สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

มหาราช ในโลกล้วนอยู่ในระบอบราชาธิปไตย แต่มหาราชใต้รัฐธรรมนูญมีพระองค์เดียว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

“มหาราช” ในโลกล้วนอยู่ในระบอบราชาธิปไตย แต่มหาราชใต้รัฐธรรมนูญมีพระองค์เดียว “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช”!!!

      “มหาราช” เป็นพระราชสมัญญาที่ปวงอาณาประชาราษฎร์ผู้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมใจกันถวายแด่กษัตริย์ที่ทรงทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างใหญ่หลวง ถือเป็นมติของมหาชน ไม่ใช่เป็นการประกาศของทางราชการโดยกระทรวงทบวงกรมใดๆทั้งสิ้น
       
       มหาราชของโลกมีมาแต่โบราณกาล อย่าง พระเจ้าอโศกมหาราชของอินเดีย จิ๋นซีฮ่องเต้ของจีน อเล็กซานเดอร์มหาราชของมาซิโดเนีย เจงกีสข่านของมองโกเลีย จักรพรรดินโปเลียนของฝรั่งเศส เป็นต้น
       
       สำหรับไทยเราเริ่มมีการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ต่อท้ายพระนามพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์มานี่เอง เนื่องจากเป็นสมัยที่เริ่มมีการศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ ทำให้ประจักษ์ถึงวีรกรรมของบรรพบุรุษและพระเกียรติคุณอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์ในอดีต จึงได้มีการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ขึ้น
       
       มหาราชของไทยถือกันว่ามี ๗ พระองค์ คือ
       
       พ่อขุนรามคำแหงมหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๓ ของกรุงสุโขทัย นอกจากจะทรงขยายพระราชอาณาจักรแผ่ไพศาลแล้ว ยังทรงสร้างความเจริญรุ่งเรืองอย่างสูงสุดทั้งด้านการปกครอง การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๑๘๒๖
       
       สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๑๘ แห่งกรุงศรีอยุธยา ทรง
       กอบกู้อิสรภาพจากพม่าด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ทรงสร้างบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นรุ่งเรือง พระบรมเดชานุภาพของพระองค์ทำให้ราชอาณาจักรไทยร่มเย็นสงบสุขต่อมาเป็นเวลาถึง ๑๕๐ ปี โดยไม่มีข้าศึกกล้าเข้ามากล้ำกราย
       
       สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๒๘ ของกรุงศรีอยุธยา ทรงพระปรีชาสามารถทั้งทางด้านการปกครอง การต่างประเทศ การศาสนา และวรรณกรรม ราชอาณาจักรไทยในรัชสมัยของพระองค์มีชื่อเสียงขจรขจายไปถึงยุโรป
       
       สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชของชาติไทยหลังจากการเสียกรุงศรีอยุธยาอย่างย่อยยับ ทรงสถาปนาราชอาณาจักรไทยให้กลับเป็นปึกแผ่นมั่นคงอีกครั้งหนึ่ง และแผ่ไพศาลยิ่งกว่าเดิม ทรงสร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง
       
       พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์จนมาเป็นมหานครแห่งหนึ่งของโลกในปัจจุบัน ทรงวางรากฐานบ้านเมืองขึ้นมาใหม่ในทุกๆด้าน ทำให้ร่มเย็นเป็นสุขตลอดมา และมรดกอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงมอบไว้ให้ชาติไทยอีกอย่างก็คือ ราชวงศ์จักรี
       
       สมเด็จพระปิยมหาราช เป็นพระราชสมัญญาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๕ ของกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระองค์บ้านเมืองต้องเผชิญกับการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจจากตะวันตกอย่างหนัก แต่เพราะพระอัจฉริยภาพของพระองค์ ก็สามารถรักษาเอกราชและอธิปไตยไว้ได้ ทั้งยังทรงนำบ้านเมืองไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศ ทรงเลิกทาสด้วยวิธีที่โลกต้องบันทึกไว้
       
       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ แห่งกรุง
       รัตนโกสินทร์ ซึ่งพระราชกรณียกิจและพระราชหฤทัยที่สละความสุขส่วนพระองค์ แสดงความห่วงใยประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์ทุกหมู่เหล่าทุกระดับชั้น เป็นที่ประจักษ์แจ้งอยู่ในหัวใจคนไทยอยู่แล้ว อีกทั้งโลกยังสรรเสริญว่าพระองค์ทรงเป็น “KING OF KING”
       
       มหาราชทั้งหมดของโลกก่อนหน้านี้ ทรงปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย มีพระราชอำนาจโดยเด็ดขาด ส่วนใหญ่ทรงพระบรมเดชานุภาพด้วยกองทัพ แต่เมื่อโลกยุคใหม่หันมานิยมการปกครองระบอบประชาธิปไตย แม้หลายประเทศยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้ในตำแหน่งประมุขของประเทศ แต่ก็ถูกลดพระราชอำนาจลงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถใช้พระราชอำนาจทางการปกครองด้วยพระองค์เอง รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา ใช้อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และใช้อำนาจตุลาการผ่านทางศาล พระมหากษัตริย์จึงทรงอยู่เหนือการเมือง มีหน้าที่เพียงให้คำปรึกษา ถ้าผู้ใช้อำนาจทั้ง ๓ นั้นต้องการคำปรึกษา
       
       รัฐธรรมนูญยังกำหนดอีกว่า หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใด พระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือไม่คืนมาภายใน ๙๐ วัน เมื่อรัฐสภานำมาพิจารณาใหม่ และมีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกที่มีอยู่ทั้งหมดของ ๒ สภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานคืนมาภายใน ๓๐ วัน ก็ให้นายกรัฐมนตรีนำพระราชบัญญัติหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนั้นประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายเสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
       
       แม้จะไม่ทรงเห็นด้วย ก็ไม่มีพระราชอำนาจที่จะยับยั้งได้
       
       พระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ จึงเป็นเพียงสัญลักษณ์สูงสุดของประเทศเท่านั้น
       
       “มหาราช” ในระบอบประชาธิปไตย จึงเป็นสิ่งยากยิ่งที่จะบังเกิดขึ้นได้
       แต่ท่านพุทธทาสภิกขุ หรือพระธรรมโกศาจารย์ ได้แสดงปาฐกถาธรรมทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เรื่อง “การตามรอยพระยุคลบาทโดยทศพิธราชธรรม” เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๓๐ มีความตอนหนึ่งว่า
       
       “...เรามีหลักเกณฑ์ว่า ระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข คือมีการเป็นผู้นำ แต่แล้วมันก็กระทบความรู้สึกอยู่อย่างหนึ่ง คือว่ารัฐธรรมนูญมิได้ถวายพระราชอำนาจในการเป็นผู้นำโดยประการทั้งปวง ยังควบคุมอยู่บางอย่าง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สูญเสียการเป็นผู้นำ เพราะว่ามีการนำได้อีกหลายทาง หลายอย่างหลายประการ แม้จะไม่มีอำนาจทางการเมืองอย่างสมบูรณ์ แต่ก็มีโอกาสที่จะนำในทางเศรษฐกิจ ในทางพัฒนา ในทางวัฒนธรรม ในทางการศึกษา อะไรๆ ซึ่งดีไปกว่าการเมืองซึ่งเป็นเรื่องหลอกลวง เรียกว่าเป็นผู้นำในทางวิญญาณ เป็นผู้นำในทางวิญญาณ ฟังดูให้ดีๆ ว่าการทำให้เกิดความถูกต้องในทางจิตใจในการดำเนินชีวิต นี่เป็นการนำในทางวิญญาณ เราทั้งหลายสามารถที่จะถวายโอกาส หรือทำให้เกิดโอกาส จนพระประมุขแห่งชาติสามารถจะนำได้อย่างเต็มที่ ครบถ้วนทุกอย่างที่จะทำให้เกิดความสุข ความเจริญ เราทั้งหลายสามารถทำให้เกิดโอกาสแก่การนำโอกาสนั้น ถวายแก่สมเด็จบรมบพิธพระราชสมภารแห่งประเทศไทย จะได้ทรงนำได้ตามพระราชประสงค์ พระราชประสงค์ใดล้วนแต่เป็นพระประสงค์ที่ดี ที่ถูกต้อง เราก็ถวายโอกาสแห่งการนำอันถูกต้อง และเราก็ถือโอกาสประพฤติตามอย่างถูกต้อง คือประพฤติตามพระองค์ในการบำเพ็ญทศพิธราชธรรม”
       
       แต่แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างยากยิ่งนี้ ก็เป็นความโชคดีของคนไทยเรา ที่ได้มีโอกาสถวายพระราชสมัญญาพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็น “มหาราช” อีกพระองค์หนึ่งซึ่งนอกจากจะเป็นมติมหาชนของคนไทยเราเองแล้ว โลกก็ยังยอมรับว่าพระองค์ทรงเป็นยิ่งกว่า “KING”
       
       จากที่ทรงประกาศพระราชปณิธานในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๙๓ ด้วยพระปฐมบรมราชโองการว่า
       
       “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
       
       ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา เป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนชาวสยามและชาวโลกแล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมุ่งมั่นพระราชหฤทัยที่จะทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อความผาสุกของอาณาประชาราษฎร์ ตามพระปฐมพระบรมราชโองการโดยสมบูรณ์ ทรงมีพระวิริยะอุตสาหะอย่างมิทรงเหน็ดเหนื่อย จนได้รับคำสรรเสริญทั่วไปในนานาประเทศว่า “เป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก”
       
       ภาพที่คุ้นตาของพสกนิกรตลอดเวลาที่ทรงครองราชย์ก็คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินฝ่าแดดฝ่าลมไปในชนบททุรกันดาร ย่ำพระบาทไปตามคันนา ตามพื้นที่เฉอะแฉะ บางครั้งก็ประทับนั่งบนพื้นดิน กางแผนที่ลงและทรงรับฟังความเห็นจากชาวไร่ชาวนาในพื้นที่ เพื่อหาทางช่วยพวกเขาให้ช่วยตัวเองได้ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น โดยมิได้ทรงคำนึงถึงความสุขสบายส่วนพระองค์ มุ่งปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งหลายทั้งปวงเพื่อประโยชน์สุขของชาวสยาม และเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ
       
       ในปีหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวจะทรงงานตลอด ๓๖๕ วัน ไม่มีวันหยุด ทรงใช้เวลาอย่างน้อยปีละ ๘ เดือน เสด็จท้องถิ่นทุรกันดารเพื่อเยี่ยมเยียนราษฎรทั่วทุกภาค แม้แต่ในท้องถิ่นอันตรายจากการก่อการร้าย ก็ไม่ทรงหวั่นเกรงภัยใดๆ พระองค์ทรงอยู่เหนือความขัดแย้ง เป็นผู้ให้โดยไม่จำกัดเชื้อชาติศาสนาของคนที่อยู่บนผืนแผ่นไทย เมื่อทรงทราบว่าที่ใดมีปัญหาเรื่องการทำมาหากินและความเป็นอยู่ พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปที่นั่น ไม่ว่าในเมืองหลวงหรือชนบทไกล เพื่อแก้ปัญหาให้ราษฎรของพระองค์ จนมีคำกล่าวกันว่า
       
       “เมื่อพระบาทยาตรา ปวงประชาเป็นสุข”
       
       ทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยและตรากตรำพระวรกายอย่างหนัก จนเกิดผลงานจากโครงการพระราชดำริออกมามากมายถึง ๔,๑๗๖ โครง การกระจายอยู่ทั่วผืนแผ่นดินไทย ทั้งด้านพัฒนาการเกษตร การจัดการทรัพยากรน้ำ การจัดการทรัพยากรดิน การพัฒนาและฟื้นฟูป่าไม้ การคมนาคม สาธารณูปโภค และการสื่อสาร ทั้งยังทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ให้โลก ทรงได้รับการถวายสิทธิบัตรและรางวัลจากสิ่งประดิษฐ์หลายรางวัล ทรงได้รับ “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” จากองค์การสหประชาชาติ และเมื่อประเทศชาติมีปัญหาวิกฤติจนเกิดสงครามกลางเมือง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกเหมือนกัน ที่ทรงแก้ไขให้คืนสู่ความสงบได้ราวปาฏิหาริย์ อย่างที่ไม่เคยมีใครในโลกทำได้ อีกทั้งพระราชดำรัสของพระองค์ก็มีคุณค่าอย่างมหาศาล เป็นแนวทางของประเทศและชีวิตส่วนบุคคลได้เป็นอย่างดี
       
       จากการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมประชาชนทั่วทุกภาค ให้ราษฎรเข้าเฝ้าโดยใกล้ชิด ทรงไต่ถามถึงความเป็นอยู่และการทำมาหากินของพสกนิกรด้วยพระองค์เอง ทำให้มีพระราชหฤทัยผูกพันกับความทุกข์สุขของราษฎร จนเกิดสถานะใหม่ของพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือไม่เหลือช่องว่างระหว่างกษัตริย์กับประชาชน เป็นความใกล้ชิดที่ผูกพันด้วยความรักภักดี เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์แห่งพระราชหฤทัย และซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอันประมาณมิได้
       มีชาวต่างประเทศหลายคนที่มาทำสารคดีเกี่ยวกับในหลวง ซึ่งได้ทราบมาก่อนว่าทรงทำงานหนักเพื่อประชาชน แต่ก็ต้องตะลึงไปตามๆกันเมื่อได้มาพบเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในขณะตามเสด็จ เหลือเชื่อที่พระมหากษัตริย์พระองค์หนึ่ง จะทรงงานเพื่อประชาชนหนักถึงเพียงนี้ ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้ต้องทำ แต่ทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยและพระวรกาย เพื่อความสุขของอาณาประชาราษฎร์ สิ่งที่เขาเคยทราบมาก่อนนั้น ยังน้อยกว่าที่มาเห็นด้วยตาจริงๆมากมายนัก
       
       แม้ในระยะหลังๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะมิได้ทรงออกทรงงานในที่ต่างๆมากนัก เนื่องจากพระวรกายที่ตรากตรำมายาวนาน แต่ก็ยังทรงติดตามปัญหาของราษฎรอยู่เสมอ แม้ขณะประทับอยู่ในโรงพยาบาลศิริราชตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๒ ก็ยังทรงมีพระราชดำริมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไปดำเนินการและนำความมากราบบังคมทูล ทรงติดตามงานเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยามอยู่ตลอด ไม่ว่าน้ำท่วมหรือฝนแล้ง
       
       นับตั้งแต่วันประกาศพระปฐมบรมราชโองการเป็นต้นมา ยิ่งวันเวลาผ่านไปหลายๆ ปี พสกนิกรชาวไทยต่างประจักษ์แก่ใจว่า “ในหลวงของเรา” ทรงเป็นเสมือนพ่อที่คอยเอาใจใส่ดูแลความเป็นอยู่ บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ลูก ทรงสละความสุขส่วนพระองค์เพื่อประเทศชาติและประชาชนโดยแท้ สมควรถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ได้แล้ว
       
       ดังนั้น ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ผู้นำประชาชนกลุ่มต่างๆทุกสาขาอาชีพ ได้เห็นพ้องต้องกันให้เชิญชวนปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ร่วมกันน้อมเกล้าฯ ถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครั้นนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงมีกระแสพระราชดำรัสว่า ยังไม่ต้องพระราชประสงค์ ด้วยยังทรงไม่แน่พระทัยว่าควรหรือไม่ โดยทรงมีพระราชดำริ ๒ ประการ คือ อาวุโสที่ควรแก่การดำรงตำแหน่งมหาราช และ ปวงชนชาวไทยจงรักภักดีต่อพระองค์มากเพียงใด ฉะนั้น การน้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” จึงต้องระงับไปก่อน แต่ได้พร้อมใจกันจัดงาน ๕ ธันวามหาราชขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยกำหนดว่าจะน้อมเกล้าฯถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” ในมหามงคลสมัยที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ ๖๐ พรรษาในปี พ.ศ.๒๕๓๐ และจะจัดงาน ๕ ธันวามหาราชต่อๆไปทุกปี เพื่อประกาศพระเกียรติให้ปรากฏทั้งในราชอาณาจักรและต่างประเทศ
       
       ดังนั้นในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๐ ณ บริเวณท้องสนามหลวง คณะกรรมการจัดงาน ๕ ธันวามหาราชได้ร่วมมือร่วมใจกันจัดงานขึ้นด้วยศรัทธาและความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นการจัดงานรวมใจของประชาชนทุกหมู่เหล่า เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายพระพรแด่พระองค์ผู้เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ การจุดเทียนชัยถวายพระพรเป็นหมื่นเล่มได้สว่างไสวขึ้นในวันนั้น และในปีต่อๆมาได้ขยายวงกว้างออกไปเป็นทุกจังหวัด ดวงเทียนได้กลายเป็นแสนและเป็นล้านๆเล่มทั่วแผ่นดินไทย พร้อมเสียงถวายพระพรชัยกังวานไปทั่วประเทศ
       
       ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ คณะกรรมการมูลนิธิ ๕ ธันวามหาราช คณะกรรมการจัดงาน ๕ ธันวามหาราช ด้วยความร่วมมือของกระทรวงมหาดไทย ได้สำรวจประชามติเกี่ยวกับการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผ่านองค์กรระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด ตลอดจนกระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งรัฐวิสาหกิจและธุรกิจภาคเอกชนต่างๆว่า จะเห็นชอบพระนามมหาราชพระนามใด ผลการสำรวจปรากฏว่า ประชาชนเห็นชอบพระราชสมัญญา “ภูมิพลมหาราช” มากถึง ๓๔,๕๔๙,๘๔๒ คน และเห็นชอบพระราชสมัญญา “ภัทรมหาราช” ๖,๐๘๓,๐๑๓ คน ส่วนที่เหลือมีผู้เห็นชอบถวายพระราชสมัญญาอื่นๆ อีก ๑๓ พระราชสมัญญา
       
       ในการถวายพระราชสมัญญา “มหาราช” แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ คณะกรรมการจัดงาน ๕ ธันวามหาราช จึงได้นำเสนอ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ถวายอาศิรวาทราชสดุดีและถวายชัยมงคล ในงานสโมสรสันนิบาตวันฉัตรมงคล ๕ พฤษภาคม ๒๕๓๐ ณ ทำเนียบรัฐบาล ดังนี้
       
       “....ในอภิลักขิตมหามงคลสมัยแห่งวันฉัตรมงคล ในรอบปีที่ ๓๗ ในวันนี้ บรรดาอาณาประชาราษฎร์ทั้งปวงและรัฐบาล สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้ จึงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ประกาศความสมานฉันท์พร้อมเพรียงกันเฉลิมพระเกียรติ และถวายพระราชสมัญญาเป็น “มหาราช” ด้วยความจงรักภักดีมีในปวงข้าพระพุทธเจ้า ขอน้อมเกล้าฯ ตั้งสัตยาธิษฐาน เดชะคุณพระศรีรัตนตรัย เป็นประธาน พร้อมด้วยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โปรดอภิบาลพระบรมราชจักรีวงศ์ให้สถิตธำรงอยู่คู่ดินฟ้า และโปรดประทานชัยมงคลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ขอจงทรงพระเจริญสิริสวัสดิ์ในไอศูรย์ราชสมบัติแห่งสยามรัฐสีมา ขอพระมหาราชเจ้าเผยแผ่พระบรมกฤษฎาเดชานุภาพ คุ้มเกล้าคุ้มกระหม่อมเหล่าพสกนิกรตลอดในจิรัฐิติกาล เทอญ”
       
       พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช จึงทรงเป็น “มหาราชใต้รัฐธรรมนูญ” พระองค์เดียวของโลก

“มหาราช” ในโลกล้วนอยู่ในระบอบราชาธิปไตย แต่มหาราชใต้รัฐธรรมนูญมีพระองค์เดียว “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช”!!!

“มหาราช” ในโลกล้วนอยู่ในระบอบราชาธิปไตย แต่มหาราชใต้รัฐธรรมนูญมีพระองค์เดียว “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช”!!!

“มหาราช” ในโลกล้วนอยู่ในระบอบราชาธิปไตย แต่มหาราชใต้รัฐธรรมนูญมีพระองค์เดียว “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช”!!!

“มหาราช” ในโลกล้วนอยู่ในระบอบราชาธิปไตย แต่มหาราชใต้รัฐธรรมนูญมีพระองค์เดียว “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช”!!!

“มหาราช” ในโลกล้วนอยู่ในระบอบราชาธิปไตย แต่มหาราชใต้รัฐธรรมนูญมีพระองค์เดียว “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช”!!!


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : มหาราช ในโลก ล้วนอยู่ในระบอบราชาธิปไตย มหาราชใต้รัฐธรรมนูญมีพระองค์เดียว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

view