เศรษฐกิจถดถอย’ เริ่มเห็นชัด
เผยแพร่: โดย: โสภณ องค์การณ์
จาก ASTVผู้จัดการออนไลน์
สถานการณ์เริ่มปรากฏให้เห็นชัดแล้วว่าเศรษฐกิจของโลกกำลังเผชิญกับภาวะถดถอย และยังไม่มีมาตรการอะไรที่จะทำให้หยุดได้ ยักษ์ใหญ่ด้านเศรษฐกิจในยุโรป เช่น เยอรมนี แรงขับเคลื่อนหลัก ก็เริ่มยอมรับว่ามีการชะลอตัวต่อเนื่อง
ประเทศอื่นๆ ซึ่งอยู่ในสภาวะเดียวกันจะยอมรับหรือไม่ก็สุดแล้วแต่ หรือยังอาจมองว่ามีหนทางที่จะต้านกับแรงกดดันของเศรษฐกิจชะลอตัว ขึ้นอยู่กับโครงสร้างและความแข็งแกร่ง ยิ่งต้องค้าขายในตลาดสากล ก็เลี่ยงได้ยาก
แม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งถูกมองว่าเป็นต้นตอของการเริ่มต้นภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากได้เปิดสงครามการค้ากับประเทศจีนด้วยการตั้งกำแพงภาษี ผู้นำทำเนียบขาว โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นฝ่ายเริ่มยิงกระสุนนัดแรก และถูกตอบโต้ทันควัน
จากนั้นก็ผลัดกันเล่นงานด้วยมาตรการภาษี สู้กันในท่าทีไม่มีใครยอมใคร เจ็บตัวด้วยกันทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะภาคเกษตร อุตสากรรม และผู้บริโภคอเมริกัน
ผู้นำสหรัฐฯ ยังทำปากแข็ง ไม่ยอมรับว่าเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะถดถอยแต่พฤติกรรม การแสดง อารมณ์ฉุนเฉียว บ่งชี้ชัดว่ามีความกังวลอย่างมาก เพราะเริ่มจะทำให้เสียความนิยมในช่วงกำลังเร่งหาเสียงชิงตำแหน่งผู้นำประเทศสมัยที่ 2
มีวันหนึ่ง ทรัมป์ทวีตคำถามว่า “ระหว่างเจอโรม พาวเวลล์ ผู้ว่าการเฟด กับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ใครเป็นศัตรูของสหรัฐฯ” ทำเอาตลาดหุ้นปั่นป่วนทันที
ทำให้ทรัมป์ออกอาการสติแตก ด้วยการบีบประธานธนาคารกลาง หรือเฟด ให้ลดดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าที่เป็นอยู่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากก่อนหน้านี้เฟดได้ลดไปเพียง 0.25 เปอร์เซ็นต์ แต่ทรัมป์อยากให้ลดลงอีกอย่างน้อย 0.25 เปอร์เซ็นต์
เห็นได้ว่า ถ้าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังดีอยู่ ตามคำคุยของทรัมป์ ก็ไม่จำเป็นจะต้องกระตุ้น ทรัมป์ โวมาตลอดว่าเศรษฐกิจของอเมริกาแข็งแกร่ง โดยวัดจากดัชนีตลาดหุ้นดาวโจนส์ ซึ่งเขยิบขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่ตัวเองเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
การเริ่มมาตรการตั้งกำแพงภาษีด้วยหวังว่าเมื่อสินค้าของจีนแพงขึ้นการส่งออกของจีนก็จะมีปัญหา การนำเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ จะลดลง เป็นการลงโทษจีน ทรัมป์เริ่มต้นด้วยการประเดิมตั้งกำแพงภาษีสินค้าของจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์
จากนั้นขยับไปจนถึง 550 แสนล้านดอลลาร์ ต่างกันในช่วงเวลา เป็นการบังคับให้จีนต้องตอบโต้ด้วยมาตรการอย่างเดียวกัน และไม่แสดงท่าทีว่าจะหวั่นเกรงพลังกดดันจากผู้นำสหรัฐฯ เพราะรู้ว่าถ้ายอมทรัมป์จะต้องได้ทีขี่แพะไล่ไม่ยอมหยุด
ยุทธศาสตร์ของทรัมป์เริ่มต้นด้วยการเล่นไม้แข็ง คือการตั้งกำแพงภาษีและใช้ไม้อ่อนก็คือตั้งวงเจรจากับฝ่ายจีนเพื่อหาทางออก แต่ก็ล้มเหลวโดยตลอด ทำให้การตั้งกำแพงภาษีจากเพียง 10 เปอร์เซ็นต์ จนล่าสุดจะขึ้นไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์
เมื่อสงครามการค้าเริ่มโดยผู้นำสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบไปทั่วโลก แต่ทรัมป์ก็ยังนึกว่าตัวเองไม่ผิด ตั้งแต่รับตำแหน่งผู้นำ นอกจากไม่เคยรับว่าตัวเองทำผิดอะไรแล้วยังประกาศ ทำเอาชาวโลกตะลึง ว่าตัวเองเหมือนกับเป็นพระเจ้าองค์ที่ 2 มาจุติ
เหมือนกับไม่กลัวว่าคนทั้งโลกจะมองว่าตัวเองบ้า ทรัมป์ยังประกาศว่าตัวเองเป็นเหมือนคนที่ถูกเลือกมาโดยบัญชาแห่งสวรรค์นั่นเลย ทำให้ถูกมองว่าอย่างนี้ไม่ใช่เพียงแค่กินยาผิดซองธรรมดาแล้วเพ้อเจ้อ ต้องเข้าขั้นลุ่มหลงตัวเองจนบ้า
นั่นเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่คนอเมริกันต้องวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรกับผู้นำประเทศซึ่งมีพฤติกรรมและคำพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย พลิกไปมาตามอารมณ์ความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องมีที่ปรึกษา แวดล้อมตัวเองด้วยพวกลูกขุนพลอยพยักทั้งนั้น
มาขั้นนี้ นักจิตวิทยา และนักวิเคราะห์สภาพจิตมีความเห็นว่าทรัมป์อยู่ในภาวะ “ไม่ปกติทางจิต” นอกเหนือจากการหลงตัวเอง นายจอร์จ คอนเวย์ สามีที่ปรึกษาของทรัมป์ บอกว่าผู้นำทำเนียบขาวมีปัญหาด้านสุขภาพจิตมานานแล้ว
อีกราย นายแอนโทนี สการามุชชี บอกว่าทรัมป์มีสภาพ “คนสติแตก” มีความฉุนเฉียวโมโหร้ายอย่างไม่มีเหตุผล สมควรถูกถอดถอนด้วยปัญหาสุขภาพจิต เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายจากการตัดสินใจพลาดด้านการค้า เสี่ยงการเกิดสงคราม
เมื่อเป็นเช่นนี้ แต่ละประเทศต้องหามาตรการป้องกันตัวเองผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย จากปัจจัยในประเทศและต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความแข็งแกร่งด้านพื้นฐาน ทรัพยากรด้านการเงิน การคลัง และเงินทุนสำรองต่างๆ
ประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออกสินค้า ธุรกรรมด้านการค้า การเงินระหว่างประเทศรู้สึกชัดถึงภาวะถดถอย นั่นก็คือเศรษฐกิจซึ่งไม่แสดงให้เห็นถึงอัตราการขยายตัว ในเอเชียที่เห็นชัดคือสิงคโปร์ ซึ่งเป็นคู่ค้ากับจีนอันดับหนึ่ง
มีการประเมินว่าเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยประเทศที่จะมีปัญหาก่อนใครอื่นก็คือ ประเทศที่มีหนี้สินมากและต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง ขาดอำนาจต่อรอง ประเทศที่ต้องพึ่งพารายได้จากการส่งออก การท่องเที่ยว ขายสินค้าอุตสาหกรรม
รวมทั้งประเทศที่ขาดกำลังซื้อภายในประเทศ ประชาชนยากจน ขาดรายได้ อัตราการว่างงานแอบแฝงสูง รวมทั้งการขาดโอกาสที่จะสร้างรายได้ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจฐานราก มีรายได้น้อย ขาดอาชีพมีรายได้สม่ำเสมอต่อเนื่อง
ในภาวะเช่นนี้ ประเทศที่ปรับตัวได้ทัน ลดค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น หารายได้ด้านอื่น และมีผู้นำมีความสามารถประชาชนศรัทธาเชื่อถือ และมีภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง มีโอกาสจะฟันฝ่าอุปสรรคไปได้โดยไม่บอบช้ำมาก ใช้เวลาในการฟื้นตัว
ต้องรอดูว่าการประชุมกลุ่มประเทศจี 7 ที่ฝรั่งเศสจะมีผลดีอย่างไรหรือไม่
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน