จากประชาชาติธุรกิจ
การปรับเปลี่ยนโมเดลการปลูกข้าวโพดใหม่ ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้รับแรงสนับสนุนจากภาคเอกชน มุ่งแก้ปัญหาคุณภาพของผลผลิตข้าวโพดในช่วงต้นฝน ที่จะออกมากระจุกตัวและมีคุณภาพต่ำกว่า 70% ของผลผลิตให้เหลือ 20% นำไปสู่การเพิ่มการปลูกข้าวโพดรุ่น 2 ซึ่งเป็นข้าวโพดฤดูหนาวจาก 25% เป็น 30% และเพิ่มสัดส่วนข้าวโพดหลังนาที่เคยปลูกได้ 5% เป็น 50% โดยจะเริ่มอย่างเป็นทางการได้ในปีการผลิต 2561/2562
ในอีกมุมหนึ่ง “ทรงศัก ส่งเสริมอุดมชัย” นายกสมาคมการค้าพืชไร่ เห็นว่าโมเดลนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะการที่เกษตรกรจะลดพื้นที่ปลูก 70% ให้เหลือ 20% และส่วนการเพิ่มพื้นที่ปลูกข้าวโพดหลังนาจาก 5% เป็น 50% นั้น จำเป็นต้องหาแหล่งน้ำเพิ่มหรือไม่ และการปลูกช่วงปลายฝนที่ต้องการเพิ่มเป็น 30% หมายถึงช่วงต้นฝนจะให้ปล่อยพื้นที่นี้ว่างเปล่า หรือจะให้เงินชดเชย ทั้งหมดนี้จึงเชื่อว่าเกษตรกรไม่ทำตามอย่างแน่นอน ประการสำคัญลักษณะพื้นที่ที่ใช้ปลูกมีความต่างกัน โดยลักษณะพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นไร่แบ่งพื้นที่เป็นตอน ส่วนพื้นที่ปลูกข้าวเป็นนา ลักษณะเป็นที่ต่ำที่มีน้ำท่วมขังระหว่างที่ข้าวเจริญเติบโต ส่วนข้าวโพดไม่ต้องการน้ำท่วมขัง เพราะจะทำให้ลำต้นเฉาตาย ดังนั้น หากจะเปลี่ยนพื้นที่ต้องแปรสภาพพื้นที่ ลักษณะลำต้นต่างกันต้องใช้เครื่องมือที่ต่างกัน ทั้งรถเกี่ยว เครื่องอบ ทั้งหมดนี้จะทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
การลดรุกป่าไม่คืบ
ขณะที่การลดพื้นที่รุกป่าซึ่งมีอยู่มากกว่า 50% ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมด หรือ 3.72 ล้านไร่นั้น จำเป็นต้องปรับลดลง แต่ “ไม่ควรใช้วิธีการหักดิบ” ควรทำความเข้าให้ถ่องแท้เสียก่อน เนื่องจากเกษตรกรมีภาระค่าใช้จ่ายหากปลูกไม่ได้ จะทำให้ขาดรายได้ไปเลย ส่วนพื้นที่ที่รัฐวิเคราะห์ว่าเป็นพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวโพดอีก 0.89 ล้านไร่ ไม่เหมาะสมอย่างไร และหากจะปรับเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรมอย่างอื่น เช่น ปลูกพืชอื่น เลี้ยงสัตว์ สามารถทำได้หรือไม่
งดซื้อข้าวโพดผิดกฎหมายทันที
สมาคมเห็นด้วยที่จะ “ยุติการซื้อข้าวโพดที่ผิดกฎหมายทันที” และให้ส่งออกไปต่างประเทศพร้อมกับข้าวโพดที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเป็นการยุติปัญหาการเผาป่า ทั้งยังควรส่งเสริมให้เกษตรกรที่ปลูกบนพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิถูกต้อง ควรได้รับราคาบวกเพิ่มอย่างเหมาะสม ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออกและผู้ผลิตอาหารสัตว์มีการซื้อราคาที่ต่างกัน อยู่แล้ว นอกจากนี้ ภาครัฐควรเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชแบบ GAP เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการปลูกต่อไร่ลดลง เกษตรกรจะได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ส่วนการ “คุมต้นทางไม่ให้จำหน่ายเมล็ดพันธุ์ ให้กับเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ” ทางผู้ผลิตอาหารสัตว์เกรงว่าจะนำไปสู่ปัญหาการระบาดของ “เมล็ดพันธุ์เถื่อน” นั้น ถือเป็นปัญหาที่มีการนำออกมาขายทุกปี เป็นการขายตรงให้กับเกษตรกรผู้ปลูก จากข้อมูลที่พบ มักเกิดขึ้นจากเกษตรกรผู้รับจ้างปลูกเมล็ดพันธุ์ให้บริษัท ลักลอบนำเข้าฝักข้าวโพดที่เป็นเมล็ดพันธุ์ออกมาขายให้เกษตรกรแปลงข้างเคียง หลังจากส่งฝักที่เป็นเมล็ดพันธุ์ได้ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้ และมีฝักที่เหลือจากการส่ง ขออย่าปรักปรำอย่างไม่มีหลักฐานว่าพ่อค้าพืชไร่เป็นพ่อค้าเมล็ดพันธุ์เถื่อน
ข้าวโพดเพื่อนบ้านล่องหน
ตามที่สมาคมอุตสาหกรรม อาหารสัตว์ไทยระบุว่า มีการลักลอบนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านปีละ 800,000-1,000,000 ตันนั้น ทางสมาคมการค้าพืชไร่ไม่เคยทราบตัวเลขดังกล่าวมาก่อนเลย มองว่าเป็นหน้าที่ในการตรวจสอบของกรมศุลกากร อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า หากมีการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านถึง 800,000-1,000,000 ตัน แต่ไทยมีการส่งออกไปต่างประเทศปีที่แล้วประมาณ 700,000 ตันเท่านั้น แล้วข้าวโพดเพื่อนบ้านอีก 200,000-300,000 ตัน ถูกนำส่งไปที่ใด ?
กลไกราคาตลาดข้าวโพด
แม้ถูก กล่าวหาว่าพ่อค้าซื้อข้าวโพดกดราคารับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร กก.ละ 1.50-2.00 บาท แต่ข้อเท็จจริงที่สมาคมพ่อค้าข้าวโพดยืนยันได้ว่า ราคาดังกล่าวเป็นราคาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ส่วนราคาปัจจุบันที่รับซื้ออยู่ที่ กก.ละ 4.00-4.25 บาท แต่พ่อค้าจำเป็นต้องไปขายต่อให้ผู้ส่งออก เพราะในแต่ละวันผู้ส่งออกซื้อข้าวโพด 200-300 พ่วงต่อวัน (1 พ่วง = 30 ตัน) แต่โรงงานอาหารสัตว์โรงใหญ่รับซื้อประมาณ 5-15 พ่วงต่อวัน
โดยปกติ ข้าวโพดต้นฤดูจะมีผลผลิต 3.2-3.5 ล้านตัน ซึ่งโรงงานอาหารสัตว์จะใช้ประมาณ 400,000 ตันต่อเดือน ที่เหลือจะค่อยทยอย ๆ ซื้อ และจะลดการซื้อเมื่อมีการนำเข้าข้าวสาลี และกากข้าวสาลี (DDGS) เพราะนำเข้ามาโดยเรือขนาดใหญ่ 50,000-66,000 ตัน ซึ่งในช่วงนั้นโรงงานอาหารสัตว์จะลดการใช้ข้าวโพด โดยการใช้รายวัน ที่เหลือให้ตกค้างอยู่บนรถบรรทุกหรือตีออก โดยให้เหตุผลว่าไม่ได้คุณภาพตามเบอร์ที่รับซื้อ ทำให้พ่อค้าต้องเก็บสินค้าไว้ในโกดัง มีต้นทุนค่าเก็บรักษา ค่าอบรมยา ค่าขาดน้ำหนัก ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ แต่ต้องค่อย ๆ ทยอยขายออกไปอีก 8 เดือน หรือถึงเดือนมีนาคมของปีถัดไปจึงจะหมด ดังนั้น ไม่ควรอ้างว่าไม่มีเงินถุงเงินถังเพราะถึงแม้ว่าจะซื้อข้าวโพดทั้งประเทศ 4.5 ล้านตัน ด้วยราคา กก.ละ 8 บาท คิดเป็นเงิน 36,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 3% ของมูลค่าอาหารสัตว์ อีกทั้งในการรับซื้อข้าวโพดเพื่อผลิตอาหารสัตว์ของผู้ใช้รายใหญ่เอาเปรียบ พ่อค้าและเกษตรกร โดยกำหนดเงื่อนไขในการรับซื้อว่าต้องเป็นข้าวโพดอาหารสัตว์เบอร์ 2 ซึ่งที่ถูกต้องเป็นอาหารสัตว์เบอร์ 3 ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ซื้อ-ขายกันทั่วโลก หากต้องการส่งออกเบอร์ 2 ต้องเพิ่มเงินให้ผู้ขาย เพื่อทำคุณภาพให้สูงขึ้นไปอีก ด้วยการกำจัดเมล็ดแตกหัก เมล็ดเสีย เชื้อรา กาก ฝุ่นซัง แต่กลับกำหนดซื้อเบอร์ 2 และไปเพิ่มราคาให้เบอร์ 1 ซึ่งไม่มีจริงในระบบซื้อขาย ส่วนนี้ภาครัฐต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับพ่อค้าและเกษตรกรผู้ปลูกด้วย
ทางแก้ปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ
การนำเข้าข้าวสาลีเพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบนั้น ทางสมาคมการค้าพืชไร่ห่วงใย เพราะหากมีการส่งเสริมให้เกษตรกรในประเทศปลูกข้าวโพดอย่างมีศักยภาพ จะได้ผลผลิตไร่ละ 1,200 กิโลกรัม หากปลูกบนพื้นที่ 7 ล้านไร่ จะได้ข้าวโพดรวม 8.4 ล้านตัน ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ในประเทศ รวมทั้งสามารถส่งออกส่วนที่เหลือและส่วนที่นำเข้าผ่านชายแดนไปขายต่างประเทศ ได้อีก แต่หากวัตถุดิบไม่พอใช้จริง ๆ ควรนำเข้าข้าวสาลีจากประเทศที่ไม่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี เช่น ยูเครน และขายข้าวสาลีเกรดอาหารสัตว์ในราคาที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของกระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) พยากรณ์ว่า ผลผลิตข้าวโพดสหรัฐปี 2017/2018 จะได้ 14.2 พันล้านบุชเชล (360 ล้านตัน) มีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ย 169.5 บุชเชลต่อเอเคอร์ (1,722 กก.ต่อไร่) สูงกว่าไทยที่ได้ไม่ถึง 1,200 กก.ต่อไร่ จึงต้องถามว่า มีส่วนราชการ องค์กรใด เข้าไปช่วยทำให้เรื่องนี้เป็นจริงได้ ทั้งที่เมล็ดพันธุ์ไม่แตกต่างกันมากนัก เพราะเป็นบริษัทผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์จากสหรัฐ เช่น คาร์กิลล์, ซินเจ็นต้า และไพโอเนีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สมาคมการค้าพืชไร่ได้เน้นย้ำว่าทุกภาคส่วนควรคิดหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช่เอาแนวคิดตัวเองไปยัดเยียดให้คนอื่นทำ เพื่อองค์กรของตัวเอง
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน