จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี SUn1jayanama@hotmail.com
นโยบายต่างประเทศของไทย จักสามารถปกป้องผลประโยชน์ ความมั่นคงและความอยู่รอดแห่งชาติได้ ก็ต่อเมื่อเป็นนโยบายที่ตระหนักดีตลอดเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ไม่ว่าในยุคใด) เป็นเรื่องเกี่ยวกับทั้ง “ความขัดแย้ง” และ “ความร่วมมือระหว่างประเทศ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างประเทศมหาอำนาจด้วยกัน ที่ต่างมีนโยบายแผ่อิทธิพลเพื่อหวังได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศ ให้ตนมีฐานะเป็นมหาอำนาจที่มีอำนาจนำ หรือที่ครองความเป็นใหญ่
เหนือประเทศต่าง ๆ ดังที่สหรัฐเคยมีอำนาจนำเหนือมหาอำนาจอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง และได้สูญเสียตำแหน่งดังกล่าวหลังแพ้สงครามเวียดนาม (พ.ศ. 2516)
ขณะที่ปัจจุบัน “จีน” ถูกมองว่ามีนโยบายต้องการเข้ามาเป็นมหาอำนาจที่มีอำนาจนำ หรือที่ครองความเป็นใหญ่เหนือประเทศมหาอำนาจอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทนที่สหรัฐ
การผงาดขึ้นมาของบทบาทและอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอาเซียนหลังยุคสงครามเย็น ย่อมเป็นที่ไม่พอใจของสหรัฐ ซึ่งเคยผูกขาดอิทธิพลและอำนาจในภูมิภาคนี้มาตลอด 45 ปี ของยุคสงครามเย็นสหรัฐจึงจำต้องพยายามหาทางลดอิทธิพลของจีน ด้วยการกลับมามีบทบาททางการเมืองและการทหารในภูมิภาคนี้ เพื่อคานอำนาจจีน โดยหวังให้ประเทศสมาชิกอาเซียนมองว่าจีนสามารถเป็นภัยระยะยาวต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาคอาเซียน
สหรัฐใช้เหตุการณ์ขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ระหว่างบางประเทศสมาชิกอาเซียน (เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย) กับจีน ในการอ้างอธิปไตยเหนือเกาะแก่งในทะเลจีนใต้ มาเป็นเครื่องมือส่วนหนึ่งของนโยบายปิดล้อมจีน
นโยบายท่าทีและผลประโยชน์ของแต่ละประเทศมหาอำนาจ ที่มีต่อกันและต่อเหตุการณ์ (ไม่ว่าจะเป็นในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก) ตลอดจนความขัดแย้งและความร่วมมือระหว่างประเทศมหาอำนาจต่อแต่ละเหตุการณ์ ย่อมมีอิทธิพลโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายและท่าทีของทุกประเทศ (อิทธิพลของปัจจัยภายนอกภูมิภาค) และหากเป็นเหตุการณ์ที่มีขึ้นในภูมิภาคใดก็ตาม การศึกษา วิเคราะห์ ประเมิน ผลประโยชน์ นโยบายและท่าทีของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน เป็นเรื่องสำคัญ
ไม่ยิ่งหย่อนกว่าการทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบาย ผลประโยชน์ และท่าทีของประเทศมหาอำนาจ ที่มีต่อกันและต่อปัญหาเหตุการณ์ในภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังต้องตระหนักในข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ว่า นโยบายต่างประเทศของทุกประเทศ ถือเป็นส่วนขยายของนโยบายภายในของแต่ละประเทศ หรืออีกนัยหนึ่ง สถานการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่ปรากฏภายในประเทศในแต่ละห้วงเวลา แต่ละบริบท ย่อมมีอิทธิพลสูงต่อการมองปัญหาด้านความมั่นคง
(ทั้งภายในและภายนอก) และต่อการกำหนดนโยบายต่างประเทศยิ่งประการสุดท้ายที่ไม่อาจมองข้าม ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ ที่จะช่วยให้ประเทศชาติอยู่รอดและมีความมั่นคง คือการให้ความสำคัญกับอิทธิพลของปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับดุลแห่งอำนาจ ปรากฏในแต่ละห้วงเวลาทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาค) ในการมองปัญหาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในประเทศ ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์เป็นปัจจัยชี้ขาดด้านนโยบายต่างประเทศเพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงของชาติ เป็นตัวแปรสำคัญและคงที่
ตัวอย่างเชิงประจักษ์ในเรื่องความสำคัญของอิทธิพลปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์
มีให้เห็นทั่วไปไม่ว่าจะเป็นในยุคสงครามเย็นหรือยุคหลังสงครามเย็น ในกรณีอิทธิพลของปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ต่อการตัดสินด้านนโยบายต่างประเทศของไทยในยุคสงครามเย็น (พ.ศ. 2489-2534) มีกรณีตัวอย่างมากมาย ดังเช่นที่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของไทยต่อปัญหาความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งมีเหตุการณ์ทั้งภายในประเทศไทยและในระดับโลกและระดับภูมิภาค ที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อการตัดสินใจ
ด้านนโยบายต่างประเทศ เพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงของไทยเป็นสำคัญ
สรุปสาระได้ดังนี้ การไปเยือนจีนของประธานาธิบดีนิกสัน เพื่อปรับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515, การทำความตกลง
เพื่อยุติสงครามระหว่างสหรัฐ กับคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือ ที่กรุงปารีส เดือนมกราคม พ.ศ. 2516, สงครามเวียดนามสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518 พร้อมกับชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชา ความพ่ายแพ้อย่างสมบูรณ์ของสหรัฐ และการยุติบทบาททางทหารของสหรัฐ ในภูมิภาคอินโดจีน
การพ้นจากอำนาจเป็นการถาวรของรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 พร้อมกับการกลับมาของการเมืองในระบบประชาธิปไตยในไทย ซึ่งมีอิทธิพลต่อการปรับ/เปลี่ยนนโยบายต่างประเทศของไทย ต่อปัญหาความมั่นคงภายในประเทศและนอกประเทศ ดังเช่น การเจรจาให้สหรัฐปิดฐานทัพทั้งหมดในไทยพร้อมกับให้สหรัฐถอนทหารออกจากไทยจนเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. 2519
การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม
พ.ศ. 2518 เพื่อสนับสนุนให้จีนเข้ามาทำหน้าที่แทนสหรัฐ ในการคานอิทธิพลและอำนาจของคอมมิวนิสต์เวียดนามที่เพิ่มมากขึ้นหลังสหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม, ระหว่าง พ.ศ. 2518-2519 หรือ
หลังชัยชนะของฝ่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนามใต้ ลาว และกัมพูชา ประเทศไทยได้ให้การรับรองรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในทั้ง 3 ประเทศดังกล่าว พร้อมกับสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต การตัดสินใจดังกล่าวของไทย เป็นไปเพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงของไทยเป็นสำคัญ เป็นการตัดสินใจด้านนโยบายต่างประเทศที่มาจากเหตุผลด้านภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ใช่ด้านอุดมการณ์
เหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีผลทำให้นโยบายต่างประเทศของไทยกลับไปให้ความสำคัญกับอิทธิพลของปัจจัยอุดมการณ์อีกครั้ง (ระหว่าง พ.ศ. 2519-2520) โดยหันมายึดนโยบายต่างประเทศ ที่มุ่งต่อต้านฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงด้านดุลอำนาจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังสหรัฐแพ้สงครามเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอิทธิพลของเวียดนามในอินโดจีนได้เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงของไทย เป็นการมองปัญหาความอยู่รอดและความมั่นคงของไทยที่มิได้คำนึงถึงความสำคัญของปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์แม้แต่น้อย
แต่เป็นการมองปัญหาความอยู่รอด
และความมั่นคงของประเทศชาติ ผ่านแว่นสายตาของอุดมการณ์แต่ประการเดียว นั่นคือยึดนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเดียวเท่านั้น จึงจะช่วยให้ประเทศชาติอยู่รอดได้อย่างมั่นคง
ระหว่าง พ.ศ. 2522-2532 เป็นช่วง 10 ปีของสงครามระหว่างเวียดนามกับกัมพูชา เป็นเหตุการณ์ที่มีขึ้นในบริบทของปลายยุคสงครามเย็น ที่มีเรื่องของความขัดแย้งรุนแรงระหว่างประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์ด้วยกัน (จีน-โซเวียต, จีน-เวียดนาม, เวียดนาม-กัมพูชา) และการแผ่อิทธิพลของโซเวียตลงมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการสนับสนุนร่วมมือของเวียดนาม
เพื่อหวังให้โซเวียตเข้ามาค้านอิทธิพลของจีน
การยึดครองกัมพูชาโดยกองทัพเวียดนาม ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอยู่รอดและความมั่นคงของไทย อิทธิพลของปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ ทำให้รัฐบาลไทยยุคนายกรัฐมนตรี
พลเอกเปรม มองเห็นได้ว่าประเทศกัมพูชาที่อยู่ภายใต้อำนาจครอบงำของเวียดนาม ย่อมทำให้ไทยสูญเสียรัฐกันชนไป ไทยย่อมถือว่ากัมพูชาภายใต้อำนาจปกครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์เขมรแดง แม้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์แต่มีเอกราช อธิปไตยของตนเอง ย่อมเป็นภัยต่อความอยู่รอดและความมั่นคงของไทยน้อยกว่าประเทศกัมพูชาที่อยู่ภายใต้การยึดครองและอิทธิพลครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จของคอมมิวนิสต์เวียดนาม จึงเป็นปัจจัยชี้ขาดในเรื่องของความอยู่รอดและความมั่นคงของประเทศ
ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศกับความมั่นคงแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้
1.เป้าหมายสูงสุดของนโยบายต่างประเทศของทุกประเทศไม่ว่าในยุคใดก็ตาม คือเพื่อความอยู่รอดและความมั่นคงของประเทศ
2.ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ (ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบถ่วงดุลอำนาจ) เป็นตัวแปรคงที่และมีอิทธิพลชี้ขาดต่อการกำหนดและการตัดสินใจ นโยบายด้านความมั่นคงของประเทศ
3.อิทธิพลของปัจจัยอุดมการณ์ เป็นเพียงเครื่องมือชิ้นหนึ่งของนโยบายต่างประเทศ
4.ความแตกต่างของระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม หาใช่อุปสรรคต่อการมีความสัมพันธ์แบบปกติระหว่างกัน หากความสัมพันธ์นั้นอยู่บนพื้นฐานของการมีผลประโยชน์ร่วมกัน เพราะการมีผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่เกี่ยวอะไรกับการมีอุดมการณ์ร่วมกัน
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน