จากประชาชาติธุรกิจ
ปัจจุบันประชาชนที่ทำประกันชีวิต แต่ไม่รู้ถึงสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์ยังมีอยู่อีกเป็นจำนวนมาก สะท้อนจาก “เงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ” ที่ผู้เอาประกันไม่ได้ไปขอรับเงินคืนจากบริษัทประกัน จนระยะเวลาล่วงพ้น 10 ปี บริษัทต้องนำส่งเข้ากองทุนประกันชีวิตตามกฎหมาย
โดย “จรัญ สอนสวัสดิ์” ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิตคนใหม่ ที่มีดีกรีเป็นอดีตผู้ช่วยเลขาธิการสายส่งเสริมและประกันภัยภูมิภาค สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้เล่าถึงภารกิจ “ตามหาผู้เอาประกันตามเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ” หลังกองทุนประกันชีวิตตั้งมาจนเข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว พบว่ามีเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความอยู่ที่ กว่า 886 ล้านบาท และผู้เอาประกันที่มีสิทธิได้รับเงินคืนมากถึง 638,746 ราย ขณะที่กองทุนจ่ายเงินคืนได้เพียงกว่า 11 ล้านบาท จากผู้มารับสิทธิเพียง 1,078 รายเท่านั้น (ณ วันที่ 31 มี.ค. 2561)
ทั้งนี้ 4 สาเหตุหลักที่เกิดเงินกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความ คือ 1.ไม่สามารถติดต่อผู้ทำประกันได้ เช่น ย้ายที่อยู่ แต่ไม่ได้แจ้งบริษัท 2.ผู้ทำประกันเสียชีวิตและไม่ได้แจ้งให้ทายาททราบว่าได้ทำประกันชีวิตไว้ 3.ผู้ทำประกันชีวิตไม่ส่งเบี้ยประกันปีต่ออายุทำให้ขาดความคุ้มครอง แต่ไม่ทราบว่ากรมธรรม์มีมูลค่าเงินสด และ 4.เช็คขาดอายุ
“เราพยายามเผยแพร่ให้ผู้เอาประกันทราบถึงสิทธิ ว่าทำประกันชีวิตไปแล้วเกิน 2 ปี และส่งเบี้ยปีต่ออายุเกิน 5 ปี จากนั้นไม่ได้ส่งเบี้ยต่ออายุจนกรมธรรม์ขาดความคุ้มครอง ก็ยังมีมูลค่าเงินสด ซึ่งสามารถขอรับเงินคืนได้ที่กองทุน” นายจรัญกล่าว
เขาบอกอีกว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไขระเบียบกองทุนเพื่อให้ผู้จัดการกองทุนประกันชีวิตสามารถลงนามอนุมัติเงินให้ผู้เอาประกันที่มาขอรับเงินได้ทันทีในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท โดยไม่ต้องมีกรรมการบริหารกองทุนร่วมลงนาม ซึ่งน่าจะเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กองทุนประกันชีวิตพิจารณาได้ภายในเดือน ก.ค.นี้ หลังจากนั้น จะเสนอกระทรวงการคลังในเดือน ส.ค.ต่อไป
“แต่ละปีกองทุนได้รับเงินตามกรมธรรม์ล่วงพ้นอายุความจากบริษัทประกันชีวิตเข้ามาเฉลี่ยกว่า 100 ล้านบาท โดยในปี 2560 เข้ามาประมาณ 138 ล้านบาท ซึ่งกองทุนได้กำหนดให้บริษัทประกันชีวิตต้องส่งภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดอายุความ หากส่งล่าช้าบริษัทประกันจะต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตรา 1.5% ต่อเดือน” นายจรัญกล่าว
ทั้งนี้ บริษัทประกันชีวิตที่นำส่งเงินเข้ากองทุนมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เอไอเอ ประเทศไทย, ไทยประกันชีวิต, อลิอันซ์อยุธยาประกันชีวิต, กรุงเทพประกันชีวิต, ไทยสมุทรประกันชีวิต
“จรัญ” บอกว่า ปัจจุบันกองทุนประกันชีวิตมีเงินอยู่เบ็ดเสร็จทั้งสิ้น 5,500 ล้านบาท สามารถให้ความคุ้มครองกับผู้เอาประกันกรณีที่บริษัทประกันชีวิตถูกเพิกถอนใบอนุญาต ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทประกันชีวิตทุกแห่งก็ล้วนมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ด้วยเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายเฉลี่ยเกิน 140% จึงไม่น่ามีปัญหา เพราะที่สุดแล้วหากเงินไม่พอ กองทุนก็ยังสามารถเรียกเงินนำส่งเพิ่ม หรือยื่นกู้จากสถาบันการเงินได้อีกทาง
“กองทุนนำเงินทั้งหมดไปลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ กำหนดระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 3 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินฝากสถาบันการเงิน 80-90% และที่เหลืออีก 10-20% ลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนไม่เกิน 2%” นายจรัญกล่าว
ทั้งนี้ ภารกิจเร่งด่วนของผู้จัดการกองทุนประกันชีวิตคนใหม่จากนี้ คือ ต้องเร่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง เพื่อให้ผู้เอาประกัน/ทายาท/ผู้รับประโยชน์ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์กลับคืนโดยเร็ว โดยได้ปรับปรุงและพัฒนาโปรแกรมสืบค้นข้อมูลให้ผู้เอาประกันสามารถตรวจสอบสิทธิตนเองได้ ซึ่งแต่ละปีกองทุนมีงบประมาณในการพัฒนาระบบอยู่ที่ 20 ล้านบาท/ปี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาระบบให้สามารถตรวจสอบสิทธิได้ผ่านเว็บไซต์กองทุน คาดว่าจะเริ่มได้ในปี 2562 รวมถึงได้เพิ่มช่องทางการจ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงเดือน ส.ค.นี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เอาประกันได้รับบริการที่รวดเร็วมากขึ้น
“หากผู้เอาประกันไม่มาขอรับเงินที่กองทุนนานเกิน 10 ปี เงินตามสิทธิประโยชน์ตามกรมธรรม์จะตกเป็นเงินสมทบของกองทุนทันทีโดยที่ผู้เอาประกันไม่มีสิทธิ์มาเรียกร้องคืนได้อีก” นายจรัญกล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นสิทธิที่ผู้ทำประกันควรได้รับ ซึ่งเป็นภารกิจของผู้จัดการกองทุนประกันชีวิตที่ต้องเร่งสร้างความรับรู้ในวงกว้างต่อไป
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน