สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

เคลียร์ชัด!! กินยาเยอะ ทำให้ตับไตพัง จริงหรือ?

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

By : Pharmchompoo 

        เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีใครปรารถนาเป็นแน่แท้ เอาเงิน 100 ล้านมาแลกกับการต้องนอนแบ่บอยู่บนเตียงผู้ป่วย ก็ไม่มีใครอยากแลกแน่นอน แต่สัจธรรมก็คือว่าคนเราเกิดมาก็ต้องมีสักวันที่ล้มเจ็บ รักษาได้ไม่ได้ว่ากันไปตามแต่สาเหตุของโรค
       
       ต้องยอมรับกันอย่างหนึ่งว่า ด้วยวิทยาการสมัยใหม่ทางการแพทย์ สภาพการกินอยู่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างมากมายของมนุษย์ ทำให้อายุขัยของมนุษย์ยาวขึ้นอย่างมาก จากเดิมที่ในสมัยก่อน คนมีอายุไม่ยืนยาวมากนัก เพราะเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อซึ่งไม่มียารักษา (ในสมัยนั้น)
       
       แต่ในปัจจุบัน ดูเหมือนว่ามนุษย์ (เกือบ) เอาชนะธรรมชาติตรงนี้ได้สำเร็จ เรามียาดีๆ ใช้มากกว่ายุคก่อนอย่างมากมาย แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีภัยคุกคามชีวิตมนุษย์ในอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเรารู้จักกันดีในชื่อ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases; NCDs)
       
       จากตัวเลขขององค์การอนามัยโรคพบว่า กลุ่มโรค NCDs คร่าชีวิตพลโลกไปราวๆ 38 ล้านคนต่อปี โดยที่ 3 ใน 4 เกิดในประเทศกำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา และโรคที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่มาเป็นอันดับหนึ่งคือ โรคของระบบไหลเวียนโลหิต (17.5 ล้านคน)
       
       ลักษณะอย่างหนึ่งของ NCDs คือเมื่อมีการตรวจวินิจฉัยแล้ว จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจติดตาม รับการรักษา และกินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง ไปเกือบจนตลอดชีวิต เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นโรคไม่ติดต่อ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป การดำเนินของโรคอาจมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
       
       อย่างที่กล่าวแล้วว่า NCDs เป็นโรคที่ต้องติดตามการรักษา กินยาต่อเนื่อง คนที่เป็น อาจมีความเบื่อหน่าย ท้อแท้ ต่อการรักษา ไม่อยากกินยา หรือหาวิธีการทางเลือกอื่นๆ เข้ามาช่วย เผื่อว่ามันอาจจะมีโอกาสหายขาดได้ ตรงจุดนี้เองจึงเป็นช่องทางที่เป็นโอกาสให้หลายคนที่หัวใส ทำมาหากินกับ “ความอยากหาย” ของคน จะด้วยความปรารถนาดีจริงๆ แต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ (ศัพท์ฮิต) หรือจงใจหาประโยชน์จากผู้เจ็บป่วยก็ตามแต่ ด้วยวิธีการต่างๆ
       
       โดยมากก็เป็นสมุนไพรที่อาจยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบ โฆษณาสรรพคุณครอบจักรวาล และโดยมากจะเป็นโรคเรื้อรังที่อาการอาจจะทรงๆ ทรุดๆ ด้วยตัวมันเอง เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ ไขข้อ ฯลฯ และใช้การโฆษณาแบบปากต่อปาก และซ้ำร้ายกว่านั้นยังใช้กลยุทธ์วาทกรรม “ปลอดภัย ไร้สาร” “ไม่ใช่ยาเคมี” ก็ทำให้คนที่เบื่อหน่ายต่อการกินยาแผนปัจจุบันหลายๆ เม็ดต่อวัน มานานเป็นสิบปี รู้สึกว่าตนเองมีทางเลือกที่ปลอดภัยมากขึ้น เพราะคำว่า “ไม่ใช่ยาเคมี” (ซึ่งจริง ๆ แล้วยาสมุนไพรไม่ว่าจะชนิดใด ตัวออกฤทธิ์มันก็คือ สารเคมีที่มีสรรพคุณทางยาดีๆ นั่นเอง) 

เคลียร์ชัด!! กินยาเยอะ ทำให้ตับไตพัง จริงหรือ???
        เราจึงเห็นคนไข้หลายคนที่บอกว่า เบื่อหน่ายกับการกินยาประจำตัวครั้งละหลายๆ เม็ด หลายมื้อต่อวัน แต่ยินดีและเต็มใจที่จะกินยาสมุนไพรที่เค้าว่า “ปลอดสารและไม่ใช่ยาเคมี” มื้อละ 4-5 แคปซูล วันละหลายครั้งเช่นกัน บางคนถึงกับละทิ้งการรักษาแผนปัจจุบันไปเลยก็มี ซึ่งถือว่าน่าเสียดายมาก เพราะแรกๆ ของการเจ็บป่วย คนไข้ก็มักเสาะแสวงหา พยายามหาหมอที่เค้าว่าดีที่สุด อยู่โรงพยาบาลไหนก็ดั้นด้นไป จะจองคิวรอหมอข้ามเดือนก็ไม่ว่า ต้องตรวจกับหมอคนนี้เท่านั้น พอถึงเวลาที่จะต้องกินยา ติดตามการรักษา ก็เกิดเบื่อ หมดความพยายามขึ้นมาซะอย่างนั้น
       

       คนไข้หลายคนมีความเชื่อว่า กิน “ยาเคมี” มากๆ นานๆ ยาไปสะสมในร่างกาย ทำให้ตับไตพัง (ซึ่งจริงๆ ก่อนการจ่ายยาและระหว่างการติดตามการรักษา หมอที่รักษาต้องมีการปรับขนาดยาให้เหมาะกับภาวะของโรคคนไข้แต่ละคนอยู่แล้ว) หลายคนก็พยายามลดขนาดยาที่แพทย์สั่งเอง ด้วยเชื่อว่ายาจะได้ไม่ไปสะสมในร่างกาย (แต่กับยาสมุนไพรพื้นบ้าน คนไข้จะรู้สึกว่า “มีความเป็นธรรมชาติ” ไม่มีอันตรายต่อร่างกาย)
       
       สารเคมีที่ขึ้นชื่อว่ามีฤทธิ์ทางยา ไม่ว่าจะอยู่ในรูปยาแผนปัจจุบัน ยากิน ยาฉีด หรือยาสมุนไพรใส่แคปซูล หรือมาในรูปของยาหม้อ ยาต้ม ยาชง แท้จริงแล้วก็คือสารเคมีด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งมีทั้งฤทธิ์ในการรักษาและอาการข้างเคียง การใช้ยาสมุนไพรที่ยังไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบรับรอง มีความเสี่ยงสูงที่ผู้ใช้จะได้รับพิษไปพร้อมๆ กับฤทธิ์ในการรักษา อย่าลืมว่า สมุนไพร หรือพืชหนึ่งต้น หรือ 1 ส่วนของพืช มีสารเคมีมากมายเป็นสิบชนิด สารบางตัวเรารู้จักฤทธิ์ในการรักษาและอาการข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังมีสารอีกหลายชนิดที่ยังไม่รู้จักฤทธิ์และพิษมันอย่างดีพอ
       
       การใช้สมุนไพร โดยมองแต่ฤทธิ์ในการรักษาอาจทำให้มีความเสี่ยงในการได้รับอาการข้างเคียง หรือการใช้สมุนไพรที่ผิดไปจากแบบแผน หรือตำรับยาที่มีการศึกษามาก่อนหน้านี้ ก็ยิ่งไม่ถูกต้อง เพราะโดยมาก ตำรับยาไทย มักจะมีสมุนไพรหลายชนิดที่มีภูมิปัญญารองรับว่า ใช้ได้ผล สมุนไพรในตำรับจะออกฤทธิ์ ส่งเสริม หักล้างกันตามหลักการของแพทย์แผนไทย การนำมาใช้เดี่ยวๆ ทำให้เกิดผลในทางตรงกันข้ามได้
       
       เราเคยพบผู้ป่วยเบาหวานที่กินยาแผนปัจจุบันเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดร่วมกับสมุนไพรที่ระบุสรรพคุณรักษาเบาหวานแล้วเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำอย่างมากจนช็อก หมดสติ หรือเกิดกรณีอย่างที่กล่าวแล้วคือ ละทิ้งการรักษาแผนปัจจุบันไปเลย กลุ่มคนไข้กลุ่มนี้มักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนในระยะยาวสูงมาก และมักจะพบว่าคนไข้จะกลับมาหาหมออีกที เมื่อเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นมาแล้ว
       
       ต้องขอชี้แจงว่า บทความนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการให้เข้าใจว่าการรักษาด้วยสมุนไพรไม่น่าเชื่อถือ หรือไม่มีประสิทธิภาพ แต่ต้องการให้เข้าใจและรู้ถึงการใช้สมุนไพรในการรักษาโรคอย่างถูกต้อง การใช้สมุนไพร หรือการแพทย์ทางเลือกร่วมกับการรักษาโรคเรื้อรัง ควรต้องปรึกษาหรือแจ้งแพทย์เจ้าของไข้ทุกครั้ง แจ้งเภสัชกรเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าจะมีปฏิกิริยาระหว่างสมุนไพรกับยาแผนปัจจุบันที่กินอยู่หรือไม่ และรวมถึงต้องไม่ละทิ้งการรักษาแผนปัจจุบันซึ่งอย่างน้อยมีการศึกษาทางวิชาการรับรอง ซึ่งคนไข้จะได้ไม่เสียโอกาสในการรักษาไปอย่างน่าเสียดาย 

       
หมายเหตุ : Pharmchompoo เป็นนามปากกาของเภสัชกรท่านหนึ่งซึ่งเรียนจบมาทางด้านเภสัชศาสตร์โดยตรง ปัจจุบันประจำอยู่ที่โรงพยาบาลชื่อดังแห่งหนึ่ง และบทความเชิงสาระความรู้เพื่อการตระหนักเกี่ยวกับการใช้ยาให้ถูกต้องเหมาะสม จะมาพบกับคุณผู้อ่านเป็นประจำอย่างน้อยสองครั้งต่อเดือน


        อ้างอิง : World Health Organization. Non communicable disease [Online]. Update January 2015. Available at: http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs355/en/ Accessed on Jan 8, 2017. 

สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : เคลียร์ชัด กินยาเยอะ ทำให้ตับไตพัง จริงหรือ

view