สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ปิดฉากรัฐบุรุษผู้เป็น “เสาหลักบ้านเมือง”! ไม่มีเงินเรียนหมอ จึงมาเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี

จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

โดย: โรม บุนนาค

๘ พี่น้อง “ติณสูลานนท์” พลเอกเปรม คนที่ ๖ น้องสาวยังอุ้มน้องอีกคน

๘ พี่น้อง “ติณสูลานนท์” พลเอกเปรม คนที่ ๖ น้องสาวยังอุ้มน้องอีกคน
ในจำนวนนายกรัฐมนตรี ๒๙ คนของเมืองไทย “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่บนเก้าอี้ได้นานเป็นอันดับ ๓ คืออยู่ในตำแหน่งติดต่อกันนานถึง ๘ ปี ๔ เดือน ๑๑ วัน รองจาก จอมพลถนอม กิตติขจร ซึ่งอยู่ ๑๐ ปี ๘ เดือน ๒๙ วัน และผู้ครองอันดับหนึ่งคือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เจ้าของฉายา “นายกตลอดกาล” นานถึง ๑๔ ปี ๑๑ เดือน ๑๘ วัน แต่อันดับสองกับอันดับหนึ่งเป็นคนละ ๒ ช่วง จอมพลถนอมมีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เข้ามาคั่น จอมพล ป.ไปติดคุกข้อหาอาชญากรสงครามอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนทำรัฐประหารกลับมา ไม่ติดต่อกันเหมือนพลเอกเปรม

ความจริง พลเอกเปรมสามารถจะสร้างสถิติที่ยาวกว่านี้ก็ได้ เพราะนักการเมืองส่วนใหญ่ที่ร่วมรัฐบาลกันมา รวมทั้งกองทัพ ยังให้การสนับสนุนอย่างเหนียวแน่น แต่ “ป๋า” เอือมระอาการเมืองอย่างสุดขีด จึงเอื้อนเอ่ยวาจาเบาๆ แต่สง่างามว่า “ผมขอพอ”

ในระหว่างที่อยู่ในตำแหน่ง ถึงแม้พลเอกเปรมจะมีบารมีสูง ได้รับความเตารพนับถือทั้งวงการทหาร นักการเมือง ข้าราชการ ตลอดจนประชาชนทั่วไป มีภาพพจน์ที่งดงามในความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีต่อราชบัลลังก์ มีฐานการเมืองที่มั่นคง แต่กระนั้น “ป๋าเปรม” ก็ถูกทำรัฐประหารหวังโค่นอำนาจถึง ๒ ครั้ง โดย “ลูกรักของป๋า” เอง ทั้งยังเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดียวของเมืองไทยที่ถูกลอบสังหารขณะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากฝีมือของลูกน้องของป๋าเช่นเคย แต่ป๋าก็แคล้วคลาดมาทุกครั้ง จนก้าวลงจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอย่างสง่างาม

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๓ มีพี่น้องท้องเดียวกันถึง ๘ คน โดยพลเอกเปรมเป็นคนที่ ๖ บิดาคือ หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ตำแหน่งพธำมะรงค์ หรือพัศดีเรือนจำจังหวัดสงขลา ส่วนมารดาคือ นางออด ติณสูลานนท์ ซึ่งอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็เป็นคนปลุกและจัดบิ่นโตให้ลูกทุกคนไปโรงเรียน ฐานะทางบ้านไม่ดีนัก เพราะลูกมากและมีแต่เงินเดือนของพ่อ แต่ทั้งพ่อและแม่ก็ต้องการที่จะให้ลูกเรียนสูงๆ ฉะนั้นเมื่อจบ ม.๖ ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา พลเอกเปรมจึงมาเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพฯ

พลเอกเปรมเล่าว่า

“เมื่อมีใครถามผมสมัยเด็กๆว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร ผมจะตอบว่าจะเป็นหมอรักษาคนไข้ ผมจึงตั้งใจจะเรียนแพทย์ แต่สมัยนั้นเรียนหมอแพงเหลือเกิน ฐานะเรายากจนลง ไม่มีเงิน ก็เลยไปเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อยตามคำแนะนำของเพื่อน เพราะเรียนไม่ต้องเสียเงิน”

หลักสูตรนักเรียนนายร้อยเทคนิค ๕ ปี แต่รุ่น ๕ คือรุ่นพลเอกเปรมเรียนกันได้ ๓ ปีก็เกิดสงครามทวงดินแดนกับฝรั่งเศสในปี ๒๔๘๔ จึงให้จบเพียงแค่นั้น แล้วส่งไปแนวหน้าที่ชายแดนแถวอรัญประเทศ ทั้งที่ยังเป็นนักเรียนนายร้อย

พอลงรถไฟก็ให้บุกเข้าไปในปอยเปต วันต่อมาผู้บังคับการกรมจึงเรียกมาติดดาวให้เป็นร้อยตรี ตำแหน่งผู้บังคับหมวด นับเป็นนายทหารไทยรุ่นเดียวที่ไปติดดาวกันในต่างประเทศ

พลเอกเปรมเล่าว่า

“ตอนท่านผู้บังคับการติดดาวให้ผม กระบี่ก็ไม่มี หลังจากติดดาวเสร็จก็กลับไปสนามรบในป่า จ่าบรรจงซึ่งเป็นจ่ากองร้อยเอากระบี่มาโยนให้โครม แล้วบอกว่า หมวดเอาไปคนละเล่ม”

สงครามอินโดจีนรบกัน ๓ เดือนก็ยุติ ร.ต.เปรม ติณสูลานนท์กลับมาโดยมีเหรียญชัยสมรภูมิติดที่หน้าอก แต่อีก ๘ เดือนต่อมาก็ถูกส่งไปสมรภูมิเชียงตุงอีก จนถึงปี ๒๔๘๗ ถูกย้ายมาเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ลพบุรีก่อนสงครามสงบ เลยไม่ได้เดินนับไม้หมอนรถไฟกลับ เพราะทหารที่ไปรบด้านนี้ถูกปลดประจำการที่เชียงตุงเมื่อสงครามสงบ แต่เกิดเหตุผิดพลาด เลยต้องเดินนับไม้หมอนรถไฟกลับมาเพราะไม่มีค่ารถ

ตอนที่เป็นพันตรีเมื่ออายุ ๓๒ พลเอกเปรมสอบชิงทุนของกองทัพบกสหรัฐได้ ถูกส่งไปเรียนหลักสูตรผู้บังคับกองร้อยและหลักสูตรผู้บังคับกองพันที่โรงเรียนยานเกราะฟอร์ดน็อกซ์ รัฐเคนตั๊กกี้ เกือบปีจึงกลับมาเป็นพันโทในตำแหน่งอาจารย์โรงเรียนยานเกราะ และได้รับตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ ๕ กรมทหารม้าที่ ๒ ด้วย

พลเอกเปรมติดยศพลตรีในปี ๒๕๑๑ เข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสระบุรี จนถึงปี ๒๕๑๖ จึงถูกย้ายไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๒ ต่อมาในปี ๒๕๑๗ ก็ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ ๒ พร้อมกับได้เลื่อนยศเป็นพลโท

ในการมารับหน้าที่ในกองทัพภาคที่ ๒ รับผิดชอบ ๑๖ จังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงของสงครามแย่งชิงประชาชนกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พลเอกเปรมได้เล่าถึงช่วงนั้นไว้ว่า

“ตอนที่ผมไปเป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๒ ใหม่ๆ ผมก็มองผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เหมือนเป็นสัตรูของชาติที่ต้องฆ่ากัน แต่โชคดีที่ผมมองลึกลงไปอีกว่า ทำไมเวลาเราไปเยี่ยมชาวบ้านเขาถึงวิ่งหนีเรา เราเดินเข้าไปในหมู่บ้าน เขาไม่สนใจเรา ผมเข้าใจว่าเขาเกลียดพวกเรา”

หลังจากใช้ความพยายามเข้าถึงชาวบ้านอยู่นาน พลโทเปรมก็รู้สาเหตุที่เขาเกลียด

“บางคนเล่าให้ฟังว่า เขาถูกรังแก ถูกข่มเหง ถูกรีดไถ ร้อยแปดพันประการ”
เมื่อสรุปสาเหคุสำคัญ ๓ ประการที่ทำให้คนไทยไปเข้ากับฝ่ายคอมมิวนิสต์ คือความอดอยาก ความคับแค้นใจที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในสังคม และถูกกดขี่ข่มเหง พลโทเปรม แม่ทัพภาคที่ ๒ และคณะฝ่ายเสนาธิการจึงเปลี่ยนแผนยุทธศาสตร์ใหม่ หันมาใช้ “การเมืองนำการทหาร”

แม่ทัพเปรมใช้เวลาส่วนใหญ่ลงคลุกคลีในภาคสนาม พักอยู่ที่สกลนครซึ่งเป็นส่วนหน้าของกองทัพภาคที่ ๒ ไม่ได้พักที่กองบัญชาการโคราช เพื่อจะแก้ปัญหาในท้องที่ได้ทันท่วงที แต่แล้วในขณะกำลังต่อสู้กับ ผกค. เพื่อเอาชนะใจมวลชน

“คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งมีพลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ได้ประกาศรายชื่อพลโทเปรม ติณสูลานนท์ เข้าอยู่ในคณะที่มีจำนวน ๓๔ คนด้วย โดยไม่ได้บอกกล่าวให้เจ้าตัวรู้แต่อย่างใด

ต่อมาในวันที่ ๑ คุลาคม ๒๕๒๐ พลโทเปรม ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก พร้อมกับได้เลื่อนยศเป็นพลเอก และอีกเดือนเศษต่อมา พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี และในพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน ก็มีชื่อพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย โดยถือว่าเคยเข้ามาข้องแวะกับการเมืองโดยเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี ๒๕๐๒ สมาชิกวุฒิสภาปี ๒๕๑๑ สมาชิกสมัชชาแห่งชาติปี ๒๕๑๖ และสมาชิกสภานโยบายแห่งชาติปี ๒๕๒๐

เมื่อก้าวเข้าสู่วงการเมืองเป็นถึงรัฐมนตรี พลเอกเปรมก็ได้รับเชิญให้แสดงทัศนะความคิดเห็นเป็นประจำ ในการบรรยายเรื่อง “แนวทางในการแก้ปัญหาของชาติ” ที่โรงแรมนารายณ์ เมื่อวันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๒๑ พลเอกเปรมได้กล่าวตอนหนึ่งว่า

“ผู้บังคับบัญชาทุกระดับ จะต้องทำตนให้เป็นเยี่ยงอย่างที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชาในเรื่องความซื่อตรง ปราศจากคอรัปชั่น โดยตัวเองไม่ทุจริต และไม่ยอมให้คนอื่นทุจริต จะต้องเป็นที่เที่ยงธรรม มีความกล้าหาญ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนอย่างเด็ดเดี่ยวและมีเกียรติ

เราจำเป็นจะต้องเลิกให้ความนับถือต่อคนมีเงิน แต่ไม่มีเกียรติ เลิกยกมือไหว้คนที่มีเงินมากๆ แต่ไม่มีเกียรติ ไม่เห็นแก่ชาติบ้านเมือง แล้วในทางตรงกันข้าม เราจะเคารพนับถือไหว้คนที่มีเกียรติ ถึงแม้เขาจะไม่มีเงินก็ตาม เรื่องนี้เป็นเรื่องง่ายมาก เริ่มต้นเมื่อไหร่ก็ได้ เริ่มต้นเดี๋ยวนี้ก็สำเร็จเดี๋ยวนี้”

วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ พลเอกเปรมได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการทหารบก และในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ในต้นปี ๒๕๒๓ เกิดการขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ นายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจประกาศลาออกกลางสภา นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่รัฐสภามีมติเลือกขึ้นแทน ก็คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 

หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีได้ไม่กี่วัน พลเอกเปรมซึ่งยังรักษาสถานภาพ “โสด” มาตลอด ก็ปรารภความในใจออกมาว่า

“ผมรู้สึกว่าเป็นเวรเป็นกรรมของผมที่ต้องมารับตำแหน่งอันต้องแบกภาระหนักหน่วงที่สุด ผมไม่มีเวลาเป็นตัวของตัวเองเลย จะมีบ้างก็แต่เวลานอนเท่านั้น บางทีนอนหลับอยู่ดีๆก็ถูกปลุกให้ลุกขึ้นมาทำงานอีก ทำให้ผมแปลกใจว่า ทำไมใครๆถึงอยากเป็นนายกรัฐมนตรีกันเหลือเกิน ทั้งที่ไม่เห็นจะสบายตรงไหนเลย”

แต่ก็บ่นไปอย่างนั้นเอง เพราะหลังจากบ่นแล้วก็ทนเป็นต่อมาอีก ๘ ปีกว่า

ทันทีที่เข้ามารับตำแหน่งบริหารประเทศ พลเอกเปรมได้นำประสบการณ์ระหว่างที่เป็นแม่ทัพภาคที่ ๒ เข้ามาแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ โดยใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ประกาศคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ หรือที่เรียกกันว่า นโยบาย ๖๖/๒๓ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๒๓ หลังจากที่เป็นนายกรัฐมนตรีมาเพียงเดือนเศษ

หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศคำสั่งนี้แล้ว ก็ปรากฏว่า ผกค.ในภาคต่างๆ รวมทั้งนิสิตนักศึกษาและปัญญาชนที่ต้องหนีภัยมืดในกรณี “๖ ตุลา” ได้ทยอยเข้ามอบตัวมาร่วมพัฒนาชาติเป็นระยะ จนกระทั่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยต้องยุติบทบาทลง

ผลงานอีกอย่างของพลเอกเปรมในปี ๒๕๒๓ ก็คือ ในวันที่ ๑๖ กันยายน คณะรัฐมนตรีได้พิจารณารับรองเสื้อไทยพระราชทานให้เป็นเครื่องแบบข้าราชการ โดยให้ใช้ว่า “เสื้อชุดไทย” และพลเอกเปรมก็แต่งนำสมัยจนชุดที่เรียกกันว่า “ชุดพระราชทาน” ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย 

พลเอกเปรมมีฐานะของตำแหน่งที่มั่นคง ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและเสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภา จึงทำให้คนที่มีความคิดแตกต่างอึดอัด ไม่สามารถเรียกร้องในสิ่งที่ตนคิดเห็นได้ จึงต้องหาทางออกตามทางที่ถนัด บางคนก็ใช้วิธีตีรวนในสภา บางคนก็ใช้วิธีรุนแรง

หลังจากที่พลเอกเปรมได้ปรับ ครม.เพราะเกิดความขัดแย้งของพรรคกิจสังคมกับพรรคชาติไทยที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลทั้งคู่ ในกรณีที่ซื้อน้ำมันจากซาอุดิอารเบีย กลางดึกของคืนวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๔ ย่างเข้าวันที่ ๑ เมษายน ก็เกิดรัฐประหารที่เรียกกันว่า “เมษาฮาวาย” กลุ่มที่ลงมือก็คือกลุ่มนายทหาร “ยังเติร์ก” ที่เป็น “ลูกรัก” ของพลเอกเปรมเอง คือ พ.อ.มนูญ รูปขจร และ พ.อ.ประจักษ์ สว่างจิตร เป็นผู้นำ

พลเอกเปรมเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า วันที่ ๓๑ พ.อ.มนูญ กับ พ.อ.ประจักษ์ ได้มาหาที่บ้านสี่เสา พ.อ.ประจักษ์เป็นคนบอกว่าจะ “ปฏิวัติ” พลเอกเปรมถามว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น ก็ได้รับคำตอบว่า เพราะป๋าเอาคนไม่ดีมาเป็นรัฐมนตรี

“มนูญกับประจักษ์มากันสองคน ก็ถามว่าจะปฏิวัติทำไม เขาบอกว่าผมทำเพื่อป๋า และขอเชิญให้ป๋าเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ผมก็บอกว่าผมไม่ปฏิวัติหรอก ผมปฏิวัติไม่ได้ และไม่ต้องการปฏิวัติ ขอให้เลิกคิด เลิกทำเสีย หรือไม่งั้นก็ยิงผมให้ตาย แล้วก็ปฏิวัติกันไป” 

พ.อ.ประจักษ์ได้เปิดเผยเรื่องนี้กลางสนามหลวงตอนไปพบประชาชนขณะเข้ายึดอำนาจว่า เมื่อไปบอกพลเอกเปรมว่าจะทำปฏิวัติ พลเอกเปรมได้เดินไปโทรศัพท์กราบบังคมทูลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งสมเด็จพระราชินีได้รับสั่งให้เรียกตนไปพูด ตนได้กราบบังคมทูลให้ทรงทราบด้วยความจงรักภักดี แต่ระหว่างที่ตนพูดโทรศัพท์อยู่นั้น พลเอกเปรมได้ถือโอกาสหนีเข้าไปในพระราชวัง กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และทูลกระหม่อมทุกพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินไปโคราช

ในวันที่ ๒ เมษายน กลุ่มรัฐประหาร “เมษาฮาวาย” ก็กลายเป็นกบฏ แพ้อย่างราบคาบ บางคนถูกจับ บางคนหนีไปต่างประเทศ แต่ในวันที่ ๕ พฤษภาคม พลเอกเปรมก็ถือโอกาสในวันฉัตรมงคล ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ทุกคน

ในปี ๒๕๒๕ สถานการณ์ก็อึมครึมขึ้นอีก ในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา ขณะที่พลเอกเปรมไปตรวจราชการที่ศูนย์การทหารปืนใหญ่ เขาพระงาม จังหวัดลพบุรี ก็ถูกดักยิงด้วยจรวด เอ็ม ๗๒ แต่รถพลเอกเปรมวิ่งด้วยความเร็ว มือสังหารจึงยิงพลาดไปโดนต้นไม้ พลเอกเปรมปลอดภัย ผู้ลอบสังหารเป็นพายทหารยศพันตรี สังกัดศูนย์การทหารปืนใหญ่ กับจ่านายสิบสังกัดกองพันทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ และสิบเอกสังกัดกองพันทหารปืนใหญ่ที่ ๓๑ รักษาพระองค์ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุทั้ง ๓ ได้หลบหนีไป อีก ๑ ปีต่อมาตำรวจไปล้อมจับนายทหารยศพันตรี แต่ผู้ต้องหาชิงยิงตัวตายก่อน

อัก ๑ เดือนต่อมา ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม เวลา ๒๒.๑๕ น.ได้มีผู้นำระเบิดมือ เอ็ม ๒๘ ใส่แก้วน้ำขว้างข้ามกำแพงสโมสรกองทัพบกเข้าไปที่บ้านสี่เสา แต่พลเอกเปรมนอนอยู่ในห้องชั้นบน ไม่ระคายเคืองอีกเช่นกัน

เดือนต่อมาในวันที่ ๙ กันยายน เวลา ๒๐ น.เศษ ก็เกิดเหตุอีก ทหารยามรักษาการณ์กระทรวงกลาโหม ไปพบกระติกน้ำลายสก็อตวางอยู่ที่ห้องเก็บพัสดุของกระทรวง เมื่อเปิดดูก็เห็นห่อกระดาษอยู่ข้างใน มีสายไฟโยงออกมา ๔ เส้น รู้ว่าเป็นระเบิดก็ตกใจเผ่นหนี แต่ไม่พ้นเสียแล้ว เกิดระเบิดขึ้น ทหารยาม ๔ คนบาดเจ็บ ประชาชนที่เดินริมถนนด้านนอกบาดเจ็บอีก ๓ คน กระจกกระทรวงกลาโหมแตกไป ๑๔ บาน ชั้นบนของห้องพัสดุที่ถูกวางระเบิด เป็นห้องทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งก็คือพลเอกเปรม นายกรัฐมนตรีนั่นเอง

โดนลอบสังหารครั้งแล้วครั้งเล่า คงจะทำให้พลเอกเปรมเบื่อหน่ายกับการมีฝ่ายค้านทั้งในสภาและนอกสภา จึงได้ประกาศเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๖ ว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีก เมื่อเลือกตั้งแล้วก็ควรให้เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็เกิดไม่ลงตัวกันในระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีใครยอมให้ใครเป็นนายกฯ ในที่สุดพลเอกเปรมก็ถูกขอร้องให้รับตำแหน่งต่อไปเป็นรัฐบาล “เปรม ๔” 

ในวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๒๘ พลเอกเปรมก็เผชิญมรสุมอีกลูก เมื่อนายทหารนอกราชการกลุ่มหนึ่ง มี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ พลเอกเสริม ณ นคร พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นผู้นำทำรัฐประหาร แต่ก็ทำให้เกิดความสงสัยกันไปทั่วว่า ทั้ง ๓ ล้วนแต่ “แก่เกินแกง” ที่จะมาทำรัฐประหาร ในที่สุดก็รู้ว่าตัวจริงที่อยู่เบื้องหลังก็คือ “ลูกนูญ” ของป๋านั่นเอง ขณะเกิดเหตุพลเอกเปรมกำลังอยู่ระหว่างเยือนอินโดเนเซีย พอทราบข่าวก็อุทานออกมาว่า “นึกอยู่แล้ว” ครั้งนี้กลุ่มรัฐประหารกลายเป็นกบฏไปใน ๑๐ ชั่วโมง

รัฐบาล “เปรม ๔” มาสิ้นสุดลงในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙ เมื่อรัฐบาลเสนอพระราชบัญญัติ ๙ ฉบับเข้าสภา แต่กลับแพ้ฝ่ายค้านเมื่อลงมติ เพราะสมาชิกฝ่ายรัฐบาลบางกลุ่มตีรวน ไปออกเสียงให้ฝ่ายค้าน (ลุงตู่ก็ระวังเรื่องนี้ให้ดี) พล.อ.เปรมจึงประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่

การเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๙ แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ๑๐๐ เสียง จากจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ๓๔๗ เสียง แต่ก็ไม่ลงตัวกันในการจัดตั้งรัฐบาล จึงต้องเชิญให้ พล.อ.เปรมเป็นนายกฯต่ออีก

เป็นนายกรัฐมนตรีติดต่อกันมา ๘ ปีเศษ ความเบื่อหน่ายเอือมระอานายกฯหน้าเก่าก็เกิดขึ้นกับสื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป ตามประสาคนขี้เบื่อ อยากจะลองของใหม่อยู่เรื่อยไป โดยมองไม่ออกว่าเป็นของเก๊ จึงพากันค่อนแคะกระแนะกระแหนกันต่างๆนานา จน “ป๋า”ไม่อยากอ่านและให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ เลยถูกตั้งฉายาให้ว่า “พระเตมีย์ใบ้” ส่วนในสภา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็ตีรวนกันสะบัด ขนาดไม่ยอมรับมติพรรคของตัวเอง พล.อ.เปรมจึงประกาศยุบสภาอีกครั้ง

หลังการเลือกตั้งในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๓๑ ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ร่วมกันมาในรัฐบาล “เปรม ๕”ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงส่วนใหญ่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทยที่ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด จึงรับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีม นำหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลไปพบ พล.อ.เปรม กล่าวเชิญให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง พล.อ.เปรมกล่าวขอบคุณแล้วว่า

“ผมขอพอ ไม่ขอรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขอให้ช่วยกันประคับประคองประชาธิปไตยต่อไปด้วย”

พลันข่าวนี้ออกไปสู่ประชาชน เสียงที่เคยบ่นด้วยความเบื่อหน่ายเอือมระอา ก็กลับกลายเป็นเสียงชื่นชมที่ไม่ยึดติดกับอำนาจ ทั้งยังสรรเสริญความสามารถของ พล.อ.เปรมที่วางรากฐานเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง แม้ในยุค พล.อ.ชาติชายที่เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เศรษฐกิจไทยเฟื่องฟูด้วยนโยบาย “ทำสนามรบให้เป็นสนามการค้า” เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็ยังกล่าวกันว่า เป็นการวางรากฐานมาดีในยุคของ พล.อ.เปรม

หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ๒๐ วัน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น “องคมนตรี” ในวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๑ ต่อมาในวันที่ ๒๙ สิงหาคม ก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็น “รัฐบุรุษ” และในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๑ ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เป็น “ประธานองคมนตรี” และเป็นต่อมาถึง ๒ รัชกาล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ ได้มีพระราชดำรัสกับคณะองคมนตรีที่เข้าเฝ้าถวายสัตย์เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๙ มีความตอนหนึ่งที่เกียรติแก่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์อย่างยิ่ง ตอนหนึ่งว่า

“...ขอขอบคุณ และได้ป๋ามาเป็นประธานก็อุ่นใจแล้ว...”

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนหนึ่ง ที่มีประวัติชีวิตที่งดงาม มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี น่าเคารพ ...แต่ก็ยังถูกด่า

เมื่อไหร่จะรู้ซึ้งกันเสียที ที่จะ “...ส่งเสริมคนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้...”

วันนี้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ได้ไปเฝ้ารองพระบาทพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ แล้ว ทิ้งแบบฉบับที่ดีงามให้นักการเมืองรุ่นลูกหลานได้ยึดถือ

หลวงวินิจทัณฑกรรม ขณะอายุ ๒๙ ปี กับ นางออด มารดาพลเอกเปรม
หลวงวินิจทัณฑกรรม ขณะอายุ ๒๙ ปี กับ นางออด มารดาพลเอกเปรม


บ้านเกิดพลเอกเปรม
บ้านเกิดพลเอกเปรม





คำสอนทรงคุณค่า “ป๋าเปรม”

การอสัญกรรมของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ มีบุคคลที่เคยใกล้ชิดและร่วมงานออกมาแสดงความอาลัย ยกย่องคุณงามความดีเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี อดีตโฆษกรัฐบาลพล.อ.เปรม ซึ่งนำคำสอนของรัฐบุรุษผู้จากไปมาเตือนลูกหลาน

คำสอนของพล.อ.เปรมที่นายไตรรงค์นำมาโพสต์ผ่านเฟชบุ๊กมีทั้งหมด 4 ข้อ แต่ละข้อมีความสำคัญทั้งสิ้น และหนึ่งคำสอนน่านำมาประพฤติปฏิบัติคือ 

จงเป็นมิตรกับคนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่การคบค้าสมาคมกับใคร ต้องรักษาระยะห่างที่ไม่เท่าเทียม และอย่าปรากฏตัวในที่สาธารณะกับคนไม่ดี อย่าเกรงใจใคร

เพราะการปรากฏตัวอยู่กับคนไม่ดี คนอื่นจะเข้าใจผิดได้ว่า เราเป็นคนไม่ดีเหมือนกัน

คำสอนของพล.อ.เปรมข้อนี้ ถ้าทุกคนยึดเป็นหลักปฏิบัติ ประเทศคงสงบสุขขึ้น เพราะคนไม่ดีจะไม่มีที่ยืน ไม่มีใครคบด้วย หมดโอกาสเจริญก้าวหน้า ไม่สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทในสังคม

การต่อต้านคนไม่ดี มีการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง คนไม่ดีจึงก้าวขึ้นมาเป็นใหญ่เป็นโตเต็มบ้านเต็มเมือง กลายเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองไม่น้อย ทำให้ประเทศมีปัญหา

ความจริงมาตรการต่อต้านทางสังคม บางกลุ่มสาขาอาชีพได้เริ่มปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มสาขาอาชีพในตลาดหุ้น ซึ่งกำลังจะทำสัตยาบรรณร่วมกัน เพื่อสร้างบทลงโทษทางสังคม สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ไม่มีธรรมาภิบาล

กลุ่มนักลงทุนสถาบัน ประกอบด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันได้ร่วมกันหารือ และเตรียมมาตรการลงโทษทางสังคม สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่ขาดความโปร่งใส ไร้ธรรมาภิบาล และเอาเปรียบนักลงทุน

บริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติกรรมการปั่นหุ้น ใช้ข้อมูลภายในแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น นักลงทุนสถาบันเหล่านี้ จะแสดงจุดยืนการต่อต้าน โดยพร้อมใจไม่ซื้อหุ้นบริษัทจดทะเบียนที่กระทำความผิดในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นเวลา 6 เดือน 

คิดกันเล่นๆ ถ้าคนในกลุ่มอาชีพการเมือง โดยเฉพาะนักการเมืองที่ออกมาสดุดีพล.อ.เปรม นำคำสอนของพล.อ.เปรมไปยึดถือปฏิบัติ คงจะทำให้การเมืองไทยใสสะอาดขึ้น และประชาชนจะมีความศรัทธานักการเมืองมากขึ้น

เพราะคนไม่ดีคงไม่มีโอกาสก้าวเข้าสู่เวทีการเมือง

ถ้าพรรคการเมืองทุกพรรค ตระหนักถึงการสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองใหม่ มีเจตนาพัฒนาระบบการเมืองไปในทางสร้างสรรค์ และช่วยกันปิดกั้นคนเลวไม่ให้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ โดยร่วมกันประกาศสัตยาบรรณ ไม่ต้อนรับคนเลวเข้าเป็นสมาชิกพรรค ประชาชนจะมีความศรัทธานักการเมืองมากขึ้น

คนที่มีประวัติเป็นอันธพาล ผู้กว้างขวาง ผู้มีอิทธิพล พ่อค้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อดีตข้าราชการที่มีประวัติด่างพร้อย มีพฤติกรรมทุจริต หรือบุคคลที่สังคมรังเกลียด ทุกพรรคจะต้องไม่เปิดพื้นที่ให้ยืน

สำหรับรัฐบาลหรือผู้นำรัฐบาล จะต้องไม่คบค้าสมาคมกับบุคคลที่มีภาพลักษณ์ในด้านลบ ไม่ว่าในทางลับหรือเปิดเผยต่อสาธารณชน ไม่นับเป็นเพื่อน เป็นพี่หรือเป็นน้อง ไม่แต่งตั้งคนที่ถูกสังคมตราหน้าว่าเป็นคนไม่ดีเป็นรัฐมนตรี หรือมีตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะทำให้ไม่มีจุดอ่อนที่จะถูกโจมตี กรณีตั้งพวกพ้องขึ้นมามีอำนาจ 

และป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำซาก โดยผู้นำประเทศ มักจะพังเพราะคนรอบข้าง ไม่เว้นแม้แต่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งปัญหาคนรอบข้าง ทำให้เกิดกระแสต่อต้านการกลับมาสืบทอดอำนาจในวงกว้าง

คำสอนของพล.อ.เปรมที่นายไตรรงค์ยกมาเป็นคติเตือนใจนั้น ถ้าพรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองนำไปปฏิบัติ โดยเฉพาะการไม่คบค้าสมาคมกับคนไม่ดี ไม่เปิดพื้นที่ให้คนเลวได้มีที่ยืน ไม่ร่วมสังฆกรรมกับคนที่สังคมรังเกลียด การเมืองไทยคงก้าวไปในเชิงสร้างสรรค์ขึ้น ไม่ใช่จมปลักอยู่ในวังวนน้ำเน่าเหมือนทุกวันนี้

และไม่มีนักการเมืองคนใดประชาชนให้ความเลื่อมใสศรัทธา มีแต่นักการเมืองที่ประชาชนเอือมระอาพฤติกรรม

การล่วงลับของพล.อ.เปรม มีนักการเมือง นายทหาร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้มีอำนาจออกมาแสดงความอาลัย ยกย่องคุณงามความดี และเชิดชูในฐานะบุคคลที่เป็นแบบอย่างของสังคมไทย แต่มีใครบ้างที่ยึดคำสอนของพล.อ.เปรมไปยึดถือปฏิบัติ

ผู้มีอำนาจทางการเมืองคนใดบ้างที่ถอยห่างจากคนไม่ดี ไม่คบค้าสมาคมด้วย ไม่ร่วมสังฆกรรมใด

สิ่งที่ประชาชนเห็นคือ ในสังคมการเมือง ทั้งคนดีคนชั่วคลุกเคล้าปะปนกันมั่วไปหมด ประสานประโยชน์แบ่งปันอำนาจโดยไม่แยกดีแยกชั่ว

รัฐบาลชุดใหม่คงมีนักการเมืองไม่ดีเข้ามามีอำนาจเหมือนเดิม

คำสอนอันทรงคุณค่าของป๋าเปรม มีความหมายใดกับคนมีอำนาจที่หลงอำนาจ และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้อำนาจ แม้ดึงนักการเมืองที่สังคมรังเกลียดเข้ามาเป็นพวกสนับสนุนการกลับมามีอำนาจก็ตาม

ไม่ต้องแปลกใจว่า เหตุใดมาตรฐานทางจริยธรรมในสังคมการเมืองไทยจึงต่ำ ในเมื่อสำนึกความผิดชอบชั่วดีของนักการเมืองต่ำกว่ากลุ่มคนในสาขาอาชีพอื่น

นักการเมืองดีๆ มีน้อย ยิ่งผู้นำดีๆ แทบหาไม่ได้


รำลึกป๋าเปรม ผ่าน “สะพานติณสูลานนท์” สะพานคู่ยาวที่สุดในไทย ความภูมิใจของชาวสงขลา

เผยแพร่:    ปรับปรุง:    โดย: ปิ่น บุตรี

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวเศร้าของเมืองไทยต่อ การจากไปของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี รัฐบุรุษ และประธานองคมนตรีในพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ ซึ่งท่านถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อเช้าวันนี้ (26 พ.ค. 62) ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ในวัย 99 ปี 

พล.อ.เปรม เกิดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2463 ที่ ต.บ่อยาง อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา โดยชื่อเปรมนั้น พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฺฐาภรโณ) เป็นผู้ตั้งให้ ส่วนนามสกุลติณสูลานนท์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานให้ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2462 โดย พล.อ.เปรม เป็นบุตรชายคนรองสุดท้องจากจำนวน 8 คน ของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ต้นตระกูลติณสูลานนท์ กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) 

พล.อ.เปรม สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา สงขลา ในหมายเลขประจำตัว 167 และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อปี 2480 จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทคนิคทหารบก รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า (โรงเรียนนี้ก่อตั้งเมื่อปี 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า)

เมื่อจบการศึกษาในปี 2484 ได้เข้าร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของหลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ทำการรบในสงครามโลกครั้งที่สอง ระหว่างปี 2485 - 2488 ที่เชียงตุง 

พล.อ.เปรม เป็นบุคคลที่ทำคุณงามความดีให้กับประเทศชาติมากมาย โดยท่านเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 3 สมัย ช่วงปี 2523 - 2531 รวมระยะเวลาประมาณ 8 ปี นอกจากนี้ยังเป็นรัฐบุรุษ และเป็นประธานองคมนตรีในพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์


สำหรับหนึ่งในสถานที่สำคัญที่สร้างขึ้น ในสมัย ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้นก็คือ “สะพานติณสูลานนท์” แห่งจังหวัดสงขลา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสถานที่ที่รำลึกในคุณงามความดีของท่าน 

สะพานติณสูลานนท์ สร้างทอดข้ามทะเลสาบสงขลา เพื่อเชื่อมแผ่นดินระหว่างฝั่งสงขลาคือบ้านเขาเขียว อำเภอสิงหนคร กับฝั่งเกาะยอคือบ้านน้ำกระจาย อำเภอเมืองสงขลา

จุดประสงค์ของการสร้างสะพานแห่งนี้ คือ การรองรับการคมนาคมทางรถยนต์ โดยไม่ต้องรอข้ามแพขนานยนต์ซึ่งมีไม่เพียงพอกับปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้การเดินทางต้องใช้เวลานาน ทั้งเมื่อข้ามฝั่งมาแล้วก็ยังทำให้การจราจรติดขัดในตัวเมืองอีกด้วย ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2524 รัฐบาลจึงมีนโยบายจะพัฒนาจังหวัดสงขลา และอำเภอหาดใหญ่ให้เป็นเมืองหลัก โดยกรมทางหลวงเป็นเจ้าของโครงการ และบริษัทจากประเทศไต้หวันเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง เปิดให้ใช้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2527

สะพานติณสูลานนท์ เป็นส่วนหนึ่ง ของทางหลวงหมายเลข 4146 ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงหมายเลข 4083 (ระโนด-เขาแดง) กับทางหลวงหมายเลข 407 (สงขลา-หาดใหญ่) สะพานแห่งนี้สร้างเป็นสะพานคอนกรีตคู่ มีความยาวของสะพานแบ่งเป็น 2 ช่วง คือยาว 940 เมตร และ 1,700 เมตร รวมความยาวทั้งหมด 2,640 เมตร นับเป็นสะพานคอนกรีตคู่ที่ยาวที่ของเมืองไทยในยุคปัจจุบัน 
ทั้งนี้ชาวจังหวัดสงขลาและคนไทยอีกจำนวนมากนิยมเรียกสะพานติณสูลานนท์ว่า “สะพานติณ” “สะพานเปรม” หรือ “สะพานป๋าเปรม” ซึ่งด้วยความโดดเด่นและสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติอันสวยงามของสะพานติณสูลานนท์ ทำให้สะพานแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดสงขลา 

นอกจากนี้สะพานติณสูลานนท์ยังเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวจังหวัดสงขลา โดยมีการบรรจุชื่ออย่างไม่เป็นทางการของสะพานแห่งนี้ไว้ในคำขวัญจังหวัดสงขลาว่า “นกน้ำเพลินตา สมิหลาเพลินใจ เมืองใหญ่สองทะเล เสน่ห์สะพานป๋า ศูนย์การค้าแดนใต้”

รู้จัก “พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์” บ้านเกิดป๋าเปรม

เผยแพร่:    โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์
พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์

หลังจาก ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรีและรัฐบุรุษ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ประชาชนชาวสงขลาได้พร้อมใจกันมาร่วมแสดงความอาลัย ณ บริเวณพิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยเจ้าหน้าที่ได้นำภาพถ่ายและพานพุ่มมาวางไว้ตรงระเบียงหน้าบันได เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความเคารพและรำลึกถึงพลเอกเปรมด้วย 

สำหรับพิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ถือเป็นบ้านเกิดของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่เดิมสถานที่แห่งนี้เคยเป็นบ้านของรองอำมาตย์โทขุนวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) บิดาของพลเอกเปรม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งพัสดีเรือนจำสงขลา โดยชื่อ “พะทำมะรง” นี้เป็นชื่อเรียกเดิมของตำแหน่งข้าราชการกรมราชทัณฑ์ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2479 ตำแหน่งพะทำมะรงจึงได้ถูกยกเลิกไป

รูปถ่ายของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บริเวณบันไดทางขึ้นสู่พิพิธภัณฑ์
รูปถ่ายของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ บริเวณบันไดทางขึ้นสู่พิพิธภัณฑ์

ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์เป็นสถาปัตยกรรมแบบเรือนไทยที่สร้างขึ้นเพื่อจำลองสถานที่เกิดของพลเอกเปรม จากคำบอกเล่าความทรงจำในอดีตสมัยที่บิดาของท่านดำรงตำแหน่งพัสดีเรือนจำสงขลา โดยเป็นเรือนไทยยกพื้นชั้นเดียว หลังคาทรงปั้นหยา 2 หลังคู่ มีชานเปิดโล่งเชื่อมถึงกัน ภายในจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของครอบครัวติณสูลานนท์ในอดีต รวมทั้งประวัติตระกูล และรูปภาพของพลเอกเปรมในช่วงอายุและในอิริยาบถต่างๆ รวมถึงภาพเก่าของครอบครัวติณสูลานนท์อีกด้วย

ปัจจุบันเทศบาลนครสงขลาเป็นผู้รับผิดชอบและพัฒนาให้เป็นศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยว โดยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลา ผู้ที่ต้องการมาชมภายในพิพิธภัณฑ์สามารถมาชมได้ที่พิพิธภัณฑ์พธำมะรงค์ เลขที่ 1 ถนนจะนะ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โดยอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสงขลา เปิดให้เข้าชมวันอังคาร-อาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) ในเวลา 08.00-16.00 น. 

รูปภาพของพลเอกเปรมภายในพิพิธภัณฑ์
รูปภาพของพลเอกเปรมภายในพิพิธภัณฑ์
ประชาชนถ่ายภาพกับรูปหล่อพ่อ-แม่ ต้นสกุล ติณสูลานนท์
ประชาชนถ่ายภาพกับรูปหล่อพ่อ-แม่ ต้นสกุล ติณสูลานนท์

บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์

ประชาชนชาวสงขลามาร่วมไว้อาลัยบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์
ประชาชนชาวสงขลามาร่วมไว้อาลัยบริเวณด้านหน้าพิพิธภัณฑ์


#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน

Tags : ปิดฉากรัฐบุรุษผู้เป็น “เสาหลักบ้านเมือง”! ไม่มีเงินเรียนหมอ จึงมาเป็นนายกรัฐมนตรี ประธานองคมนตรี

view