จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
มีเรื่องราวดีๆมากมายจากพระราชกรณียกิจและพระราชอัธยาศัยของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ที่ทรงแสดงความรัก ความเมตตา ต่อพสกนิกรของพระองค์ เมื่อนำเรื่องราวเหล่านี้มารำลึกครั้งใด ก็จะเกิดความสุข และความภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยในรัชสมัยของพระองค์ อย่างเช่น
ราษฎรยังอยู่ได้
ปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรในตำบลหนึ่งของอำเภอเมืองพัทลุง อันเป็นแหล่งที่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ปฏิบัติการรุนแรงที่สุดในภาคใต้เวลานั้น ด้วยความห่วงใยอย่างยิ่ง กระทรวงมหาดไทยได้กราบบังคมทูลขอให้ทรงรอให้สถานการณ์ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่เสียก่อน แต่คำตอบที่ทางกระทรวงมหาดไทยได้รับก็คือ
“ราษฎรเขาเสี่ยงภัยยิ่งกว่าเราหลายเท่า เพราะเขาต้องกินอยู่ที่นั่น เขายังอยู่ได้ แล้วเราจะขลาดแม้แต่จะไปเยี่ยมเยียนทุกข์สุขของเขาเชียวหรือ”
เก็บร่ม
การเสด็จพระราชดำเนินทุกครั้ง แม้จะต้องเผชิญกับแดดร้อนหรือลมแรง ราษฎรก็ไม่เคยย่อท้อที่จะอดทนรอรับเสด็จให้ถึงที่สุด แม้ฝนจะตกหนักแค่ไหนก็ไม่มีใครยอมกลับบ้าน
ร้อยเอกศรีรัตน์ หริรักษ์ เล่าไว้ในบทความ "พระบารมีปกเกล้าฯ ที่อำเภอท่ายาง" ตีพิมพ์ในหนังสือ "๗๒ พรรษาราชาธิราชเจ้านักรัฐศาสตร์" ว่า
ครั้งหนึ่งที่โครงการห้วยสัตว์ใหญ่ เมื่อเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งมาถึง ปรากฏว่าฝนตกลงมาอย่างหนัก ราษฎรและข้าราชการที่มาเข้าแถวรอรับเสด็จต่างเปียกปอนกันหมด แต่ก็ยังตั้งแถวเป็นระเบียบเรียบร้อยอยู่อย่างนั้น
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ นายตำรวจราชองค์รักษ์ที่ตามเสด็จได้เข้าไปกางร่มถวาย ทรงทอดพระเนตรเห็นบรรดาข้าราชการและราษฎรที่มายืนตั้งแถวรอรับเสด็จอยู่ต่างก็เปียกฝนโดยทั่วกัน จึงมีรับสั่งให้นายตำรวจราชองครักษ์เก็บร่ม แล้วทรงพระดำเนินเยี่ยมข้าราชการและราษฎรที่เข้าแถวรอรับเสด็จ โดยทรงเปียกฝนเช่นเดียวกับข้าราชการและราษฎรทั้งหลาย ที่ยืนรอรับเสด็จในขณะนั้น
สิ่งที่ทรงหวัง
ครั้งหนึ่งขณะเสด็จฯเยี่ยมราษฎรในภาคอีสาน ผู้สื่อข่าวต่างประเทศคนหนึ่งได้ขอพระราชทานสัมภาษณ์ และได้กราบบังคมทูลถามว่า การที่เสด็จเยี่ยมราษฎรและมีโครงการตามพระราชดำริเกิดขึ้นมากมายนั้น ทรงหวังว่าจะให้คอมมิวนิสต์น้อยลงใช่หรือไม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรบสั่งตอบว่า มิได้ทรงสนพระทัยว่าคอมมิวนิสต์จะน้อยลงหรือไม่ แต่ทรงสนพระทัยว่าประชาชนของพระองค์จะหิวน้อยลงหรือไม่
ฉันทนได้
ในเดือนหนึ่งของปี ๒๕๒๘ พระทนต์องค์หนึ่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหักเฉียดโพรงประสาทฟัน พระทนต์องค์นั้นต้องการการถวายการรักษาเร่งด่วน แต่ขณะนั้นกรุงเทพฯ ก็กำลังประสบปัญหาอุทกภัย ต้องการการบรรเทาทุกข์เร่งด่วนเช่นกัน
เมื่อทันตแพทย์เข้ามาถวายการรักษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถามว่า "จะใช้เวลานานเท่าใด"
ทันตแพทย์กราบบังคมทูลว่า อาจต้องใช้เวลา ๑-๒ ชม.
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งว่า
"ขอรอไว้ก่อนนะ ฉันทนได้ วันนี้ขอไปดูราษฎรและช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วมก่อน"
คำสอนประโยคเดียว
เมื่อนิตยสาร "สไตล์" ฉบับปี ๒๕๓๐ ได้ตั้งคำถามกับ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ถึง "คำสอน" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ประทับอยู่ในหัวใจ
ดร.สุเมธ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการ กปร. ตอบว่า คำสอน ประโยคเดียวก็เกินพอนั้น คือพระราชดำรัสที่ว่า
"มาอยู่กับฉันนั้น ฉันไม่มีอะไรจะให้ นอกจากความสุขที่จะมีร่วมกันในการทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่น"
สละ ๖-๗ วินาทีเพื่อความสุขเป็นปีๆ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเริ่มเสด็จฯพระราชทานปริญญาบัตรตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๓ และหลังจากนั้นบัณฑิตทุกคนก็เฝ้ารอที่จะได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์อย่างใจจดใจจ่อ
ภาพถ่ายวันรับพระราชทานปริญญาบัตรกลายเป็นของล้ำค่าที่ต้องประดับไว้ตามบ้าน และเป็นสัญลักษณ์แห่งความสำเร็จและความภาคภูมิใจของผู้รับและบิดามารดา
แต่ ๒๙ ปีต่อมา มีผู้คำนวณให้ฉุกใจคิดกันว่า พระราชภารกิจในการพระราชทานปริญญาบัตรนั้นเป็นพระราชภารกิจที่หนักหน่วงไม่น้อย การเสด็จฯพระราชทานปริญญาบัตร ๔๙๐ ครั้ง ประทับครั้งละราว ๓ ชม. เท่ากับทรงยื่นพระหัตถ์พระราชทานใบปริญญาบัตร ๔๗๐,๐๐๐ ครั้ง น้ำหนักปริญญาบัตรฉบับละ ๓ ขีด รวมน้ำหนักทั้งหมดที่พระราชทานมาแล้ว ๑๔๑ ตัน
ไม่เพียงเท่านั้น ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ยังเล่าเสริมให้เห็นความละเอียดอ่อนในพระราชภารกิจ ที่ไม่มีใครคาดถึงว่า
“ไม่ได้พระราชทานเฉยๆ ทรงทอดพระเนตรอยู่ตลอดเวลา โบว์หลุด อะไรหลุด พระองค์ท่านทรงผูกโบว์ใหม่ให้เรียบร้อย บางครั้งเรียงเอกสารไว้หลายวัน ฝุ่นมันจับ พระองค์ท่านก็ทรงปัดออก”
ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้กราบบังคมทูลขอให้ทรงลดการพระราชทานปริญญาบัตรลงบ้าง โดยอาจงดการพระราชทานในระดับปริญญาตรีตรี คงไว้แต่เพียงระดับปริญญาโทขึ้นไป
แต่พระเจ้าอยู่หัวกลับมีพระราชกระแสรับสั่งว่า พระองค์เองเสียเวลายื่นปริญญาบัตรให้บัณฑิตคนละ ๖-๗ วินาทีนั้น แต่ผู้ได้รับมีความสุขเป็นปีๆ ที่สำคัญคือ ทรงเห็นว่าการพระราชทานปริญญาสำหรับผู้สำเร็จปริญญาตรีนั้นสำคัญ เพราะบางคนไม่มีโอกาสศึกษาชั้นปริญญาโทและปริญญาเอก ดังนั้น...
“จะพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตปริญญาตรีไปจนกว่าจะไม่มีแรง..”
รับปริญญาสองครั้ง
เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๘ เป็นวันสุดท้ายของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของบัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันนั้นเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศในตอนบ่าย เป็นผลให้บัณฑิต ๖ คน ที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในช่วงนั้น หมดโอกาสที่จะถ่ายภาพตอนเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์ไว้เป็นที่ระลึก
แต่สิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเสร็จพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับอาจารย์ที่หมอบถวายปริญญาอยู่ข้างๆที่ประทับ ให้ไปตามบัณฑิต ๖ คนนั้นขึ้นมารับปริญญาใหม่อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะได้ถ่ายภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก ยังความตื้นตันให้กับนิสิตและคณาจารย์กันทั้งหอประชุม
หน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทย
เมื่อมีผู้สื่อข่าว BBC ขอพระราชทานสัมภาษณ์เพื่อประกอบภาพยนตร์เรื่อง “The Soul of Nation” ในปี ๒๕๒๒ โดยได้กราบบังคมทูลถามถึงพระราชทัศนะเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทย พระองค์ได้พระราชทานคำตอบว่า
การที่จะอธิบายว่าพระมหากษัตริย์คืออะไรนั้น ดูเป็นปัญหาที่ยากพอสมควร โดยเฉพาะในกรณีของข้าพเจ้า ซึ่งถูกเรียกโดยคนทั่วไปว่า พระมหากษัตริย์ แต่โดยหน้าที่ที่แท้จริงแล้ว ดูจะห่างไกลจากหน้าที่ที่พระมหากษัตริย์ที่เคยรู้จักหรือเข้าใจกันมาแต่ก่อน หน้าที่ของข้าพเจ้าในปัจจุบัน ก็คือทำอะไรก็ตามที่เป็นประโยชน์ ถ้าถามว่าข้าพเจ้ามีแผนการอะไรบ้างในอนาคต คำตอบก็คือไม่มี เราไม่ทราบว่าอะไรจะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เพียงพอแล้วสำหรับเรา
เหตุที่พระเจ้าอยู่หัวไม่เสวยปลานิล
ทุกวันนี้ มีน้ำที่ไหน มีปลานิลที่นั่น และเป็นปลาเศรษฐกิจของไทย เป็นอาหารสำคัญของคนทั่วประเทศ และยังสร้างอาชีพให้คนที่เลี้ยงกันมากมาย แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่โปรดเสวยปลานิล ทุกครั้งที่มีผู้นำปลานิลไปตั้งเครื่องเสวย จะโบกพระหัตถ์ให้เอาออกไป
ต่อมาจึงทรงเปิดเผยเบื้องหลังที่ไม่เสวยปลานิลว่า
“ก็เลี้ยงมันมาเหมือนลูก แล้วจะกินมันได้อย่างไร”
ทั้งนี้พระเจ้าอยู่หัวทรงขยายพันธุ์ปลานิลจากที่พระจักรพรรดิญี่ปุ่นถวายมาเพียง ๕๐ ตัว เมื่อครั้งยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ส่งให้กรมประมงขยายพันธุ์ต่อ แจกจ่ายให้ประชาชน จนแพร่ไปทุกแหล่งน้ำทั่วประเทศในขณะนี้
จระเข้ฉีกหน้าผู้ว่า
ในหนังสือ “คึกฤทธิ์พูด” ฉบับรวมปาฐกถา เนื่องในวันเกิดครบรอบปีที่ ๗๘ ได้เล่าไว้ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุณหลวงสุรัตน์ณรงค์ ราชองครักษ์ เล่าให้ฟัง เมื่อครั้งเสด็จทรงงานเพื่อราษฎรที่นครพนม ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จทอดพระเนตรแม่น้ำโขงฝั่งไทย พอไปถึงบ้านไหนตำบลไหน ผู้ว่าราชการนครพนมที่เฝ้าถวายรายงานอยู่ข้างพระองค์ ก็จะกราบบังคมทูลว่า บ้านนี้เรียกว่าอย่างนั้น ตำบลนี้ชื่ออะไร ราษฎรมีเท่าไหร่ ทำมาหากินอะไร พอไปถึงตำบล “วังจระเข้” ก็มีพระราชดำรัสถามว่า แล้วมีจระเข้ไหม ผู้ว่าฯก็กราบบังคมทูลว่าไม่มี
“สมัยนี้มีเรือยนต์กลไฟมากมาย จระเข้ไม่มีที่สงบอยู่ เลยหนีกันไปหมด” มีพระราชดำรัสว่า
“เสียดายจริง ฉันยังไม่เคยเห็นจระเข้ที่อยู่ตามธรรมชาติเลย”
พอขาดคำจากพระโอษฐ์ จระเข้ ๒ ตัวก็ลอยหัวขึ้นมาให้ทอดพระเนตร ทรงชี้ให้ผู้ว่าฯดูด้วย คืนนั้นผู้ว่าฯกลับมาเมาที่จวน แล้วบอกว่า
“จระเข้มันทำกูเสีย ท่านก็เลยจับได้ว่า ไม่ได้ไปตรวจท้องที่”
เรามีเทพเจ้าปกครอง
ในหนังสือเล่มนี้ อาจารย์คึกฤทธิ์ ยังเล่าอีกว่า ตอนเสด็จฯเมืองเพชร เขาปลูกปะรำรับเสด็จหน้าศาลากลาง ๒ ปะรำ ให้ราษฎรหลบแดดหลบฝน มีราษฎรเข้าไปอยู่เต็มทั้งสองปะรำ เพราะขณะนั้นฝนตกหนักมาก เมื่อเสด็จฯเข้าเยี่ยมราษฎรในปะรำแรก ฝนก็ยังตกหนักอย่างไม่ลืมหูลืมตา
เมื่อจะเสด็จต่อไปที่ปะรำที่สอง ฝนก็ยังตกอยู่ คุณหลวงสุรัตนณรงค์ ราชองครักษ์ ให้คนกลางกลดมาถวาย แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงยับยั้งไว้ รับสั่งว่า เขาเปียก เราก็เปียกได้ ว่าแล้วเสด็จพระราชดำเนินออกไป ฝนก็หยุดตกทันที
แต่เมื่อเสด็จเข้าไปในปะรำที่สองแล้ว ฝนก็ตกลงมาหนักอย่างเก่าอีก ทำให้ผู้ตามเสด็จโชกกันไปทั้งหมด แม้แต่สมเด็จพระบรมราชินี
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บอกว่าตามเสด็จไปด้วย เห็นกับตา จะเอาไปสาบานที่ไหนก็ได้ และเห็นแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว
“ผมจึงอยากจะบอกว่า เรามีองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงมีบุญญาภินิหารอย่างยิ่งในคราวนี้ ก็เป็นเกียรติของคนไทยทั้งประเทศ เพราะเรามีเทพเจ้าปกครอง” ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ว่า
เดิมพันของเรา
ครั้งหนึ่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช กราบบังคมทูลถามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า
"เคยทรงเหนื่อย ทรงท้อบ้างหรือไม่"
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสตอบว่า
“ความจริงมันน่าท้อถอยหรอก บางเรื่องมันน่าท้อถอย แต่ว่าฉันท้อไม่ได้ เพราะเดิมพันของเรานั้นสูงเหลือเกิน เดิมพันของเรานั้นคือบ้านคือเมือง คือความสุขของคนไทยทั่วประเทศ”
ระยะทาง “ย่าง” มาเฝ้า
เมื่อครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมภาคอีสาน ซึ่งเป็นพระกษัตริย์องค์แรกที่เสด็จไปเยี่ยมภาคนี้ ที่ชัยภูมิ ทรงรับสั่งถามชายชราอายุ ๘๐ ปีคนหนึ่งว่า
“ลุงอยู่ที่ไหน”
ชายชราพนมมือตอบด้วยเสียงสั่นว่า
“อยู่ที่ตำบลแจ้งคร้อครับ”
ทรงถามว่า “ไกลไหมจ๊ะลุง”
ชายชราทูลตอบว่า
“
เดินทาง ๒ คืน”
ทรงสนพระทัยจึงทรงรับสั่งถามอีกว่า
“เดินทางมาด้วยพาหนะอะไร”
ทูลตอบว่า “ย่างมา ๒ วัน ๒ คืน”
ทรงหันไปถามพระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประธานองคมนตรี เมื่อทรงทราบความหมายของคำว่า “ย่าง” แล้ว จึงรับสั่งถามว่า
“ลุงแก่แล้วไม่เหนื่อยหรือ”
ชายชราทำตาลุกโพลง ยกมือขึ้นท่วมหัว ทูลตอบว่า
“เจ้าประคุณทูนหัว ไม่เหนื่อยหรอก อยากเห็นเจ้าประคุณ ขอหอมมือจักหน่อยจะได้บ่”
พระเจ้าอยู่หัวทรงยื่นพระหัตถ์ให้ชายชรา ซึ่งยกพระหัตถ์ขึ้นทูลเหนือหัว พร้อมกับก้มดมที่พระหัตถ์ แล้วกล่าวว่า
“จะตายก็ไม่ว่า เกิดมาชาตินี้สมปรารถนาแล้ว” ทำให้พระเจ้าอยู่หัวทรงแย้มพระสรวล
ทรงอยู่เหนือความขัดแย้ง
ในยุคที่ฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาต่อสู้กันอย่างรุนแรงด้วยอาวุธ เส้นทางพิษณุโลก-หล่มศักดิ์ ซึ่งยังเป็นป่าปกสองข้างทาง ไม่โล่งแจ้งหาต้นไม้ใหญ่ได้ยากเหมือนในขณะนี้ แม้ถนนจะราดยางราบเรียบกว้างขวาง แต่ก็ไม่ค่อยมีใครสัญจรไปมานัก เพราะมีกองกำลังพรรคคอมมิวนิสต์ หรือ ผกค.ปฏิบัติการอยู่ในย่านนั้น แม้แต่รถถังก็ยังเคยถูกยิงบนถนนนี้มาแล้ว
วันหนึ่งรถของสำนักข่าวสารอเมริกัน ซึ่งนำภาพยนตร์ไปฉายให้ประชาชนชมประกอบการประชาสัมพันธ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในย่านนั้น ถูกยิงหมอบอยู่ตรงนั้นและถูกเผาเรียบ
แต่ในวันรุ่งขึ้นตรงที่เกิดเหตุ ก็มีภาพยนตร์ส่วนพระองค์ชุดหนึ่งที่สำนักข่าวสารอเมริกันขอยืมไปเผยแพร่ ไม่ได้ถูกเผาไปด้วย และถูกนำมาวางคืนอยู่ตรงนั้น
แม้แต่ ผกค.ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ก็ยังให้ความเคารพ พระผู้ทำแต่ประโยชน์สุขของประชาชน
คำตอบที่ทรงถูกชักชวนให้เปลี่ยนศาสนา
เมื่อครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็เคยถูกพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ส่งทูตมาเกลี้ยกล่อมให้ทรงเปลี่ยนศาสนาไปเข้ารีต แต่ก็ได้รับคำตอบที่แหลมคมลึกซึ้งของสมเด็จพระนารายณ์ จนต้องจำนนกลับไป
วิลาศ มณีวัต เล่าไว้ใน “พระราชอารมณ์ขัน” ว่า พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา เล่าให้ฟังว่า
ในหลวงของเราก็เคยถูกพระเจ้าโบดวง กษัตริย์เดนมาร์ค ซึ่งเสด็จมาเยือนไทย ทรงชักนำหลายครั้งให้เปลี่ยนศาสนาไปนับถือคริสต์อย่างพระองค์
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามถึงเหตุผลที่ทรงชักชวน พระเจ้าโบดวงก็ทูลว่า พระองค์ทรงมีความรักใคร่ในพระเจ้าอยู่หัวมาก ไม่อยากพลัดพรากจากกันเลย แต่จะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต้องนับถือศาสนาคริสต์ด้วยกันเท่านั้น เพราะศาสนาคริสต์สอนว่า เมื่อคริสต์ศาสนิกชนสิ้นชีพไปแล้ว จะได้ไปอยู่ใกล้ชิดกับพระเจ้าชั่วนิรันดร
พระเจ้าอยู่หัวมิได้ปฏิเสธโดยตรง แต่ทรงมีพระราชดำรัสตอบว่า
พระพุทธศาสนาก็เชิดชูสัจจะ คือความจริง สอนให้ผู้นับถือเข้าถึงความจริง และสัจจะคือความจริงนั้น ย่อมมีสภาพเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้ปฏิบัติถูกทางแล้วย่อมเละข้าถึงได้
ดังนั้น ถ้าคำสอนแห่งศาสนาคริสต์เป็นสัจธรรม และพระผู้เป็นเจ้ามีจริง แม้พระองค์นับถือพระพุทธศาสนา ก็คงจะเข้าถึงเป็นแน่ แม้ว่าจะมีผู้อื่นคั่นอยู่ระหว่างพระองค์กับพระผู้เป็นเจ้า ก็คงจะมีคนเดียว คือองค์กษัตริย์ผู้ทรงชักชวนพระองค์เท่านั้น
ผลของเรื่องนี้ปรากฏว่า พระเจ้าโบดวงทรงสนพระทัยที่จะศึกษาคำสอนของพระพุทธศาสนา และพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯจัดหาหนังสือพระพุทธศาสนาภาษาอังกฤษส่งไปถวายในโอกาสต่อมา
เรื่องราวที่น่าประทับใจ น่าเก็บไว้ในความทรงจำเช่นนี้ ยังมีอีกมากมาย เล่ากันปีๆก็ยังไม่หมด และคงเล่ากันต่อๆไปข้ามยุค เพื่อให้ลูกหลานไทยในวันหน้าได้รับรู้ว่า พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์หนึ่งที่ปกเกล้าปกกระหม่อมบรรพบุรุษของเขาในยุคนี้ ทรงประเสริฐสุดแค่ไหน และนึกเสียดายที่เกิดมาไม่ทัน
พระเจ้าอยู่หัวกับพระเจ้าโบดวง
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน