จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
13 ตุลาคม พ.ศ.2559 คือวันแห่งความโศกเศร้าที่ชาวไทยทั้งประเทศยังคงจดจำไม่ลืม เพราะเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ พระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย
จวบจนวันนี้เป็นเวลา 1 ปีแห่งการเสด็จสวรรคต แม้ความเศร้าโศกยังไม่จางหาย แต่การตระเตรียมงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่จะกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ก็ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “พระเมรุมาศ” อันเป็นสถานที่สำคัญในการจัดงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในครั้งนี้ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างปราณีต โดยเป็นการรวมเอางานศิลปกรรมแขนงต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นงานจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม ภูมิสถาปัตยกรรม ฯลฯ บรรดาช่างที่มีส่วนร่วมต่างใส่หัวจิตหัวใจลงไปในงาน จนทำให้พระเมรุมาศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช งดงามอลังการเป็นอย่างยิ่ง
พระเมรุมาศในครั้งนี้จึงเป็นมากกว่าสถานที่ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ แต่เป็นดังการจารึกประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโบราณราชประเพณี รวมไปถึงการรวบรวมสุดยอดงานประณีตศิลป์อันล้ำค่าของชาวไทย
คติความเชื่อเกี่ยวกับ “พระเมรุมาศ”
เนื่องจากเรามีความเชื่อตามคติพราหมณ์ว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็น “สมมติเทพ” โดยทรงเป็นเทพจุติลงมาเพื่อเป็นตัวแทนสวรรค์มาปกครองมนุษย์ เพื่อประกอบคุณงามความดีและเพื่อสะสมบารมี เมื่อกษัตริย์สวรรคตก็จะเสด็จกลับยังสรวงสวรรค์
และสถานที่ประทับของเหล่าเทพเทวดาก็คือยอดเขาพระสุเมรุ ซึ่งถือเป็นแกนกลางของจักรวาลตามคติไตรภูมิ บนเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีไพชยนต์ปราสาทอยู่กลางเมือง เขาพระสุเมรุล้อมรอบด้วยทะเล 7 ชั้น เรียกว่าทะเลสีทันดร สลับด้วยภูเขา 7 ลูก เรียกว่าสัตตบริภัณฑ์ ส่วนเชิงเขาพระสุเมรุนั้นเป็นที่ตั้งของป่าหิมพานต์และสระอโนดาต ถัดออกมาเป็นทวีปทั้ง 4 และมหาสมุทรทั้ง 4 ซึ่งมนุษย์เราอาศัยอยู่ในชมพูทวีปนั่นเอง
คติความเชื่อเรื่องโลกและจักรวาลนี้เป็นที่มาของการสร้างพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์ไทยสืบต่อมา โดยพระเมรุมาศเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุอันเป็นศูนย์กลางของจักรวาลและมีอาคารรายล้อมเสมือนสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมจักรวาล
จึงเป็นเหตุผลที่ต้องทำพระเมรุมาศให้งดงามอลังการ เพราะเป็นคติความเชื่อและเป็นวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ของชาติไทยเรามายาวนาน นอกจากนั้นยังถือเป็นการรักษางานช่าง สืบทอดกระบวนการงานประณีตศิลป์ของช่างไทยเอาไว้อีกด้วย
พระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ตลอดระยะเวลา 1 ปี ที่เหล่าช่างแขนงต่างๆ ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างพระเมรุมาศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บัดนี้การก่อสร้างดำเนินไปอย่างรวดเร็วใกล้แล้วเสร็จสมบูรณ์ พระเมรุมาศประกอบด้วยอาคารทรงบุษบกจำนวน 9 องค์ ตั้งอยู่บนฐานชาลารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 3 ชั้น มีบันไดทางขึ้นทั้ง 4 ทิศ ทิศตะวันตกหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ทิศตะวันออกติดตั้งลิฟต์ และทิศเหนือติดตั้งสะพานเกรินสำหรับเชิญพระบรมโกศจากราชรถปืนใหญ่ขึ้นบนพระเมรุมาศ โดยโครงสร้างพระเมรุมาศ ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
ลานอุตราวรรต หรือ พื้นรอบฐานพระเมรุมาศ มีสระอโนดาตทั้งสี่ทิศและเขามอจำลอง ภายในสระประดับด้วยประติมากรรมสัตว์หิมพานต์ ได้แก่ ช้าง โค สิงห์ ม้า และสัตว์หิมพานต์ตระกูลต่างๆ
ฐานชาลาชั้นที่ 1 เป็นชั้นล่างสุด มีฐานสิงห์เป็นรั้วราชวัตร ฉัตร แสดงอาณาเขตพระเมรุมาศ และมีเทวดานั่งคุกเข่าถือบังแทรก ส่วนที่มุมทั้งสี่ของฐานมีประติมากรรมท้าวจตุโลกบาลประทับยืนหันหน้าเข้าสู่บุษบกองค์ประธาน
ฐานชาลาชั้นที่ 2 มีหอเปลื้องทรงบุษบกรูปแบบเดียวกันตั้งอยู่ที่มุมทั้งสี่ ใช้สำหรับจัดเก็บพระโกศทองใหญ่และพระโกศไม้จันทน์ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับงานพระราชพิธี
ฐานชาลาชั้นที่ 3 ฐานบุษบกประธานประดับประติมากรรมเทพชุมนุม จำนวน 132 องค์โดยรอบ รองรับด้วยฐานสิงห์ซึ่งประดับประติมากรรมครุฑยุดนาคโดยรอบอีกชั้นหนึ่ง มุมทั้งสี่ของฐานชั้นที่ 3 นี้ เป็นที่ตั้งของซ่างทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 5 ชั้น ใช้สำหรับพระพิธีธรรม 4 สำรับ นั่งสวดอภิธรรมสลับกันไปตลอดนับตั้งแต่พระบรมศพประดิษฐานบนพระจิตกาธานจนกระทั่งถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จ
ส่วนที่สำคัญที่สุดอยู่บริเวณจุดกึ่งกลางชั้นบนสุด คือบุษบกองค์ประธานซึ่งเป็นอาคารทรงบุษบกยอดมณฑปชั้นเชิงกลอน 7 ชั้น ภายในมีพระจิตกาธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศ ผนังโดยรอบเปิดโล่ง ติดตั้งพระวิสูตร (ม่าน) และฉากบังเพลิง ยอดบนสุดประดิษฐานนพปฎลมหาเศวตฉัตร (ฉัตรขาว 9 ชั้น)
นอกจากนั้น โดยรอบยังมีอาคารประกอบพระเมรุมาศ ประกอบด้วย พระที่นั่งทรงธรรม เป็นพระที่นั่งสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ประทับทรงธรรมในพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และเป็นที่สำหรับคณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ศาลาลูกขุน เป็นที่สำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพระราชพิธี
ทับเกษตร เป็นที่พักสำหรับข้าราชการที่มาเฝ้าฯ รับเสด็จและร่วมพระราชพิธี ทิม เป็นที่พักของพระสงฆ์ แพทย์หลวง เจ้าพนักงาน และเป็นที่ประโคมปี่พาทย์ ราชวัตร เป็นแนวรั้วกำหนดขอบเขตปริมณฑลของพระเมรุมาศทั้งสี่ด้าน และพลับพลายก เป็นโถงสำหรับพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ทรงรอรับส่งพระบรมศพขึ้นราชรถ
งดงามทุกรายละเอียด
นอกจากเหล่าอาคารหลักเหล่านี้แล้ว ที่น่าสนใจก็คือรายละเอียดต่างๆ ที่เป็นงานประณีตศิลป์ที่นำมาประกอบในพระเมรุมาศ ไม่ว่าจะเป็นราวบันไดนาคประดับพระเมรุมาศที่จัดทำขึ้นอย่างวิจิตร งานประติมากรรมประดับพระเมรุมาศ รูปหล่อเทวรูป เทวดา สัตว์หิมพานต์ต่างๆ ที่ดูราวกับมีชีวิต รวมไปถึงรูปปั้นของสุนัขคู่ใจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือคุณทองแดงและคุณโจโฉ อีกทั้งยังมีภาพจิตรกรรมบนฉากบังเพลิงที่ตอนบนเขียนเป็นภาพพระนารายณ์อวตาร 8 ปาง ส่วนตอนล่างเขียนเป็นภาพโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์แต่ละแห่ง
ที่พิเศษยิ่งขึ้นคือการจำลองแปลงนาข้าวรูปเลข ๙ ขึ้นไว้ด้านหน้าพระเมรุมาศ เพื่อสื่อความหมายถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ผ่านแปลงนาสาธิตในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน สถานที่ทดลองโครงการส่วนพระองค์ที่เกี่ยวกับการเกษตรและเป็นศูนย์วิจัยพัฒนาแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ตามแนวพระราชดำริในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อคิดค้นแนวทางแก้ปัญหาด้านการเกษตรให้แก่ประชาชน
บริเวณสวนด้านหน้าพระเมรุมาศได้ออกแบบคันนาสำหรับปลูกข้าวเป็นรูปเลข ๙ รวมถึงปลูกพืชชนิดอื่นๆ อาทิ หญ้าแฝก ยางนา มะม่วงมหาชนก อีกทั้งยังมีการติดตั้งกังหันชัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ที่ใช้ปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยวิธีการเติมอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นผลงานที่เกิดจากพระราชดำริของพระองค์ที่ทรงมุ่งหวังจะช่วยเหลือให้เกษตรกรอันเป็นพสกนิกรชาวไทยได้อยู่ดีกินดี มีชีวิตที่ดีขึ้นนั่นเอง
บัดนี้การก่อสร้างพระเมรุมาศใกล้จะสำเร็จอย่างสมบูรณ์ เตรียมพร้อมสำหรับพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในวันที่ 26 ตุลาคมนี้แล้ว ด้วยฝีมือของช่างทุกๆ คนที่ได้ร่วมแรงและร่วมมือกันอย่างสุดหัวใจ สร้างสรรค์พระเมรุมาศอันเป็นที่ประทับครั้งสุดท้ายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้ออกมาวิจิตรงดงามสมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่และทรงสถิตย์อยู่ในจิตใจของคนไทยทุกคน
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน