สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

วิกฤติการณ์เกือบเสียเมือง ช่วงผลัดแผ่นดิน ร.๓-ร.๔! อังกฤษแอบสำรวจจุดยุทธศาสตร์ ว่าใช้ทหารแค่ ๒-๓ กองร้อย ก็ยึดสบาย

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย โรม บุนนาค

วิกฤติการณ์เกือบเสียเมือง ช่วงผลัดแผ่นดิน ร.๓-ร.๔! อังกฤษแอบสำรวจจุดยุทธศาสตร์ ว่าใช้ทหารแค่ ๒-๓ กองร้อย ก็ยึดสบาย!!
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

        ช่วงปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ต่อรัชกาลที่ ๔ นับเป็นวิกฤติการณ์ที่สำคัญช่วงหนึ่งของประเทศไทย มีเหตุการณ์ล่อแหลมเกิดขึ้นทั้งจากภายนอกและภายใน แม้เหตุการณ์ช่วงนี้จะไม่มีการกล่าวถึงกันมากนัก นับเป็นวิกฤติการณ์เงียบ เพราะผ่านพ้นไปด้วยดีไม่มีการสูญเสียใดๆเกิดขึ้น แต่ก็เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของประเทศไทย อาจถึงขั้นต้องเสียเอกราชได้ ทั้งหมอบลัดเลย์และหมอเฮาชาวอเมริกันซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯช่วงนั้น ได้บันทึกความเห็นไว้ตรงกันว่า ถ้าไม่เกิดผลัดแผ่นดินใหม่ และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ขึ้นครองราชย์แล้ว สงครามระหว่างอังกฤษและไทยคงจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
       
       การฝ่าวิกฤติการณ์ครั้งนั้นได้ ประการแรก ต้องถือว่าเป็นความโชคดีที่มาเกิดตอนจะผลัดแผ่นดินพอดี หรือจะถือว่า พระสยามเทวาธิราชทรงคุ้มครองก็เป็นได้ ส่วนอีกประการหนึ่ง เป็นเพราะพระประมุของค์ใหม่ซึ่งทรงติดตามข่าวสารความเป็นไปของโลกภายนอกมาตลอดก่อนขึ้นครองราชย์ จึงทรงวางนโยบายแก้ไขวิกฤติได้ทันการณ์ และ บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์พร้อมขุนนางข้าราชการทั้งหลาย ต่างสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จึงพาชาติรอดปลอดภัย ผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ด้วยดี
       
       สาเหตุจากภายนอกของวิกฤติครั้งนั้น แน่นอนว่าเกิดจากชาติตะวันตก ซึ่งก็คืออังกฤษ ที่ออกล่าอาณานิคมไปทั่วโลก ไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมาย ซึ่งได้ส่งทูตเข้ามาขอทำสัญญาการค้าตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ แล้วครั้งหนึ่ง กับในสมัยรัชกาลที่ ๓ อีก ๒ ครั้ง แต่ละครั้งก็ล้วนแต่มีเล่ห์ที่จะเอารัดเอาเปรียบ เมื่อไม่ได้ดังใจก็เสนอให้รัฐบาลใช้กำลังเข้ายึด แต่รัฐบาลอังกฤษก็ยังไม่กล้าผลีผลาม เพราะ กลัวจะเป็นการเปิดศึก ๒ ด้านทั้งไทยและพม่า เลือกใช้วิธีค่อยๆบีบไปก่อน เมื่อไม่ยอมให้บีบจึงค่อยบังคับ
       
       คณะทูตอังกฤษคณะแรกที่เข้ามาในกรุงสยาม เป็นเพียงทูตจากผู้สำเร็จราชการอินเดียประจำแคว้นเบงกอล มี จอห์น ครอเฟิร์ด หรือที่คนไทยเรียกว่า “จอนการะฝัด” เป็นทูต เข้ามาในปลายแผ่นดินรัชกาลที่ ๒ ตอนนั้นอังกฤษยังไม่ได้พม่า จอนการะฝัดก็เลยอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นทูตที่ดี ฝ่ายไทยก็รับที่จะเกื้อกูลคนอังกฤษที่เข้ามาค้าขาย ส่วนภาษีอากรนั้นก็รับว่าจะไม่เก็บเพิ่มจากที่เก็บอยู่
       
       ระหว่างที่เข้ามาเจรจาการค้าอยู่ที่บางกอกถึง ๔ เดือน นายการะฝัดก็แอบให้ร้อยเอกเดนเยอเฟิลด์ไปรังวัดแผนที่และทิ้งดิ่งวัดร่องน้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บางกอกถึงสันดอนปากอ่าว ตลอดจนท่าจอดเรือที่เกาะสีชัง ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณตลอด เมื่อคณะทูตกลับไปแล้วจึงให้พระยาพระคลังมีหนังสือไปต่อว่าผู้ว่าราชการเกาะปีนัง ว่า ที่ทูตอังกฤษแอบมาทำแผนที่และวัดความลึกร่องน้ำนั้น เจตนาอังกฤษคิดจะยึดประเทศไทยหรือ ผู้ว่าฯปีนังจึงรีบทำหนังสือตอบกราบทูลว่า “อังกฤษขอผูกมิตรไมตรีกับไทย หามีเจตนาจะคิดร้ายต่อไทยไม่ โปรดอย่าได้เชื่อคำยุยงส่งเสริมของคนอื่นเลย”
       
       แต่ในรายงานของครอเฟิร์ดในการมาเจรจาการค้าครั้งนี้ มีว่า
       
       “ข้อ ๕. การเดินเรือในอ่าวสยามปลอดภัยและสะดวกมาก ทางฝั่งตะวันตกมีอ่าวสามอ่าว คือ สงขลา นครศรีธรรมราช และบ้านดอน ถัดขึ้นมามีปากแม่น้ำใหญ่ๆ คือ แม่กลอง ท่าจีน และเจ้าพระยา แม่น้ำเจ้าพระยาเดินเรือได้สะดวก ไม่มีเกาะแก่งหรือสิ่งกีดขวางแต่อย่างใด เรือใบสองเสาสามารถแล่นขึ้นไปได้ประมาณ ๒๕๐ ไมล์
       
       ข้อ ๙๒. ถ้าจะเกิดสงครามขึ้นกับไทย การจัดกำลังรบเพื่อปราบปราม ไม่จำต้องทำใหญ่โตและเปลืองโสหุ้ยอะไรเลย เพียงแค่ส่งทหารซีปอยสองสามกองร้อยตีขึ้นมาจากปีนังทางหนึ่ง และเรือรบสองสามลำไปปิดอ่าวอีกทางหนึ่ง ก็พอแล้ว เรือรบนั้นควรจอดดักเรือสินค้าอยู่ที่เกาะสีชัง ถ้าเราปิดอ่าวได้เพียงสามสี่เดือน จะบังคับเอาสิทธิอะไรก็ได้จากราชสำนักสยาม”
       
       นี่คือเบื้องหลังของทูตการค้าจากนักล่าอาณานิคมในยุคนั้น
       
       พ่อค้าอังกฤษอีกคนที่ทำให้ความรู้สึกของคนไทยกับฝรั่งเลวลงอย่างมาก ก็คือ นายโรเบิร์ต ฮันเตอร์ ซึ่งพงศาวดารเรียกว่า “นายหันแตร”
       
       นายหันแตรเข้ามาในปีแรกของแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้ร่วมกับนายมอร์แกนตั้งห้างร้านค้าขึ้นที่กุฎีจีน มีชื่อว่า “ห้างมอร์แกนและฮันเตอร์” ซึ่งนับว่าเป็นห้างฝรั่งแห่งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนห้างที่ ๒ คือ บริษัทบอร์เนียว ซึ่งตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๔
       
       นายหันแตรกับนายมอร์แกนนอกจากจะเข้ามาในฐานะพ่อค้าแล้ว ยังเป็นสายลับให้รัฐบาลอังกฤษด้วย ซึ่งส่งมาโดยผู้ว่าราชการเกาะปีนัง ตามสไตล์อังกฤษที่มักส่งพ่อค้าเป็นสายลับ ส่วนฝรั่งเศสจะใช้สังฆราชและบาทหลวง นายหันแตรจึงถือดีว่ามีรัฐบาลอังกฤษหนุนหลัง ประกอบกับการค้าของนายหันแตรไม่ค่อยดีนัก เลยแอบนำฝิ่นเข้ามาขายอบู่บ่อยๆ จนกระทั่งมาแตกหักกันในปี ๒๓๘๗ เมื่อนายหันแตรได้นำเรือกลไฟเก่าๆลำหนึ่งเข้ามาขาย แล้วโก่งราคาสูงมาก ฝ่ายไทยเห็นว่าแพงเกินควรจึงไม่ยอมซื้อ ทำให้นายหันแตรโกรธมาก พูดจาดูถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย และขู่ว่าจะนำเรือไปผูกไว้ที่หน้าพระตำหนักน้ำ ถ้าไม่ทรงชำระเงินตามที่เรียกร้องก็จะไปฟ้องรัฐบาลอังกฤษ ขณะนั้นนายหันแตรได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงอาวุธวิเศษประเทศพาณิช ไทยจึงถือว่าเป็นข้าราชการบังคับสยาม โปรดให้เนรเทศออกไปจากราชอาณาจักร
       
       พฤติกรรมของนายหันแตรทำให้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯและคนไทยพากันเกลียดชังฝรั่งมาก ซึ่งฝรั่งเอง คือ สเปนเซอร์ จอห์น ซึ่งเข้ามากับคณะราชทูตอังกฤษของ เซอร์เจมส์ บรูค เมื่อปี ๒๓๙๓ ได้บันทึกความเห็นเรื่องนี้ไว้ว่า
       
       “พระองค์ได้เคยทรงรักใคร่ชอบพอชาวอังกฤษเป็นอย่างมาก แต่ในระยะ ๒-๓ ปีหลังนี้ พระองค์ได้แสดงความเป็นศัตรูกับชาวต่างประเทศอย่างหนัก พอๆกับที่ทรงเป็นมิตร ข้าพเจ้าเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เนื่องมาจากความประพฤติอันเลวทรามของพ่อค้าอังกฤษสำคัญคนหนึ่งที่อยู่กรุงเทพฯ บุคคลผู้นี้ทำให้พระองค์ทรงพิโรธ เพราะเขาได้พยายามบีบบังคับรัฐบาลสยามอย่างไม่เป็นธรรม ให้ซื้อเรือกำปั่นลำหนึ่งด้วยราคาอันแพงลิบลิ่ว ตั้งแต่เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันครั้งนั้นแล้ว ฐานะของชาวต่างประเทศได้ทรุดลงไปเป็นอันมาก ข้าพเจ้าสามารถกล่าวได้ว่า พวกเขามีความประพฤติเลวทรามเหลือเกิน หากข้าพเจ้าได้ฟังเรื่องราวจากองค์พระมหากษัตริย์โดยตรง ข้าพเจ้าอาจต้องพูดอะไรรุนแรงยิ่งไปกว่านี้”
       
       การที่รัชกาลที่ ๓ ทรงโอนอ่อนตามทูตตะวันตก ๒ รายแรก คือ นายเฮนรี เบอร์นี่ ทูตอังกฤษ ที่ไทยเรียก นายหันรี บารนี ซึ่งเข้ามาในปี ๒๓๖๘ และเอ็ดมัน โรเบิร์ต ทูตอเมริกัน ซึ่งเข้ามาในปี ๒๓๗๖ ต่างขอทำสัญญาทางการค้าด้วยกันทั้งคู่ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงพิจารณาเห็นว่าการญาติดีกับฝรั่งนั้น จะขจัดการคุกคามทางการเมืองของฝรั่งลงไปได้ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป การคุกคามก็ไม่ได้น้อยลง ทั้งยังเปิดโอกาสให้ฝรั่งเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจการภายใน สร้างความวุ่นวายให้เกิดขึ้น อย่างในกรณีของนายหันแตร พระองค์ได้ทรงพิจารณาถึงอันตรายที่เกิดจาอิทธิพลของฝรั่งที่เข้ามา กับอันตรายที่เกิดจากไม่ปฏิบัติตามประสงค์ของพวกฝรั่ง แล้วทรงเห็นว่าอันตรายจากประการแรกนั้นสำคัญกว่า
       
       นั่นคือเหตุผลที่พระองค์ทรงเปลี่ยนท่าทีต่อชาวตะวันตก เป็นเหตุให้ทูตอเมริกันและอังกฤษที่เข้ามาในระยะหลัง ต้องผิดหวังกลับไปอย่างเคืองแค้น
       
       ในปี ๒๔๙๓ นายพลสักการี เทย์เลอร์ ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้ส่ง โจเซฟ บัลเลสเตีย กงสุลอเมริกันประจำสิงคโปร์ เข้ามาเจรจาการค้า มีเป้าหมายที่จะขอให้ล้มเลิกการเก็บภาษีอากร หรือไม่ก็ปรับปรุงวิธีการให้ดีขึ้น รวมทั้งจะขอตั้งสถานกงสุลอเมริกันประจำกรุงเทพฯด้วย
       
       ความจริงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯเคยตรัสไว้ว่า พระองค์ยินดีที่คณะทูตอเมริกันกำลังเดินทางเข้ามา และยังรับสั่งให้เตรียมการต้อนรับอย่างดี ซึ่งพระองค์อาจจะคาดหวังในพระทัยให้อเมริกันมาคานอำนาจกับอังกฤษก็เป็นได้ แต่ทูตอเมริกันผู้นี้กลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ว่าจะเป็นการกระทำของคนระดับทูต
       
       เรือรบอเมริกันซึ่งพาทูตมาได้มาจอดทอดสมออยู่ที่ปากอ่าว จมื่นไวยวรนาถ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการเมืองสมุทรปราการ ได้จัดพนักงานไปรับท่านทูตถึงกำปั่นรบ ผู้บังคับการเรือยิงสลุตธงช้าง ๒๑ นัด แต่ท่านทูตลงเรือมากับหมอสอนศาสนาที่อยู่ในกรุงเทพฯ กับมีคนรับใช้ซึ่งเป็นคนจีนในสิงคโปร์ตามมาอีกคนเท่านั้น ส่วนคนอื่นไม่มีใครยอมมาด้วย คงจะกลัวอหิวาต์ซึ่งกำลังระบาดอยู่ตอนนั้น เมื่อเรือมาถึงสมุทรปราการ ปืนที่ป้อมผีเสื้อสมุทรก็ยิงสลุตธงอเมริกัน ๒๑ นัด การต้อนรับเป็นไปตามประเพณีการทูตด้วยดีจนถึงเรือนพักหน้าวัดประยุรวงศาวาส
       
       ขณะนั้นเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) ไม่อยู่ ไปราชการสักเลกที่ภาคใต้ จึงโปรดเกล้าฯให้พระยาศรีพิพัฒน์รัตรราชโกษา (ทัต บุนนาค) จางวางพระคลังรับทูตแทน ครั้นบัลเลสเตียเข้าพบจางวางพระคลังที่บ้านในวันรุ่งขึ้น มีขุนนางเข้าร่วมต้อนรับด้วยเป็นจำนวนมาก ท่านทูตก็ออกงิ้วโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย
       
       ในการพบกันครั้งแรก พระยาศรีพิพัฒน์ฯและบรรดาเสนาบดีผู้ใหญ่ของไทยก็โอภาปราศรัยตามธรรมเนียม ด้วยการไต่ถามทุกข์สุขในการเดินทาง ว่าสะดวกสบายหรือไม่ ใช้เวลาเดินทางเท่าไหร่ แวะพักที่ไหนบ้าง ท่านทูตตอบคำถามได้ ๒-๓ ข้อก็เกิดอารมณ์เสีย เกรี้ยวกราดใส่ขุนนางไทยว่ามาสอบสวนเรื่องนี้เสียเวลาเปล่าๆ ไม่มีประโยชน์ในการเจรจาทางการทูตแต่อย่างใด จะขอเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวเพื่อยื่นหนังสือตราตั้งและหนังสือกราบทูลให้ทรงทราบจุดมุ่งหมายของคณะทูต
       
       พระยาศรีพิพัฒน์ฯได้อธิบายให้ทราบว่า ตามธรรมเนียมไทยแล้วจะต้องยื่นหนังสือต่อเจ้าพระยาพระคลังก่อน และคนไทยถือกันมานานแล้วว่า พระราชสาส์นหรือจดหมายของประมุขประเทศนั้นสำคัญกว่าตัวทูต ทางการจะต้อนรับพระราชสาส์นเป็นอันดับแรก โดยอัญเชิญแห่มาทางเรืออย่างเคารพนบนอบ แล้วจึงนำมาแปลก่อนนำไปอ่านถวายหน้าพระที่นั่ง หลังจากนั้นตัวทูตจึงได้เข้าเฝ้า ทูตอเมริกันคนก่อนก็ปฏิบัติตามธรรมเนียมนี้
       
       บัลเลสเตียได้ฟังก็คว้าเอกพระราชสาส์นและเอกสารที่ให้คนใช้หนีบรักแร้มาออกคลี่ให้ดู เพื่อให้เห็นว่าไม่มีความสำคัญอย่างที่ไทยถือ ฝ่ายไทยเห็นว่าเอกสารเหล่านั้นไม่มีตราประทับเลย จึงตั้งข้อสงสัยว่าอาจจะเป็นเอกสารปลอม บัลเลสเตียก็อ้างว่าการประทับตรานั้นเขาเลิกใช้กันมานานแล้ว
       
       ในที่สุดฝ่ายไทยยอมจะรับหนังสือไว้ แต่ไม่สามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯได้ ฝ่ายบัลเลสเตียก็ยอมให้ฝ่ายไทยอ่านหนังสือได้ แต่ต้องส่งคืนเพื่อจะนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายเอง เมื่อฝ่ายไทยไม่ยอม บัลเลสเตียก็โกรธเป็นฟืนเป็นไฟออกจากห้องไป
       
       บัลเลสเตียหันไปใช้วิธีติดต่อทางจดหมาย อ้างว่าไทยผูกขาดภาษีเป็นอุปสรรคต่อการค้าเสรี ละเมิดข้อตกลงที่ทำกันไว้ ฝ่ายไทยก็ตอบปฏิเสธว่าไม่ได้ละเมิด และว่าตั้งแต่เอ็ดมัน โรเบิร์ตเซ็นสัญญาไว้ ก็มีเรืออเมริกันเข้ามาค้าขายเพียงลำเดียว ซึ่งไทยก็อำนวยความสะดวกให้อย่างดี ทั้งยังเสนอขายน้ำตาลให้ในราคาพิเศษ แต่พ่อค้าอเมริกันก็ยังว่าราคาสูงไป
       
       ฝ่ายไทยถือว่าการแสดงออกของโจเซฟ บัลเลสเตียเป็นความกักขฬะ ดูหมิ่นคนไทย จึงถือเป็นสาเหตุที่จะไม่ยอมรับทูตอเมริกันคณะนี้ และได้มีหนังสือบอกไปว่า
       
       “...หากจะเจรจาทางการทูตกับโจเซฟ บัลเลสเตียต่อไป ก็จะเป็นเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ เราควรจะได้เจรจากันฉันท์มิตรตั้งแต่แรก แต่โจเซฟ บัลเลสเตียเอาแต่โมโหโทโส รวบรัดตัดความไม่ยอมให้เราพูดบ้างเลย หาว่าเป็นการเสียเวลา... โจเซฟ บัลเลสเตียลุกขึ้นยืนด้วยความโกรธ แสดงอาการดูหมิ่น และใช้วาจาสามหาวต่อหน้าธารกำนัล แม้กระนั้นประเทศสยามก็ยังใคร่ที่จะมีสัมพันธไมตรีกับชนชาวอเมริกัน แต่เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ อันเป็นการผิดวิสัยที่ทูตานุทูตได้เคยปฏิบัติกันมาแต่เก่าก่อน ก็จะมีประโยชน์อันใดที่จะเจรจากันทางการทูตสืบไป”
       
       เมื่อเจ้าพระยาพระคลังกลับมา บัลเลสเตียก็มีจดหมายมาฟ้องหาว่าพระยาศรีพิพัฒน์ฯบังอาจดูหมิ่นทูตอเมริกันและชาวอเมริกัน ทั้งยังขอให้ลงโทษพระยาศรีพิพัฒน์ฯด้วย แต่เจ้าพระยาพระคลังนิ่งเสียไม่ตอบ บัลเลสเตียจึงเดินทางกลับไป
       
       ฝ่ายไทยได้ฝากจดหมายไปกับผู้บังคับการเรือที่พาบัลเลสเตียมา เพื่อนำไปให้รัฐบาลอเมริกัน แจ้งพฤติกรรมของทูตเจ้าอารมณ์คนนี้โดยละเอียด และสรุปไว้ในตอนท้ายว่า เจ้าหน้าที่ไทยไม่สามารถจัดให้บุคคลที่มีอารมณ์ฉุนเฉียวเยี่ยงบัลเลสเตีย เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ เนื่องจากเกรงว่าจะไปทำการให้เป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัย และจะเป็นการทำให้สัมพันธภาพระหว่างประเทศสยามกับสหรัฐอเมริกาต้องมัวหมอง
       
       เจ้าพระยาพระคลังยังได้ขอร้องไปว่า
       
       “หากอเมริกาจะตั้งข้าราชการผู้ใดเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีในกาลภายหน้าแล้ว ขอให้แต่งตั้งผู้ที่สุขุม สุภาพอ่อนโยน ไม่ฉุนเฉียว ขอให้เหมือนแอศแมน รอเบอร์ต ผู้ซึ่งมาเจรจาทำสัญญาก่อนหน้านี้”
       
       หลังจากทูอเมริกันกลับไปอย่างโกรธแค้นแล้ว ต่อมาอีกประมาณ ๔ เดือน อังกฤษได้ส่งทูตการค้าคณะใหม่เข้ามา นำโดย เซอร์เจมส์ บรูค ที่คนไทยเรียก เยม สับรุก หรือ เยม สัปบุรุษ
       
       เจมส์ บรูค เกิดและเติบโตที่อินเดีย เป็นนักแสวงโชค บิดาร่ำรวยจากการค้าในอินเดีย เมื่ออังกฤษทำสงครามกับพม่า เจมส์ บรูคได้สมัครเป็นทหาร ได้รับบาดเจ็บในการรบ เมื่อสงครามสงบได้คุมเรือไปค้าขายแถวสุมาตรา พอดีเกิดจลาจลขึ้นที่ซาราวัค เจมส์ บรูคได้อาสา รายามุดาฮาซิม ปราบกบฏได้สำเร็จ เลยถือโอกาสสถาปนาตัวเองขึ้นเป็น “รายาแห่งซาราวัค” เมื่อปี ๒๓๘๔ แล้วขอให้อังกฤษรับซาราวัคเข้าไว้ในเครืออาณานิคม อังกฤษได้ของฟรีเลยรับซาราวัคไว้ในครอบครอง แล้วปูนบำเหน็จให้เจมส์ บรูคเป็นขุนนางชั้นสูงระดับ “เซอร์”
       
       เซอร์เจมส์ บรูคเข้ามาเมืองไทยในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๓๙๓ และคงรู้ข่าวที่ทูตอเมริกันหน้าแตกออกไปเมื่อ ๔ เดือนก่อน จึงวางฟอร์มไม่ให้คนไทยดูถูกได้ คณะของเขาจึงมีทั้ง อุปทูต ตรีทูต ทหาร พนักงาน และคนรับใช้รวมกันถึง ๕๖๕ คน มาด้วยเรือกลไฟ ๒ ลำ ท่านทูตยังวางมาดไม่ยอมเข้าพักบ้านรับรองที่ทางการไทยจัดไว้สำหรับรับรองทูตต่างประเทศโดยเฉพาะ โดยอ้างว่า “ไม่ยอมให้ใครดูถูก”
       
       สเปนเซอร์ จอห์น เลขานุการของท่านทูตเอง ได้บันทึกเหตุการณ์ตอนที่ท่านทูตพาคณะไปชมวัดวาอาราม เผอิญฝนตกลงมาอย่างหนัก ทุกคนในคณะพากันวิ่งหลบฝนชุลมุน แต่ท่านทูตวางมาดเหลือรับประทาน
       
       “เซอร์เจมส์ บรูคยังคงเดินช้าๆอย่างสง่าผ่าเผย ราวกับว่าไม่มีฝนตกหนัก ตอนหลังท่านได้ตำหนิพวกเราว่า ไม่รู้จักรักษาเกียรติต่อหน้าชาวตะวันออก” เลขาบันทึกไว้
       
       แม้จะมีเสียงวิจารณ์กันว่า การล้มเหลวของการเจรจาครั้งนี้ มาจากท่าทางหยิ่งยะโสชองเจมส์ บรูค แต่ฝ่ายไทยกลับไม่ค่อยถือสาเรื่องนี้เท่าไหร่ พอรับได้ เพราะทำใจไว้แล้วว่าคนอังกฤษที่มาอยู่ในตะวันออก โดยเฉพาะเจมส์ บรูคที่เกิดและเติบโตในอินเดีย มักจะคุ้นเคยกับการข่มขู่วางท่าเหนือคนตะวันออกอยู่แล้ว
       
       แต่เซอร์เจมส์ บรูคกลับบันทึกไว้ว่า
       
       “ครั้นรุ่งขึ้นวันที่ ๑๗ สิงหาคม คุณพระนายไวยฯ บุตรชายผู้ใหญ่ของเจ้าคุณพระคลัง ได้ออกมาเยี่ยมคำนับข้าพเจ้า ณ เรือกลไฟ ถึงในวันที่ ๒๒ คณะทูตก็ลงเรือไทยหลายลำเดินทางเข้ากรุงเทพฯที่ปากลัด ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าฝ่ายไทยได้เตรียมการต้อนรับเราอย่างศัตรูทีเดียว กล่าวคือ มีโซ่เหล็กขึงขวางแม่น้ำไว้ และทั้ง ๒ ฝั่งทั้งที่นี่และที่ปากน้ำ มีป้อมปราการสร้างขึ้นไว้เป็นอันมาก ในป้อมเหล่านั้นก็มีปืนใหญ่ประจำอยู่อย่างน้อยก็ ๒๐๐ กระบอก พร้อมทั้งทหารอีกหลายพันคน เรือไทยที่คณะทูตนั่งมาได้ถูกลากจูงเข้าคลองเล็กหรือคูที่ฝ่ายไทยขุดเตรียมไว้ต้อนรับเราเป็นพิเศษ ทางแยกจากแม่น้ำเข้าคลองเช่นนี้ ก็เป็นหนทางที่ไกลที่สุดในการเดินทางเข้าถึงกรุงเทพฯ”
       
       พระนายไวยฯซึ่งออกไปเยี่ยมคำนับเซอร์เจม์ บรูค ณ เรือใหญ่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็น พระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็กทันที เพื่อให้มีหน้าที่ในการรับรองและเจรจากับทูตคณะนี้โดยเฉพาะ พระยาศรีสุริยวงศ์ได้นำเรือออกไปรับคณะทูตเข้ามากรุงเทพฯ โดยขอร้องอย่านำเรือกลไฟ ๒ ลำของคณะทูตเข้ามา เพราะเกรงจะทำให้ราษฎรตกใจ เจมส์ บรูคก็ยอมตามคำขอ เพราะเรือลำหนึ่งชื่อสฟิงช์ เกยตื้นติดอยู่ที่สันดอน แต่ก็บันทึกไว้ว่าเสียท่าที่ขาดเครื่องมือข่มขวัญรัฐบาลไทย
       
       ข้อเรียกร้องของเจมส์ บรูคที่เข้ามาขอแก้ไขข้อตกลงเก่าในครั้งนี้ คือขอยกเว้นภาษีทางการค้ามากมายหลายข้อ ที่ยังยอมให้เก็บก็ขอลดลงมาในอัตราต่ำ ขอให้ยกเลิกข้อห้ามส่งข้าวออกไปต่างประเทศ และยกเลิกการห้ามนำฝิ่นเข้า ให้ลดค่าปากเรือลงเหลือศอกละ ๕๐๐ บาท จากที่เก็บอยู่ ๑,๗๐๐ บาท และทีสำคัญคือขอตั้งกงสุลและขอให้คนในบังคับอังกฤษอยู่ใต้กฎหมายอังกฤษ
       
       ปรากฏว่าข้อเรียกร้องของเจมส์ บรูคครั้งนี้ถูกปฏิเสธหมดทุกข้อ โดยฝ่ายไทยให้เหตุผล เช่น การยกเลิกข้อห้ามส่งข้าวออกไปต่างประเทศนั้น ไทยเราจำเป็นต้องกินข้าว เมื่อมีสะสมไว้พอกินได้ ๓ ปีแล้ว ที่เหลือก็ให้นำออกได้ การลดภาษี ที่เก็บอยู่ในขณะนี้ก็ได้อนุโลมตามความประสงค์มาแล้ว ส่วนที่ขอตั้งสถานกงสุลนั้น ปีหนึ่งๆมีเรืออังกฤษเข้ามาไม่เกิน ๔ ลำ จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องตั้งสถานกงสุล
       
       เจ้าพระยาพระคลังได้มีหนังสือตอบ ลอร์ดปาเมอร์สตัน เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ให้ทราบโดยละเอียด แล้วโปรดประทานสิ่งของเป็นบรรณาการรัฐบาลอังกฤษ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศ รวมทั้งราชทูต อุปทูต ตรีทูต เป็นจำนวนมาก ฝ่ายเจมส์ บรูคก็นำทองคำใบหนัก ๒๐ ตำลึง ๑ เฟื้อง มอบให้พระยาศรีสุริยวงศ์ ตอบแทนที่เลี้ยงดูคณะทูต ๕๖๕ คนมา ๓๘ วันอย่างอิ่มหมีพีมัน
       
       พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้นำทองจำนวนนี้ทำเป็นดอกบัว บูชาพระพุทธปฏิมากรในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
       
       เมื่อเจมส์ บรูคกลับไปถึงสิงคโปร์ ก็รีบทำรายงานไปยังลอร์ดปาเมอสตัน เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ พร้อมเอกสารประกอบมากมาย ให้รัฐบาลอังกฤษจัดการเด็ดขาดกับไทย เช่น
       
       “ข้อ ๑๒. ถ้าหากรัฐบาลสยามไม่ยอมตามคำเรียกร้องของเรา ก็ขอให้ส่งทหารเข้าบุกทำลายป้อมปราการในแม่น้ำและยึดพระนครไว้ เราก็จะได้กลับเข้าสู่ตำแหน่งบังคับบัญชาการต่างๆ สิ่งไม่ดีขัดผลประโยชน์ของเราในอดีต เราก็จัดรูปเสียใหม่ให้เป็นประโยชน์ขึ้น เราก็จะประสบสันติ และเสวยสุขจากการค้าขายของประเทศนี้ ซึ่งกำลังเติบโตและสำคัญยิ่งขึ้นทุกวัน”
       
       เมื่อคณะทูตของเจมส์ บรูคกลับออกไปแล้ว ก็มีข่าวลือว่าอังกฤษจะยกกำลังเข้ามาทำสงคราม ทั้งเจ้านาย ขุนนาง และราษฎรต่างแตกตื่นข่าวร้ายนี้อย่างทั่วถึง จึงโปรดให้เร่งทำป้อมขึ้นที่บางจะเกรง พระราชทานชื่อว่า “ป้อมเสือซ่อนเล็บ” สั่งซื้อปืนกระสุน ๑๐ นิ้วเข้ามา ๑๐๐ กระบอก ส่วนในพระนครก็ทำป้อมขึ้นมาอีกหลายป้อม โปรดให้ต่อเรือกำปั่นรบและกำปั่นลาดตระเวนขึ้นมาอีก ๑๒ ลำ ทั้งยังทำกระสุนเตรียมไว้อีกมาก มีการจับคนที่ไปเป็นคนใช้และครูสอนภาษาไทยให้ฝรั่ง ส่วนพวกฝรั่งก็หนีขึ้นเรือออกไป บ้างก็แค่เตรียมจะออกนอกประเทศหากเกิดสงคราม
       
       ระหว่างนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯทรงประชวรหนักมาตั้งแต่เดือนกันยายน ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง แต่ยังทรงว่าราชการอยู่ในพระที่ พระอาการทรุดหนักลงเรื่อยๆ หมอหลวงวางยาอย่างไรก็ไม่ทรงทุเลา วันที่ ๙ กุมภาพันธ์จึงรับสั่งให้ขุนนางที่ทรงใช้สอยอย่างสนิท เช่น เจ้าพระยาพระคลัง ว่าที่สมุหพระกลาโหม พระยาศรีพิพัฒน์ฯ พระยาราชสุภาวดี (นุช บุณยรัตพันธ์) ว่าที่สมุหนายก ไปเฝ้าในที่บรรทม มีพระราชโองการว่า อาการประชวรครั้งนี้เหลือกำลังแพทย์ ขอให้ขุนนางทั้งหลายจงมีความสโมสรสามัคคีและปรึกษากัน เมื่อเห็นว่าพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดที่มีวัยวุฒิปรีชารอบรู้ราชานุวัตร ปกป้องไพรฟ้าอาณาประชาราษฎร์ รักษาแผ่นดินให้เป็นสุขได้ ก็ให้พร้อมใจกันยกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์นั้นขึ้นครองราชย์ อย่าไก้กริ่งเกรงพระราชอัธยาศัยเลย เอาแต่ให้เป็นสุขกันทั่วหน้า อย่าให้เกิดรบราฆ่าฟันกันให้ได้ความทุกข์ร้อนแก่ราษฎร
       
       ในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ รับสั่งให้พระยาศรีสุริยวงศ์เข้าเฝ้าในพระที่ รับสั่งถามว่าพระยาศรีพิพัฒน์ฯได้นำพระราชโองการไปปรึกษาหารือกันแล้วหรือยัง เขาว่ากระไรกันบ้าง พระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูลว่าได้ทราบเกล้าฯแล้ว ทุกคนเศร้าโศกและเห็นว่าโปรดดังนี้เป็นพระเดชพระคุณที่สุดแล้ว ปรึกษากันว่าพระโรคนั้นยังไม่ถึงตัดรอน จะยกพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งขึ้นนั้นยังไม่สมควร รับสั่งให้พระศรีสุริยวงศ์ขยับเข้าไปให้ชิดพระองค์ ให้ลูบทั่วพระสรีรกาย แล้วดำรัสว่า ร่างกายทรุดโทรมถึงเพียงนี้แล้วหมอเขาว่ายังจะหายอยู่ ไม่เห็นด้วยเลย การแผ่นดินข้างหน้ายังไม่เห็นผู้ใดที่จะรักษาแผ่นดินไว้ได้ รับสั่งถึงพระอนุชาทั้ง ๔ พระองค์ว่า กรมขุนเดชอดิสรนั้นพระกรรณเบา ใครพูดอะไรก็เชื่อง่ายๆ จะเป็นใหญ่ไปไม่ได้ กรมขุนพิชิตภูเบนทร์ ก็ไม่รู้จักการงาน คิดแต่จะเล่นอย่างเดียว ที่สติปัญญาพอจะรักษาแผ่นดินไว้ได้ ก็เห็นแต่เจ้าฟ้าใหญ่ คือสมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งทรงผนวชมาตลอดรัชกาล แต่รังเกียจอยู่ว่าผิดประเพณีสงฆ์ ครองผ้าอย่างมอญ ถ้าขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินก็จะให้สงฆ์ครองผ้าอย่างมอญเสียหมดทั้งแผ่นดิน ส่วนเจ้าฟ้าน้อย พระอนุชาร่วมครรภ์มารดากับเจ้าฟ้ามงกุฎ มีสติปัญญารู้วิชาการช่างและการทหาร แต่ก็ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมิได้ตั้งองค์หนึ่งองค์ใด กลัวว่าเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจ อนุญาตให้ตามใจคนทั้งปวง สุดแท้แต่จะเห็นพร้อมเพรียงกัน
       
       ทั้งยังทรงเตือนด้วยว่า ต่อไปการสงครามข้างญวนข้างพม่าเห็นจะไม่มีแล้ว จะมีก็แต่ข้างพวกฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้ การงานสิ่งใดของเขาที่คิดควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขา แต่อย่าให้ถึงกับนับถือเลื่อมใสไปทีเดียว
       
       พระยาศรีสุริยวงศ์รับพระราชโองการแล้ว ก็เดินร้องไห้ออกมาจากที่เฝ้า
       
       พระยาศรีสุริยวงศ์ได้เตือนพระยาพระคลังผู้บิดา ให้ดำริเตรียมการเปลี่ยนรัชกาล เพราะได้เกิดความหวาดระแวงกันแต่ละกลุ่ม กรมขุนพิชิตภูเบนทร์ได้ระดมพวกข้าในกรมมารักษาพระองค์ ล้นจากในวังออกไปจนถึงวัดโพธิ์ เมื่อเจ้าพระยาพระคลังปรึกษาที่จะรักษาความสงบในเรื่องนี้ พระยาศรีสุริยวงศ์จึงรับอาสา ลงเรือไปขนทหารจากสมุทรปราการมาในคืนนั้น แล้วไปทูลกรมขุนพิชิตภูเบนทร์ให้ปล่อยกำลังที่ส้องสุมออกไป ไม่ต้องหวาดหวั่นภัยที่จะถูกปองร้าย เพราะเจ้าพระยาพระคลังมีหน้าที่ดูแลความสงบอยู่แล้ว กรมขุนพิชิตภูเบนทร์เลยต้องยอมทำตาม
       
       เจ้าพระยาพระคลังได้ให้ จมื่นราชามาตย์ (ขำ บุนนาค) บุตรชายคนรอง ไปทูลเชิญเจ้าฟ้ามงกุฎฯที่วัดบวรนิเวศวิหาร ว่าเสนาบดีได้ปรึกษาหารือกันจะเชิญขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้ามงกุฎฯตรัสว่า ถ้าจะถวายราชย์สมบัติแก่พระองค์ ก็ขอให้ถวายแก่กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระอนุชาด้วย
       
       เมื่อคนทั้งหลายทราบว่าพระอนุชาทั้งสองพระองค์ได้ทรงรับราชสมบัติแล้ว ความหวาดหวั่นทั้งหลายก็สงบลงทันที จนวันที่ ๑๒ เมษายน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต ราชสมบัติจึงได้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นกษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่พูดและเขียนภาษาอังกฤษได้คล่องแคล่วทั้งสองพระองค์
       
       เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯขึ้นครองราชย์แล้ว พระราชกรณีกิจเกี่ยวกับการต่างประเทศประการแรกก็คือ มีพระบรมราชโองการให้ประกาศลดค่าระวางปากเรือเหลือวาละพันบาท ถูกกว่าที่เจมส์ บรูคขอไว้เสียอีก อนุญาตให้นำข้าวสารออกต่างประเทศได้ ส่วนฝิ่นนั้นทรงเห็นว่าไม่มีทางจะขัดขวางผลประโยชน์ของอังกฤษในเรื่องนี้ ทรงอนุญาตให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรได้ แต่ต้องขายให้รัฐบาลเท่านั้น เพื่อจะควบคุมการจำหน่ายได้ ส่วนเรื่องการขอตั้งสถานกงสุล ทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึงนายพันเอกบัตเตอร์เวิธ ผู้ว่าราชการเกาะปีนัง ให้แจ้งแก่เซอร์เจมส์ บรูคด้วยว่า พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่จะโปรดให้แก้ไขสนธิสัญญากับอังกฤษ และให้ตั้งสถานกงสุลได้ตามประสงค์ แต่ขอผลัดให้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเชษฐาก่อน จึงค่อยส่งทูตเข้ามา
       
       เป็นอันว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯได้ทรงโปรดตามคำเรียกร้องของเซอร์ เจมส์ บรูคทั้งหมด อังกฤษจึงเหหัวเรือยาตราทัพไปบุกพม่าเป็นครั้งที่ ๒ จัดการกับพม่าเรียบร้อยแล้ว จึงส่งเซอร์จอห์น บาวริงเข้ามาในปีที่ ๕ ของรัชกาล วิกฤติการณ์อันล่อแหลมต่อการเสียเมืองในครั้งนี้ จึงผ่านพ้นไปอย่างเรียบร้อยด้วยนโยบายที่ทันต่อเหตุการณ์ ขององค์พระประมุขที่ติดตามข่าวสารความเป็นไปของโลกมาตลอดขณะทรงผนวช 


สำนักงานสอบบัญชี,#สอบบัญชี,สำนักงานบัญชี,#ทำบัญชี,#ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : วิกฤติการณ์เกือบเสียเมือง ช่วงผลัดแผ่นดิน ร.๓-ร.๔ อังกฤษ แอบสำรวจ จุดยุทธศาสตร์ ใช้ทหารแค่ ๒-๓ กองร้อย ยึดสบาย

view