จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
องคมนตรีแนะ ศธ.ไม่ใช่แค่เคารพธงชาติหน้าเสาธงแล้วจะเกิดคุณธรรม ยกพระบรมราโชวาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ย้ำครูต้องสอนความรู้และอบรมคุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบหน้าที่เป็นพลเมืองที่ดีให้นักเรียน จะช่วยสร้างรากแก้วที่มั่นคงให้ผู้เรียนและประเทศ และต้องสอนให้เด็กมีน้ำใจ ไม่แข่งขันกันเอง เด็กเก่งต้องช่วยเหลือเด็กอ่อน ผลการเรียนภาพรวมจะดีขึ้น
วันนี้ (13 ต.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมราชปนัดดาสิรินธร อาคารศรีสวรินทิรา รพ.ศิริราช ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ปาฐกถา "พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต่อการศึกษาไทย" มีใจความโดยสรุป ว่า การปฏิรูปการศึกษาไทยเริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการส่งคนไทยไปเรียนต่างประเทศจำนวนมาก เพื่อนำความรู้ต่างๆ กลับมาพัฒนาประเทศ จนมีการตั้งกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงธรรมการ เป็นต้น รวมถึงมีการตั้งโรงเรียนต่างๆ และโรงเรียนวัด โดยเน้นในเรื่องของการเรียนและคุณธรรม นอกจากนี้ พระองค์ยังมีพระราชหัตถเลขาระบุถึงการตั้งทุนเล่าเรียนหลวง เพื่อให้คนชนบทมีโอกาสได้ไปเรียนในต่างประเทศ เพื่อที่จะเป็นคนไทยที่มีความรู้เสมือนฝรั่ง
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการศึกษาหลายครั้ง โดยทรงเน้นย้ำในเรื่องของคุณธรรม ความดี หน้าที่ และพลเมือง ยกตัวอย่าง พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตและนักศึกษาวิทยาลัยวิชาการศึกษา วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2503 ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับหน้าที่ของครู โดยต้องทำหน้าที่ทั้งการสอนและการอบรมให้แก่เด็กด้วย ซึ่งการสอนคือการให้ความรู้แก่ผู้เรียน ส่วนการอบรมเป็นการฝึกจิตใจของผู้เรียนให้ซึมซาบติดเป็นนิสัย โดยต้องอบรมทั้งด้านศีลธรรม จรรยา และวัฒนธรรม รวมทั้งให้มีความสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่และในฐานะที่จะเป็นพลเมืองของชาติต่อไปข้างหน้า
"การให้เด็กมีคุณธรรมไม่ใช่แค่กระทรวงศึกษาธิการให้เด็กยืนเคารพธงชาติหน้าเสาธงแล้วจะเกิดคุณธรรม แต่ครูต้องฝึกอบรมนักเรียนด้วย ซึ่งการสอนเปรียบเหมือนการทำให้ผู้เรียนชูดอกออกผลสวยงาม คือมีทักษะชีวิต ทักษะงาน ความรู้พื้นฐาน ความรู้เฉพาะทาง แต่การอบรมนักเรียนทั้งเรื่องคุณธรรม จริยธรรม มีวัฒนธรรมมารยาทไทย รับผิดชอบในหน้าที่ และเป็นพลเมืองที่ดี จะเปรียบเสมือนสร้างรากแก้วที่มั่นคงให้นักเรียนและประเทศ ก็จะทำให้เป็นทั้งโรงเรียนคุณภาพคือมีการจัดการเรียนความรู้และหัดทำการงาน และเป็นโรงเรียนคุณธรรม ในการสอนการทำความดี" ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า ขณะที่เมื่อปี 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาว่า "ให้ครูรักเด็กและเด็กรักครู ให้ครูสอนเด็กมีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งกับตัวเอง ให้เด็กที่เรียนเก่งกว่าช่วยสอนเพื่อนที่เรียนช้ากว่า และให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี" ซึ่งปัจจุบันการศึกษาจะเน้นให้เด็กแข่งกันเรียนเป็นที่หนึ่ง จนต้องมีการไปกวดวิชาต่างๆ และครูก็สนใจแต่เด็กที่เรียนเก่ง ทำให้คนที่เรียนไม่เก่งไม่ได้รับการดูแล ซึ่งการสอนให้เด็กมีน้ำใจต่อเพื่อน ก็จะช่วยให้เด็กที่เก่งอยู่แล้วเก่งยิ่งขึ้น เด็กที่เรียนปานกลางก็เก่งขึ้นได้ และเด็กที่เรียนอ่อนก็อาจเรียนขึ้นมาระดับปานกลางหรือเก่งขึ้นได้เช่นกัน เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งช่วง 5 ปีผ่านมามีการนำเอาแนวทางนี้มาปรับใช้ในการเรียน ก็พบว่าทำให้เด็กเรียนดีขึ้น คะแนนโอเน็ตดีขึ้น
ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม กล่าวว่า ขณะที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระบรมราโชบายเกี่ยวกับการศึกษา โดยพระองค์ทรงเน้นย้ำในเรื่องการสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน เช่น 1.การมีทัศนคติที่ถูกต้อง คือมีความรู้ความเข้าใจต่อชาติบ้านเมือง ยึดมั่นในศาสนา มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ มีความเอื้ออาทรต่อครอบครัวและชุมชนของตน 2.การมีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม คือรู้จักแยกแยะสิ่งผิดชอบชั่วดี ปฏิบัติสิ่งที่ชอบหรือดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิดที่ชั่ว ช่วยกันสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง ซึ่งพระองค์มีพระบรมราโชวาทว่า การสร้างคนดีเป็นเรื่องที่ยากและยาว แต่ก็ต้องทำ ขอให้ถือเป็นหน้าที่
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน