จากประชาชาติธุรกิจ
หลังจากเกิดกรณีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะที่สามออกมาเรียกร้องสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้ปรับเปลี่ยนสิทธิประโยชน์กรณีการรักษาโรคมะเร็งใหม่ เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะได้รับยาในสิทธิระยะแรก จนเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระทั่ง สปส.ออกมาแจงข้อเท็จจริงว่าทุกระยะได้รับการรักษาหมดตามดุลยพินิจของแพทย์ จนเกิดคำถามว่า ข้อเท็จจริงแล้ว สปส.ให้สิทธิรักษาโรคมะเร็งชนิดไหนบ้าง และมีกลุ่มโรคอะไรที่ไม่เข้าเกณฑ์การรับบริการจากสิทธิประกันสังคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th กรณีการรักษาโรคมะเร็ง ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 เรื่อง หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ประกาศ ณ วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ.2556 การรักษาโรคมะเร็ง 10 ชนิด ดังนี้ 1.โรคมะเร็งเต้านม 2.โรคมะเร็งปากมดลูก 3.โรคมะเร็งรังไข่ 4.โรคมะเร็งโพรงจมูก 5.โรคมะเร็งปอด 6.โรคมะเร็งหลอดอาหาร 7.โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย 8.โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี 9.โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และ 10.โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก
ทั้งนี้ กรณีการรักษาโรคมะเร็งชนิดอื่นนอกเหนือจากโรคมะเร็ง 10 ชนิด ตามที่กำหนดใน ข้อ 1.ที่ต้องให้เคมีบำบัดหรือรังสีรักษา และหรือยารักษาโรคมะเร็งให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลใน รพ.ตามสิทธิเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นไม่เกิน 50,000 บาทต่อรายต่อปี
ส่วนโรคและการบริการอื่นๆ ที่ไม่ใช่โรคมะเร็งมีอะไรบ้างที่ไม่สามารถใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม ประกอบด้วย 14 ข้อ ดังนี้
1.โรคหรือการประสบอันตรายอันเนื่องจากการใช้สารเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด
2.โรคเดียวกันที่ต้องใช้ระยะเวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประเภทคนไข้ใน 180 วัน ในหนึ่งปี ยกเว้น กรณีที่มีความจำเป็นตามดุลยพินิจของคณะกรรมการการแพทย์
3.การบำบัดทดแทนไตกรณีไตวายเรื้อรัง ยกเว้น กรณีไตวายเฉียบพลันที่มีระยะเวลารักษาไม่เกิน 60 วัน ให้มีสิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ และกรณีเจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ให้สิทธิได้รับบริการทางการแพทย์ โดยการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ด้วยวิธีล้างช่องท้องด้วย น้ำยาอย่างถาวร และด้วยวิธีปลูกถ่ายไต ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการปลูกถ่ายไต ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและอัตราที่กำหนดในประกาศสำนักงานประกันสังคม
4.การกระทำใดๆ เพื่อความสวยงามโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
5.การรักษาที่ยังอยู่ในระหว่างการค้นคว้าทดลอง
6.การรักษาภาวะมีบุตรยาก
7.การตรวจเนื้อเยื่อเพื่อการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ ยกเว้น การปลูกถ่ายไขกระดูก
8.การตรวจใดๆ ที่เกินความจำเป็นในการรักษาโรคนั้น
9.การผ่าตัดอวัยวะ ยกเว้น การปลูกถ่ายไขกระดูก ปลูกถ่ายไต การเปลี่ยนอวัยวะกระจกตาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
10.การเปลี่ยนเพศ
11.การผสมเทียม
12. การบริการระหว่างรักษาตัวแบบพักฟื้น
13.ทันตกรรม ยกเว้น ถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด และการใส่ฟันเทียมชนิดถอดได้ บางส่วน หรือทั้งปาก
14.แว่นตา
ที่มา : มติชนออนไลน์
สำนักงานบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน