ชำแหละ “พ.ร.ก.ต่างด้าว” เทียบข้อดี-ข้อเสีย…ก่อนตัดสินใจ
จากประชาชาติธุรกิจ
การเคลื่อนไหวเรียกร้องของสมาคมองค์กรเอกชน ที่เสนอให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและ อุตสาหกรรม หลังการประกาศบังคับใช้ พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 เมื่อ 23 มิ.ย. 2560 ยังมีต่อเนื่อง
ล่าสุด แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งที่ 33/2560 เรื่อง มาตรการชั่วคราวเพื่อแก้ไขข้อขัดข้องในการบริหารจัดการการทำงานของคน ต่างด้าว ยืดระยะเวลาบังคับใช้ มาตรา 101, 102, 119 และ 122 ออกไป 180 วัน ยกเว้นโทษปรับ จำคุก ลูกจ้างต่างด้าวกับนายจ้างหลายกรณี ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อ 6 ก.ค. 2560 โหวตผ่านให้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แปลงโฉมเป็น พ.ร.บ.สมบูรณ์แบบ แต่เสียงสะท้อนด้านลบยังไม่จบ
ราวกับกฎหมายฉบับนี้มีจุดอ่อนมากกว่า ข้อดี สวนทางกับคำยืนยันของ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน รวมทั้ง นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ที่ชี้ว่าจุดดีมีมากกว่าข้อด้อย โดยเฉพาะการป้องกันแก้ไขปัญหาคนต่างด้าวในระยะยาว ผลพวงจากการปล่อยปละละเลยไม่มีการควบคุมดูแลตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
ย้อนปม พ.ร.ก.เผือกร้อน
กฎหมายฉบับเผือกร้อนมาจากการควบรวม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 กับ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 เป็นกฎหมายใหม่ เพื่อบริหารจัดการต่างด้าวทั้งระบบ ลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม มีทั้งหมด 8 หมวด 133 มาตรา กับบทเฉพาะกาล มาตรา 134-145 สาระสำคัญประกอบด้วย บททั่วไป ว่าด้วยเรื่องการออกประกาศกำหนดให้งานใดเป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำ การห้ามคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต หรืองานต้องห้าม การกำหนดค่าธรรมเนียมเรียกเก็บจากนายจ้าง เป็นต้น
จัดระเบียบต่างด้าวทั้งระบบ
บทบัญญัติ ว่าด้วย “คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว” ซึ่งกฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นรองประธาน กรรมการประกอบด้วยตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากภาครัฐและเอกชน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ มาตรการ แนวทางแก้ไขปัญหาการทำงานของคนต่างด้าว
เบื้องต้นให้คณะกรรมการ พิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว 2551 ทำหน้าที่แทน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งกรรมการตาม พ.ร.ก.ฉบับใหม่นี้
บทบัญญัติว่าด้วยการนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ การประกอบธุรกิจนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้าง รวมทั้งข้อปฏิบัติ ข้อห้าม กรณีนายจ้างนำคนต่างด้าวมาทำงานกับตนในประเทศ
ทั้งนี้ การนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่จะกำหนดไว้ในกฎกระทรวง 1.กรณีผู้รับอนุญาตเป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้าง 2.นายจ้างเป็นผู้นำคนต่างด้าวมาทำงานเอง ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี และต้องวางหลักประกัน
บทบัญญัติว่าด้วย การขอใบอนุญาตทำงาน การแจ้งการทำงาน แจ้งเปลี่ยนประเภทงาน เปลี่ยนตัวนายจ้าง เงื่อนไขในการทำงาน ฯลฯ
ผุดกองทุนหนุนสวัสดิการ 8 พัน ล./ปี
และกำหนดให้มี กองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ขึ้นในกรมการจัดหางาน สำหรับเป็นทุนหมุนเวียนใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริหารจัดการการทำงานของคน ต่างด้าว อาทิ ช่วยเหลือคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงาน ส่งคนต่างด้าวออกนอกราชอาณาจักร
การช่วยเหลือเกี่ยวกับการบริหาร จัดการการทำงาน จัดสวัสดิการ การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ ถือเป็นการให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างคนต่างด้าว การให้นายจ้างและลูกจ้างคนต่างด้าวอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ประกันสังคม 2533
กองทุนดังกล่าวมี คณะกรรมการกองทุนเพื่อการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่ปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน เป็นผู้บริหาร
ทั้งนี้ กองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สิน อาทิ เงินหรือทรัพย์สินที่โอนมาจากกองทุนเพื่อการส่งคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราช อาณาจักร เงินเพิ่มที่จัดเก็บจากนายจ้างเพิ่ม กรณีไม่จ่ายค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมายกำหนด เงินค่าธรรมเนียม ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินกองทุน เงินอุดหนุนจากรัฐ ฯลฯ
ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงแรงงาน ณ ปี 2559 กองทุนมีเงินจากการจัดเก็บรายได้และอื่น ๆ กว่า 4,400 ล้านบาท
พิจารณา ตัวเลขค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ แก่ลูกจ้างแรงงานต่างด้าว ย้อนหลัง 4-5 ปีที่ผ่านมาเฉพาะค่ารักษาพยาบาลสูงถึงกว่า 8,000 ล้านบาท ไม่รวมสวัดิการด้านการศึกษา การช่วยเหลือด้านอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินภาษีอากรที่คนไทยจ่ายเข้ารัฐ
ทบทวนโทษจับปรับหนัก
สำหรับบทกำหนดโทษ ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ที่ภาคเอกชนมองว่า อัตราโทษค่อนข้างหนักและรุนแรงนั้น (ตาราง) เนื่องจากกฎหมายใหม่ได้เพิ่มอัตราโทษทั้งจำคุก ปรับเพิ่มจากบทลงโทษตาม พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว และ พ.ร.ก.การนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ ซึ่งอัตราโทษปรับอยู่ในระดับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท
ประเด็นดังกล่าว อธิบดีกรมการจัดหางาน นายวรานนท์ ปีติวรรณ ให้เหตุผลว่า จำเป็นต้องเพิ่มโทษให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน และให้นายจ้าง ลูกจ้างคนต่างด้าว บริษัทจัดหางานเกรงกลัวกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาอัตราโทษต่ำ การฝ่าฝืนกฎหมายจึงมีให้เห็นมากและบ่อยครั้ง
แต่เมื่อเทียบกับกฎหมายใหม่หลายฉบับที่ทยอยก่อนหน้านี้ อัตราโทษใกล้เคียงกัน เช่น โทษเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ ปรับ 400,000 บาท ใช้แรงงานเด็ก ปรับ 400,000 บาท ขณะที่โทษตาม พ.ร.ก.การประมง ปรับ 1,000,000 บาท โทษที่กำหนดไว้ภายใน พ.ร.บ.ดังกล่าวน่าจะเหมาะสมแล้ว อย่างไรก็ตาม จะดำเนินการตามนโยบายนายกฯ รวมทั้งข้อเรียกร้องของเอกชนที่เสนอให้มีการทบทวน
ทั้งหมดคือบางส่วน ของการบ้านที่คนไทยทั้งประเทศต้องนำไปขบคิด ชั่งน้ำหนัก ก่อนชี้ขาดว่ากฎหมายใหม่ฉบับนี้ ประเทศชาติได้มากกว่าเสีย หรือเสียมากกว่าได้ จะได้ตัดสินใจถูก
ต้องมองเป้าหมายเดียวกัน
จากประชาชาติธุรกิจ
บทบรรณาธิการ
ถึงวันนี้แม้ว่าการใช้ มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อผ่อนปรนปมปัญหาแรงงานต่างด้าว ด้วยการขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไปอีก 180 วัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2561 จะช่วยลดความตื่นตระหนกให้กับบรรดานายจ้าง ทั้งที่เป็นภาคครัวเรือน ผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อม รวมทั้งภาคการเกษตรกรรม ลงได้บ้างในระดับหนึ่ง และในระหว่างนี้ก็เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะแรงงานที่เข้าประเทศ อย่างไม่ถูกต้องได้กลับไปดำเนินการให้ถูกต้อง และคำสั่งนี้ยังห้ามไม่ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ จับ-ปรับ รวมถึงการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งโดยมิชอบด้วย
แต่อีกด้านหนึ่งก็ดูเหมือนว่า ด้วยความเข้มข้นของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ฉบับนี้ ที่มีการกำหนดบทลงโทษไว้ค่อนข้างหนักและรุนแรง เช่น โทษปรับที่กำหนดขั้นต่ำไว้ตั้งแต่ 2,000-800,000 บาท ส่วนโทษจำคุกมีตั้งแต่ 6 เดือน ไปจนถึง 5 ปี หรือจำและปรับ แล้วแต่ฐานความผิด จึงทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาหลากหลายแง่มุม ซึ่งนักวิชาการหลาย ๆ คนมองว่าอาจจะเป็นช่องที่ทำให้เกิดการเลี่ยงกฎหมายและนำไปสู่การเรียกเงิน ใต้โต๊ะจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตามมา
นอกจากนี้จากค่าธรรมเนียม การนำเข้าแรงงานที่ค่อนข้างสูง ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้บรรดานายจ้างโอดครวญว่า กฎหมายแรงงานใหม่ฉบับนี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และกังวลว่า มาตรการผ่อนปรน 180 วัน ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ อาจจะไม่สามารถดำเนินการได้ทันระยะเวลาที่กำหนด การดำเนินการแต่ละขั้นตอนนั้นมีรายละเอียดปลีกย่อยมาก และล้วนเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาทั้งสิ้น
ในทางปฏิบัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้ย่อมส่งผลกระทบกับผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายภาคส่วน และอาจกล่าวได้ว่า กฎหมายแรงงานฉบับใหม่นี้ถือเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของประเทศ ในแง่ของการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวให้เป็นไปอย่างมีระบบและมี ประสิทธิภาพ จากเดิมที่ปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยาให้ถูกต้อง และต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีความจำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวต่างก็หย่อนยาน เรื่องนี้มานาน
แน่นอนว่าการแก้ปัญหาแรงงานครั้งนี้ แม้จะมีปัญหามีอุปสรรคต่าง ๆ อยู่บ้าง แต่เมื่อมองในภาพรวมของประเทศแล้ว นี่เป็นเรื่องที่จำเป็นและต้องลงมือทำ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมแรงร่วมใจ และมองเป้าหมายเดียวกันคือ การยกอันดับประเทศไทยให้พ้นจากการถูกจับตามองในเรื่องการค้ามนุษย์จากนานา ประเทศ ท้ายที่สุด อันดับของประเทศไทยในเรื่องการค้ามนุษย์จะต้องดีขึ้น
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน