จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ เรื่องราวกับความคิด
โดย วิรัตน์ แสงทองคำ http//: viratts.wordpress.com
ว่าด้วยความสัมพันธ์ใหม่ กับบริการใหม่ ๆ กำลังเติบโตและเข้าถึงผู้คนวงกว้างมากขึ้น ๆ
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีเรื่องราวบางเรื่องควรเล่า ผมสั่งซื้อเครื่องจักรซึ่งใช้ในสวนกาแฟ จากอำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยใช้เวลาเพียงวันเดียวของมาถึงกรุงเทพฯผ่านบริการนิ่มซี่เส็ง เราเดินทางไปรับที่ศูนย์บริการนิ่มซี่เส็งใกล้ ๆ ตลาดไท ด้วยมีปัญหาเล็กน้อย มีชิ้นส่วนบางอย่างไม่ครบถ้วน ผู้ขายจำเป็นต้องส่งสิ่งของดังกล่าวตามมา ส่งมาถึงบ้านในกรุงเทพฯภายใน 24 ชั่วโมง โดย Kerry Express เรื่องราวดูธรรมดา ๆ นั้น สะท้อนปรากฏการณ์บางสิ่งบางอย่างที่เป็นไป
นิ่มซี่เส็งธุรกิจครอบครัว เริ่มต้นจากแผงค้าผลไม้ในตลาดวโรรส เชียงใหม่ พร้อมมีประสบการณ์รับจ้างขนส่งผลไม้ด้วย จากนั้นขยายตัวเป็นธุรกิจอย่างจริงจังแบบค่อยเป็นค่อยไป (organic growth) เกือบ ๆ 5 ทศวรรษที่แล้วในธุรกิจบริการขนส่งสินค้าการเกษตรจากภาคเหนือตอนบน มายังตลาดสดใหญ่ในกรุงเทพฯ จนในที่สุดมาตั้งสาขาที่สี่แยกมหานาคในช่วงท้าย ๆ ยุคสงครามเวียดนาม ธุรกิจไทยกำลังเติบโต ผู้บริโภคในเมืองหลวงมีกำลังซื้อด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกรุงเทพฯกับภูมิภาคมีมากขึ้น ๆ
แนวทางธุรกิจนิ่มซี่เส็งยังคงยึดมั่นเพื่อเชื่อมโยงชุมชนเกษตรกรรมภาคเหนือให้มีบริการครอบคลุมเชิงภูมิศาสตร์มากขึ้น ขณะขยายเครือข่ายรองรับระบบการค้าแบบดั้งเดิม-ผ่าน “ตลาดสด” ซึ่งดูเหมือนคงอยู่อย่างมั่นคง และขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปรอบ ๆกรุงเทพฯและปริมณฑล
ทิศทางธุรกิจเริ่มปรับเปลี่ยนไปบ้างเมื่อเข้าสู่ช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ขยายบริการตามแนวนอน เชื่อมโยงกัน โมเดลดังกล่าวสร้างความสามารถในการแข่งขัน บริการใหม่ ๆ ได้เกิดขึ้น “ปี 2544 เปิดบริการให้เช่าตู้คอนเทนเนอร์ ห้องเย็น รายเดือน และรับฝากสินค้าห้องเย็นเป็นรายชิ้น”
อย่างไรก็ตาม ผ่านมาแล้วราวครึ่งศตวรรษ เครือข่ายธุรกิจนิ่มซี่เส็งยังโฟกัสความเชื่อมโยงระหว่างภาคเหนือกับกรุงเทพฯและปริมณฑล ดูจะพอใจกับความสำเร็จทางธุรกิจ สัมพันธ์กับความเชื่อมโยงที่มีมากขึ้นระหว่างสังคมเกษตรกรรม ฐานใหญ่ของระบบเศรษฐกิจไทย กับสังคมผู้บริโภคซึ่งขยายตัวตามเมืองใหญ่ ๆ เป็นดาวบริวารกรุงเทพฯ
จากธุรกิจพื้นฐาน สามารถต่อยอดเข้ากับยุคสมัยใหม่ ตามโอกาสที่เปิดมากขึ้น ดูไปแล้วมีวงจรชีวิตยั่งยืน ต่อเนื่อง มากกว่าหลายธุรกิจที่ปรากฏต้องมีอันเป็นไป เวลาผ่านไปได้รับการยอมรับพอสมควร โดยมีคู่ค้าทางธุรกิจรายใหญ่ ๆ “ปี 2551 เปิดการกระจายสินค้ากับทางบริษัท CP ในส่วนของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ทั้งหมด” (อ้างไว้ใน https://www.nimtransport.com)
ท่ามกลางสถานการณ์และโอกาสที่มีมากขึ้น นิ่มซี่เส็งปรับทิศขยายธุรกิจครั้งใหญ่ จากฐานลูกค้าเฉพาะกลุ่มสู่รายย่อย ๆ มากขึ้น จากพื้นฐานเกษตรกรรมเข้าสู่พื้นที่เมืองหลวงเมืองใหญ่ ว่าไปแล้วเป็นพรมแดนใหม่ของนิ่มซี่เส็ง เพื่อวิ่งไปตามกระแสใหม่ ๆ ตามการเกิดขึ้นของรายใหม่
ในปี 2548 นิ่มซี่เส็งเริ่มเปิดบริการ NIM Express “ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าและพัสดุด่วนทั่วประเทศ ปัจจุบันมีศูนย์กระจายสินค้า (DC, distribution center) ครอบคลุมจังหวัดใหญ่ทุกภาค” ว่าไว้อย่างนั้น เท่าที่พิจารณามีเครือข่ายหรือจุดให้บริการทั่วประเทศ ทุกภาค รวมทั้งภาคใต้ราว ๆ 40 แห่ง และประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาวที่เวียงจันทน์ด้วย ทั้ง DC และ drop point มากกว่า 300 แห่ง เป็นแผนการเชิงรุกมากขึ้น มากกว่าธุรกิจดั้งเดิม อาจจะเรียกว่าเป็นภาคต่อ ภาคขยายของธุรกิจดั้งเดิม
มีทั้งบริการรับถึงที่ต้นทาง-ส่งถึงที่ปลายทาง (door to door) จนถึงบริการ ที่เรียกว่า “ลูกค้าส่งเองที่ต้นทาง-ลูกค้ารับเองที่ปลายทาง” (port to port) ในกรณีนี้หมายถึงการรับ-ส่งในแบบเดิมที่ศูนย์กระจายสินค้า (DC)
พัฒนาการอีกขั้นทางธุรกิจ สะท้อนมุมมองเชิงบวก ว่ากันว่า มีแผนการจะนำ NIM Express เข้าตลาดหุ้นด้วย เตรียมความพร้อมในการแข่งขันทางธุรกิจดูจะเข้มข้นมากขึ้น ๆ โดยเฉพาะการเผชิญหน้าเครือข่ายธุรกิจต่างประเทศ
เป็นจังหวะเดียวกัน Kerry Express ก่อตั้งธุรกิจขึ้นในเมืองไทย (ปี 2549) ในฐานะธุรกิจเครือ Kerry Logistics Network Limited : KLN ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนหลักทรัพย์ในฮ่องกง กิจการซึ่งแยกตัวมาจาก Kerry Properties Limited เครือข่ายธุรกิจใหญ่ มีฐานในฮ่องกง (จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงเช่นเดียวกัน) เครือข่ายธุรกิจมีทั้งโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งในฮ่องกง จีนแผ่นดินใหญ่ และภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งมีเครือข่ายธุรกิจโรงแรมระดับโลกด้วย
Kerry Express ใช้เวลาเพียง 12 ปี ก้าวขึ้นเป็น “ให้บริการจัดส่งพัสดุด่วนอย่างการจัดส่งภายในวันถัดไป” ในฐานะเอกชนอันดับหนึ่งของไทย “Kerry Express ไม่แข่งกับไปรษณีย์ไทย ซึ่งถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจที่ครอบคลุมการขนส่งทุกประเภท ในขณะที่ Kerry Express โฟกัสกลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก” (อ้างจากความท้าทายของ Kerry Express…Marketeeronline.co 11/10/2018)
“นอกจากนี้ บริษัทของเรายังมีการให้บริการเรียกเก็บเงินปลายทาง (COD) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยไม่เพียงเป็นที่รู้จักภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค ทั้งในฮ่องกง ไต้หวัน เวียดนาม และมาเลเซียอีกด้วย” (https://th.kerryexpress.com)
ปัจจุบัน Kerry Express มีจุดบริการมากถึงประมาณ 3,500 จุด อยู่ในช่วงกำลังขยายตัว ขยายเครือข่ายอย่างมาก ๆ เชื่อว่าจะทะลุหมื่นจุดในไม่ช้า จากยุคก่อตั้งมีพนักงานเริ่มต้นไม่ถึง 50 คน ภายใน 12 ปีพนักงานเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเป็น 20,000 คนแล้ว (เป็นพนักงานพาร์ตไทม์ 5,000 คน)
แนวทางธุรกิจ Kerry Express ดำเนินไปอย่างโลดโผนอย่างน่าสนใจ สะท้อนแผนการเชิงรุกตามสไตล์ธุรกิจซึ่งมีฐานใหญ่ในยุคนี้ ตามบทวิเคราะห์การเติบโตทางธุรกิจอย่างรวดเร็ว สัมพันธ์กับแนวโน้มการจับจ่ายใช้สอยแบบออนไลน์กำลังเติบโตในระดับภูมิภาค รวมทั้งเมืองไทยด้วย โดยเฉพาะเขตเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ๆ แผนการผนึกพลังร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจจึงเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ เป็นไปตามจังหวะและโอกาส ด้วยเครือข่ายและสายสัมพันธ์ทางธุรกิจที่กว้างขวาง ดังกรณีที่อ้างถึง
กรณี BTS เริ่มขึ้นในปี 2557 เปิดให้บริการรับส่งพัสดุ ณ Rabbit Service Point บนสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 8 สถานี ให้บริการรับส่งพัสดุรูปแบบใหม่จากสถานีรถไฟฟ้า BTS หนึ่งไปอีกสถานีหนึ่ง ส่งถึงภายในวันเดียว ต่อมาปี 2559 ได้ร่วมมือแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถือ Rabbit LINE Pay (ระบบซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง LINE กับ Rabbit Pay ซึ่งเป็นธุรกิจในเครือ BTS) โดย Kerry Express ร่วมให้บริการในฐานะพันธมิตร จากนั้นพันธมิตรธุรกิจพัฒนาไปอีกก้าว เมื่อบริษัทในเครือ BTS ได้เข้าลงทุนด้วยการถือหุ้น Kerry Express มากกว่า 20%
เครือเซ็นทรัลมีแผนร่วมมือทางธุรกิจกันในหลายรูปแบบหลายกรณี ตั้งแต่ให้บริการหลายรูปแบบ เช่น รับส่งพัสดุด่วนอย่างเต็มรูปแบบในร้าน OfficeMate ถึงผู้ซื้อผู้ใช้บริการโดยตรง และ Tops Deli ร่วมมือเปิดเป็นจุดบริการของ Kerry Express
ในภาพหนึ่งทั้งนิ่มซี่เส็งและ Kerry Express เป็นคู่แข่งทางธุรกิจ แต่อีกภาพหนึ่งที่สำคัญ แต่ละรายมีเรื่องราวของตนเอง ด้วยประสบการณ์ที่แตกต่างกัน นิ่มซี่เส็งสัมพันธ์กับสังคมเกษตรกรรม แหล่งผลิตอาหาร ซึ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์ซับซ้อนมากขึ้น
ขณะที่ Kerry Express เป็นไปตามจังหวะสังคมผู้บริโภคพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการค้ารายย่อย ๆ จำนวนมากซึ่งเชื่อมโยงกัน
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,๒ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน