จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ ระดมสมอง
โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
ในการบริหารประเทศรัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายในหลายด้าน อาทิ การป้องกันประเทศ การรักษาความสงบเรียบร้อย การทำนุบำรุงเศรษฐกิจ การให้การศึกษา ฯลฯ
ซึ่ง “นโยบาย” หมายถึงวิธีการที่จะใช้เพื่อการสำเร็จประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มิใช่ความปรารถนา ที่จะให้บรรลุความประสงค์นโยบายที่มุ่งคลายความทุกข์ของประชาชน เป็นนโยบายที่มีความสำคัญสูงสุด เพราะรัฐบาลมีเอาไว้เพื่อการนั้น
“ความทุกข์” (suffering) เกิดจาก ความต้องการ (need) ที่มิได้รับการ ตอบสนอง (serve) หรือได้รับการตอบสนองไม่เพียงพอ ซึ่งก็คือปัญหาเศรษฐกิจที่จะต้องแก้ไข ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มอบให้ “การผลิต” (production) เป็นเบื้องแรกของการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เพราะหากไม่มีการผลิตหรือการผลิตไม่เพียงพอ และตอบสนองไม่ได้ตามความต้องการของประชาชนแล้ว ก็ไม่มีสินค้าและบริการมาบำบัดความต้องการ ซึ่งจะทำให้เกิดความทุกข์
แต่ธรรมะในพระพุทธศาสนาสอนให้คลายความทุกข์ด้วยการจำกัดความต้องการให้เหลือน้อยที่สุด ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 รับสั่งว่าหากจะคลายความทุกข์ ก็จะต้องพึ่งตนเองและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต อีกทั้งควบคุมให้ความต้องการอยู่ในระดับ “พอเพียง” แต่ความทุกข์ของคนเรามิได้มาจากความต้องการที่มิได้รับการสนองอย่างพอเพียงแต่ประการเดียว หากยังมีความทุกข์อันเนื่องมาจากการเจ็บไข้ได้ป่วย (illness) อีกประการหนึ่งด้วย
ดังที่กล่าวกันว่า “ความจน” (poverty) และ “ความเจ็บ” (illness) เป็นความทุกข์ที่เหนือกว่าความทุกข์ใด ๆ ซึ่งก็ยอมรับกันว่าความทุกข์จากการเจ็บป่วยหนักหนาสากรรจ์ ยิ่งกว่าความทุกข์จากความจน กล่าวได้ว่า “จน แต่ไม่เจ็บ” ดีกว่า “เจ็บ แต่ไม่จน”
คนจนที่มีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จะมีความทุกข์น้อยกว่าคนร่ำรวยที่มีปัญหาสุขภาพ เมื่อสัจธรรมเป็นเช่นนี้ รัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการคลายความทุกข์ของประชาชน ก็จะต้องให้ความเอาใจใส่ต่อ นโยบายคลายความทุกข์จากความเจ็บป่วย เป็นอันดับแรก
มิใช่มุ่งแต่จะแก้ไขความยากจน โดยมิได้ให้ความสำคัญอย่างเพียงพอต่อการคลายความทุกข์ที่เนื่องมาจากการเจ็บป่วย ไม่ว่าจะเป็นการวาง “ยุทธศาสตร์” ไปเบื้องหน้าอีก 100 ปี หรือการ “ปฏิรูป” ประเทศให้เป็นเสมือน “เมืองเนรมิต” ที่ดารดาษไปด้วย “นวัตกรรม” อีกทั้งจะแสวงหาความชอบธรรมในการเฝ้าดูความสำเร็จไปอีกนานแสนนานก็ตามที
ความจริงในระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานของรัฐ เช่น กระทรวงสาธารณสุข ก็ได้แสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ในการคลายความทุกข์ของประชาชน ในเรื่องของการเจ็บไข้ได้ป่วย และได้ดำเนินการไปแล้วในหลาย ๆ ด้าน ที่สมควรได้รับความชื่นชม หากก็ยังไม่เป็นการเพียงพอ เพราะยังมีอีกหลายเรื่องที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ตระหนักกันดี
ในทางเศรษฐศาสตร์ ข้อเสนอแนะที่จะต้องเริ่มต้นก็คือ การพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับ “การจัดสรรทรัพยากร” (resource allocation) ทั้งงบประมาณ ทั้งบุคลากร และทั้งยุทธวิธีต่าง ๆ ซึ่งประกอบกันเป็นนโยบายของรัฐในการคลายความทุกข์ของประชาชนอันเนื่องมาจากการเจ็บป่วย
เพราะที่เป็นอยู่ในขณะนี้น่าจะยังไม่ถูกต้องและมีประสิทธิผล
ปรากฏการณ์ “ตูน-บอดี้สแลม” เมื่อเร็ว ๆ นี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่านโยบายการจัดสรรทรัพยากรในด้านการสาธารณสุขยังมีความบกพร่อง อย่าได้ลดความสำคัญของปรากฏการณ์ดังกล่าวให้เหลือเพียงเป็น “แบบจำลอง” ของนโยบาย “ประชารัฐ”
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน