สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

OEM-ODM-OBM 3 ทางเลือกธุรกิจแฟชั่น ...ที่ต้องคิดสร้างสรรค์

จากประชาชาติธุรกิจ




อุตสาหกรรม แฟชั่นในบ้านเราเวลานี้มี 3 ทางเลือกหลัก ๆ ให้เดิน

ทางหนึ่งคือ OEM (original equipment manufacturer) หรือการเป็นผู้ผลิตตามคำสั่งซื้อของลูกค้า ซึ่งปัจจุบันมีทั้งรายใหญ่ รายเล็ก รายกลาง โดยวิถีธุรกิจลักษณะนี้ถือเป็นธุรกิจดั้งเดิมที่ผู้ประกอบการไทยทำมานานแล้ว โดยจุดแข็งก็คือ คุณภาพฝีมือของแรงงานไทย และเทคโนโลยี

จนเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่ทั้งภาครัฐ และเอกชน ก็พยายามจุดกระแส ODM (original design manufacturing) และ OBM (original brand manufacturer) ให้เป็นทางเลือกใหม่ให้กับธุรกิจส่งออกสินค้าเสื้อผ้าและแฟชั่น เพื่อสร้างจุดแข็ง จุดขายเพื่อหนีคู่แข่งอย่างจีนและเวียดนาม ที่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงาน

ODM โดยความหมายก็คือ การพัฒนาขึ้นมาอีกสเต็ปหนึ่งของผู้ประกอบการไทย คือ นอกจากจะมีฝีมือการผลิตตามออร์เดอร์ของลูกค้าแล้ว กลุ่มนี้จะมีความคิดสร้างสรรค์ด้านดีไซน์หรือการออกแบบ โดยใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปในชิ้นงานด้วย ฉะนั้นนอกจากลูกค้าจะซื้องานเดิม ๆ แล้ว เขาก็อาจจะซื้องานใหม่ที่เราคิดและพัฒนาขึ้นมาด้วย ซึ่งปัจจุบันกลุ่มนี้กำลังพัฒนาและเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ โดยย่านที่สำคัญก็คือ ประตูน้ำ จตุจักร โบ๊เบ๊ สยามสแควร์ ฯลฯ

ส่วนทางเลือกที่ 3 ก็คือ OBM หรือการเป็นผู้ผลิต ผู้ขาย ภายใต้แบรนด์ของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันเป็นความมุ่งหวังของผู้ประกอบการจำนวนมาก ที่อยากพัฒนาและสร้างธุรกิจของตัวเองให้ก้าวไปจนถึงการมีแบรนด์ที่ลูกค้า รู้จักและยอมรับ ซึ่งอาจจะเริ่มต้นที่ประเทศไทย หรือถ้าไปไกลกว่านั้นก็คือ แบรนด์เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ

ซึ่งปัจจุบัน OEM ยังเป็นทางเลือกหลักของผู้ประกอบการที่สามารถสร้างสรรค์ รายได้เข้าประเทศไทย ปีปีหนึ่งหลายพันล้านบาท ขณะที่งานในส่วน ODM (original design manufacturing และ OBM (original brand manufacturer) เมื่อคิดเป็นมูลค่าในการสร้างรายได้เข้าประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีการตีเป็นมูลค่าประมาณ 5-10% ของตัวเลขการส่งออกเท่านั้น

โดย ทั้ง 3 แนวทางนี้เราสามารถเห็นพัฒนาการของผู้ประกอบการไทยได้ในงานแสดงสินค้าเสื้อ ผ้าแฟชั่นและเครื่องหนัง 2553 หรืองาน Biff & Bill 2010 ซึ่งปีนี้ได้เลื่อนมาจัดเร็วขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 เมษายน 2553 จากเดิมที่จะจัดประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี

คมสรรค์ วิจิตรวิกรม ผู้บริหารโครงการ Street Fashion Runway และ 1 ใน ผู้ประกอบการในกลุ่ม ODM บอกว่า จากการที่งาน Biff & Bill 2010 ปีนี้เลื่อนมาจัดเร็วขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการกลุ่ม Street Fashion Runway ที่เคยร่วมออกงานประมาณ 50-60 รายในปีที่แล้วนั้น ลดลงเหลือออกงานในปีนี้เพียง 20 กว่ารายเท่านั้น

"งาน ในปีนี้ในภาพรวมของ Street Fashion Runway จึงไม่มีคอนเซ็ปต์ มีแต่การพัฒนาเรื่องดีไซน์ของแต่ละแบรนด์ที่จะต้องสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่ ๆ เพื่อสร้างความสนใจให้เกิดขึ้นกับบายเออร์ที่มาเดิน ซึ่งแต่ละรายก็บอกว่าไม่มั่นใจว่าจะมีบายเออร์จากประเทศต่าง ๆ มามากน้อยขนาดไหน"

ส่วนการเลื่อนจัดให้เร็วขึ้น ก็มีทั้งมุมบวกและมุมลบ

คมสรรค์กล่าวว่า มุมบวกก็คือ ทางกรมส่งเสริมการส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่ม OEM มองประโยชน์ที่จะได้จาก JTEPA โดยมีกลุ่มที่ปรึกษาญี่ปุ่น แนะนำให้เลื่อนมาจัดในช่วงนี้ เพราะเป็น ฤดูการซื้อหลักของญี่ปุ่น ที่ผู้ประกอบการไทยน่าจะได้ประโยชน์มากขึ้น เพราะตลาดญี่ปุ่นก็นับเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ พอสมควร

ส่วนมุมลบก็ คือ พอเราพุ่งเป้าไปที่ตลาดญี่ปุ่น และเลื่อนแบบกะทันหัน ในกลุ่มผู้ประกอบการก็ต้องทำการบ้านอย่างหนัก ในการเชิญชวนให้ลูกค้าประเทศต่าง ๆ นอกเหนือจากญี่ปุ่น ให้ปรับตารางเดินทางมาประเทศไทยในช่วงนี้ด้วย

ทั้งนี้เพราะในกลุ่ม ผู้ ODM และ OBM มีตลาดหลักที่แตกต่างกันออกไป คือมีทั้งยุโรปและอาเซียน ปีนี้จึงเป็นอีกหนึ่งปีที่ผู้ประกอบการแฟชั่นไทยยังต้องลุ้นว่าจะมี บายเออร์จากต่างประเทศมาหรือไม่ เพราะไม่ใช่ปัจจัยเรื่องเวลาอย่างเดียว แต่ยังมีปัจจัยเรื่องการเมือง คือการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดง ที่มีเนวโน้มชัดเจนคือยืดเยื้อ

"ฉะนั้นสำหรับผู้ประกอบการแฟชั่นที่ ร่วมออกงาน Biff & Bill 2010 ในปีนี้ นอกจากจะต้องตีโจทย์ในการคิดคอนเซ็ปต์เสื้อผ้าแฟชั่นใหม่ ๆ ให้เร็วและให้ทันในการออกงานแล้ว ยังต้องทำใจรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนด้วย" คมสรรค์กล่าวและว่า แต่อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการที่จะเรียนรู้และปรับตัวได้

เพราะ ไม่ว่าปัญหาการเมืองจะเป็นอย่างไร แต่สำหรับอุตสาหกรรมส่งออกเสื้อผ้าแฟชั่นและเครื่องหนังของไทย ก็ยังคงพัฒนาก้าวไปข้างหน้าโดย 3 กลุ่มหลัก นั่นคือ OEM-ODM-OBM

ปี นี้ภาครัฐอาจจะให้น้ำหนักกับกลุ่ม OEM มากหน่อย เพราะมองประโยชน์ที่จะได้จาก JTEPA ทำให้ลดน้ำหนักในการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่ม ODM และ OBM น้อยลงไป แต่ในข้อเท็จจริงก็ต้องยอมรับว่า ODM และ OBM เป็นกลุ่มกำลังหลักสำคัญในอนาคต ที่จำเป็นต้องส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เพราะบ้านเราพึ่งพา OEM อย่างเดียวไม่ได้ เราต้องสร้าง ODM และ OBM เพื่อสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งอาจจะต้อง ใช้เวลา

"กล่าว โดยรวม บ้านเราหนีไม่พ้น 3 ทางเลือกหลักนี่แหละ โดยในมุมของผู้ประกอบการเชื่อว่าไม่มีรายไหนที่จะหยุดคิดหยุดพัฒนา เพราะทุกรายก็ต้องพัฒนาเพื่อสร้างให้ธุรกิจอยู่รอด โดยเฉพาะในเรื่องของดีไซน์ ที่ทุกรายต่างพยายามนำมาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าของตัวเอง จะเหลือก็แต่ภาครัฐที่ควรจะต้องปรับสมดุล ในการส่งเสริมทั้ง 3 กลุ่มไปพร้อม ๆ กัน ในการสร้างสรรค์ อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยให้เติบโตได้ ทั้งในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น ยุโรป อเมริกา" คมสรรค์กล่าวตอนท้าย

view