จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ นอกรอบ โดย อรกันยา เตชะไพบูลย์ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
ภายใต้ภาพใหญ่ที่ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจีนกำลังอยู่ในช่วง Soft Landing คือ ชะลอลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เป็น Hard Landing อย่างที่เคยกลัวกันเมื่อ 2-3 ปีก่อน โดยเศรษฐกิจจีนในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2559 ขยายตัวเท่ากันที่ร้อยละ 6.7 เป๊ะ ในทุกไตรมาส ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2559 เศรษฐกิจจีนเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 6.7 ตามเป้าหมาย ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 6.5 ที่ทางการจีนได้ประกาศไว้
แม้จะทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ตัวเลขออกมาดีเกินจริงหรือไม่ และภายใต้ภาพการแผ่วลงของเศรษฐกิจจีน มีประเด็นอะไรที่น่ากังวลอีกหรือไม่ ?
ผู้เขียนเห็นว่า มี 4 ประเด็นที่ต้องจับตามอง
ประเด็นที่ 1 คือ เงินทุนไหลออกจากจีน อย่างที่ทราบกับว่า ทางการจีนเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ ดังนั้น เมื่อนักลงทุนต้องการจะนำเงินทุนออกจากจีน ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หา "ช่องทางใหม่" เพื่อหลบหลีก ทำให้ทางการจีนต้องคอยปราบปราม หรือออกกฎระเบียบใหม่ เพื่อมาควบคุมอยู่เสมอ
โดยในช่วงที่ผ่านมา มีการหลีกเลี่ยงโดยการ ใช้บัตรรูดซื้อกรมธรรม์ประกันในฮ่องกง ในลักษณะของการลงทุน จนทำให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ทางการจีนต้องออกกฎห้ามชาวจีนโอนเงินซื้อหรือใช้บัตรรูดซื้อกรมธรรม์ประกันในฮ่องกง ที่มีมูลค่ามากกว่า 5,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อครั้ง นอกจากนี้ยังมีการ ปลอมใบเสร็จการนำเข้าจากฮ่องกง เพื่อลักลอบเอาเงินออก จนทำให้มูลค่าการนำเข้าฮ่องกง ขยายตัวสูงต่อเนื่องหลายเดือน และสร้างประวัติศาสตร์ขยายตัวถึงร้อยละ 242.6 เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559
ล่าสุด ความพยายามในการนำเงินออกจากจีนได้ก้าวไกลไปถึง การซื้อ Bitcoin ในโลกออนไลน์ ด้วยเงินหยวน เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเงินสกุลอื่น นอกเหนือจากช่องทางธรรมดาอื่น ๆ เช่น การเข้าซื้อสินทรัพย์ในฮ่องกง การขยายไปซื้อหรือควบรวมกิจการในต่างประเทศ เป็นต้น
ประเด็นที่ 2 คือ การอ่อนค่าลงของเงินหยวน เริ่มเห็นรูปแบบชัดเจนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 ที่ธนาคารกลางจีนประกาศปรับวิธีการคำนวณให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2559 ค่าเงินหยวนของจีนมีทิศทางอ่อนค่าอย่างชัดเจน โดยทำสถิติแตะระดับอ่อนค่าที่สุดในรอบ 6 ปีอย่างต่อเนื่อง และเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 ค่ากลางเงินหยวนรายวันซึ่งประกาศโดยธนาคารกลางจีน อยู่ที่ 6.7858 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงร้อยละ 4.4 จากต้นปี 2559 และอ่อนค่าลงกว่าร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน
ทำให้ในวันเดียวกัน ผู้ช่วยประธานธนาคารกลางจีน ต้องออกมาให้ความมั่นใจโดยแถลงว่า การอ่อนค่าของเงินหยวนในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้น่ากังวล เนื่องจากเกิดจากเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ตามการคาดการณ์เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในเดือนธันวาคม 2559 ธนาคารกลางจีนจะรักษาเสถียรภาพของค่าเงินหยวน
การอ่อนค่าลงของเงินหยวนนี้ สอดคล้องกับ ประเด็นที่ 3 คือ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่ปรับลดลงอย่างมาก ติดต่อกัน 4 เดือน โดยอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนตุลาคม 2559 ในเดือนนี้ปรับลดลงกว่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นการลดลงในเดือนเดียวเยอะที่สุดในรอบ 9 เดือน ทำให้เงินทุนสำรองของจีนลดลงอยู่ต่ำสุดในรอบ 5 เดือน
อย่างไรก็ตาม แม้การลดลงของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ จะสะท้อนการเข้าแทรกแซงการอ่อนค่าลงของเงินหยวนโดยทางการจีน แต่ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำให้เงินทุนสำรองในรูปสกุลอื่น เช่น ยูโร หรือเยน มีมูลค่าลดลงด้วย
ประเด็นที่ 4 คือการปรับเปลี่ยนหัวเรือใหญ่ด้านเศรษฐกิจ ปรับออกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของจีนก่อนครบวาระ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2559 จาก นาย Lou Jiwei ซึ่งดำรงตำแหน่งมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2556 มาเป็น นาย Xiao Jie เป็นการสร้างความแปลกใจเล็กน้อย เนื่องจากก่อนหน้านี้ หลายฝ่ายคาดว่า Lou Jiwei จะดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 5 ปีตามปกติ แต่ก็ไม่ได้เป็นปัจจัยที่จะต้องกังวลมากนัก ในแง่ของความต่อเนื่องของนโยบาย เพราะเป็นการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมเท่านั้น
สำหรับนาย Lou Jiwei อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือเป็นรัฐมนตรีที่มีผลงานมากพอสมควร เช่น เป็นผู้ริเริ่มการปฏิรูประบบการคลังท้องถิ่นในจีน ซึ่งประสบปัญหาหนี้ในระดับสูง ตั้งแต่ในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินโลกเป็นต้นมา และตลอดช่วงดำรงตำแหน่งก็พบว่า การปรับโครงสร้างหนี้รัฐบาลท้องถิ่นโดยการออกพันธบัตรมีความคืบหน้า อีกทั้งก่อนการปรับออกจากตำแหน่งไม่กี่วัน ก็ยังเพิ่งจะมีการออกประกาศนโยบายการคลังท้องถิ่นเพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ การปรับออกจากตำแหน่งในครั้งนี้ไม่ได้มีการสอบสวนข้อกล่าวหาทุจริตแต่อย่างใด ไม่เหมือนกับรัฐมนตรีคนอื่นที่ถูกปรับออกในคราวเดียวกัน
ในส่วนของ นาย Xiao Jie รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ถือได้ว่าเป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงราชการระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ ผ่านการร่วมงานในทีมบริหารเศรษฐกิจของจีนอยู่แล้ว มีประสบการณ์ด้านภาษี สนใจการปฏิรูปการคลัง และได้ชื่อว่าเป็นนักปฏิบัติมากกว่านักวางแผน จึงคาดว่าได้รับการปรับเข้ามาเพื่อเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการผลักดันการปฏิรูปการคลังและดำเนินนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนการเติบโตเศรษฐกิจของจีนในปี2560ซึ่งนโยบายการคลังจะต้องมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น จากข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป
ทั้ง 4 ประเด็นที่กล่าวมาสะท้อนว่า แม้เศรษฐกิจจีนในภาพใหญ่จะยังคงสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ทางการจีนตั้งไว้ แต่การบริหารจัดการเศรษฐกิจในแต่ละภาคส่วน ทั้งในภาคการเงินและภาคการคลัง ยังคงมีความท้าทายและความเสี่ยงรุมเร้าเศรษฐกิจจีนอยู่อีกไม่น้อย
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน