จากประชาชาติธุรกิจ
พระราชลัญจกร คือ ตราที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้ประทับ กำกับพระปรมาภิไธยและประทับกำกับเอกสารสำคัญ การราชการแผ่นดิน เช่น รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา และเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ที่ออกในพระปรมาภิไธยประจำแผ่นดิน หรือประจำรัชกาลนั้น พระราชลัญจกรเป็นเครื่องมงคลที่แสดงถึงพระราชอิสริยยศ และพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ อีกทั้งยังเป็นเครื่องมงคลอีกด้วย พระราชลัญจกรประจำแผ่นดินจะต้องเชิญขึ้นทูลเกล้าฯถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พร้อมกับเครื่องมงคลอื่น ๆ
พระราชลัญจกรมี 4 ประเภท คือ
1.พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดิน ใช้ประทับกำกับเอกสารสำคัญที่ออกในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์เช่น พระราชลัญจกรมหาโองการ พระราชลัญจกรไอยราพต
2.พระราชลัญจกรประจำแผ่นดิน หรือประจำรัชกาล ใช้ประทับกำกับพระบรมนามาภิไธยในเอกสารสำคัญ
3.พระราชลัญจกรประจำพระองค์ ใช้ประทับกำกับพระบรมนามาภิไธย ในเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน
4.พระราชลัญจกรประจำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ใช้ประทับประกาศนียบัตรเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามที่กำหนดไว้
เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน ปรากฏหลักฐานว่าพระราชลัญจกรประจำรัชกาลมีใช้มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา โดยมีการพิมพ์ภาพจำลองพระราชลัญจกรรูปเทวดา 4 กร สันนิษฐานว่าเป็นพระราชลัญจกรพระนารายณ์ทรงครุฑ ประจำพระองค์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตีพิมพ์อยู่ในหนังสือจดหมายเหตุลา ลูแบร์ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ของราชวงศ์จักรี ก่อนสมัยรัชกาลที่ 4
ปรากฏหลักฐานรอยประทับพระราชลัญจกรประจำรัชกาลเพียงพระราชลัญจกรที่เชื่อว่า เป็นพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 2 เท่านั้น คือ พระราชลัญจกรไตรสารเศวต
อย่างไรก็ตาม ก็มีการใช้สัญลักษณ์ประจำรัชกาลต่าง ๆ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 โดยปรากฏหลักฐานอยู่ในเงินพดด้วงสมัยดังกล่าวอยู่แล้ว และมีปรากฏหลักฐานชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการประทับพระราชลัญจกรพระมหามงกุฎและพระราชลัญจกรพระจุฑามณี ในเอกสารส่วนพระองค์ เช่น พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวตามลำดับ
พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 1
ลักษณะเป็นรูปปทุมอุณาโลม มีอักขระ "อุ" อยู่กลาง ล้อมรอบด้วยกลีบบัว ซึ่งเป็นพฤกษชาติที่เป็นสิริมงคลในพุทธศาสนา ตราอุณาโลมที่ใช้ตีประทับบนเงินพดด้วงมีรูปร่างคล้ายสังข์เวียนขวา อยู่ในกรอบ มีพื้นเป็นลายกนก เริ่มออกใช้คราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2328
พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 2
ลักษณะเป็นรูปครุฑยุดนาค เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ฉิม" ตามความหมายของวรรณคดีไทย คือ พญาครุฑในเทพนิยาย เทวะกำเนิดเป็นเทพองค์หนึ่ง
ทรงมหิทธานุภาพยิ่ง แต่ยอมเป็นเทพ พาหนะสำหรับพระนารายณ์ ปกติอยู่วิมานฉิมพลี ดังนั้นจึงทรงพระกรุณาให้ใช้รูปครุฑยุดนาคเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์แทนพระบรมนามาภิไธย
พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่3
ลักษณะเป็นรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ทับ" หมายความว่า ที่อยู่หรือเรือน ดังนั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างรูปปราสาท เป็นพระราชสัญลักษณ์ประจำพระองค์แทนพระบรมนามาภิไธย
พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 4
ลักษณะพระราชลัญจกรพระมหามงกุฎ ลักษณะเป็นรูปกลมรี ลายกลางเป็นรูปพระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "มงกุฎ" ซึ่งเป็นศิราภรณ์สำคัญของ
พระมหากษัตริย์ อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้างที่ริมขอบทั้ง 2 ข้าง มีพานทอง 2 ชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์ หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่น
สุริยกานต์หรือเพชรมาจากฉายาเมื่อทรงผนวชว่า "วชิรญาณ" ส่วนสมุดตำรามาจากเหตุที่ได้ทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์ องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลมรีรูปไข่แนวนอน กว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 6.8 เซนติเมตร
พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 5
ลักษณะพระราชลัญจกรพระเกี้ยวยอด ลักษณะเป็นรูปพระจุลมงกุฎ(หรือพระเกี้ยว) เปล่งรัศมีประดิษฐ์บนพานแว่นฟ้า เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "จุฬาลงกรณ์" ซึ่งแปลความหมายว่าเป็นศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ มีฉัตรบริวารตั้งขนาบข้าง ที่ริมขอบทั้ง 2 ข้างมีพานแว่นฟ้าและพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง พระแว่น
สุริยกานต์หรือเพชรและสมุดตำรานั้น เป็นการเจริญรอยจำลองพระราชลัญจกรประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถ องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลมรีรูปไข่แนวนอน กว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 6.8 เซนติเมตร
พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 6
พระราชลัญจกรพระวชิระ เป็นรูปวชิราวุธ เปล่งรัศมีเป็นสายฟ้า ประดิษฐ์บนพานแว่นฟ้าตั้งอยู่เหนือตั่ง มีฉัตรกลีบบัวตั้งอยู่ 2 ข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธย "วชิราวุธ" ซึ่งหมายถึง สายฟ้าอันเป็นเทพศาสตราของพระอินทร์
องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลมรีรูปไข่แนวนอน กว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 6.8 เซนติเมตร
พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 7
พระราชลัญจกรพระแสงศร ลักษณะเป็นรูปพระแสงศร 3 องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์ พระแสงศรประลัยวาต พระแสงศรอัคนีวาต อันเป็นเทพอาวุธของพระพรหม พระอิศวร และพระนารายณ์ตามลำดับ เหนือราวพาดพระแสงเป็นดวงตรา
มหาจักรีบรมราชวงศ์ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ เบื้องซ้ายและเบื้องขวาของราวพาดพระแสงตั้งบังแทรก สอดแทรกด้วยลายกนกอยู่บนพื้นตอนบนของดวงตรา พระแสงศร 3 องค์นี้ เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า "ประชาธิปกศักดิเดชน์" ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์คำสุดท้ายของวรรคที่ว่า "เดชน์" แปลว่า ลูกศร องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลมรีรูปไข่แนวนอน กว้าง 5.4 เซนติเมตร ยาว 6.7 เซนติเมตร
พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 8
ลักษณะเป็นรูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหนือบัวบาน ดัดแปลงจากพระราชลัญจกรโพธิสัตว์สวนดุสิตในรัชกาลที่ 5 หมายถึงแผ่นดิน พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูมและมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี มีแท่นรองรับตั้งฉัตรบริวาร 2 ข้าง เป็นพระราชสัญลักษณ์ของพระบรมนามาภิไธยว่า
"อานันทมหิดล" ซึ่งแปลความหมายว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ด้วยความยินดีของอเนกนิกรชาวไทย ประหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จมาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลม เส้นผ่านศูนย์กลาง 7 เซนติเมตร
พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9
ลักษณะพระราชลัญจกรประจำรัชกาลที่ 9 เป็นรูปพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น "อุ" หรือ "เลข 9" รอบวงจักรมีรัศมีเปล่งโดยรอบ เหนือจักรเป็นรูปเศวตฉัตร 7 ชั้น ฉัตรตั้งอยู่บนพระที่นั่ง อัฐทิศ แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน
โดยวันพระบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณี ได้เสด็จประทับเหนือพระที่นั่ง อัฐทิศ สมาชิกรัฐสภาถวายน้ำอภิเษกจากทิศทั้ง 8 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย ทรงรับน้ำอภิเษกจากสมาชิกรัฐสภา แทนที่จะทรงรับจากราชบัณฑิตดั่งในรัชกาลก่อน องค์พระราชลัญจกรนี้เป็นตรากลมรีรูปไข่แนวตั้ง กว้าง 5 เซนติเมตร สูง 6.7 เซนติเมตร
พระราชลัญจกรองค์นี้นอกจากจะใช้ประทับในเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับราชการแผ่นดินแล้วยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานตรานี้แก่สถาบันอุดมศึกษากลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและมหาวิทยาลัยราชภัฏ
ใช้เป็นตราประจำมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งในเครือของตน และยังได้มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้เป็นภาพประธานในตราสัญลักษณ์งานพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ ในรัชกาลของพระองค์ ได้แก่ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก งานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 80 พรรษาอีกด้วย
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน