จากกรุงเทพธุรกิจ
ส่อง 4 ปัจจัย ที่ทำให้ธุรกิจ 'คาเฟ่' ในไทย แม้เข้าง่าย แต่ใช่จะอยู่ในตลาดได้นาน โดยเฉพาะร้านแนวหรูที่เน้นเจาะกลุ่มผู้บริโภคมีกำลังซื้อ ที่จำต้องโบกมือลาไปแล้วหลายร้าน
การเติบโตและหายไปของ "ร้านอาหาร" และ "คาเฟ่" เป็นเรื่องธรรมดาของวงจรธุรกิจ ที่มีต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทั้งจากปัจจัยภายใน และภายนอกที่ควบคุมไม่ได้
ช่วงต้นปี 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยคาดการณ์ ถึงธุรกิจร้านอาหารจะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 4.37-4.41 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 1.4–2.4% จากปี 2562 โดยระบุว่าถึงแม้จะมีการขยายตัวแต่ก็มีแนวโน้มต้องพบกับโจทย์ท้าทายรอบด้านที่รออยู่ อาทิ การหดตัวลงของยอดขายในร้านเดียวกัน (Same Store Sales) ที่มีการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องจาก 15.2 ล้านบาท/สาขา ในปี 2559 มาเป็น 14.3 ล้านบาท ในปี 2562 รวมถึงต้นทุนทางธุรกิจที่คาดว่าจะสูงขึ้น
ขณะเดียวกัน พฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพยายามควบคุมต้นทุนในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการให้อยู่ในระดับที่ผู้บริโภคคาดหวังให้ได้ นอกจากนี้บทบาทที่มากขึ้นของเทรนด์เทคโนโลยีก็ถือว่า เป็นความท้าทายที่ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถรองรับห่วงโซ่ธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้อย่างการระบาดของ "โควิด-19" ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง หรือการดำเนินธุรกิจบริการที่ต้องพบปะลูกค้าโดยตรงต้องหยุดชะงัก จนส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารและคาเฟ่ต้องชะงักตามไปด้วย สถานการณ์เหล่านี้ไม่ได้กระทบทั้งธุรกิจรายเล็กๆ เท่านั้น แต่ยังต่อเนื่องถึงธุรกิจรายใหญ่ที่อยู่ในสนามนี้ จนต้องโบกมือลา
หลายธุรกิจตัดสินใจปิดตัวลงในช่วงนี้ เพื่อยุติกิจการก่อนขาดทุน หรือด้วยปัจจัยอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่คาเฟ่ที่เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อปานกลางค่อนสูง อย่าง Vanilla (วานิลลา) ในเครือ S&P, The Coffee Bean & Tea Leaf เชนกาแฟพรีเมียมสัญชาติอเมริกัน และ Ladurée (ลาดูเร) ทีรูมสุดหรูจากปารีส
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปดูการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ "คาเฟ่หรู" ที่ทยอยถอนตัวออกจากสนามธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่มไทย พร้อมหาคำตอบจากคำถามที่ว่า
..ทำไม คาเฟ่หรู ถึงอยู่ในไทยได้ไม่(ค่อย)นาน?
- Vanilla
Vanilla (วานิลลา) คาเฟ่อาหารและเครื่องดื่มทั้งอาหารจานหลัก รวมถึงของหวานสไตล์อิตาเลียน และอาหารนานาชาติ ที่ตกแต่งร้านให้ลูกค้าอยู่ท่ามกลางบรรยากาศทันสมัย อบอุ่น ซึ่งทางร้านเรียกมันว่าประสบการณ์แบบวานิลลา เริ่มต้นให้บริการในกรุงเทพฯ ที่มี วิสาขา ไรวา ทายาทธุรกิจ S&P เป็นเจ้าของไอเดีย ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2004
ปี 2004 วานิลลาเริ่มต้นเป็นร้านคาเฟ่เล็กๆ ใจกลางสยาม ที่ให้บริการอาหารฝรั่งแบบง่ายๆ และเบเกอรี่สไตล์โฮมเมด หลังจากผลการตอบรับที่ดี ในปี 2005 จึงได้เปิดร้านอาหารเต็มรูปแบบขึ้นกลางซอยทองหล่อภายใต้ชื่อ Vanilla Restaurant เสิร์ฟอาหารฝรั่งและเอเชีย
ปี 2006 ร้าน Vanilla Brasserie ได้เปิดตัวขึ้นที่สยามพารากอน ในรูปแบบคาเฟ่สไตล์ฝรั่งเศส หลากหลายรสชาติทั้งคาวและหวาน ปี 2008 ได้เปิดร้านชื่อ Vanilla Garden ในซอยเอกมัย 12 โดยมีคอนเซปต์เป็นคาเฟ่ในสวน ร่มรื่นที่สงบและเป็นส่วนตัว ประกอบด้วยร้าน Vanilla Cafe ให้บริการอาหารญี่ปุ่น-อิตาเลียน และร้าน Royal Vanilla ที่ให้บริการอาหารจีนติ่มซำ
ปี 2012 ผุดร้าน Vanilla Homecafe เปิดให้บริการภายในศูนย์การค้าสีลมคอมเพล็กซ์ ให้บริการอาหารไทยพื้นบ้าน และอาหารไทยร่วมสมัย ที่ผสมผสานเมนูแบบฝรั่งกับวัตถุดิบแบบไทยๆ อย่างลงตัว และอีก 2 ปีถัดมามีร้าน Royal Vanilla ในปี 2014 ก่อนปิดตัวลงและปรับเป็นร้าน Vanilla Bakeshop ร้านขนมอบแนวใหม่ ที่ทำสดใหม่แบบที่ต่อที่ในบรรยากาศแบบครัวเปิด
ท้ายที่สุดเดือน ก.ค. ปี 2020 วานิลลาประกาศปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยก่อนปิดเหลือสาขาอยู่ 2 สาขา คือสาขาเอ็มควอเทียร์ จะเปิดให้บริการวันสุดท้าย ในวันที่ 23 สิงหาคม 2563 ส่วนร้านสาขาสยามพารากอน จะเปิดให้บริการวันสุดท้าย ในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 นี้
ธุรกิจรสวานิลลา
ร้านเครือวานิลลา อยู่ภายใต้ บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) หรือ ธุรกิจร้านอาหาร กาแฟ เครื่องดื่ม ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เบเกอรี่ อาหารสำเร็จรูปต่างๆ ที่ใช้ชื่อ ร้านเอส แอนด์ พี ที่รู้จักกันดี
เรทราคาของวานิลลา สำหรับเครื่องดื่มอยู่ที่ 90-150 บาท ส่วนราคาอาหารเฉลี่ย 251-500 บาท/เมนู ซึ่งหากประเมินจากสถานที่ตั้งของร้านย่านใจกลางกรุง และกลุ่มเป้าหมาย ราคาเหล่านี้ก็ดูสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายผู้มีรายได้ระดับกลางและสูง
จุดขายของวานิลลา ไม่ได้ขายแค่อาหารและเครื่องดื่ม แต่ขายดีไซน์ แถมบรรยากาศอบอุ่น ถ่ายรูปสวย สะท้อนถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้าที่มาใช้บริการ ผ่านการตกแต่งที่หลากหลายสไตล์เชื่อมโยงกับสไตล์อาหารที่ต่างกันออกไปในแต่ละสาขา ทำให้วานิลลาเป็นอีกหนึ่งคาเฟ่ที่ได้รับความนิยมจากสายคาเฟ่ ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ลูกค้าใหม่ๆ กลายเป็นลูกค้าเก่า ที่ต้องอาศัยการซื้อซ้ำ แม้สารพัดเมนูจะทำให้ลูกค้าติดใจแต่จัดอยู่ในกลุ่มลูกค้าที่จำกัด
- The Coffee Bean & Tea Leaf
The Coffee Bean & Tea Leaf (เดอะ คอฟฟี่ บีน แอนด์ ทีลีฟ) ร้านกาแฟสัญชาติอเมริกัน ที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 1963 โดย Jollibee Food Corp มีสาขาที่เปิดเองและแฟรนไชส์กว่า 1,000 แห่งในสหรัฐอเมริกาและอีก 31 ประเทศทั่วโลก ก่อนขยายสาขามาเจาะตลาดคอกาแฟไทยเมื่อ 29 มีนาคม 2556 โดยมีบริษัท เอฟโวลูชั่น แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเข้า และขยายสาขาในไทย 8 สาขา ได้แก่ Central Embassy, Central World, MBK Center, Mike Shopping Mall พัทยา, Zpell ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต, MBK Center, เมกา บางนา และ The Bright พระราม 2
เมื่อวันที่ 18 ก.ค.63 เพจ The Coffee Bean & Tea Leaf Thailand ได้ประกาศว่า จะปิดทำการอย่างถาวรทุกสาขา ในวันที่ 20 ก.ค. 63 พร้อมขอบพระคุณลูกค้าทุกท่านที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอดและจะขอเก็บความทรงจำดีๆ ที่ได้รับจากลูกค้าทุกท่านไว้ด้วยหัวใจ
The Coffee Bean & Tea Leaf บนเส้นทางร้านกาแฟไทย
แม้ The Coffee Bean & Tea Leaf จะชูกาแฟและชาเป็นหลัก แต่ยังมีอาหารคาวหวาน สไตล์ตะวันตกพร้อมเสิร์ฟ โดยเฉลี่ยราคากาแฟและเครื่องดื่มอยู่ที่ 95-105 บาท ส่วนราคาอาหารเริ่มต้นที่ 105 บาท
แม้จะมีเรื่องราวของเครื่องดื่มกาแฟพรีเมียมที่ชวนลิ้มลอง มีอาหารครบวงจร มีโปรโมชั่นจูงใจร่วมโปรโมชั่นกับพาร์ทเนอร์เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้ามาลิ้มลองเป็นครั้งคราว แต่ The Coffee Bean & Tea Leaf ยังไม่อาจต้านทานการต่อสู้อย่างดุเดือดในตลาดกาแฟและเครื่องพรีเมียมในไทยได้ จากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง คู่แข่งที่มีแบรนด์ที่เป็นรู้จักมากกว่า เมื่อเทียบกับแบรนด์ที่มีเรทราคาใกล้เคียงกัน
#สำนักงานบัญชี,#สำนักงานสอบบัญชี,#ทำบัญชี,#สอบบัญชี,ที่ปรึกษา,การจัดการ,เศรษฐกิจการลงทุน