สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปัญหาผู้สูงวัย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย สมปอง แจ่มเกาะ

สิ้นสุดเทศกาลสงกรานต์ลงแล้ว

วันนี้การดำเนินชีวิตของผู้คน การทำมาค้าขาย การทำธุรกิจ ฯลฯ ทุกอย่างเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง หลังจากหยุดยาวมา 5-6 วัน หลายคนได้กลับไปเยี่ยมพ่อแม่ญาติพี่น้องที่ต่างจังหวัด หลายคนเดินทางท่องเที่ยว หลายคนพักผ่อนอยู่กับครอบครัว

จริง ๆ ก่อนหยุด ผมตั้งใจว่าอยากจะใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ พักผ่อนอยู่กับบ้าน ปัดกวาดจัดเก็บบ้านช่องเรือนชาน ปลูกต้นไม้จัดสวนหย่อม อ่านหนังสือเล่มโปรด ซื้อกุ้งหอยปูปลามาปิ้งย่าง หรือวันไหนร้อนมาก ๆ ก็อาจจะแวบไปเดินตากแอร์ในห้าง ไม่เน้นซื้อ แต่ขอ window shopping เป็นหลัก

มีกิจกรรมอย่างหนึ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลนี้ คือ การรดน้ำดำหัวขอพรผู้หลักผู้ใหญ่ตามประเพณีไทยเพื่อเป็นสิริมงคลชีวิต

13 เมษายนของทุกๆ ปี นอกจากจะเป็นวันสงกรานต์แล้ว อีกด้านหนึ่งก็ยังเป็นวันผู้สูงอายุแห่งชาติด้วย

รดน้ำขอพรผู้หลักผู้ใหญ่แล้วก็อดที่จะย้อนกลับมาคิดถึงตัวเองไม่ได้ ตอนนี้แม้ว่าจะยังไม่เข้าเกณฑ์การเป็น “ผู้สูงอายุ” ตามที่องค์การสหประชาชาติกำหนด หรือ 60 ปี

แต่อีกไม่นานก็คงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “สังคมผู้สูงวัย” เช่นกัน

อย่างที่รับรู้กันว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุมาระยะหนึ่งแล้ว หากจำไม่ผิดน่าจะประมาณ ปี 2548 และล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุถึงสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยว่า มีตัวเลขกลม ๆ ประมาณ 11.35 ล้านคน หรือ 16.8% ของประชากรทั้งประเทศ

ถือว่าเป็นอันดับ 2 ในบรรดากลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ รองจากอินโดนีเซีย และคาดว่าอีกสัก 1-2 ปี ไทยก็จะก้าวไปสู่การเป็น “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” หรือมีจำนวนผู้สูงอายุถึง 20% ของประชากร

นี่คือปัญหาใหญ่ของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ และมีผลกระทบตามมาในหลาย ๆ ด้านโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ-สังคม

แต่อีกด้านหนึ่งก็จะเห็นภาพของภาคเอกชนหันมาลงทุนทำธุรกิจเพื่อรองรับลูกค้ากลุ่มนี้กันอย่างคึกคัก และมีให้เลือกใช้บริการที่หลากหลายระดับ

ย้ำนะครับ นี่คือ บริการที่ทำขึ้นมาเพื่อรองรับหรือจับกลุ่มลูกค้า (ผู้สูงอายุ) ที่มีฐานะทางการเงินดีเท่านั้น คนทั่ว ๆ ไปคงเอื้อมไม่ถึง เพราะผู้สูงอายุบ้านเราส่วนใหญ่ไม่มีเงินออม ยกเว้นคนที่ข้าราชการเมื่อเกษียณแล้วก็จะมีเงินบำเหน็จบำนาญ และรายได้ของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่จะมาจากบุตร เบี้ยยังชีพ และมีจำนวนไม่น้อยที่ทำงานเลี้ยงตัวเอง

โดยหลักใหญ่ยังต้องพึ่งพาสวัสดิการจากรัฐ โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เคยคาดการณ์ว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 220,000 ล้านบาท หรือประมาณ 2.8% ของจีดีพี ภายในปี 2565 จากช่วงปี 2553 ที่ตัวเลขนี้มีเพียง 60,000 ล้านบาทเท่านั้น

นับวันตัวเลขนี้ก็จะพุ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว จากจำนวนผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้น บวกกับความเสื่อมถอยของร่างกายตามธรรมชาติที่โรคภัยไข้เจ็บจะทยอยมาเยี่ยมเยือนไม่ขาดสาย

จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ขนาดของครอบครัวเล็กลง และทุกคนล้วนต้องมีภาระในการทำงานนอกบ้าน จึงทำให้ศักยภาพการดูแลผู้สูงอายุลดลง ขณะที่บางครอบครัวก็ไม่มีคนคอยดูแลเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บจากความชราภาพเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่จิตใจต้องไม่ป่วย

ที่ผ่านมา แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ รวมถึงกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ต่างก็ได้มีการเตรียมตัวและวางแผน เพื่อรับมือกับปัญหานี้มาเป็นระยะ ๆ แล้ว แต่ลำพังเฉพาะหน่วยงานภาครัฐคงไม่สามารถบรรเทาปัญหาผู้สูงอายุหรือทำภารกิจให้ลุล่วงลงได้

ครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความสุข มีความอบอุ่น ในบั้นปลายของชีวิต

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยควรจะตระหนักเรื่องนี้ให้มาก และเตรียมรับมือกันตั้งแต่เนิ่น ๆ


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปัญหาผู้สูงวัย

view