จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ มุมคิดคนข่าว โดย ดิสก์ ประชาชาติฯ nart_burapa@hotmail.com
หลาย ๆ ปีที่ผ่านมา การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล แม้ว่าภาพรวมจะยัง "พอถูไถ" ไปได้ทุกปี
แต่หากโฟกัสลงไปที่การจัดเก็บรายได้ภาษีของ 3 กรม คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร จะพบว่า "มีอาการน่าเป็นห่วง" มาอย่างต่อเนื่อง
อย่างปีงบประมาณ 2558 (ต.ค. 2557-ก.ย. 2558) รัฐบาลเก็บรายได้ภาพรวมต่ำกว่าประมาณการราว 117,524 ล้านบาท ซึ่งมาจากกรมสรรพากรที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการถึง 235,997 ล้านบาท และกรมศุลกากรต่ำกว่าประมาณการ 6,912 ล้านบาท ดังนั้นแม้ว่ากรมสรรพสามิตจะเก็บรายได้เกินเป้าหมายไป 17,693 ล้านบาทก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก
ต่อมาในปีงบประมาณ 2559 (ต.ค. 2558-ก.ย. 2559) รัฐบาลเก็บรายได้ภาพรวมสูงกว่าประมาณการ 63,500 ล้านบาท แต่ก็มาจาก "รายได้พิเศษ" คือ รายได้จากการประมูล 4G เป็นสำคัญ เพราะเมื่อหันไปดูที่รายได้ของกรมสรรพากร ก็พบว่าต่ำกว่าประมาณการไป 137,149 ล้านบาท เช่นเดียวกับกรมศุลกากรที่จัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 8,959 ล้านบาท ส่วนกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 21,386 ล้านบาท
มาถึงปีงบประมาณ 2560 ที่เป็นปีงบประมาณปัจจุบัน ในเดือนแรก (ต.ค. 2559) พบว่า กรมสรรพากรเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการแค่ 673 ล้านบาท ขณะที่กรมสรรพสามิตเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,038 ล้านบาท และกรมศุลกากรเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการไป 2,775 ล้านบาท
จากนั้นเมื่อพ้นไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2560 (ต.ค.-ธ.ค. 2559) กรมสรรพากรเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการ 1,938 ล้านบาทส่วนกรมสรรพสามิตเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,154 ล้านบาท และกรมศุลกากรเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ 5,619 ล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ว่า 3 เดือนแรก กรมสรรพากรที่เป็นกรมใหญ่มีสัดส่วนเก็บรายได้เข้ารัฐมากที่สุด จะเก็บรายได้สูงกว่าประมาณการแต่ตัวเลขระดับพันล้านบาท ถือว่า"เล็กน้อย" มาก ในขณะที่อีก 2 กรมยิ่งแล้วใหญ่ เพราะล้วนเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการทั้งสิ้น
ด้วยแนวโน้มการเก็บรายได้ภาษีที่ไม่สู้ดีนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ "สมชัย สัจจพงษ์" ปลัดกระทรวงการคลัง จะต้องออกโรงมาบี้ให้ 3 กรมภาษี จัดทำแผน"เพิ่มประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้" และไม่น่าแปลกใจที่กรมสรรพสามิตต้องปรับขึ้นภาษีน้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเครื่องบิน
ทว่า การปรับภาษีสรรพสามิตเล็ก ๆ น้อย ๆ คงมิอาจเทียบได้กับ "สารพัดมาตรการ" ลด/ยกเว้นภาษีของกรมสรรพากร เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ
ขณะที่การ "ปฏิรูปภาษี" แม้จะถูกพูดถึงมากในช่วงรัฐบาลปัจจุบัน แต่การ"ปฏิรูปภาษี" เพื่อหา "เพิ่มรายได้รัฐ" ยังไม่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง เพราะอย่าง"ภาษีมรดก" ที่ออกมา ก็ยังแทบจัดเก็บไม่ได้ ส่วนจะเพิ่มรายได้ทางลัดอย่างการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ "โยนหินถามทาง" ก็น่าจะถูก "ปิดประตูตาย"ไปแล้ว
ด้าน "ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ที่เสนอผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว ก็ยังต้องรอเริ่มจัดเก็บในปี 2562
แถมล่าสุด นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์จาก "โครงการชุมชนนโยบายด้านภาษี" ยังมองกันว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ออกมา อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์เรื่อง "เพิ่มรายได้" ให้แก่รัฐ เพราะกำหนดยกเว้นให้บ้านหลังแรกถึง 50 ล้านบาท ซึ่งหากจะให้ตอบโจทย์ต้องปรับเรื่องอัตรากันใหม่
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากสถานการณ์การเก็บรายได้รัฐบาลยังคงเป็นอยู่อย่างนี้เราก็จะเห็นการ "ขาดดุลงบประมาณ" ต่อเนื่องไปอีก หลังจากขาดดุลมาอย่างยาวนานหลายสิบปี ซึ่งจะยิ่งเพิ่ม "ความเสี่ยงด้านการคลัง" มากขึ้นเรื่อย ๆ
สุดท้าย หากยังไม่มีรัฐบาลชุดใดมีความ "กล้าหาญ" ที่จะ "ปฏิรูปภาษี" เพื่อ "เพิ่มรายได้" อย่างแท้จริง อนาคตอาจจะนำไปสู่"วิกฤตทางการคลัง" ก็เป็นได้
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน