สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

รู้แล้วจะอึ้ง! เฟซบุ๊กโกยเงินคนไทยเกือบ 3 พันล้าน จ่ายภาษีแค่แสนกว่าบาท

รู้แล้วจะอึ้ง! เฟซบุ๊กโกยเงินคนไทยเกือบ 3 พันล้าน จ่ายภาษีแค่แสนกว่าบาท

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

รู้แล้วจะอึ้ง! เฟซบุ๊กโกยเงินคนไทยเกือบ 3 พันล้าน จ่ายภาษีแค่แสนกว่าบาท
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หรือ "ป้อม" ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม Tarad.com ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (ขวา)
        MGR Online - นายกฯ สมาคมอีคอมเมิร์ซไทยเผยปี 58 เฟซบุ๊กโกยเงินคนไทยปีละหลายพันล้าน แต่จ่ายภาษีแค่ 1.3 แสนบาท ชี้เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) แจ้งรายได้แค่ 7 ล้าน กำไร 3.8 แสน แถมกรรมการเป็นฝรั่งหมด สอดคล้องกับข้อมูล กสทช.
       
       วานนี้ (18 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก Pawoot Pom Pongvitayapanu ของนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หรือ "ป้อม" ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม Tarad.com ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย โพสต์ข้อความเป็นรายละเอียดของบริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด โดยระบุว่า
       
       “มาดูงบการเงินของ Facebook ประเทศไทยในปี 2558 กันครับ รายได้รวม 7.1 ล้านบาท กำไรรวม 382,846 บาท คณะกรรมการบริษัทเป็นฝรั่งหมด จากกรมพัฒนาธุรกิจฯ” นายภาวุธ ระบุ
       
       ขณะที่ข้อมูล บจ. เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุข้อมูลเพิ่มเติมว่าบริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2558 โดยมีทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ที่ตั้ง ณ เลขที่ 63 อาคารแอทธินี ทาวเวอร์ ชั้น 23 ห้องเลขที่ 25 และ 27-29 ถ. วิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะกรรมการ 3 คน ประกอบไปด้วย นายเดวิด วิลเลี่ยม คลิง, นายเชน ฮิวจ์ เครฮาน และนายไมเคิล ลี จอห์นสัน
       
       

       
       นอกจากนี้ นายภาวุธ ยังโพสต์ข่าวจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ อ้างอิงข้อมลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2560 ซึ่งพาดหัวระบุว่า “เฟซบุ๊กจ่ายภาษีแค่หลักแสน สรรพากรเร่ง กม. ปิดช่องโหว่” โดยในเนื้อหาระบุว่า “บริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด เป็นข้อมูลงบการเงินปี 2558 แจ้งรายได้ 7.13 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3.82 แสนบาท และมีรายการภาษีเงินได้ 1.31 แสนบาท เท่านั้น” 

รู้แล้วจะอึ้ง! เฟซบุ๊กโกยเงินคนไทยเกือบ 3 พันล้าน จ่ายภาษีแค่แสนกว่าบาท
        ส่วนบริษัทไอที เจ้าของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่เจ้าอื่นๆ ที่มีบริการในประเทศไทย ก็จ่ายเงินภาษี หรือไม่จ่ายเลยโดยอ้างว่า ผลประกอบการขาดทุน เช่น ในปี 2559 บ. กูเกิล (ประเทศไทย) ระบุรายได้รวม 535.34 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19.87 ล้านบาท ภาษีเงินได้ 20.25 ล้านบาท, บ. เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) เจ้าของแอปพลิเคชันฟังเพลงออนไลน์อย่าง Joox เว็บไซต์สนุกดอทคอม และเจ้าของแอปพลิเคชัน ก็แจ้งว่า มีรายได้รวม 412.30 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 156.27 ล้านบาท ไม่เสียภาษีเพราะขาดทุน, บ. ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) รายได้รวม 137.80 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 211.61 ล้านบาท ไม่เสียภาษี เพราะขาดทุน
       
       

       
       ก่อนหน้านี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เคยเปิดเผยว่า ขณะนี้ กสทช. อยู่ระหว่างการศึกษาว่า จะทำให้ผู้ให้บริการสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียระดับโลก ทั้งเฟซบุ๊ก, ยูทูป, ไลน์ มาตั้งสำนักงานในประเทศไทย และเสียภาษีนิติบุคคลให้ถูกต้อง เนื่องจากเฟซบุ๊ก ยูทูป และไลน์ทำรายได้ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก โดยปีที่ผ่านมา มีรายได้รวมกันราว 7,233 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้ของเฟซบุ๊ก ประมาณ 2,800 ล้านบาท ยูทูป 1,633 ล้านบาท และไลน์ 2,800 ล้านบาท
       
       อนึ่ง ปัจจุบันจากเสียงเรียกร้อของหลายฝ่าย ทาง กสทช. และกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรกำลังเร่งศึกษาวิธีเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ โดยจะเร่งให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2560 เพื่อส่งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณา 

เฟซบุ๊กจ่ายภาษีแค่หลักแสน สรรพากรเร่งกม.ปิดช่องโหว่

updated: 19 มิ.ย. 2560 เวลา 08:35:33 น

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

เปิดข้อมูลยักษ์โซเชียลมีเดียเสียภาษีจิ๊บจ๊อย ขณะที่กวาดเงินโฆษณาหลายพันล้าน แจงเฟซบุ๊กจ่ายภาษีแค่ 1.3 แสนบาท กูเกิลเบาะ ๆ 20 ล้านบาท แฉส่วนใหญ่ไม่ได้บันทึกรายได้ในไทย สรรพากรเร่งออก กม.ไล่บี้หักภาษีที่จ่าย คาดสิ้น มิ.ย.นี้พร้อมส่งให้ รมว.คลังพิจารณา

เฟซบุ๊กดูดเงินโฆษณาออนไลน์

ผู้สื่อข่าว ประชาชาติธุรกิจŽ รายงานว่า จากที่รับรู้โดยทั่วไปว่าปัจจุบันบริษัทยักษ์โซเชียลมีเดียทั้งหลาย อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ หรือเทนเซ็นต์ เจ้าของแอปวีแชท เข้าขยายธุรกิจในเมืองไทยในหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะในแง่ของการสร้างรายได้จากเม็ดเงินโฆษณาออนไลน์ เพราะปัจจุบันบริษัทเหล่านี้กลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกออนไลน์ในการเข้าถึงผู้บริโภคแบบเจาะลึก ข้อมูลจากสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) (DAAT) ระบุว่า งบฯโฆษณาผ่านสื่อดิจิทัลของประเทศไทยในปี 2559 โดยรวมอยู่ที่ 9,477 ล้านบาท เฟซบุ๊กมีส่วนแบ่งตลาดมากสุด 2,711 ล้านบาท อันดับ 2 คือ ยูทูบŽ (ในเครือกูเกิล) อยู่ที่ 1,526 ล้านบาท และคาดว่าปี 2560 งบฯโฆษณาที่จะใช้กับเฟซบุ๊กจะอยู่ที่ 3,165 ล้านบาท ยูทูบ 2,100 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมโฆษณาดิจิทัลไม่มีข้อมูลการโฆษณาผ่านบริการต่าง ๆ ของกูเกิลซึ่งมีมูลค่ามหาศาลเช่นกัน 

สำหรับที่เป็นปัญหาของประเทศไทยและทั่วโลกคือ ยักษ์ข้ามชาติเหล่านี้ใช้วิธีการให้ลูกค้าที่ใช้บริการจ่ายเงินค่าโฆษณาเข้าบัญชีบริษัทที่อยู่ต่างประเทศ ทำให้รายได้ที่เกิดขึ้นไม่มีการเสียภาษีให้กับประเทศไทย 

สอดคล้องกับที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ซีอีโอบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า บริษัทก็ใช้บริการโฆษณาออนไลน์ของโซเชียลมีเดียเหล่านี้ แต่การจ่ายเงินค่าโฆษณาออนไลน์ต่าง ๆ ให้บริษัทเหล่านี้จะเป็นการจ่ายตรงออกไปต่างประเทศทั้งหมด อย่างกูเกิลก็จ่ายไปที่สิงคโปร์ เฟซบุ๊กไปที่ไอร์แลนด์ 

เฟซบุ๊ก-กูเกิลŽ เสียภาษีจิ๊บ ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ งบการเงินปี 2559 ของบริษัท กูเกิล (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้รวม 535.34 ล้านบาท กำไรสุทธิ 19.87 ล้านบาท และมีการชำระภาษีเงินได้ 20.25 ล้านบาท, บริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นไลน์ ไลน์ทีวี ไลน์มิวสิก และอื่น ๆ มีรายได้รวม 137.80 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 211.61 ล้านบาท โดยที่ยังไม่มีรายการเสียภาษีเนื่องจากผลประกอบการยังขาดทุน ขณะที่บริษัท เทนเซ็นต์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นเจ้าของแอปวีแชท, Joox และเว็บไซต์สนุกดอทคอม รายได้รวม 412.30 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 156.27 ล้านบาท ไม่เสียภาษีเนื่องจากขาดทุน

ขณะที่บริษัท เฟซบุ๊ก (ประเทศไทย) จำกัด เป็นข้อมูลงบการเงินปี 2558 แจ้งรายได้ 7.13 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3.82 แสนบาท และมีรายการภาษีเงินได้ 1.31 แสนบาทเท่านั้น 

ทั้งนี้ในปี 2559 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กมีรายได้ทั่วโลกรวมถึง 27,638 ล้านเหรียญสหรัฐ (940,975 ล้านบาท) และมีกำไรสุทธิ 10,217 ล้านเหรียญสหรัฐ (357,595 ล้านบาท) คิดเป็นอัตรากำไรสูงถึง 38% เพราะต้นทุนของเฟซบุ๊กต่ำมาก นอกจากมีการจ้างพนักงานทั่วโลกแค่ 17,048 คนแล้ว ในการขอการดำเนินธุรกิจในประเทศต่าง ๆ ก็แทบจะไม่มีการเสียภาษี

สรรพากรเร่งคลอด กม.ไล่บี้

นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า กรณีที่มีข่าวว่ากรมสรรพากรจะใช้วิธีเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ กรณีผู้ประกอบการอยู่ต่างประเทศ โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 5% นั้น เป็นเพียงการยกตัวอย่าง แนวปฏิบัติในปัจจุบันกับกรณีที่มีการส่งเงินออกไปต่างประเทศ เช่น การจ่ายค่าลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ จะหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% สำหรับการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ ตอนนี้กฎหมายยังไม่ออกมา จึงยังไม่รู้ว่าจะใช้แนวทางไหน โดยกำลังเร่งพิจารณาให้เสร็จภายในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อเสนอรัฐมนตรีคลังพิจารณาŽ นายประสงค์กล่าว

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวกับ ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า แนวทางการเก็บภาษีออนไลน์จากผู้ประกอบการที่อยู่ในต่างประเทศ คงต้องใช้วิธีการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาเป็นตัวช่วย เพื่อให้สามารถเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากผู้ประกอบการข้ามชาติได้ โดยจะจัดเก็บจากฝั่งผู้ซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งมีปัญหาอยู่ที่ข้อมูลการซื้อขายสินค้า ที่จะต้องรู้ว่าใครจ่ายเงินซื้อสินค้าหรือบริการจากต่างประเทศบ้าง แล้วมีการจ่ายเงินอย่างไร จ่ายเป็นค่าอะไร และต้องหักอย่างไร ดังนั้นจึงจะให้ธนาคารเป็นผู้หักภาษีจากผู้ซื้อเอาไว้ แล้วนำส่งให้กรมสรรพากร แต่ผู้ที่จ่ายเงินซื้อสินค้า จะต้องเป็นผู้แจ้งต่อแบงก์ ก่อนจะมีการโอนเงิน หรือชำระค่าสินค้าและบริการ ว่าเป็นรายการที่อยู่ต่างประเทศ โดยอัตราการจัดเก็บมีความเป็นไปได้สูงว่า จะใช้การหักที่ 5% เนื่องจากไม่สูงหรือต่ำจนเกินไป เมื่อมีการหักภาษีไว้แล้ว ในร่างกฎหมายจะเขียนให้ผู้ประกอบการข้ามชาติที่ถูกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ สามารถยื่นแบบ แล้วขอคืนภาษีช่วงปลายปีได้ เพียงแต่ในทางปฏิบัติคงไม่มีการมายื่นแบบเพื่อขอคืนภาษี

แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ความจริงสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบันอยู่แล้ว เพราะกฎหมายประมวลรัษฎากรปัจจุบันก็ครอบคลุมหมด ทั้งการซื้อขายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพียงแต่ประเด็นอยู่ที่จะติดตามและควบคุมกำกับอย่างไร โดยเรื่องนี้กรมสรรพากรจะต้องมีหน่วยงานที่ติดตาม มอนิเตอร์เรื่องการซื้อขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต เรื่องอีคอมเมิร์ซโดยตรง แต่ที่เป็นปัญหามากกว่าคือการจัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณา หรือค่าบริการต่าง ๆ ไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศ โดยไม่มีการเสียภาษีให้แก่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบหรืออื่น ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาของทั่วโลก 



อาเซียนนัดถกปัญหาร่วม ก.ย.นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย ประชาชาติธุรกิจŽ ว่า ปัญหาการจัดเก็บรายได้จากผู้ให้บริการประเภท OTT (Over the Top) เป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยในการประชุม 2017 ATRC Dialogue ของผู้นำและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรกำกับดูแลของประเทศอาเซียนที่ประเทศมาเลเซียเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้หยิบประเด็นนี้ขึ้นหารือและมอบหมายให้ กสทช.เป็นเจ้าภาพจัดประชุมร่วมระหว่างองค์กรกำกับดูแล และโอเปอเรเตอร์กว่า 50 รายในอาเซียน รวมถึงผู้ให้บริการ OTT ระหว่างวันที่ 12-13 ก.ย.นี้ เพื่อหาข้อสรุปแนวทางแก้ปัญหาการไหลออกของรายได้จากการให้บริการ OTT เป็นเรื่องใหญ่ที่หลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ แม้ในอีกมุมจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการจ้างงาน แต่ก็ต้องหาแนวทางที่สร้างสมดุลทั้ง 2 ฝั่ง อย่างรายได้เฉพาะค่าโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กและไลน์ ที่ไหลออกนอกประเทศโดยไม่ได้เสียภาษีให้ไทยเลย มีเม็ดเงินเป็นหมื่นล้านบาท ยังไม่รวมรายได้จากการขายสติ๊กเกอร์ไลน์หรือบริการอื่น ๆŽ

เลขาธิการ กสทช. กล่าวเสริมว่า การจัดประชุมดังกล่าว นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้เชิญตัวแทนจากกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรเข้าร่วมประชุมด้วย เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการออกกฎกติกาต่าง ๆ กสทช.เพียงแต่เป็นเจ้าภาพให้ทุกฝ่ายมาหารือร่วมกัน ซึ่งจะมุ่งไปที่การหาแนวทางไม่ให้รายได้ออกนอกประเทศไปโดยไม่ได้จ่ายภาษี ไม่ใช่การเข้าไปกำกับคอนเทนต์หรือการจะออกใบอนุญาตเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาต

สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : รู้แล้วจะอึ้ง เฟซบุ๊กโกยเงินคนไทย เกือบ 3 พันล้าน จ่ายภาษีแค่แสนกว่าบาท

view