จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ชั้น 5ประชาชาติ
โดย ขุนพินิจ
หลายฝ่ายใจชื้นพองโต เมื่อเห็นตัวเลขการส่งออกของไทยอยู่ในเทรนด์ขาขึ้น โดยการส่งออกรวม 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2560) มีมูลค่า 175,435.2 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 9.3% เป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี และการนำเข้ามีมูลค่า 163,203.7 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 14.75% โดยเกินดุลการค้ามูลค่า 12,231.4 ล้านเหรียญ
กระทรวงพาณิชย์มั่นใจอย่างยิ่งว่า เป้าส่งออกโดยรวมทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ถึง 8% ขึ้นไป หรือสูงกว่าเป้าหมายวางไว้ที่ 7% แน่นอน
ตอกย้ำล่าสุดในเดือนกันยายน 2560 การส่งออกมีมูลค่า 21,812.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือขยายตัว 12.22% ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของกลุ่มสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร 7.9% เช่น ยางพารา น้ำตาลทราย ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป
สำหรับสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 52.4% จากการส่งออกไปจีน สหรัฐ และญี่ปุ่น ส่วนตัวเลขในช่วง 9 เดือนแรก การส่งออกยางพาราด้านปริมาณเพิ่ม 6.9% ราคาเพิ่ม 22.4%
นั่นคือข้อมูลของทางการที่ช่วยเรียกความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยฟื้น หรือได้เลยจุดต่ำสุดท้องช้างมาแล้ว
แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า การส่งออกยาง และผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้น ช่างสวนทางกันโดยสิ้นเชิงกับสถานการณ์ราคายางพาราในประเทศ ที่ในช่วง 1-2 เดือนนี้ (กันยายน-ตุลาคม 2560) ดิ่งเหวอีกรอบ หลังยืนแตะระดับ 50-60 บาท/กก.ได้เพียง 2 เดือนก่อนหน้านี้
โดยวันที่ 24 ต.ค. 60 ยางแผ่นดิบ (ราคาท้องถิ่น) หล่นมาอยู่ที่ 43.80 บาท/กก. น้ำยางสด ณ โรงงานอยู่ที่ 42 บาท/กก. ราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพาราหาดใหญ่ ยางแผ่นดิบ 45.15 บาท/กก.
ส่วนยางแผ่นรมควันชั้น 3 ยึดราคาเดิมของวันที่ 18 ต.ค. 60 อยู่ที่ 53.20 บาท/กก. ราคายางทุกชนิดร่วงระนาวยกแผง เกษตรกรจุกอก โอดโอยจนอ่อนแรง ก็ไม่มีผู้บริหารประเทศท่านใดได้ยินเสียแล้ว
สุดท้าย คนที่ได้รับประโยชน์เยอะจากการส่งออกยางที่โตขึ้น ก็ไม่พ้นขาใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม
ท่ามกลางวิกฤตราคายางตกต่ำ สิ่งที่ชาวสวนยางเรียกร้องผลักดันให้ภาครัฐนำยางพารามาใช้ประโยชน์ในประเทศให้มากขึ้น ก็เป็นเพียงกระแส
ผู้กุมอำนาจและเงินงบประมาณบางแห่งลงมือทำ แต่ก็ไม่ต่อเนื่องไม่ตรงจุด พอราคายางขยับขึ้นมาหน่อย ทุกอย่างก็เงียบงันเข้าสู่วังวนเดิม
ชาวสวน คนกรีดยางต่างก้มหน้ารับชะตากรรม เผชิญกับความผันผวน ราคายางขึ้นลงแรงยิ่งกว่าตลาดหุ้น คนไหนอยู่ได้ก็อยู่ไป ความหวัง ความมั่นคงในชีวิตไม่มี ทั้ง ๆ ที่มีต้นยางพาราเต็มประเทศ
กลับมาดูเรื่อง “ข้าว” กันบ้าง ในช่วง 9 เดือนแรก ไทยส่งออกข้าวได้แล้ว 8.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 19.9% และมีมูลค่า 3,578 ล้านเหรียญ หรือเพิ่มขึ้น 865.4% เห็นแล้วก็น่าปลื้มใจจริง ๆ
แต่สถานการณ์ตอนนี้ น้ำกำลังท่วมใหญ่ พื้นที่นาข้าวในภาคอีสาน ภาคเหนือตอนล่าง และลุ่มเจ้าพระยา ซึ่งมีทั้งน้ำฝนจากฟ้า น้ำท่วมขัง ท่วมหลากจากการระบายน้ำจากเขื่อน
ตอนนี้ยังไม่มีใครทราบข้อมูลชัดเจนว่า นาข้าวเสียหายจริงเท่าไหร่ โดยเฉพาะแหล่งปลูกข้าวหอมมะลิส่งออกในภาคอีสาน ขณะนี้ข้าวกำลังตั้งท้องออกรวง มาเจอน้ำท่วมก็มีแต่จะทำให้เมล็ดลีบฝ่อและตายได้
ผลผลิตที่จะเริ่มเก็บเกี่ยวปลายปีนี้ลดลงแน่นอน คุณภาพจะไม่เต็มร้อย ส่วนแนวโน้มราคาข้าวหอมมะลิตอนนี้ก็พุ่งสูงขึ้นแตะ 14,000-15,000 บาท/เกวียน
แต่ทุกครั้งที่พืชผลเกษตรราคาดี ชาวบ้านก็มักจะไม่มีของขาย เพราะเจอน้ำท่วมแบบนี้ก็สิ้นแรง ผลพวงที่จะตามมาก็คือ กำลังซื้อในกลุ่มคนฐานรากที่ฟุบแล้วฟุบอีก แต่ชีวิตก็ต้องฝ่าไปให้ได้อีกปี
เจ้าของตลาดนัดใน จ.มหาสารคามบอกว่า หลังเทศกาลออกพรรษา ไตรมาสสุดท้ายของทุกปี จะเป็นช่วงที่ยอดขายพุ่งขึ้น เพราะเกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร
แต่ปีนี้เจอปัญหาน้ำท่วมใน 4 อำเภอ ทำให้นาข้าวเสียหายไม่จะต่ำกว่า 3 แสนไร่ หากคิดเป็นเม็ดเงินก็หลายร้อยล้านบาท น่าเสียดายที่เม็ดเงินเหล่านี้แทนที่จะอยู่ในมือเกษตรกรกลับมลายหายไปกับสายน้ำ เมื่อชาวบ้านมีกำลังซื้อต่ำก็ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกแน่นอน โดยเฉพาะตลาดนัดทั้งในตัวเมืองและต่างอำเภอ ตอนนี้ยอดขายลดลงกว่า 20%
ที่น่าเสียดาย คือ เม็ดเงินจากบัตรคนจน (บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ) น่าจะอนุโลมให้ซื้อสินค้าในท้องถิ่น พวกหมู เป็ด ไก่ ผัก ปลา ตามตลาดได้บ้าง ก็จะมีเงินสะพัดทดแทนกำลังซื้อที่หดหายไปจากภัยน้ำท่วม
นี่คือความจริงของสังคมไทย ที่คนส่วนใหญ่ของประเทศยังทำมาหากินได้ด้วยความยากลำบาก ความมั่งคั่งยังกระจุก เงินทองหายากจริง ๆ
สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน