สุดวิจิตร! เผยผังภูมิสถาปัตย์ "พระเมรุมาศ" สื่อโครงการพระราชดำริ ในหลวง ร.9
จากประชาชาติธุรกิจ
ดร.พรธรรม ธรรมวิมล ภูมิสถาปนิก สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร ซึ่งเป็นผู้ที่กำหนดการวางผังที่ตั้ง และออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุเบื้องต้น เปิดเผยว่า สำนักสถาปัตยกรรม ได้จัดทำภาพ 3 มิติภูมิสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศและสิ่งปลูกสร้างประกอบ ที่แสดงถึงผังบริเวณและภูมิสถาปัตยกรรม โดยมีโครงการในพระราชดำริต่างๆ เกี่ยวกับหญ้าแฝก ข้าว การขุดบ่อแก้มลิง กังหันชัยพัฒนา ฝายน้ำล้น ต้นยางนา (ไบโอดีเซล) ต้นมะม่วงมหาชนก ดอกหน้าวัวสีชมพู ที่พระราชทานให้แก่ประชาชนได้อยู่ดีกินดี โดยที่ในส่วนของนาข้าว จะเป็นการออกแบบเชิงสัญลักษณ์ให้เห็นเป็นเลขเก้าไทยสีดินทอง เป็นเชิงสัญลักษณ์สื่อว่าพระเมรุมาศที่สร้างขึ้น ถวายให้กับในหลวง รัชกาลที่ 9
"ในการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม พระเมรุมาศครั้งนี้ ได้รับความสนับสนุน ช่วยเหลือจากกลุ่มภูมิสถาปนิกไทยหลายท่าน ในด้านต่างๆ เช่น ร่วมช่วยเขียนภาพ 3 มิติ สื่อความหมาย, ให้ข้อมูลทางเทคนิคเรื่อง น้ำ และไฟฟ้า โดยมีความตั้งใจที่จะร่วมถวายแด่องค์ในหลวง รัชกาลที่ 9 นี้ด้วยกัน" ดร.พรธรรม กล่าว
ที่มา มติชนออนไลน์
ช่างเริ่มฉลุไม้จันทน์ "พระโกศจันทน์-หีบพระบรมศพจันทน์" เป็นตัวอย่างให้อาสาสมัคร
นายสมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส กลุ่มงานศิลปประยุกต์และเครื่องเคลือบดินเผา สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบพระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการสร้างพระโกศจันทน์และหีบพระบรมศพจันทน์ ว่า ตอนนี้เขียนแบบพระโกศจันทน์ขนาดเท่าจริง 1:1 และเขียนแบบโครงที่จะนำไปผูกเหล็กทำเป็นโครงสร้างจริงๆ เสร็จแล้วและได้ทยอยแจกแบบไม้เป็นชั้นๆ ว่าแต่ละชั้นมีกี่มิลลิเมตร ให้ช่างไปฉลุไม้จันทน์แล้ว ความจริงต้องเริ่มฉลุปลายเดือนมกราคมนี้ แต่ที่ให้ช่างทำล่วงหน้าในตอนนี้ก็เพื่อเป็นตัวอย่างให้อาสาสมัครดู ไม้จันทน์ต้องฉลุเป็นหมื่นๆ ชิ้นเพราะหนึ่งลายอาจมี 3 ชั้นบ้าง หรือ 5 ชั้นบ้างมาซ้อนกันเป็นหนึ่งดอก ซึ่งใช้ไม้ที่มีความหนาไม่เท่ากัน ทั้งหมดต้องนำมาผนึกให้แล้วเสร็จภายในเดือนสิงหาคม และเดือนกันยายนจะต้องซ้อมประกอบเข้า-ออก ยกเคลื่อนประกอบพระโกศจันทน์จริงและหีบพระบรมศพจันทน์จริง เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ส่วนช่อไม้จันทน์ทั้ง 7 แบบที่ตนออกแบบนั้น ทางสถาบันสิริกิติ์จะเป็นผู้จัดทำ
นายสมชายกล่าวต่อว่า สำหรับความคืบหน้าการบูรณะพระที่นั่งราเชนทรยานนั้น นางวิจิตร์ ไชยวิชิต หัวหน้ากลุ่มประณีตศิลป์ รักษาการตำแหน่งนักวิชาการช่างศิลป์เชี่ยวชาญ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ประธานคณะทำงานฝ่ายบูรณปฏิสังขรณ์ราชรถและพระยานมาศ เป็นผู้ดูแล ซึ่งการบูรณะ ขณะนี้อยู่ในช่วงขั้นต้นเพราะเพิ่งเคลื่อนย้ายมาบูรณะที่สำนักช่างสิบหมู่เมื่อไม่นานมานี้ จึงยังอยู่ในขั้นถอดชิ้นส่วน ชิ้นไหนที่ผุ ก็จะแกะสลักเติมเข้าไป ปิดทอง ส่วนต่างๆ ที่ถอดออกมาเป็นชิ้นๆ ที่เป็นลาย ก็จะเก็บรายละเอียดเพื่อนำไปย่อลงมาให้ได้สเกลบุษบกพระราเชนทรยานน้อย เพื่อใช้เคลื่อนพระบรมราชสรีรางคาง (ขี้เถ้า) ตามพระที่นั่งราเชนทรยานที่อัญเชิญพระโกศทองคำพระบรมอัฐิ
สมชาย ศุภลักษณ์อำไพพร
"จากการพูดคุยกับหัวหน้ากลุ่มงานประณีตศิลป์ ทราบว่าราชรถรางปืน ที่เดิมจะให้มีการสร้างขึ้นใหม่นั้น เนื่องจากเวลาจำกัด จึงจะใช้ราชรถรางปืนองค์เดิมแต่ปรับปรุงให้เคลื่อนไหวได้สะดวกขึ้น องค์เดิมไม่ได้ใช้งานมานาน กรมสรรพาวุธทหารบกจะไปจัดการในส่วนล่าง ส่วนกรมศิลปากรจะดูแลในส่วนบนว่าจะประดิษฐานพระโกศทองใหญ่ได้พอดีกับสะพานเกรินและบันไดเกรินที่จะชักขึ้นชักลง เชิญพระโกศขึ้นลงหรือไม่ โดยจะมีการซ่อมและปรับปรุงฐานวางพระโกศให้เหมาะสมกับสถานการณ์จริง ส่วนบุษบกพระราเชนทรยานน้อย ยังไม่แน่ใจว่าจะสร้างขึ้นใหม่หรือนำของเดิมมาบูรณะ ถ้าต้องสร้างใหม่ ก็ใช้แบบจากพระที่นั่งราเชนทรยานที่นำมาบูรณะอยู่ที่สำนักช่างสิบหมู่ในขณะนี้ มาถอดลายและเอาเข้าเครื่องย่อลงว่าเราจะเอาความเหมาะเท่าไรให้เล็กกว่าพระที่นั่งราชเชนทรยาน"
ด้านนายณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ นักวิชาการช่างศิลป์ชำนาญการพิเศษ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากรกล่าวว่า ความคืบหน้าการฉลุไม้จันทน์ทำพระโกศจันทน์นั้น ทีมขยายแบบได้ส่งแบบให้ช่างฉลุแล้ว ขณะนี้ได้มีการแปรรูปขนาดไม้จันทน์ตามขนาดที่ทีมขยายลายกำหนด และได้นำแบบมาติดที่ไม้จันทน์ด้วยกาว เพื่อเตรียมเลื่อยฉลุตามลาย จากนั้นจะส่งต่อไปให้ทีมประกอบบนโครงจริง
ณัฐพงค์ ปิยมาภรณ์ (ซ้ายคนที่ 2) ร่วมประชุมร่วมระหว่างสำนักสถาปัตยกรรมกับสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร เกี่ยวกับประติมากรรมและสัตว์หิมพานต์
"ลายที่ช่างทำอยู่ในตอนนี้ เป็นลายดอกไม้ไหวปากฐาน ทั้งนี้เป็นการทำต้นแบบเพื่อเตรียมไว้ให้อาสาสมัครดูเป็นตัวอย่าง" นายณัฐพงค์ กล่าว
ช่างติดลายบนไม้จันทน์ก่อนฉลุลายตามแบบ
ที่มา : มติชนออนไลน์
สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน