สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ธรรมนูญครอบครัว คนละเรื่องเดียวกัน (2)

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ธรรมนูญครอบครัว คนละเรื่องเดียวกัน

นิพนธ์ กาญจนพิพัฒน์กุล


ไม่มีข้อความกำกับภาพอัตโนมัติ

2.มาตรการบรรเทาภาระภาษีสำหรับที่พักอาศัยที่ได้รับมรดก มีมาตรการลดภาษีให้ 50 % ถามว่าพอไหมสำหรับคนกินเงินเดือนที่ได้รับมรดกที่ไม่ได้เป็นเงินสด การลดภาษีที่ดินมรดกคงไม่จำเป็น ถ้าพิจารณาจากระยะเวลาการอยู่อาศัย บางคนอยู่กับบ้านพ่อแม่มาทั้งชีวิต อยู่ๆพ่อแม่ เสียแทนที่จะได้อาศัยต่อ เป็นอันว่าต้องขายเอาเงินมาจ่ายภาษี

3.มาตรการบรรเทาภาษีทีดินในกิจการที่ผลประกอบการขาดทุน ถามว่าจำเป็นไหม ใครๆก็ไม่อยากเสียภาษี ถ้าถามก็ต้องได้รับคำตอบว่าจำเป็นทั้งนั้น ลองดูขอเสนอข้อ 8 ,9 ดูซิครับถ้าคุณประกอบกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ แล้วกิจการคุณอยู่ในช่วงการพัฒนาแล้วคุณยังขายได้ไม่หมดโครงการ คุณขอไม่เสียภาษี แต่เวลาคุณกำไรคุณขอเอาภาษีมาหักเป็นค่าใช้จ่าย ต้องถามว่าความเป็นธรรมในการเสียภาษีอยู่ที่ไหน ถ้าเปิดช่องว่างนี้ไว้ ต่อไปคุณคงเห็นบริษัทขาดทุนเป็นแถว ที่นี้นอกจากเก็บภาษีที่ดินไม่ได้แล้วยังเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ได้อีกต่างหาก

4.นิยามสิ่งปลูกสร้างให้ชัดเจนเพื่อลดการใช้ดุลพินิจ /กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม กำหนดชัดเจนนะดีครับ แต่ควรจะฟังคนเยอะๆ เพราะนิยามสองประเด็นนี้จะเป็นช่องโหว่ในการหลบภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้างและการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ แต่สงสัยว่ากฎหมายฉบับนี้กำหนดบทลงโทษผู้เสียภาษีที่พยายามหลีกเลี่ยง ทำไมไม่กำหนดบทลงโทษของผู้มีหน้าที่ปฎิบัติแต่ใช้อำนาจหน้าที่ไปในการมิชอบให้มันชัดๆไปเลย ถ้าคิดว่ากฎหมายมีช่องให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจไปในทางมิชอบได้ การกำหนดบทลงโทษไปเลยก็เป็นการสมควรเพราะถือว่าเป็นการปรามแต่ต้น ทำไมต้องให้ไปฟ้องคดีตามกฎหมายอาญา หรือ พรบ ศาลปกครอง

5.เสนอควรเก็บภาษีที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยหรือใช้เพื่อการพาณิชย์ในอัตราเท่ากัน นี่ผมก็ไม่เข้าใจ ในการภาษีอากร ถ้าเราอาศัยในที่ที่เป็นสำนักงานด้วย เราจะต้องถือเป็นประโยชน์อื่นที่ได้จากบริษัท เพราะเราอาศัยน้ำไฟ ที่อยู่อาศัย ในกรณีที่ผู้ประกอบการใช้บ้านเป็นบริษัท ก็มีข้อพิจารณาของมัน ถ้าเป็นบริษัทให้อยู่ กิจการก็เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากยอดรวมเพราะคุณเป็นเจ้าของที่ดินและอาคาร เจ้าของกิจการเป็นผู้อาศัย แต่ถ้าเจ้าของกิจการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ให้บริษัทเช่าดำเนินการ เจ้าของก็มีเงินได้จากการให้เช่าก็เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามส่วนที่ให้เช่าตามสัญญา ส่วนอื่นก็เป็นที่อยู่อาศัยตามปกติ สามารถแยกได้ตามสัญญาอยู่แล้ว มันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนจนต้องมาเปลี่ยนอัตราภาษีเพื่อการอยู่อาศัยกับการพาณิชย์ให้เป็นอัตราเดียวกัน เพราะถ้าจะให้อัตราเดียวกัน ไม่มีใครที่จะคิดภาษีที่อยู่อาศัยเท่ากับเพื่อการพาณิชย์ นั้นเท่ากับอัตราภาษีของที่ดินเพื่อการพาณิชย์ลดลงจาก 2% เหลือ 0.5% นี้คือความพยายามจะใช้ข้ออ้างของ SME มาลดภาษีบริษัทใหญ่

6.ข้อ 9 10 น่าจะเป็นประเด็นที่เอกชนยื่นขอให้ปรับเนื่องจาก หลังจากที่มีการแถลง 2 วันก็มีการยื่นให้มีการทบทวนโดยสมาชิก สนช และสภาหอการค้าให้มีการยกเว้นภาษีโดยการใข้มูลค่ารวมของทรัพย์สินทั้งหมด ในเขตการปกครองท้องถิ่นเดียวกัน เช่น ทรัพย์สินที่ใช้ที่อยู่อาศัยมูลค่ารวมกันในเขตเทศบาลเดียวกันไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษีและรัฐบาลควรลดภาษีให้กับทรัพย์สินจากการรับมรดก ทรัพย์สินประเภทสถานพยาบาล สถานศึกษาเอกชน สวนสัตว์ หรือแหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรมในระหว่างการพัฒนา รวมถึงขอยกเว้นภาษีที่ดินสำหรับทรัพย์ส่วนกลางของคอนโดมิเนียม (แล้วจะมีขอยกเว้นสำหรับห้องในคอนโดที่ยังขายไม่ได้ด้วยไหมเนี่ย)

กรณีนี้เห็นได้ชัดว่ามีการยัดใส้อ้างรวมๆ จะให้ยกเว้นการดำเนินธุรกิจ สถานพยาบาล สถานศึกษาเอกชน สวนสัตว์ หรือแหล่งท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรมในระหว่างการพัฒนา พวกนี้เป็นงานบริการทุกวันนี้เราเห็นได้ชัดเจนว่ากิจการพวกนี้มีกำไรทั้งนั้น หลายกิจการในยามที่ธุรกิจนั้นๆ ซบเซารัฐต้องเข้าไปอุ้ม นี้เท่ากับว่าตอนเวลาดีๆไม่ยอมจ่าย เวลาร้ายจะให้อุ้ม ผมว่ามันเอาเปรียบกับธุรกิจอื่น โดยเฉพาะคนที่กินเงินเดือนมากไป เพราะธุรกิจคุณรุ่งเรืองได้ด้วยคน

แล้วทำไม ?

 ทำไมต้องขอลด ขอลด แล้วก็ขอลด แบบได้คืบเอาศอก แล้วคนที่พิจารณาก็ลดให้ บางทีคนพิจารณาพามาขอเสียเอง โดยเฉพาะการขอยกเว้นเสียภาษีเพื่อการพาณิชย์ หรือ เอาอัตราภาษีไปแอบกับอัตราการเสียภาษีของที่อยู่อาศัย

 เพจ Land Watch Thai ได้แฉสาเหตุของการยื้อกฎหมายนี้เพราะบรรดาส.น.ช.ทั้งหลาย มีที่ดินกันไม่น้อยเป็นระดับหมื่นล้าน เพจนี้ไปรวบรวมข้อมูลบัญชีทรัยพ์สินที่ยื่นไว้กับ ปปช ทั้ง 247 คน พบว่าทั้งหมดถือที่ดินรวมกันแล้ว 9,803,618,528 บาท คนที่ครอบครองที่ดินมากที่สุดมีมูลค่า 1,197,900,920 บาท เฉลี่ยมีที่ดินในครอบครองมูลค่า 42,075,616 บาทต่อคน

ด้วยเหตุนี้ สมาชิกสนช.บางคนจึงอาสาพาสภาหอการค้าเข้ามายื่นขอยกเว้นสารพัดกับทางประธาน สนช. โดยเหตุผลก็อ้างว่าเกษตรกรเดือดร้อนบ้าง ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เดือดร้อนบ้าง ก็ว่ากันไป

 ลองมาพิจารณาจากจำนวนที่ดินของเกษตรจำนวน 50 ล้านบาทที่ได้รับยกเว้นภาษีดู ที่ดินทำเกษตรต่างจังหวัด ราคาไม่ได้สูงมาก ไร่ละ 5 แสนบาทก็ถือว่าหรูแล้ว ที่่บอกไร่ละ 5 แสนเพราะผมเคยทำงบวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการลงทุนทางเกษตรทั่วไปเมื่อตอนเรียนเกษตรศาสตร์ พบว่า ที่ดินราคาเกินกว่า 5 แสนบาทไม่เหมาะกับการลงทุนยกเว้นเป็นที่มรดกตกทอด การทำเกษตรไม่ควรเกิน 10 ไร่ หากเกินกว่านั้นจะต้องมีการลงทุนในเครื่องมือที่เหมาะสมกว่าเดิมและถ้าทำมากกว่า 50 ไร่จะต้องลงทุนในอุปกรณ์การเกษตรที่หนักกว่าเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลตอบแทนของพืชผลทางการเกษตรด้วย ถ้ารัฐให้ยกเว้น สำหรับที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาท ไร่ละ 5 แสนบาท คิดเป็นที่ดิน 100 ไร่ คำถามคือเกษตรกรที่ทำเกษตรระดับ 100 ไร่ต้องลงทุนเท่าไหร่ เกษตรกรมีปัญญาลงทุนไหม

 จากข้อมูลงานวิจัยเคยมีการอ้างอิงว่าเกษตรกรไทยที่ทำเกษตรอยู่จริงๆมีที่ดินทำกินของตัวเองครอบครัวละไม่เกิน 5 ไร่ เกษตรกรจึงไม่จำเป็นต้องห่วง อย่างไรเสียเกษตรกรที่ทำเกษตรอยู่ตอนนี้ทุกคนไม่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซักบาทอยู่แล้ว

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่เห็นต้องเป็นห่วง เอางบโฆษณามาแค่ 10 % มาเสียภาษีก็เหลือๆแล้ว

 แล้วจะมา ขอลด ขอยกเว้น ไปเพื่อ?

 อย่าให้เป็นแบบ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ว่าไว้เมื่อพูดถึงฉบับนี้ ว่า "กฎหมายฉบับเดียว เสียวไปทั้งเมือง" ก็แล้วกัน

ตอนนี้ขอเก็บ List รายชื่อ สมาชิกสนช. ชุดนี้ไว้ และรอดูว่า

1มีใครไปเป็นประธานกรรมการบริษัท หรือกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นของกิจการอสังหาริมทรัพย์หรือไม่

2มีญาติใครไปเป็นประธานกรรมการบริษัท หรือกรรมการ หรือผู้ถือหุ้นของกิจการอสังหาริมทรัพย์หรือไม่

3มีใครไปเป็นกรรมการอิสระในบริษัทอสังหาริมทรัพย์หรือไม่

4มีใครเข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์หรือไม่

5บริษัท ที่มี สนช.ที่เป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ มีกำไร เสียภาษีอย่างไร

 

ต่อไปจะเป็นเรื่องของ ภาษีทีดินกับธรรมนูญครอบครัว คนละเรื่องเดียวกัน แต่จับมาพ่วงกันได้เหมือนขายเหล้าพ่วงเบียร์


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน



Tags : ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ธรรมนูญครอบครัว คนละเรื่องเดียวกัน

view