จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
จากชีวิตที่เคยสิ้นหวัง กลับฟื้นคืนรอยยิ้มให้ปรากฏบนใบหน้าได้อีกครั้ง จากพสกนิกรที่เคยแบกหนี้สินท่วมหลัง กลับได้รับชีวิตใหม่ที่ยั่งยืนอีกหน ด้วยแสงเทียนนำทางจากองค์พ่อหลวงรัชกาลที่ 9 ผู้ทรงเสด็จไปปลดเปลื้องทุกข์ให้แก่ประชาชน จนส่งให้แผ่นดินไทยในวันแห่งความทุกข์ยาก กลับกลายเป็นแผ่นดินทองมาได้ถึงทุกวันนี้ ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรง “ปิดทองหลังพระ” มาตลอด 70 ปี
ชีวิตใหม่ของลูก จากหัวใจของพ่อ...
“พวกเรามาอยู่ที่นี่ ก็เพราะที่นี่ขาดน้ำทำกิน เรามาสู้กับความยากจนนานาประการ เพื่อให้คนไทย เป็นไทแก่ตนอย่างแท้จริง ให้เหมาะสมกับระบอบประชาธิปไตยที่ท่านทั้งหลายก็สนับสนุนอยู่มิใช่หรือ”
นี่คือถ้อยคำที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยรับสั่งเอาไว้ เมื่อครั้งนักข่าวสัญชาติอังกฤษซักถามเกี่ยวกับการเสด็จมาทรงงานในพื้นที่ชายแดนของประเทศ ด้วยถ้อยคำซักไซ้ทีเล่นทีจริงที่ว่า “เสด็จมาทำอะไรกัน มีทหารล้อมหน้าล้อมหลัง จะมาสู้กับคอมมิวนิสต์หรือ”
พระราชกระแสรับสั่งของพระองค์ในขณะนั้น ช่วยสะท้อนให้เห็นว่า กษัตริย์ผู้ทรงงานด้วยหัวใจอย่างสุดพระปรีชาสามารถผู้นี้ ไม่เคยมองผู้ใดเป็นศัตรูเลย มีเพียง “ความยากจน” เท่านั้นที่พระองค์ทรงต้องการต่อสู้และเอาชนะให้ได้ เพื่อพสกนิกรและแผ่นดินที่เปรียบเหมือนชีวิตของพระองค์เอง
ทุกก้าวย่างที่พระองค์ทรงฝากรอยพระบาทพระราชดำเนินไป ไม่เคยมีความยากลำบากใดเลยรอดพ้นพระเนตรพระกรรณไปได้ ด้วยทรงเอาใจใส่ในความทุกข์ยากของราษฎร แม้แต่เรื่องราวความเดือดร้อนของชาวบ้านตาดำๆ ยังถูกนำทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแก้ไข ส่งให้เกิดเรื่องเล่าจากคราบน้ำตาแห่งความปลื้มปีติขึ้นอย่างมากมาย เช่นเดียวกับอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่เรียกกันว่า “ปลาร้องไห้...ที่สายบุรี” เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนในเขตพื้นที่พัฒนาพรุแฆแฆ จ.ปัตตานี
ครั้งนั้น นายอูเซ็ง ชาวบ้านผู้เลี้ยงปลากะพงเพื่อยังชีพ ตั้งใจอยู่รอรับเสด็จ เพื่อถวายภาพถ่ายปลาในกระชังลอยตายเต็มแพนับหมื่นตัว เนื่องจากปัญหาการปล่อยน้ำเปรี้ยวจากพรุพาเจาะ ที่ไหลผ่านกระชังบริเวณนั้นก่อนลงทะเล เป็นเหตุให้ปลาขาดออกซิเจนและตายเป็นจำนวนมาก
ในขณะที่นายอูเซ็งถวายคำอธิบายไปก็ร้องไห้ไป ด้วยไม่รู้ว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไร มองไม่เห็นหนทางทำกินจนต้องขอพึ่งพระบารมี ในหลวงทรงทอดพระเนตรเห็นอาการสะอึกสะอื้นเหมือนเด็กๆ ของเขาก็ทรงเห็นใจ จึงตรัสด้วยพระราชอารมณ์ขันด้วยประโยคสั้นๆ ว่า "...ปลาร้องไห้ จะต้องหาทางแก้ไข..."
จากนั้นพระองค์ทรงเปิดแผนที่เพื่อทอดพระเนตรต้นเหตุของปัญหา เพื่อชี้ให้เห็นว่าเส้นทางปล่อยน้ำเปรี้ยวจากพรุบาเจาะ ปล่อยน้ำผ่านแม่น้ำกอตอซึ่งเป็นจุดที่เลี้ยงปลากะพงบริเวณจุดเกิดเหตุนี้อย่างไร ทรงศึกษาหาวิธีป้องกันการปล่อยน้ำเปรี้ยวลงจุดเดิมอย่างจริงจัง พร้อมทั้งทรงมอบหมายให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบวางแผนระยะยาว ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์จากวันนั้น จึงทำให้นายอูเซ็งและชาวบ้านอีกหลายหลังคาเรือน ไม่ต้องมีทั้ง “ปลา” และ “คน” ร้องไห้อีกต่อไป
แม้ในวันที่พระองค์ไม่อาจเสด็จไปเยี่ยมเยือนประชาชนเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขได้เหมือนเคย แต่พระราชดำริของพระองค์ที่ทรงคิดค้นเป็นศาสตร์แห่งการยังชีพเอาไว้ ก็ยังคงช่วยปลดหนี้และสร้างความอบอุ่นใจให้แก่ปวงชนชาวไทยตลอดมา โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกรที่ลืมตาอ้าปากได้เพราะ “ศาสตร์ของพระราชา”
"ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก เลี้ยงทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่เลี้ยง หากเหลือส่งขาย" เพียงเริ่มปฏิบัติตามโมเดลเศรษฐกิจพอเพียงที่พระองค์ทรงฝากเอาไว้ให้เป็นมรดกแผ่นดิน ลุงตี๋-สุรชัย แซ่จิว ก็สามารถปลดหนี้กว่าครึ่งล้านลงได้ภายในเวลาเพียง 3 ปี แถมทุกวันนี้ยังกลายเป็น “ปราชญ์เกษตร” ที่ได้รับรางวัลกว่า 50 ครั้ง จึงพูดได้อย่างเต็มปากและเต็มใจว่า ที่ลืมตาอ้าปากและปลดหนี้ได้อย่างทุกวันนี้ก็เพราะพระบารมีของในหลวงของเรา
“พระราชดำรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง” คือแสงตะเกียงนำทางชีวิตให้เกษตรกรอีกรายอย่าง อ.ธงไชย คงคาลัย สามารถปลดหนี้ 50 ล้านได้เช่นกัน จากวันที่ต้องแบกหนี้เพราะน้ำท่วมฟาร์มไก่และบ่อปลา กลับได้เกิดใหม่อีกครั้งเมื่อได้ฟังพระราชดำรัสในปี 2539 ของพระองค์ จนทุกวันนี้ นำชุดความรู้จากพ่อหลวงไปปรับใช้ จนเปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมดุลสวนธงไชย-ไร่ทักสม” ถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นอย่างยั่งยืนได้แล้ว
“ผมฟังแล้วทึ่งมาก เข้าใจเลยว่าที่ผ่านมาเราเดินผิดทาง เพราะมัวพึ่งพาระบบทุน ที่ผ่านมาเราหลงเชื่อฝรั่ง ทำเกษตรแบบซื้อปุ๋ยซื้อยา ซื้อทุกอย่าง ทั้งที่ฝรั่งเขาอยู่คนละทวีปกับเรา ไปเชื่อเขาได้อย่างไร บ้านเมืองเขามีแต่หิมะ ไม่มีทรัพยากร ผลิตอะไรก็ไม่ได้ เลยต้องซื้อทุกอย่าง แต่ประเทศไทยอุดมสมบูรณ์มาก มีทรัพยากรเต็มไปหมด สามารถนำมาทำเป็นปุ๋ย เป็นยา เป็นอาหารสัตว์ แต่เราไม่ได้นำมาใช้
ในหลวงไม่ได้ทรงจับปลาให้แก่ประชาชน เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน แต่พระองค์ทรงสอนให้เราจับปลา คือทรงแนะวิธีพึ่งพาตนเองให้แก่พวกเรา ให้เรารู้จักนำทรัพยากรมาใช้อย่างคุ้มค่า ศาสตร์พระราชาจึงเป็นศาสตร์ที่ทำให้เราชนะทุนนิยม ชนะคนทั้งโลก”
ทรงปิดทองหลังพระ โครงการหลวงเพื่อลูก
"...เราจะช่วยเหลือเขา ให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้..." คือพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ส่งให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริครั้งแรกขึ้นมา โดยเริ่มจากโครงการพัฒนาชนบท สร้างถนนให้ชุมชนบ้านห้วยมงคล ต.หินเหล็กไฟ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2495 ด้วยตั้งพระราชหฤทัยเอาไว้ว่า จะ “ตัดเส้นทาง” เปิดประตูสู่พื้นที่ชนบท เพื่อสร้างความมั่นคงผาสุกและความร่มเย็นอย่างยั่งยืนให้แก่สยามประเทศของเรา
อย่างที่บ้านห้วยมงคล แม้จะเป็นหมู่บ้านที่ห่างไกลความเจริญไม่ถึง 20 กม. แต่กลับไม่มีถนนจากหมู่บ้านสู่ตลาดหัวหิน ส่งให้ประชาชนได้รับความยากลำบากในการเดินทางติดต่อกับโลกภายนอกอย่างมาก พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินเพื่อไปบุกเบิกพื้นที่ กระทั่งวันหนึ่งรถพระที่นั่งเกิดติดหล่มขณะเสด็จกลับ ลุงรวย งามขำ เกษตรละแวกนั้นจึงเข้ามาช่วย ก่อนพบว่าผู้ประทับอยู่ภายในรถคือองค์เหนือหัวและองค์ราชินีของปวงชนนั่นเอง
"...ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ ได้รับสั่งถามถึงปัญหาของหมู่บ้าน และทรงทราบว่าสิ่งที่ชาวบ้านห้วยมงคลต้องการมากที่สุดคือถนน..."
พระองค์ทรงใช้เส้นทางซึ่งเป็นผู้บุกเบิกเหล่านั้น ในการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและพระราชทานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอีกเกือบ 4,000 โครงการ กระจายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ส่งให้พสกนิกรไทยทั้งในชนบทและชุมชนเมือง พึ่งพาตนเองได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนจวบจนวันนี้
พระราชกรณียกิจของพระองค์ไม่เพียงปกเกล้าปวงชนชาวไทยเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายองค์ความรู้ไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว, พม่า, ภูฏาน และอีกหลายประเทศทั่วโลก ให้เข้ามาศึกษาดูงานในโครงการหลวง
โดยเฉพาะการเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยปลูกฝิ่นยังชีพด้วยความยากจน ให้กลายเป็นปลูกพืชในโครงการหลวงแทน จนได้รับการถวายเหรียญทองเพื่อสดุดีพระเกียรติคุณในการแก้ปัญหายาเสพติด จากสหประชาชาติ (UNDCP) ให้เป็น “โครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นแห่งแรกของโลก” และบรรทัดต่อจากนี้คือคำบอกเล่าจาก ม.จ.ภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งถวายงานรับใช้องค์เหนือหัวมากว่า 40 ปีแล้ว
“โครงการของเราเป็นแห่งเดียวในโลกที่ทำแล้วสำเร็จ ผลสัมฤทธิ์ที่ได้คือชาวบ้านรวย บ้านเมืองเจริญ มีถนน ไฟฟ้า และคนข้างล่างได้ประโยชน์ได้กินของอร่อยๆ ป่าไม้บนดอยไม่ถูกทำลาย นี่คือความสำเร็จของโครงการหลวงจากพระเมตตาของพระเจ้าอยู่หัว
เมื่อทรงทราบว่า “ชาวเขาปลูกฝิ่นแต่ยากจน” จึงทรงมีพระราชดำริให้ตั้งโครงการหลวงขึ้นเมื่อปี 2512 ซึ่งเป็น “โครงการส่วนพระองค์” โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 2 แสนบาท สำหรับซื้อที่บริเวณดอยปุยหลังพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ใช้เป็นที่เริ่มต้นทำสถานีวิจัยผลไม้เมืองหนาว เป็นงบประมาณดำเนินงานต่างๆ และจัดซื้อที่ดิน
ณ วันนี้ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงมีทั้งหมด 38 แห่ง กระจัดกระจายอยู่ตามดอยในภาคเหนือตอนบน บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน และพะเยา
พระองค์รับสั่งให้ทำงานโครงการหลวงแบบ “ปิดทองหลังพระ” คือตั้งใจทำงานอย่างเงียบๆ ไม่โฆษณาออกตัว เพราะเป็นโครงการส่วนพระองค์ และเป็นโครงการต้นแบบที่ทรงริเริ่มเพื่อให้รัฐบาลเอาไปสานต่อ”
ข่าวโดย ผู้จัดการ Live
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน