จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
เรวัต ตันตยานนท์
ในวันที่ 9 มี.ค.ของทุกปี ซึ่งตรงกับวันครบรอบเกิดของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์
จะมีงานพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมการพัฒนาธรรมาภิบาลและยกมาตรฐานคุณธรรมจริยธรรมในธุรกิจระดับเอสเอ็มอี
เป็นงานมอบ รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีไทย โดยมี 4 หน่วยงานเป็นเจ้าภาพหลัก ได้แก่ สถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสมาคมธนาคารไทย
รางวัล ธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยในปีนี้ มีธุรกิจเอสเอ็มอี ที่ได้รับรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นแห่งปี 2560 จำนวน 5 ราย
รางวัลชนะเลิศธรรมาภิบาลดีเด่น ได้แก่ บริษัท โรม่าอุตสาหกรรม จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตกระเป๋าล้อลาก กระเป๋าถือสะพาย กระเป๋าพับได้ กระเป๋าเอกสารฯลฯ ภายใต้แบรนด์ของตนเอง และรับผลิตให้กับแบรนด์ชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นเฉพาะด้าน ในด้านการปฏิบัติต่อพนักงาน ได้แก่ บริษัท วู้ดเวอร์ค ยูไนเต็ด จำกัด ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราอัดน้ำยาอบแห้ง ส่งขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ
รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นเฉพาะด้าน ในด้านการปฏิบัติต่อผู้บริโภค ได้แก่ บริษัท ไอ.ที.ซี. (1993) จำกัด ดำเนินธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบเครื่องทำความเย็นในกระบวนการอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหารทะเล ไก่แช่แข็ง ไอศกรีม ผลไม้ ฯลฯ
ส่วนรางวัลธรรมาภิบาลดีเด่นเฉพาะด้าน ในด้านการปฏิบัติต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ในปีนี้ไม่มีบริษัทใดได้รับรางวัล
และมีบริษัท ที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณบัตรยกย่อง อีก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท โชคนำชัย ออโต้เพรสซิ่ง จำกัด ดำเนินธุรกิจผลิตแม่พิมพ์ชิ้นส่วนรถยนต์ และ บริษัท ภูสุวรรณ อินเตอร์เทรด จำกัด ดำเนินธุรกิจนำเข้าตู้เชื่อมไฟฟ้าและอุปกรณ์
แม้ว่าเรื่องของการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล จะเป็นเรื่องที่คนทั่วไปคิดว่าจะทำได้ในบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น แต่สถาบันป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวมที่สำคัญ
จึงได้จัดโครงการให้รางวัลผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อมที่ดีเด่นด้านธรรมาภิบาล เพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจแต่กลุ่มผู้ประกอบการที่ยึดมั่นทำธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล
โดยได้กำหนดกรอบของการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลไว้เป็นแนวปฏิบัติแก่เอสเอ็มอี ไว้ใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
ด้านการปฏิบัติต่อพนักงาน ในเรื่องการจ่ายค่าจ้างเงินเดือนที่เป็นธรรม มีระบบการขึ้นเงินเดือนที่เป็นกิจจะลักษณะ มีสวัสดิการและผลประโยชน์เพิ่มเติมให้พนักงานตามความเหมาะสมกับฐานะของกิจการ จัดสถานที่ประกอบกิจการที่ปลอดภัยและถูกสุขอนามัย มีระบบการพัฒนาให้ความรู้พนักงานอย่างต่อเนื่อง มีการตอบสนองและรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน ทำให้พนักงานเกิดความพอใจในตัวองค์กร ต้องการช่วยกันทำงานให้องค์กรดีขึ้น
ด้านการปฏิบัติต่อผู้บริโภค โดยผลิตสินค้าหรือให้บริการด้วยความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ทั้งในด้านการผลิตและคุณภาพ ทำให้สินค้ามีอรรถประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับนอกเหนือไปจากการใช้งานตามปกติ เช่น ความคงทนถาวร การประหยัดในการใช้งาน การบำรุงรักษา มีการแสดงรายละเอียดวิธีใช้งาน มีการแจ้งลักษณะสินค้า แหล่งผลิต ราคา ปริมาณ วันหมดอายุ ฯลฯ รวมถึงคุณภาพและความรับผิดชอบต่อบริการหลังการขาย
ด้านการปฏิบัติต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มีการดูแลกำจัดของเสียในลักษณะที่ไม่เป็นที่เดือดร้อนรำคาญต่อชุมชน ดูแลให้ความช่วยเหลือต่อชุมชน ทำให้สังคมและชุมชนที่เกี่ยวข้องเกิดความพึงพอใจในตัวองค์กร และยอมรับความชอบธรรมในการดำเนินธุรกิจ มีการทำธุรกิจที่โปร่งใส ระบบการทำบัญชีและรายงานผลที่ถูกต้องเป็นจริง เป็นต้น
เกณฑ์การให้รางวัลเหล่านี้ อาจนำมาเป็นแนวทางสำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการแสดงความจริงใจในการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ให้นำมาใช้ประกอบในการวางแผนการดำเนินธุรกิจ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ ธุรกิจเอสเอ็มอี ที่เป็นธุรกิจใจดี แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นแสดงให้สาธารณชนและสังคมได้รับรู้ถึงความตั้งใจที่ดีและความต้องการที่จะตอบแทนหรือคืนกำไรให้กับสังคม ได้นำไปใช้ปฏิบัติตามได้อย่างมีหลักการ
จนอาจได้รับการเสนอชื่อให้เข้ารางวัลที่มีเกียรติยิ่งนี้ ซึ่งจะเปิดพิจารณาตัดสินเป็นประจำทุกปี โดยเอสเอ็มอีที่สนใจเสนอตัวเข้ารับรางวัล สามารถติดต่อแสดงความสนใจได้ที่ธนาคารที่ท่านใช้บริการที่เป็นสมาชิกของสมาคมธนาคารไทยได้ทุกแห่ง
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน