สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

นักลงทุนเอเชีย แห่ลงทุนในเอเชีย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ เลียบรั้วเลาะโลก

โดย เฮโรลด์ แวน เดอ ลินเด ธนาคารเอชเอสบีซี

เมื่อ 20 ปีที่แล้ว การลงทุนในเอเชียส่วนใหญ่มาจากทางฝั่งอเมริกาและยุโรป แต่ทุกวันนี้หุ้นเอเชียกลับมีการซื้อขายและถือครองในหมู่นักลงทุนเอเชียมากขึ้น

การออมของประเทศในเอเชียที่ค่อย ๆ รับอิทธิพลจากกระบวนการพัฒนาของภาคการเงิน กำลังทำให้องค์ประกอบความมั่งคั่งของครัวเรือนในเอเชียเปลี่ยนไป สาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของเครือข่ายสาขาของธนาคารซึ่งเข้าถึงลูกค้าเงินออมกลุ่มใหม่พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการเงินที่ดีขึ้น

ในประเทศที่ประชากรมีรายได้น้อย และระบบการเงินที่ยังด้อยพัฒนา การถือครองสินทรัพย์มักจะอยู่ในรูปของเครื่องเพชร ที่ดินหรือที่อยู่อาศัย เมื่อรายได้เพิ่มสูงขึ้นและตลาดการเงินพัฒนาขึ้น ความมั่งคั่งจึงเพิ่มขึ้น และโอกาสในการลงทุนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เริ่มจากการนำเงินไปฝากธนาคาร พอมีฐานะขึ้นก็ค่อยขยับขยายไปลงทุนในหลักทรัพย์และพันธบัตร

ปริมาณเงินฝากทั้งหมดยังคงมีสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าของตลาดหุ้นและจีดีพี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ซึ่งมีอัตราการเข้าถึงบริการทางธนาคารที่ต่ำ อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ปี 2554 ปริมาณเงินฝากทุกประเทศในเอเชียเพิ่มขึ้น (ยกเว้นมาเลเซีย) เมื่อเทียบกับจีดีพี

กระแสเงินฝากที่เพิ่มขึ้นนี้มีผลกระทบต่อมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการของสถาบันการเงินในเอเชีย เนื่องจากครัวเรือนต้องการซื้อประกันชีวิต หรือลงทุนในกองทุนรวมณ ต้นปี 2560 มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดภายใต้การจัดการของบริษัทจัดการลงทุนในเอเชีย ซึ่งรวมถึงกองทุนบำนาญ การประกันภัย และกองทุนรวม คำนวณได้รวมทั้งสิ้น 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 จากปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 93 นับจากปี 2554 และ ณ ปัจจุบัน มูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการทั้งหมดของเอเชียคิดเป็นร้อยละ 57 ของจีดีพี เทียบกับร้อยละ 40 ในปี 2554 โดยพบว่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการเพิ่มขึ้นทุกประเทศ

ธุรกิจจัดการลงทุน (collective investments) มีการขยายตัวโดยเฉลี่ยร้อยละ 17.5 ต่อปี (เช่น กองทุนรวม และกองทุนรวม ETF) แซงหน้าการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประกัน ซึ่งทำให้เติบโตรุดหน้ากว่าสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ ทั้งนี้ มูลค่าธุรกิจจัดการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 ในปี 2559 มาอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 31 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการทั้งหมดในเอเชีย

ธุรกิจประกันของไต้หวันมีขนาดใหญ่ที่สุดอย่างแท้จริงเมื่อเทียบกับจีดีพี โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการหักภาษีเงินได้ของพนักงานเพื่อสมทบเข้าโครงการประกันสุขภาพแห่งชาติ ในภาพรวม กองทุนบำนาญของรัฐทั่วเอเชียขยายตัวโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 10 นับจากปี 2554 เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ไม่มีโครงการบำนาญเบ็ดเสร็จที่เป็นทางการ อย่างไรก็ตาม โครงการบำนาญที่เป็นที่ยอมรับและรู้จักกันดีโดยเฉพาะในมาเลเซีย และเกาหลี พบว่า มีการขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง

อันที่จริง ประเทศในเอเชียแบ่งออกได้เป็นกลุ่มประเทศที่มีกรอบนโยบายภาครัฐที่แข็งแกร่ง และกลุ่มที่มีกรอบนโยบายอ่อนแอ ประเทศที่มีจีดีพีต่อหัวประชากรสูงมีแนวโน้มที่จะมีกรอบนโยบายที่แข็งแกร่ง ดังนั้น สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย จึงมีระบบประกันและระบบบำนาญที่ได้รับการยอมรับ โดยกองทุนบำนาญแห่งชาติของเกาหลีใต้ที่มีมูลค่าทรัพย์สิน 462 พันล้านเหรียญสหรัฐ จึงเป็นหนึ่งในกองทุนบำนาญที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

กรอบนโยบายภาครัฐที่ดีจะเอื้อให้รัฐบาลสามารถเพิ่มมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการไปสู่ระดับที่สะท้อนสัดส่วนรายได้ต่อหัวประชากร ถึงแม้ว่าอินโดนีเซียและจีนจะมีการลงทุนในระดับต่ำเมื่อเทียบกับระดับรายได้ของประชากร แต่สัดส่วนการลงทุนของทั้งสองประเทศก็มีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้น โดยในปัจจุบันนี้มีจำนวนนักลงทุนจีนราว 130 ล้านคนที่อยู่ในระบบชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ของจีน คิดเป็นร้อยละ 9.4 ของจำนวนประชากร

การจัดสรรพอร์ตการลงทุนของกองทุนในเอเชียค่อย ๆ เปลี่ยนไปสู่การลงทุนในหลักทรัพย์ ตัวอย่างเช่น ปัจจุบัน กองทุนบำนาญแห่งชาติของเกาหลีใต้มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นเกาหลีใต้ คิดเป็นร้อยละ 21 เทียบกับเมื่อปี 2546 ที่ร้อยละ 8 หรือในอินเดีย พบว่า แรงซื้อหุ้นของนักลงทุนสถาบันในประเทศของอินเดียช่วยพยุงตลาด เมื่อมีแรงเทขายหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติ และล่าสุด จีนได้ขยายเพดานการลงทุนให้กองทุนบำนาญส่วนท้องถิ่นซึ่งมีมูลค่าทรัพย์สิน 540 พันล้านเหรียญสหรัฐ สามารถเข้าลงทุนในหลักทรัพย์จีนได้ถึงร้อยละ 30 ของมูลค่าสินทรัพย์กองทุน

ดังนั้น นักลงทุนเอเชียที่ลงทุนในตลาดหุ้นเอเชียกำลังค่อย ๆ เปลี่ยนไปเป็นพลังที่น่าเกรงขาม โดยถือครองหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นเร็วกว่าการถือครองหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติใน 5 ตลาดหุ้นหลักของเอเชีย


สำนักงานบัญชี,สำนักงานสอบบัญชี,ทำบัญชี,สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : นักลงทุนเอเชีย แห่ลงทุน เอเชีย

view