถ้ามีคนร้ายนำข้อมูลไปใช้สามารถสะกดรอยติดตามได้แม่นยำ หรือรู้เวลาเข้าออกจากบ้านฉวยจังหวะเข้าไปขโมยทรัพย์สินภายในบ้านได้อย่างสบายๆ ดังนั้นเรื่องโลเกชั่นเบสเซอร์วิสจึงไม่ควรถูกเปิดเผย” นพ.ประวิทย์ กล่าว
ขณะที่ในต่างประเทศมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว แต่ในไทยยังไม่มีกฎหมายเช่นนี้ออกมา จึงทำได้เพียงบังคับใช้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ให้อำนาจ กสทช.ออกหลักเกณฑ์คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน
อีกทั้งข้อมูลส่วนบุคคลยังไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นทรัพย์สินจึงยังไม่ถือว่าเป็นการขโมยทรัพย์ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือ รัฐบาลต้องออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออกมา เพื่อป้องกันการสูญเสีย
นพ.ประวิทย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลควรออกมาบังคับใช้ได้นานแล้ว แต่รัฐบาลก็ไม่ควรใช้เพื่อมุ่งหวังสอดส่องเท่านั้น ต้องออกกติกาเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน