จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เอชอาร์คอร์เนอร์
โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com
ผมเคยเขียนเรื่องของการสัมภาษณ์ไปแล้วหลายครั้ง ซึ่งโดยหลักการสัมภาษณ์ผู้สมัครงานที่จะทำให้ได้คนที่ “ใช่” เข้ามานั้น จะประกอบด้วยเรื่องหลัก ๆ คือ
1.Structured Interview ควรเตรียมคำถามเอาไว้ล่วงหน้า มีเป้าหมายของคำตอบชัดเจน มีเกณฑ์การให้คะแนนในแต่ละคำถามที่ชัดเจน (อ่านเรื่อง “การสัมภาษณ์แบบ Structured Interview คืออย่างไร”เพิ่มเติมนะครับ)
2.ถ้าบริษัทมีระบบ Competency ก็ใช้วิธีการตั้งคำถาม และสัมภาษณ์ตาม Competency หรือ Competency Base Interview-CBI ถ้าบริษัทยังไม่มีระบบ Competency ก็ตั้งคำถาม และสัมภาษณ์ตาม Job De-scription แต่ยังต้องอยู่บนหลักการของ Structured Interview ตามข้อ 1
3.ไม่ควรใช้วิธีการสัมภาษณ์แบบ “จิตสัมผัส” หรือ “Unstructured Interview”
แต่ผู้สัมภาษณ์ควรจะต้องไม่ลืมดูองค์ประกอบที่สำคัญของการสัมภาษณ์อีก 2 เรื่องหลัก ๆ คือ
1.ภาษากายของผู้สมัครงาน เช่น แววตา สีหน้า ท่าที ฯลฯ ว่าสอดคล้องกับคำตอบหรือไม่ ซึ่งเรื่องของการสังเกตภาษากาย ผมเคยเขียนเรื่อง “เวลาสัมภาษณ์อย่าลืมสังเกตภาษากาย” ไปก่อนหน้านี้แล้ว ท่านลองไปหาอ่านเอานะครับ
2.ทัศนคติของผู้สมัครงานว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะผู้สมัครงานที่แสดงทัศนคติเชิงลบออกมาในระหว่างการสัมภาษณ์ทั้งที่รู้ตัว และในตอนที่ผู้สมัครเผลอตอบออกมาก็ตาม
คราวนี้เราลองมาดูกันสิครับว่าผู้สัมภาษณ์ที่มีทัศนคติแบบนี้ ควรจะรับเข้าทำงานหรือไม่
1.พูดตำหนิ (บางคนด่า) หัวหน้าเก่า, ผู้บริหาร, บริษัทองค์กรที่เคยทำงานว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้
2.แสดงความคิดเห็นที่แรง ๆ ในเรื่องการเมือง
3.มองแต่ด้านลบ และข้อเสียขององค์กรหรือประเทศ โดยไม่พูดถึงด้านดีบ้างเลย
4.พูดโอ้อวดว่ารู้จักคนดัง อ้างว่ารู้จักคนโน้นคนนี้ มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับคนใหญ่คนโต
5.พูดอวดความเก่งของตัวเอง ยกตนข่มท่าน คนอื่นไม่เก่ง หรือไม่มีความรู้ดีเท่าตนเอง อวดว่ามีความรู้ในทุก ๆ เรื่อง มี Ego ที่สูงมาก แบบไม่ฟังความคิดของคนอื่น
6.พูดในลักษณะที่ดูถูกคนอื่น วางตัวว่าอยู่เหนือคนอื่น
7.มีทัศนคติปล่อยวางไปหมดทุกอย่างจนดูเฉื่อยชา ไม่มีชีวิตชีวา แล้วแต่บุญกรรมจะนำไป ยอมคนไปหมดทุกเรื่อง เกรงใจคนอื่นมากจนไม่กล้าตัดสินใจ ถ่อมตัวมากจนเกินพอดี
8.โลเลเปลี่ยนใจได้ง่าย ไม่มีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน ขาดความมั่นใจในตัวเอง
9.ฟังคำถามยังไม่จบ ก็มักจะพูดแซงขึ้นมา เหมือนรู้ทุกเรื่อง รู้ทุกสิ่งอย่าง
10.บ่นเรื่องรอบตัวแบบวนเวียนซ้ำซาก เช่น รถติด, เศรษฐกิจไม่ดี, ของแพง ฯลฯ
11.พูดถึงแต่ปัญหา ปัญหา และปัญหา แต่ไม่มีไอเดียเลยว่า ควรจะแก้ปัญหาที่พูดถึงอย่างไรบ้าง
12.พูดเสียดสีแดกดัน ประชดประชันแบบเจ็บ ๆ
13.พูดวนเวียนต่อรองในเรื่องของผลตอบแทน เช่น เงินเดือน สวัสดิการ ตำแหน่ง ฯลฯ
14.เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางเสมอ คิดถึงแต่ผลประโยชน์ของตัวเองเป็นหลัก โดยไม่คิดว่าส่วนรวมจะมีผลกระทบด้านลบหรือไม่
15.แสดงทัศนคติแบบอำนาจนิยมโดยมุ่งใช้อำนาจหน้าที่ที่มีเป็นหลักแบบไม่ฟังใคร
16.ตอบคำถามโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่เหมาะสม หรือตอบแบบคลุมเครือไม่ชัดเจน หรือตอบคำถามแบบแถ หรือเถียงเพื่อเอาชนะโดยไม่มีเหตุผล
ที่ผมยกตัวอย่างมาตั้งสิบกว่าข้อนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแสดงออกเชิงทัศนคติของผู้สมัครงานในระหว่างการสัมภาษณ์ (ซึ่งท่านอาจจะเคยเจอมามากกว่านี้ก็ได้นะครับ) ที่กรรมการสัมภาษณ์ควรจะต้องสังเกตให้ดี และจดบันทึกเอาไว้เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เมื่อสัมภาษณ์ผู้สมัครงานครบหมดทุกคนแล้ว
ทั้งนั้นเพื่อประเมินว่า ใครจะมีทัศนคติที่เหมาะกับตำแหน่งงานนี้ รวมถึงเหมาะกับหน่วยงานและองค์กรของเรามากกว่ากัน
ผมเชื่อว่าคงจะเป็นประโยชน์ และพอจะทำให้ท่านได้ไอเดียเพิ่มขึ้น สำหรับการเตรียมตัวในการสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกผู้สมัครงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานในครั้งต่อไปแล้วแหละแต่ขอให้ข้อคิดปิดท้ายเอาไว้ว่า คนที่ยังขาดความรู้ หรือทักษะในงาน เราอาจจะใช้เวลาในการฝึกอบรม สอนงาน หรือพัฒนาพนักงานที่ยังขาดความรู้ทักษะในงานนี้บ้าง แต่ยังมีทางที่จะพัฒนาให้เขาเก่งขึ้นได้
แต่คนที่ทัศนคติมีปัญหานี่ ท่านคิดว่าจะต้องใช้เวลาสักเท่าไหร่ถึงจะพัฒนาให้ดีขึ้นมาได้ล่ะครับ ?
หวังว่าคงไม่มีคนตอบมาว่า…งั้นก็ส่งไปเข้าอบรมหลักสูตรการสร้างทัศนคติเชิงบวกสิ (ฮา)
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน