ตามรอยพระปิตุเรศ
จากประชาชาติธุรกิจ
พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พสกนิกรชาวไทย ยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ตลอดระยะเวลา 70 ปี กับอีก 126 วัน พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา ที่ทรงปฏิบัติและทรงงานทุกอย่างด้วยพระองค์เอง จนเป็นที่ประจักษ์แจ้ง อีกทั้งทรงเป็นแบบอย่างให้พสกนิกรไทยเดินรอยตาม แม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ก็ทรงงาน และทรงทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ทรงพระดำเนินรอยตามใต้เบื้องพระยุคลบาทแบบก้าวต่อก้าว
ดังเช่น "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ทรงพระดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 นับตั้งแต่ที่ทรงพระดำเนินได้
ทรงตามเสด็จไปเยี่ยมเยียนราษฎรตั้งแต่ครั้งยังทรงพระเยาว์จวบจนถึงปัจจุบัน พระองค์ทรงไม่เคยว่างเว้นจากพระราชภารกิจที่ทรงมุ่งมั่นและตั้งใจเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกรไทย
นอกจากนี้สมเด็จพระเทพฯยังทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เป็นการเสด็จแทนพระองค์ บางคราวเสด็จไปทรงร่วมการประชุม เสด็จไปทรงรับรางวัลเกียรติยศ หรือตำแหน่งเกียรติยศ เสด็จในฐานะพระราชอาคันตุกะหรืออาคันตุกะของรัฐบาลอย่างเป็นทางการ และเสด็จ
โดยพระราชประสงค์ส่วนพระองค์ในการเสด็จแทนพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสด็จแทนพระองค์ไปทรงร่วมงานพระราชพิธีและงานพิธีในต่างประเทศหลายครั้ง อาทิ ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2516 ขณะมีพระชนมายุ 18 พรรษา เสด็จแทนพระองค์ไปทรงร่วมงานพระราชพิธีพระบรมศพ สมเด็จพระเจ้ากุสตาฟที่ 6 อดอล์ฟ ณ กรุงสตอกโฮล์ม ราชอาณาจักรสวีเดน
พ.ศ. 2523 เสด็จแทนพระองค์ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ไปทรงร่วมงานพระราชพิธีสถาปนาเจ้าฟ้าหญิงเบียทริกซ์ขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งเนเธอร์แลนด์ ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
พ.ศ. 2524 เสด็จแทนพระองค์ไปทรงร่วมงานพระราชพิธีอภิเษกสมรสเจ้าชายแห่งเวลส์ กับเลดี้ไดอาน่า สเปนเซอร์ ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นต้น
นอกจากพระราชภารกิจทางการที่ทรงเป็นตัวแทนพระองค์นั้น "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" หรือ "ทูลกระหม่อมน้อย" ทรงได้ปฏิบัติพระราชภารกิจตามรอยพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาตลอด มีข้อความตอนหนึ่งที่สมเด็จพระเทพฯ ทรงเล่าเกร็ดประวัติของเพลงพระราชนิพนธ์ "ไทยดำเนินดอย" ว่า
"ได้ตามเสด็จไปโครงการชลประทานเสมอ บ่อยครั้งที่ต้องเดินเหนื่อยมาก หายใจหอบ แทบเป็นลมไป แต่ก็รำลึกเสมอว่าการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปเช่นนี้ช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้ในการเกษตร ทำให้ความเป็นอยู่ชาวบ้านดีขึ้น เป็นรางวัลในการเดินจนเหนื่อย จึงมีจินตนาการแต่งเพลงนี้ขึ้น บันทึกเสียง แล้วออกอากาศทางวิทยุ"
ยังมีบทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพฯ เรื่อง "เดินตามรอยเท้าพ่อ" สะท้อนถึงสิ่งที่ปรากฏขึ้นได้อย่างน่าประทับใจ ระหว่าง "ในหลวงรัชกาลที่ 9 กับทูลกระหม่อมน้อย" ที่ทรงเล่าผ่านตัวหนังสือ ทรงฉายให้เห็นมุมมองความคิดและแนวทางที่ทรงสอนพระธิดาไว้อย่างแหลมคมว่า "อย่าละความกล้าเมื่อเผชิญกับความทุกข์ ให้อดทนและสุขุม และมีความสุขที่ได้ยึดอุดมการณ์ที่มีค่า ถ้าหากต้องการเดินตามรอยเท้าของพ่อ..."
บางตอนจากหนังสือ "ดุจดวงตะวัน" ที่สมเด็จพระเทพฯได้พระราชนิพนธ์ไว้ ทรงเล่าถึงความเป็นครูของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ครั้งเมื่อได้ปฏิบัติพระราชภารกิจตามรอยพระยุคลบาท ใจความสำคัญจากหนังสือชี้ให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 ทรงสนพระราชหฤทัยวิชาความรู้หลายแขนง ทรงเป็นนักคิดนักค้นคว้าและยังทรงอธิบายถ่ายทอดให้บุคคลอื่น ตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นในการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานทางรถยนต์ ขณะนั้นสมเด็จพระเทพฯมีพระชนมายุ 7-8 ชันษา ได้เสด็จในรถยนต์พระที่นั่งด้วย พระองค์มักสอนลูก ๆ ให้รู้จักวิธีการคำนวณเวลา จากระยะทางและความเร็วจากสภาพภูมิประเทศที่เห็น
"วันหนึ่งเมื่อข้าพเจ้าแกล้งถามคนที่อยู่ด้วยว่า ข้าวในกระสอบหนึ่งมีกี่เม็ด ไม่มีใครตอบ ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็โปรดเกล้าฯให้ไปเอาข้าวสารมาลิตรหนึ่ง ทรงให้ข้าพเจ้าตกลงใจยอมรับว่า ค่าที่ได้จะเป็นค่าโดยประมาณ และให้เอาถ้วยตะไลเล็ก ๆ ตักข้าวตวงดูว่า ข้าวลิตรหนึ่งเป็นกี่ถ้วยตะไลแล้วนับเม็ดข้าวในถ้วยตะไลนั้น ได้แล้วเอาจำนวนเมล็ดคูณจำนวนถ้วยได้เป็นจำนวนเม็ดข้าวในลิตร แล้วคูณขึ้นไปเป็นจำนวนลิตรแล้วคูณขึ้นไปเป็นจำนวนลิตรในถัง จำนวนถังในกระสอบก็จะได้จำนวนเม็ดข้าวในกระสอบ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้ารู้จักจำนวนโดยประมาณ"
นี่คือพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงสอนพระธิดาให้คิดคำนวณโดยใช้หลักการเปรียบเทียบ และทรงสอนให้ขวนขวายหาความรู้และคำตอบด้วยพระองค์เอง จวบจนกระทั่งสมเด็จพระเทพฯทรงเข้ารับการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย พระปรีชาสามารถส่วนพระองค์ทรงสอบเอนทรานซ์ได้คะแนนเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศ และทรงสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองและทำเกรดเฉลี่ยได้ 3.98 ต่อจากนั้นก็ทรงเรียนปริญญาโท ตามด้วยปริญญาเอก ทรงผ่านการคัดเลือกยอดเยี่ยมด้วยคะแนนอันดับ 1 ในบรรดาผู้เข้าสอบทั้งหมด เพียงเท่านี้ก็สามารถยืนยันอย่างดี ว่าทรงเป็น "เจ้าฟ้านักการศึกษา" ตัวจริง
อีกหนึ่งความชื่นชอบที่ทรงเหมือนกันก็คือ ทรงชอบดนตรีเหมือนกัน ในฐานะที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้รับยกย่องให้เป็น "อัครศิลปิน" เพราะโปรดแซกโซโฟนเป็นอย่างมาก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรดเครื่องดนตรีสากล อีกทั้งยังพระราชนิพนธ์เพลงถึง 48 เพลง ตลอดพระชนม์ชีพ ส่วนสมเด็จพระเทพฯ โปรดดนตรีไทยอย่างมาก พระราชนิพนธ์เพลงไว้ถึง 44 เพลง สะท้อนว่าแม้แนวดนตรีของ 2 พระองค์จะต่างกัน แต่ทรงมีความเป็น "ศิลปิน" ไม่ต่างกัน
ยังมีเรื่องเล่าครั้งหนึ่งว่าเมื่อครบรอบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 60 พรรษา สมเด็จพระเทพฯทรงพระวิริยะอุตสาหะเย็บกระเป๋าสำหรับใส่แผ่นโน้ตด้วยพระองค์เอง ทรงวาดการ์ตูนขึ้น 2 รูป คือรูปกระต่ายเป่าทรอมโบน และรูปช้างน้อยเป่าทรัมเป็ต เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9
เดิมทีสมเด็จพระเทพฯทรงต้องการวาดกระต่ายเป่าแซกโซโฟน เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงโปรดแซกโซโฟน แต่แซกโซโฟนวาดยาก เครื่องดนตรีที่กระต่ายเป่าจึงกลายมาเป็นทรอมโบนแทน ส่วนรูปช้างน้อยนั้นสมเด็จพระเทพฯโปรดการเขียนรูปช้าง จึงทรงวาดภาพนี้เป็นสัญลักษณ์ของพระองค์
นับเป็นเรื่องราวความน่าประทับใจที่ทรงบรรยายผ่านตัวหนังสือ กับเรื่องราว "ตามรอยพระปิตุเรศ" และเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 62 พรรษา ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวันที่ 2 เมษายน 2560 นี้ ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของทั้ง 2 พระองค์ จึงขอน้อมนำแนวทางนี้ไปเป็นแบบอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอดทนเมื่อเผชิญความยากลำบาก หรือการเป็นคนที่ใฝ่เรียนรู้ รวมไปถึงการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม เพื่อประโยชน์สุขที่จะบังเกิดกับผู้เดินรอยตาม "...พ่อของแผ่นดิน"
พระเทพฯ ทรงปล่อยปลาไทย เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ
เมื่อวันที่ 2 เมษายน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพร้อมคุณสิริกิติยา เจนเซน พระธิดาในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงปล่อยพันธุ์ปลาไทยเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 62 พรรษา โดยพันธุ์ปลาไทยที่กรมประมงน้อมเกล้าฯ ถวาย มีทั้งหมด 9 ชนิด ได้แก่ ปลาตะเพียนขาว ปลาตะเพียนทอง ปลาแก้มช้ำ ปลาสร้อยขาว ปลาหมอไทย ปลากราย ปลาเสือพ่นน้ำ ปลาโพง และปลาบึก รวมทั้งสิ้น 5.9 แสนตัว ลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ณ ท่าวาสุกรี กรุงเทพฯ และในโอกาสนี้ ทรงสัญญาณออนไลน์ปล่อยปลาพวงชมพู จำนวน 63 ตัว ลงสู่เขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ด้วย
ที่มา มติชนออนไลน์
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน