สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ภาคการท่องเที่ยว และการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

จากประชาชาติธุรกิจ

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

หนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ ลงบทความเรื่อง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market : EM) ลดลงต่ำสุดในรอบ 20 ปี โดยอ้างอิงข้อมูลของ IIF (Institue of International Finance) ว่า การเกินดุลของประเทศ EM ในปี 2017 นั้นปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.6% ของจีดีพี จากระดับสูงสุดในปี 2006 ที่เกินดุลถึง 4.4% ของจีดีพี และคาดการณ์ว่าการเกินดุลดังกล่าวจะปรับลดลงต่อเนื่องในปีนี้และปีหน้า ที่น่าสนใจ คือ ขณะที่การเกินดุลของหลาย ๆ ประเทศปรับลดลง การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยกลับสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้การเกินดุลของประเทศ EM ลดลง IIF สรุปว่ามาจาก

1. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำมันปรับลดลง ทำให้รายได้ของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง (ราคาน้ำมันสูงสุดเกือบ 150 เหรียญต่อบาร์เรล ในปี 2008 และลดลงมาอยู่ที่ 50-60 เหรียญ ในปี 2560) โดยเฉพาะ ซาอุดีอาระเบีย ดุลบัญชีเดินสะพัดลดลงจากกว่า 100,000 ล้านเหรียญ (25% ของจีดีพี) ในปี 2008 เหลือเพียง 18,000 ล้านเหรียญ (2.7% ของจีดีพี) ในปี 2017 และในบางประเทศก็เปลี่ยนจากการเกินดุลมาเป็นขาดดุล หากราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นต่อไปก็อาจจะทำให้การเกินดุลดีขึ้น แต่ก็น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะกลับไประดับเดิม

2. การเกินดุลของจีนลดลง จีนนั้นเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 20,000 ล้านเหรียญ ในปี 2000 ก้าวกระโดดในช่วงปี 2005-2008 เป็น 420,000 ล้านเหรียญ (9% ของจีดีพี) ในปี 2008 หลังจากนั้นก็ปรับลดลง โดยในปี 2017 จีนเกินดุลเพียง 165,000 ล้านเหรียญ (1.4% ของจีดีพี)

ซึ่งการเกินดุลที่ลดลงนั้นมิได้มีสาเหตุมาจากจีนขายสินค้าได้น้อยลง แต่มาจากการที่คนจีนเดินทางออกนอกประเทศมากขึ้น โดยการส่งออกสุทธิ (ดุลการค้า) ของจีนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 130,000 ล้านเหรียญ ในปี 2005 เป็น 476,000 ล้านเหรียญ ในปี 2017 (ส่วนใหญ่มาจากการเกินดุลกับสหรัฐ) ขณะที่ดุลบริการและเงินโอนขาดดุลมาโดยตลอด และเริ่มเร่งตัวขึ้นในปี 2012 โดยเฉพาะการขาดดุลภาคบริการซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 15,000 ล้านเหรียญ ในปี 2011 เป็น 265,000 ล้านเหรียญ ในปี 2017 โดยกว่า 85% ของการขาดดุลมาจากการที่คนจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้น (ดุลบัญชีเดินสะพัดนั้นประกอบด้วย ดุลการค้า (การส่งออก/นำเข้าสินค้าสุทธิ) ดุลบริการ (ตัวหลัก คือ การท่องเที่ยว) และรายได้อื่น ๆ (เงินโอน เงินอุดหนุนต่าง ๆ)

ในทางตรงข้ามกับ EM ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลสูงเป็นประวัติการณ์ โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเกินดุลปีละกว่า 1 ล้านล้านบาท (หรือ 8-11% ต่อจีดีพี)

ซึ่งการเกินดุลนี้มาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.ได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ลดลง 2.การชะลอตัวของการนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบเพราะการส่งออกและการลงทุนในประเทศขยายตัวช้า และ 3.การเกินดุลในภาคบริการ ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ การที่ภาคการท่องเที่ยวมีบทบาทเพิ่มขึ้นนั้น มีข้อสังเกตที่น่าสนใจอย่างน้อย 3 ประการ คือ

1. จำนวนนักท่องเที่ยวขยายตัวในเกณฑ์สูงเฉลี่ย 12% ต่อปี (2011-2017) ซึ่งต้องยอมรับว่า การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนมีบทบาทสำคัญมาก โดยสัดส่วนของนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นจาก 9% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในปี 2011 เป็น 28% ในปี 2017 หรือมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเกือบ 10 ล้านคนในปัจจุบัน และประเทศไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวจีน

ข้อดี คือ ปัจจุบันคนจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมีสัดส่วนเพียง 10% ของประชากร ดังนั้นโอกาสในการขยายตัวน่าจะมีสูง แต่ในอีกด้านก็เป็นความเสี่ยง เพราะสัดส่วนการพึ่งพานักท่องเที่ยวจีนที่สูงมากถึง 28% ทำให้หากมีปัจจัยมากระทบทำให้คนจีนหยุดเดินทางมาไทย ภาคการท่องเที่ยวก็จะชะลอรุนแรงดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 2011 และ 2014

2. รายได้เงินตราต่างประเทศจากการท่องเที่ยวสุทธิ (หักค่าใช้จ่ายที่คนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ) เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2017 มีรายได้สุทธิกว่า 1.4 ล้านล้านบาท สูงกว่าการเกินดุลการค้า (ซึ่งเท่ากับ 1 ล้านล้าน) ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยนั้นในช่วงหลังเป็นผลมาจากดุลภาคบริการเป็นสำคัญ

3. การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของนักท่องเที่ยวต่างชาติในประเทศไทยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วคือ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยปัจจุบันประมาณ 35 ล้านคน ใช้เวลาอยู่ในไทยเฉลี่ย 7-10 วัน มีการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคถึง 1.7 ล้านล้านบาท (คนไทย 67 ล้านคน ใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคทั้งสิ้น 7 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็น 24% ของการการบริโภคของคนไทย เพิ่มขึ้นจากระดับ 10% ในช่วง 2007-2010 จะเห็นว่าภาคการท่องเที่ยวได้เพิ่มบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจไทย และในอนาคตอาจจะกลายเป็นแหล่งรายได้เงินตราต่างประเทศที่สำคัญอันดับต้น ๆ ก็เป็นได้

ทั้งนี้ จากการเกินดุลภาคบริการที่น่าจะดีต่อเนื่อง ทำให้การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะอยู่ในระดับสูง และเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้ม แข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาค


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ภาคการท่องเที่ยว การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

view