จากประชาชาติธุรกิจ
คอลัมน์ นอกรอบ
โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง
เหมือนว่าความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจไทยกำลังเพิ่มขึ้น ต่างจากก่อนเลือกตั้งที่หลายฝ่ายมองภาพบวกว่า หลังการเลือกตั้งและมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย รัฐบาลใหม่จะสามารถดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่มีความต่อเนื่อง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ทำให้มองภาพเศรษฐกิจปีนี้อย่างมีความหวัง ว่าจะสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วที่ระดับใกล้ 4% (ปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.1%)
แต่บรรยากาศปัจจุบันดูเหมือนจะไม่เป็นอย่างที่คาด หลังจากผลการเลือกตั้ง ส.ส.เขตที่ออกมาพลิกล็อก เช่น พรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนน้อยกว่าที่คาด พรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนเสียงท่วมท้น เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีกรณีความไม่พอใจการทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ความไม่ชัดเจนในการจัดสรร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ การฟ้องร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร
และที่สำคัญ คือ ผลการเลือกตั้งที่ทำให้การรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลเหมือนจะไม่ง่าย
เพราะทั้งสองฝ่ายมีเสียงใกล้เคียงกัน และอาจจะเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเพียงเล็กน้อยทำให้มีความกังวลว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ หรือหากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ รัฐบาลจะมีเสถียรภาพและอยู่ได้นานหรือไม่
ทำให้นักธุรกิจเริ่มเป็นห่วงว่า ความไม่แน่นอนดังกล่าวจะทำให้บรรยากาศการลงทุน และกาไรใช้จ่ายในประเทศซึมลง ประกอบกับรัฐบาลเองก็แสดงความกังวล และพยายามจะหามาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
โดยมาตรการที่ออกมาส่วนใหญ่มุ่งเน้นการเพิ่มกำลังซื้อ (แจกเงิน) ให้กับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการ วงเงินรวมประมาณ 13,000 ล้านบาท ในช่วง 2 เดือนข้างหน้า หรือประมาณ 0.5% ของการบริโภคในไตรมาส 2
ซึ่งจำนวนเงินไม่มากพอจะกระตุ้นเศรษฐกิจแต่รัฐบาลน่าจะหวังที่จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และพยุงเศรษฐกิจไว้ในระหว่างเปลี่ยนผ่านที่รัฐบาลใหม่ยังไม่เข้ามาบริหารประเทศ
นอกจากเรื่องการเมืองแล้ว ก็ยังมีปัจจัยลบที่ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่
1.การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีรายได้จากการส่งออกเป็นสัดส่วนสูง และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
โดยในช่วงที่การส่งออกชะลอ เศรษฐกิจไทยก็ขยายตัวได้น้อย หากการส่งออกฟื้นตัวก็ช่วยให้เศรษฐกิจปรับดีขึ้น การผลิตและการจ้างงานจะดีขึ้นตามมา
สำหรับปีนี้คาดการณ์ว่า การส่งออกจะขยายตัวได้ 4-5% แต่ปรากฏว่า 3 เดือนแรกของปี การส่งออกหดตัวไป 4% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก
ส่วนใหญ่คาดว่ากว่าภาคการส่งออกจะกลับมาฟื้นตัว ก็น่าจะเป็นครึ่งหลังของปี ทำให้กังวลว่า ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า แรงขับเคลื่อนด้านการส่งออกจะน้อย
2.การท่องเที่ยวขยายตัวต่ำอีกเครื่องยนต์ที่เป็นตัวนำที่โดดเด่น เพราะในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีการขยายตัวสูงมาก และนำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยปัจจุบันรายได้จากภาคการท่องเที่ยวมีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นเท่าตัวในเวลาเพียง 5 ปี (คิดเป็น 25% ของรายได้จากการส่งออกสินค้าในปัจจุบัน)
ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่ำ จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% จากปีก่อนหน้า
ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้น และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนยังเป็นปัจจัยที่ทำให้มีความกังวลว่า ภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวเร่งขึ้น และทำรายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้นได้มากเพียงไร
3.ต้นทุนและค่าครองชีพกำลังปรับเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ประกอบการต้นทุนมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งน่าจะสรุปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เบื้องต้นมีข้อสรุปว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 2-10 บาท
ราคาน้ำมันน่าจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะปริมาณการผลิต/ส่งออกลดลง จากการแซงก์ชั่นของสหรัฐต่ออิหร่าน ปัญหาการเมืองภายในเวเนซุเอลาและลิเบียรวมทั้งความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงหน้าร้อน และค่าโดยสารสาธารณะปรับขึ้น
4.มาตรการของแบงก์ชาติจะทำให้เกิดการชะลอตัวของภาคอสังหาฯ และการซื้อรถยนต์ สำหรับมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ในการเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อบ้านนั้น เริ่มบังคับใช้เดือนเมษายน 2562 ส่วนมาตรการด้านสินเชื่อรถยนต์นั้น แบงก์ชาติยังคงศึกษาอยู่ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่าน่าจะประกาศใช้ในไม่กี่เดือนข้างหน้า
เพราะดูเหมือนแบงก์ชาติจะเป็นห่วงเรื่องการขยายตัวเพิ่มขึ้นของสินเชื่อดังกล่าว
ซึ่งมาตรการทั้งสองนั้นจะมีผลต่อการใช้จ่าย เพราะในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การบริโภคที่ขยายตัวนั้น ขยายตัวใน 2 ส่วนนี้เป็นสำคัญ
ความกังวลเรื่องการเมือง และปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่กล่าวข้างต้น น่าจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้าซบเซาพอควร และคงต้องรอดูว่า ปัจจัยต่าง ๆ จะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ใน 2 เดือนข้างหน้าอย่างที่ทุกคนหวังไว้หรือไม่
แต่วันนี้ก็เริ่มมีหลายฝ่ายทำใจว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจจะขยายตัวที่ 3.5-3.6% (ค่าเฉลี่ยการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในเดือนเมษายน 2562)
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน