หายนะในตลาดTFEX(1) / สุนันท์ ศรีจันทรา
เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: MGR Online
บรรยากาศการซื้อขายหุ้นเมื่อวันอังคารที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา คึกคักดุจดั่งม้าพยศ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทะยานอย่างร้อนแรง 28.35 จุด ปิดที่1614.14 จุด สร้างจุดสูงสุดรอบ 27 เดือน ขณะที่นักลงทุนเคาะซื้อเคาะขายสนั่นหวั่นไหว จนมูลค่าการซื้อขายพุ่งขึ้น 95,652 ล้านบาท
ตลาดหุ้นที่ฟื้นคืนสู่ความสดใส ทำให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องหน้าบานกันเป็นแถว แต่ละคนออกมาอวดสรรพคุณตลาดหุ้นไทยกันยกใหญ่ อ้างว่าราคาหุ้นยังถูก ปัจจัยพื้นฐานดี และเศรษฐกิจกำลังฟื้น
บรรดานักวิเคราะห์หุ้นต่างหาเหตุผลมาสนับสนุน การโจนทะยานของหุ้น ระบุว่า การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หนีออกนอกประเทศ ทำให้สถานการณ์การเมืองนิ่ง เอื้อต่อการลงทุน
นอกจากนั้นการจัดงาน”ไทยแลนด์โฟกัส” เชิญนักลงทุนชั้นนำระดับโลกมารับฟังข้อมูลการลงทุนในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 29-30 สิงหาคมฯ ยังกระตุ้นให้ต่างชาติหันมาสนใจตลาดหุ้น
และต่างชาติก็โหมแรงซื้อเข้ามาจริงๆเสียด้วย โดยซื้อสุทธิจำนวน 4,821 ล้านบาทในวันที่ตลาดหุ้นดีดตัวแรง
ยามหุ้นขึ้น นักลงทุนในตลาดหุ้นทุกคนจะต้องร่ำรวย แต่สถานการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะมีนักลงทุนจำนวนไม่น้อย ต้องเสียหายขายตัว โดยเฉพาะนักลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้า หรือตลาดอนุพันธ์ (TFEX)
การซื้อขายหุ้นในตลาด TFEX เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมร้อนแรงไม่ต่างกับตลาดหุ้น โดยเฉพาะการซื้อขายสัญญาดัชนีเซท 50 ล่วงหน้า ซึ่งยอดซื้อขายสัญญาพุ่งขึ้นถึงกว่า 75,000 สัญญา ขณะที่ดัชนีเซท 50 ล่วงหน้า เพิ่มขึ้น 26 จุด หรือเพิ่มขึ้น 2.57%
ดัชนีเซท 50 ล่วงหน้าที่ดีดแรง ทำให้นักลงทุนรายย่อยบาดเจ็บล้มตายกันเป็นเบือ เพราะถือสถานะสัญญา SHORT หรือเล่นดัชนีเซท 50 ล่วงหน้าขาลงไว้
เมื่อดัชนีเซท 50 ขึ้น จึงขาดทุน และเมื่อขึ้นแรงถึง 26 จุด ผลที่ตามมาคือ การถูกโบรกเกอร์บังคับขายสัญญา เมื่อไม่สามารถเพิ่มหลักประกันในสัญญาได้
รายการซื้อขายสัญญาเซท 50 ล่วงหน้า วันที่ 29 สิงหาคม ต่างชาติที่ถือสถานะ LONG หรือเล่นดัชนีเซท 50 ขาขึ้น ขายปิดสัญญาทำกำไรจำนวน 55,620 สัญญา กองทุนที่ถือ LONG ขายปิดสัญญา 20,065 สัญญา ส่วนนักลงทุนในประเทศหรือรายย่อยที่ถือสถานะ SHORT ซื้อปิดสัญญาตัดขาดทุนจำนวน 75,685 สัญญา
นักลงทุนรายย่อยที่ซื้อปิดสัญญาตัดขาดทุนนั้น เชื่อว่า ส่วนใหญ่ถูกโบรกเกอร์บังคับขาย เพราะดัชนีเซท 50 รูดลงแตะเกณฑ์การบังคับขายสัญญา
สัปดาห์ก่อนหน้า นักลงทุนต่างชาติซื้อสะสมสัญญา LONG มาตลอด และวันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม ยังเก็บอีกกว่า 16,000 สัญญา รวมที่เก็บสะสมไว้ในระยะสั้นกว่า 50,000 สัญญา และเทขายทำกำไรวันที่ 29 สิงหาคมในวันเดียวกว่า 50,000 สัญญา วันที่ 30 สิงหาคมขายอีก10,145 สัญญา
ดัชนีเซท 50 ล่วงหน้าที่ขึ้นแต่ละ 1 จุด จะมีค่าเท่ากับ 200 บาทของสัญญาซื้อขายดัชนีเซท 50ล่วงหน้า 1สัญญา เมื่อดัชนีเซท 50 บวก 26 จุด จึงทำให้มูลค่าสัญญา LONG เพิ่มขึ้น 5,200 บาทต่อ 1 สัญญา
ต่างชาติที่ปิดสัญญา LONG จำนวนกว่า 55,620 สัญญา จึงฟันกำไรเหนาะๆไปในวันเดียว 289.22 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนรายย่อยที่ถูกบังคับขายสัญญาต้องร่ำไห้
หุ้นที่คึกคักสดใสเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา จนใครต่อใครออกมาอวดอ้างสรรพคุณของตลาดหุ้นไทยว่าดีอย่างโน้นดีอย่างนี้นั้น เริ่มมีคำถามแล้ว
เพราะถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัวจริง ตลาดหุ้นไทยมีปัจจัยพื้นฐานดีจริง และต่างชาติกลับมาเชื่อมั่นอนาคตประเทศไทยจริง ทำไมจึงโหมซื้อหุ้นเพียงวันเดียว
และทำไมดัชนีหุ้นจึงวิ่งฉิวเพียงแค่วันเดียว
จนถึงวันนี้ ยังไม่มีใครให้คำอธิบายอย่างมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือได้ว่า หุ้นที่โจนทะยานขึ้นมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม เกิดขึ้นเพราะเหตุใด
เบื้องหลังความร้อนของตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นเพียงวันเดียว อาจเป็นฝีมือของต่างชาติ โดยวางแผนไล่หุ้น ลากดัชนีขึ้นไป เพื่อทุบขายทำกำไรในตลาด TFEX ก็ได้
โจทก์ที่ยังตีไม่แตกมีเพียง เหตุใดกองทุนรวมในประเทศและพอร์ตโบรกเกอร์ จึงกลายเป็นผู้สนับสนุนแผนการลากขึ้นไปเชือดของฝรั่ง โดยอัดเงินเข้าไปลุยซื้อหุ้นตามฝรั่งหรือเป็นเหตุบังเอิญที่เข้าไปไล่หุ้นในวันเดียวกับฝรั่ง
ไม่มีตัวเลขว่า นักลงทุนรายย่อยที่ถูกต่างชาติลากขึ้นไปเชือดในตลาด TFEX มีจำนวนเท่าไหร่
แต่ความเสียหายที่นักลงทุนรายย่อยได้รับ ผู้บริหารตลาด TFEX มีส่วนสำคัญที่ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นต้นเหตุแห่งการบังคับขายสัญญาซื้อขาย ดัชนีเซท 50 ล่วงหน้า (อ่านต่อตอนหน้า)
หายนะในตลาดTFEX (2)/สุนันท์ ศรีจันทรา
เผยแพร่:
29 สิงหาคมที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์พุ่งทะยานกว่า 28 จุด นักลงทุนเคาะซื้อขายกันสนั่นเฉียดแสนล้านบาท ทุกคนน่าจะมีความสุขกับความมั่งคั่ง แต่กลับเป็นวันที่นักลงทุนรายย่อยในตลาดซื้อขายล่วงหน้าหรือตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ได้รับความเสียหายย่อยยับมากที่สุดเป็นประวัติการณ์
เพราะวันนั้น เกิดการบังคับขายสัญญาดัชนีเซท 50 ล่วงหน้าครั้งใหญ่ โดยยอดบังคับขายอาจพุ่งถึงประมาณ 50,000 สัญญา ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่ถือสถานะ SHORT หรือเล่นดัชนีฯขาลง หมดเนื้อหมดตัว
ดัชนีเซท 50 ล่วงหน้า พุ่งขึ้นเพียง 26 จุดเท่านั้น เหตุใดจึงเกิดการบังคับขายกันขนานใหญ่ หลายคนคงมีข้อสงสัย
สัญญาซื้อขายดัชนีเซท 50 ล่วงหน้า เป็นสินค้าตัวหนึ่งในตลาด TFEX นอกเหนือจากสัญญาซื้อขายหุ้นรายตัวล่วงหน้า สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าหรือทองคำกระดาษ เดลิเวทีฟวอร์แร้นต์และสินค้าอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อการเก็งกำไร
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดอนุพันธ์ พยายามกระตุ้นการเก็งกำไรใน TFEX ในทุกรูปแบบ เพื่อขยายมูลค่าการซื้อขาย โดยสร้างผู้เล่น TFEX ให้มากขึ้น
หนึ่งนโยบายกระตุ้น ปลุกเร้าและยั่วยุให้คนแห่เข้ามาเล่น TFEX คือ การแตกสัญญาให้มีขนาดเล็กลง ใช้เงินในการเล่นน้อยลง เพื่อลากนักลงทุนรายยิบย่อย ในลักษณะเดียวกับแชร์แม่ชม้อยในอดีต
แชร์ลงทุนรถขนส่งน้ำมันของแม่ชม้อย เริ่มต้นกำหนดวงเงินลงทุนประมาณ 160,000 บาท เท่ากับลงทุนรถขนส่งน้ำมัน 1 คัน ต่อมาลดวงเงินลงทุนเหลือ 40,000 บาท แตกย่อยให้ลงทุนล้อรถขนส่งน้ำมัน และเตรียมลด วงเงินลงทุนเหลือไม่กี่พันบาท โดยลงทุนตัว “น็อต” ในวงล้อรถขนส่งน้ำมัน เพื่อสูบเงินลูกแชร์ลงไปถึงคนในระดับรากหญ้า
ตลาดอนุพันธ์ลอกแบบแชร์แม่ชม้อย โดยแตกสัญญาอนุพันธ์ต่างๆ ให้เล็กลง ลดวงเงินหลักประกันสัญญาให้ต่ำลง เพื่อให้นักลงทุนที่มีเงินน้อยเล่น TFEX ได้
โกลด์ฟิวเจอร์หรือทองคำกระดาษ ช่วงก่อตั้งกำหนด1สัญญาเท่ากับซื้อขายทองคำแท่งน้ำหนัก 50 บาท วงเงินหลักประกันประมาณ 10% ของมูลค่าทองคำที่จะซื้อขาย ต่อมาแตกสัญญา กำหนด 1สัญญาเท่ากับทองคำแท่งน้ำหนัก 10 บาท โดยมีเงินเพียงหมื่นบาทเศษ สามารถเล่นทองคำกระดาษได้น้ำหนัก 10บาท
สัญญาซื้อขายหุ้นรายตัวล่วงหน้า หรือ SINGLE STOCK เมื่อการซื้อขายซบเซา มีการสร้างสัญญา BLOCK TRADE ขึ้นมา กำหนด 1 สัญญาเท่ากับ 1,000 หุ้น แต่กำหนดวงเงินหลักประกันต่ำมาก ผู้ลงทุนมีเงินไม่กี่พันบาท แต่สามารถซื้อหุ้นรายตัวล่วงหน้าในวงเงินนับแสนบาท
ส่วนสัญญาซื้อขายดัชนีเซท 50 ล่วงหน้า เดิมกำหนด 1 สัญญา ต้องวางหลักประกัน 70,000 บาท โดยดัชนีเซท 50 ล่วงหน้าขึ้นหรือลง 1 จุด เท่ากับการขึ้นหรือลงของมูลค่าสัญญา 1,000 บาท แต่ต่อมาแตกเป็นสัญญาย่อย วางเงินหลักประกัน 14,000 บาทต่อสัญญา ดัชนีเซท 50 ฯขึ้นลง1 จุด มีมูลค่าเท่ากับ 200 บาท
วันที่ 4 กันยายนนี้ จะลดหลักประกันเหลือเพียง 3,420 บาทต่อ 1 สัญญา
การกำหนดวงเงินหลักประกันต่ำ ทำให้นักลงทุนประเภทเบี้ยน้อยหอยน้อย แมลงเม่าระดับรากหญ้า สามารถเข้ามาแลกหมัดวัดดวงในตลาด TFEX ได้
ปัญหาที่ตามมาคือ นักลงทุนมีความเสี่ยงสูง เพราะ “กันชน” ที่จะป้องกันความเสียหายเปราะบางมาก โดยดัชนีเซท 50 ล่วงหน้า ขึ้นหรือลงเพียง 16 จุด คำนวณเป็นเงินเท่ากับมูลค่าสัญญาเพิ่มขึ้นหรือลดลง 3,200 บาท (ไม่รวมค่านายหน้าสัญญาละ 200 บาท)
นักลงทุนที่ซื้อสถานะสัญญาผิด เล่นดัชนีขึ้น แต่ดัชนีกลับลง หรือเล่นดัชนีฯลง แต่ดัชนีกลับขึ้น จะหมดตัวในทันที
เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา
“กันชน” สัญญาซื้อขายดัชนีเซท 50 ที่ต่ำ ทำให้ต่างชาติประเมิน “หน้าตัก” นักลงทุนรายย่อยอย่างทะลุปรุโปร่ง ถ้าลากดัชนีเซท 50 ขึ้นเพียง 6 จุดเท่านั้น ระบบการบังคับขายจะเริ่มทำงานทันที จึงฉวยโอกาสลากดัชนีเซท 50ฯ โดยอัดแรงซื้อจุดพลุไล่หุ้นขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ตัว
เมื่อดัชนีเซท 50ฯ ขยับแรง หากรายย่อยไม่สามารถเติมเงินหลักประกัน จะถูกโบรกเกอร์บังคับขาย ซึ่งเข้าทางฝรั่งที่รอปิดสัญญาซื้อสถานะตลาดขาขึ้นดักไว้ก่อนหน้า
29 สิงหาคม2560 จึงเป็นวันนรกแตกของนักลงทุนที่เล่นดัชนีเซท 50 ล่วงหน้า ซึ่งเกิดจากตลาดหลักทรัพย์และตลาดอนุพันธ์ที่มุ่งแต่การขยายฐานนักเก็งกำไร
ใครจะหมดเนื้อหมดตัว ใครจะหมกมุ่นเก็งกำไร ใครจะมองตลาด TFEX เป็นบ่อนการพนัน ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์และตลาดอนุพันธ์ ไม่ตระหนัก
เพราะเป้าหมายของ TFEX อยู่ที่ การยั่วยุเก็งกำไร และเงินค่าต๋งที่แบ่งกันกินแบ่งกันใช้กับโบรกเกอร์เท่านั้น
หายนะในตลาดTFEX (จบ)/สุนันท์ ศรีจันทรา
เผยแพร่:
คงจะมีคนตั้งคำถามอยู่เหมือนกันว่า ทำไมต้องตั้งตลาดอนุพันธ์ (TFEX) หรือเป็นเพราะว่า เมื่อตลาดหุ้นประเทศอื่นเขามีกัน ตลาดหุ้นไทยจึงต้องมีบ้าง
เอาล่ะ สมมุติว่า จำเป็นต้องมีตลาดอนุพันธ์ แต่สิ่งที่น่าตั้งคำถามกันต่อไปคือ จำเป็นเพียงใดที่จะต้องพยายามให้นักลงทุนแห่เข้าไปเก็งกำไร
สินค้าในตลาดอนุพันธ์ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการลงทุน แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่นำมาซื้อขายเพื่อการเก็งกำไร ไม่สามารถซื้อเพื่อการลงทุนระยะยาว ไม่มีปัจจัยพื้นฐานที่จะวิเคราะห์ความเหมาะสมของราคา ไม่มีเงินปันผล และมีอายุไขสั้นๆเพื่อเก็งกำไรเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
การลงทุนในหุ้นสามัญ มีปัจจัยพื้นฐานที่จะวิเคราะห์การลงทุน ซื้อเพื่อลงทุนระยะยาวได้ จะถือหุ้นไว้ตลอดชีวิตก็ไม่เป็นไร ตราบใดที่บริษัทจดทะเบียนไม่มีอันเป็นไปเสียก่อน
แต่การซื้อขายตราสารนอนุพันธ์มีความซับซ้อน และส่วนใหญ่ยังไม่ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในหุ้นสามัญ
การซื้อขายอนุพันธ์ซึ่งมีความซับซ้อนกว่า เต็มไปด้วยความเสี่ยง และเป็นการเก็งกำไรกึ่งการพนัน
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมบางแห่งที่บริหารเงินของประชาชนกว่า 1 ล้านล้านบาท มีกองทุนภายใต้การบริหารจัดการนับร้อยกองทุน แต่ไม่เคยลงทุนในตราสารอนุพันธ์เลย เพราะกลัวความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ถือหน่วยลงทุน
เจ้าหน้าที่การตลาดหรือมาร์เก็ตติ้งของบริษัทโบรกเกอร์จำนวนไม่น้อยที่พยายามเตือนลูกค้า แนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดTFEX เพราะเห็นถึงความเสี่ยง และเห็นว่า การเล่นตราสารอนุพันธ์ เป็นการเลนพนันชัดๆ
ตลาดหลักทรัพย์ก่อตั้งเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2518 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการระดมทุนของบริษัทเอกชนและการลงทุนของประชาชน
ช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ก่อกำหนด ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์และผู้บริหารตลาดอนุพันธ์ในปัจจุบัน อาจยังไร้เดียงสา จึงไม่เข้าใจปรัชญาของตลาดหุ้น และเน้นการจัดกิจกรรม เพื่อปลุกเร้า กระตุ้น จนเข้าข่ายการมอมเมาให้นักลงทุนมีพฤติกรรมเป็นนักเก็งกำไรระยะสั้น โดยเฉพาะการเก็งกำไรในตลาดอนุพันธ์
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ตลาดหลักทรัพย์พยายามเจาะมาหลายปีแล้วคือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเดิมเน้นให้ความรู้ความเข้าใจการลงทุนในตลาดหุ้น แต่ช่วงหลังๆพยายามหว่านล้อมชักจูงให้เข้ามาเล่นอนุพันธ์
ตลาดหลักทรัพย์แทรกซึมเข้าไปในหลายสถาบันการศึกษา เปิดหลักสูตรอบรมการลงทุน แต่ปูพื้นฐานความรู้การลงทุนไม่ทันเท่าไหร่ ก็ชักชวนให้ทดสอบการเป็นนักลงทุนจริงแล้ว โดยเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นจริง
ไม่รู้ว่า ผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์และตลาดอนุพันธ์คิดได้อย่างไร ในการชักจูงกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเข้ามาเล่นอนุพันธ์ ซื้อขายเก็งกำไรเดลิเวทีฟวอร์แร้นต์(DW)รายวัน ทั้งที่เป็นตราสารที่อันตรายสุดๆ จนแม้แต่นักลงทุนหน้าเก่าๆ มีประสบการณ์ลงทุนนับสิบปี ยังไม่ค่อยมีใครกล้าลองดีเล่นDW สักเท่าไหร่
ทำไมไม่เตือนนักเรียนนักศึกษาหรือนักลงทุนรุ่นใหม่ ให้ระมัดระวังการเก็งกำไร หลีกเลี่ยงซื้อขายรายวัน
ทำไมจึงพยายามปลูกฝังพฤติกรรมการเก็งกำไรระยะสั้นให้เยาวชน จนทุกคนเพ้อฝันอยากจะรวยเร็วในทางลัด แทนที่จะปูพื้นฐานความรู้ด้านการลงทุน การวางแผนออมเงิน และการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการเล่นหุ้นหรืออนุพันธ์
นักศึกษาจำนวนหนึ่ง ขอเงินผู้ปกครองมาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นและอนุพันธ์ เพราะคิดว่าการลงทุนเป็นเรื่องง่าย การหากำไรจากตลาดหุ้น ไม่เกินความสามารถที่จะทำได้ บางคนคิดจะเป็นเศรษฐีในตลาดหุ้นกันทีเดียว โดยแห่เข้าไปเล่นอนุพันธ์ เพราะคิดว่าเป็นช่องทางที่จะรวยเร็ว
แทบไม่ต้องอธิบายว่า ผลลัพธ์การลงทุนของนักเรียนนักศึกษาที่ตกเป็นเหยื่อของแผนการสร้างนักลงทุนหน้าใหม่เป๋นอย่างไร
นักศึกษาหลายคนต้องสูญความมั่นใจ ต้องเสียใจที่นำเงินของผู้ปกครองมาเสียหาย และสาปส่งการลงทุนในตลาดหุ้น
ทุกวันนี้ ตลาดหลักทรัพย์กำลังเดินหลงทาง โดยมุ่งมอมเมาพฤติกรรมการเก็งกำไรระยะสั้น ทั้งในตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์ มุ่งแต่การพัฒนาในเชิงปริมาณ ทั้งปริมาณสินค้าในตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์ ทั้งปริมาณนักลงทุน โดยคำนึงถึงการพัฒนาด้านคุณภาพน้อยมาก
การเติบโตของตลาดอนุพันธ์ จึงเหมือนการปั่นฟองสบู่ลูกใหญ่ๆที่รอวันแตกสลาย
เหตุการณ์ความปั่นป่วนในตลาดTFEX เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนนับพันคนต้องเจ็บหนัก เพราะถูกบังคับขายสัญญาซื้อขายดัชนีเซท 50 ล่วงหน้า เป็นสัญญาณเตือนภัยในหายนะของตลาด TFEX
ถ้าผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์ ผู้บริหาร TFEX ยังก้มหน้าก้มตา มอมเมา ปลุกเร้า กระตุ้นให้นักลงทุนแห่เข้ามาเก็งกำไรในตลาด TFEX ต่อไป ไม่ตระหนักถึงความเสียหายของนักลงทุน
หายนะใหญ่ในตลาด TFEX คงหนีไม่พ้น
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน