จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
คสรท.จี้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบประกันสังคมที่ค้างอีก 5.6 หมื่นล้านบาท ปรับแก้กฎหมายให้ รบ.จ่ายสมทบ 5% ชี้ปฏิรูปกองทุนต้องร่วมสมทบเท่ากันทุกฝ่าย สปส.แจง รบ.ชุดปัจจุบันจ่ายสมทบ พร้อมใช้หนี้แล้วบางส่วน อ้างรัฐช่วยกรณีว่างงานแล้ว ไม่ต้องจ่ายสมทบเพิ่มกรณีนี้
จากกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมขยายเพดานฐานเงินเดือนในการเก็บเงินสมทบจากฐาน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท ทำให้ต้องจ่ายเงินสมทบสูงสุดที่ 1,000 บาท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่าจะยังไม่มีการเก็บเพิ่ม
นายสมพร ขวัญเนตร รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะบอกว่า ยังไม่มีการเก็บเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม เนื่องจากกระแสสังคมยังไม่เห็นด้วย แต่การปรับแก้กฎหมายก็ยังดำเนินการอยู่ ก็ต้องจับตาดูว่า สปส.จะรอจังหวะในการเสนอกฎหมายเมื่อใด ทั้งนี้ การขยายอายุกองทุนประกันสังคม โดยวิธีหนึ่งคือการปรับเพิ่มเงินสมทบไม่ใช่ทางออก และยังเป็นการผลักภาระให้ผู้ประกันตนและนายจ้างด้วย ทั้งที่โครงสร้างทางการเงินนั้นมีปัญหามาจากการแก้กฎหมายให้รัฐบาลจ่ายเงินสมทบน้อยลงจาก 5% เป็น 2.75% และรัฐบาลยังค้างจ่ายอยู่อีกกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้น การจะปฏิรูปกองทุนประกันสังคม เพื่อความเป็นธรรม ก่อนอื่นต้องปรับให้นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาลจ่ายเงินสมทบเท่ากันก่อน และรัฐบาลต้องจ่ายเงินในส่วนที่ยังค้างอยู่ จากนั้นค่อยมาพิจารณาว่า กองทุนจะอยู่ได้นานอีกกี่ปี แล้วจะมาปรับเพิ่มก็ย่อมได้
"รัฐบาลต้องจ่ายเงินส่วนที่ค้างกองทุนก่อน และช่วยสมทบ 5% เท่าเทียมกัน และหากเงินกองทุนบำนาญชราภาพไม่เพียงพอ ทาง คสรท.ก็ยินดีที่จะเป็นตัวกลางในการทำความเข้าใจกับลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ว่าจะต้องมีการปรับเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่บอกว่าปรับเพิ่มเงินสมทบแล้วได้สิทธิประโยชน์เพิ่มก็ไม่ชัดเจน เพราะไม่แน่ชัดว่าจะแบ่งอย่างไร และแม้ว่าจะปรับฐานเงินเดือนเป็น 20,000 บาท ก็ใช่ว่าจะทำอะไรได้มากในการที่จะได้เงินออมบำนาญเพิ่มขึ้่น จึงมองว่าต้องมีการปรับวิธีคำนวณเงินออมใหม่เพื่อให้ผู้ประกันตนได้เงินบำนาญชราภาพเพิ่มขึ้นในวัยเกษียณ เพื่อให้พวกเราสามารถอยู่ได้ในยามชรา" นายสมพร กล่าว
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลค้างจ่ายกองทุนประกันสังคมกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของรัฐบาลครบถ้วนและยังได้จ่ายเพื่อชำระหนี้ เงินสมทบเดิมของรัฐบาลชุดก่อนๆ อีกด้วย เช่น ในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จำนวน 3.3 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานประกันสังคมรวมทั้งสิ้น จำนวน 4.2 หมื่นล้านบาท หรือในปีงบประมาณ 2560 รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จำนวน 3.9 หมื่นล้านบาท แต่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณให้สำนักงานประกันสังคมรวมทั้งสิ้น จำนวน 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงขอยืนยันว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจ่ายเงินสมทบในส่วนของรัฐบาลครบถ้วนและจ่ายมากกว่ารัฐบาลทุกชุดที่ผ่านมา
ส่วนกรณีรัฐบาลจ่ายสมทบเพียง 2.75% นพ.สุรเดช กล่าวว่า การจัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม 4 กรณีแรก คือ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิตนั้น นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล จ่ายฝ่ายละ 1.5% เท่ากัน ส่วนกรณีว่างงาน กรณีสงเคราะห์บุตร และชราภาพ รัฐบาลจ่ายเงินสมทบน้อยกว่านายจ้าง และลูกจ้าง เนื่องจากรัฐบาลมีการสนับสนุนเรื่องการจัดหางาน และส่งเสริมการฝึกอาชีพให้แก่ผู้ว่างงานอยู่แล้ว รัฐบาลจึงจ่ายเงินสมทบกรณีว่างงาน 0.25% สำหรับกรณีชราภาพซึ่งเป็นการออมภาคบังคับ รัฐบาลส่วนใหญ่ทั่วโลกไม่ต้องร่วมจ่ายในส่วนนี้ แต่ในประเทศไทยกฎหมายให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบ 1% เพื่อให้รัฐบาลมีส่วนร่วมในการออมเงินกับผู้ประกันตน จึงทำให้รัฐบาลร่วมจ่ายเงินสมทบน้อยกว่านายจ้าง และลูกจ้าง
นายวิวัฒน์ จิระพันธุ์วานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการเตรียมขยายเพดานเงินเดือนในการเก็บเงินสมทบประกันสังคม ว่า ก.แรงงานเคยปรับค่าแรงขั้นต่ำ แต่ไม่เคยปรับฐานเงินเดือนเพดานขั้นสูงสุดที่ใช้ในการคิดอัตราเงินสมทบเลย ขณะที่ ก.แรงงานได้เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตนมาโดยตลอด ดังนั้น ในการพิจารณาปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ จึงได้มีแนวคิดที่จะปรับฐานค่าจ้าง เพื่อนำมาคิดอัตราเงินสมทบ ให้สอดคล้องกับสิทธิประโยชน์ที่จะปรับเพิ่ม โดยปรับเพดานจากเดิม 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท แต่ยังคงคิดเงินสมทบในอัตราเดิมคือ ร้อยละ 5 เป็นการเพิ่มเงินสมทบทุก 50 บาท จากฐานเงินเดือนขั้นละ 1,000 บาท ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ประกันตน โดยได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นอีก เดือนละ 2,500 บาท
"ยกตัวอย่างกรณีผู้ประกันตนที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่ได้ทำผิดกฎหมาย จะได้รับเงินทดแทน 6 เดือน จากเดิมที่ได้รับเดือนละ 7,500 บาท ก็จะได้รับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 10,000 บาท หรือในกรณีทุพพลภาพ ที่ได้รับเงินชดเชยไปตลอดชีวิต จากเดิมเดือนละ 7,500 บาท อัตราใหม่เพิ่มเป็น 10,000 บาท หรือในกรณีที่เสียชีวิต นอกจากจะได้รับค่าทำศพ เป็นเงินจำนวน 40,000 บาทแล้ว ทายาทโดยชอบก็ยังได้รับเงินสงเคราะห์เพิ่ม จากเดิมที่ได้รับเดือนละ 7,500 บาท เป็นเดือนละ 10,000 บาท อีกด้วย และในกรณีที่เจ็บป่วยโดยแพทย์มีความเห็นให้หยุดงานและมีใบรับรองแพทย์ จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ จากเดิมเดือนละ 7,500 บาท ก็จะได้รับเพิ่มเป็นเดือนละ 10,000 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าการปรับเพดานเงินเดือนเพื่อใช้ในการคิดอัตราเงินสมทบ เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับกลับคืน มีมากกว่าถึงร้อยละ 33.33" นายวิวัฒน์ กล่าว
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน