ที่มา : สำนักข่าวไทย
ศาลแพ่ง 5 เม.ย.-นายกรัฐมนตรีร้องศาลให้ นปช.ออกพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ ทั้งขอให้ศาลไต่สวนออกมาตรการทันที รองผบช.น - ผบก.น.5 นายทหาร กอ.รมน. เบิกความ กลุ่มเสื้อแดงสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ศาลแพ่งสั่งยกคำร้อง ชี้ กอ.รมน.มีอำนาจที่จะดำเนินการได้อยู่แล้ว ไม่จำต้องพึ่งอำนาจศาล เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 เมษายน ที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ..รมน.) ในนามสำนักนายกรัฐมนตรี มอบอำนาจให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะ รอง ผอ.รมน. ผู้แทนเป็นโจทก์ยื่นคำร้อง เรื่องขอให้บังคับตามข้อกำหนด ให้ศาลมีคำสั่งให้ นายวีระ มุสิกพงศ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ทั้ง 5 คน นำมวลชนกลุ่ม นปช.และกลุ่มคนเสื้อแดงทั้งหมด พร้อมด้วยทรัพย์สินและยานพาหนะทุกชนิดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกไปจากบริเวณ ถนนราชดำริตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกประตูน้ำ ถนนราชดำริตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงสถานีรถไฟฟ้าราชดำริ ถนนพระรามที่ 1 ตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกปทุมวัน และถนนเพลินจิตตั้งแต่แยกราชประสงค์ถึงแยกชิดลม รวมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามกลุ่มบุคคลทั้งห้าและกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าไปใน บริเวณถนนพระราม 4 ตั้งแต่แยกตัดกับถนนสาทรถึงแยกสามย่าน ถนนสาทรตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระรามที่ 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนสีลมตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระราม 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนสุรวงศ์ตั้งแต่แยกตัดกับถนนพระราม 4 ถึงแยกตัดกับถนนเจริญกรุง ถนนเจริญกรุงตั้งแต่แยกตัดกับถนนสุรวงศ์ถึงถนนสาทร ถนนราชดำริตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าราชดำริถึงแยกตัดกับถนนพระราม 4 ถนนพญาไทตั้งแต่แยกสามาย่านถึงถนนราชเทวี ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่แยกตัดกับถนนสุขุมวิทถึงแยกตัดกับถนนพระราม 4 ถนนดินแดงตั้งแต่แยกตัดกับถนนรัชดาภิเษกถึงแยกตัดกับถนนทวีมิตร ถนนทวีมิตร และถนนรัชดาภิเษกตั้งแต่แยกตัดกับถนนดินแดงถึงแยกตัดกับรัชดา ซ. 8 หากกลุ่มบุคคลทั้งห้า และกลุ่มผู้เข้าร่วมชุมนุมเข้าไปในบริเวณพื้นที่ตามข้อกำหนดดังกล่าว ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ออกจากพื้นที่ดังกล่าว โดยให้มีผลทันทีที่ศาลมีคำสั่ง โดยคำร้องสรุปว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน.เป็นส่วนราชการรูปแบบเฉพาะอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายก รัฐมนตรี โดยนายกรัฐมนตรีเป็น ผอ.รมน. มีอำนาจฟ้องคดี และดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีอันเกี่ยวเนื่องกับอำนาจหน้าที่ของ กอ.รมน. เนื่องจากรัฐบาลได้รับรายงานจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ว่าจะมีการรวมตัวของบุคคลต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังให้เกิดเหตุการณ์ที่อาจร้ายแรงในช่วงตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคมเป็นต้นไป และมีแนวโน้มจะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองจากกลุ่มบุคคลบางกลุ่มซึ่งประกาศ เจตนารมณ์ชัดเจนในการปลุกระดมมวลชน ระดมยานพาหนะจำนวนมาก และนัดชุมนุมในการเรียกร้องตามความต้องการในแนวทางและผลประโยชน์ของกลุ่ม เพื่อมุ่งหวังสร้างกระแความไม่ชอบธรรมของรัฐบาล โดยกำหนดการชุมนุม และเคลื่อนไหวตามเส้นทาง ปิดล้อมสถานที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนทั่วไป รวมทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน คำร้องระบุอีกว่า การชุมนุมดังกล่าวมีเจตนาในลักษณะยืดเยื้อ ยั่วยุให้เกิดความรุนแรง อาจมีการกระทบกระทั่งระหว่างผู้ชุมนุมด้วยกัน หรือประชาชนผู้สุจริต และอาจมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีก่อเหตุระหว่างการชุมนุมขยายลุกลามจนเกิดความ รุนแรงมากยิ่งขึ้น สร้างความเสียหายให้แก่ประเทศโดยรวม แต่พฤติการณ์ดังกล่าวยังไม่มีความจำเป็นต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินว่าด้วย การบริหารราชการในถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการในการรักษาความสงบ และการรักษาความปลอดภัยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 มอบหมายให้ กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบในการป้องกัน ปราบปราม ระงับยับยั้งและแก้ไขบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภายในพื้นที่ และระยะเวลาตามที่กำหนดได้ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2553 เวลากลางวัน บุคคลทั้งห้า ในฐานะแกนนำ นปช.และกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุมต่อเนื่องที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินนอก และบริเวณใกล้เคียง เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรียุบสภา ซึ่งมีประชาชนร่วมชุมนุมหลายหมื่นคนจนถึงวันที่ 3 เมษายน จากนั้นได้มีการเคลื่อนย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนหลายหมื่นคนไปชุมนุมและ ตั้งเวทีปราศรัยที่สี่แยกราชประสงค์ปิดกั้นและกีดขวางการคมนาคมขอประชาชน ทั่วไป อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนดังกล่าว ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจของประเทศ กระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมเกินกว่าขอบเขตรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 34 และมาตรา 63 อันเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย ผอ.รมน.โดยผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยผู้รับมอบอำนาจให้ ปฏิบัติแทน อาศัยอำนาจตามมาตรา 18 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 และข้อกำหนดเรื่องห้ามบุคคลเข้าหรือให้ออกจากพื้นที่ อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 3 เมษายน 2553 ให้บุคคลทั้งห้า กับพวกผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่สี่แยกราชประสงค์ และเส้นทางใกล้เคียง ซึ่งเจ้าพนักงานได้นำประกาศให้แก่บุคคลทั้งห้า และทำการประกาศเผยแพร่ทางสื่อมวลชนต่าง ๆ ให้ทราบโดยทั่วกัน แต่ยังคงมีการฝ่าฝืนไม่ออกจากพื้นที่ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลเข้าไปกระทำการใด ๆ โดยปิดกั้นหรือกีดขวางพื้นที่ และเส้นทางสาธารณะที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจสำคัญ และเกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อการประกอบสัมมาอาชีพ และการดำรงชีวิตโดยปกติของประชาชน ซึ่งมิใช่การชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ ผอ.รมน.อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2 และวรรคท้ายของข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร พ.ศ.2551 เรื่องห้ามบุคคลเข้า หรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่อาคาร หรือสถานที่ที่กำหนด ฉบับที่ 6 ลงวันที่ 4 เมษายน 2553 ห้ามบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์อันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบ ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินของประชาชน หรือของรัฐ อาทิ การปลุกระดม ยุยงปลุกปั่น สร้างสถานการณ์เพื่อให้เกิดความรุนแรงหรือเป็นอันตรายต่อความสงบสุขของ ประชาชน และความมันคงของรัฐ เข้าหรือออกจากพื้นที่ เว้นแต่บุคคลที่ได้รับอนุญาต การกระทำของบุคคลทั้งห้า และผู้ร่วมชุมนุมทั้งหมด เป็นการใช้สิทธิการชุมนุมบนถนนสาธารณะโดยกระทบ และจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของประชาชน ทั้งที่กลุ่มบุคคลทั้งห้า และผู้ร่วมชุมนุมสามารถใช้สิทธิการชุมนุมในที่สาธารณะอื่นได้โดยสงบ เปิดเผย และไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั่วไป จึงจำต้องยื่นคำร้องให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับให้กลุ่มบุคคลออกไปจากสถานที่ ดังกล่าว และเส้นทางสาธารณะข้างต้นด้วย รวมทั้งขอให้ศาลไต่สวนเพื่อออกมาตรการโดยทันที ต่อมาเวลา 12.50 น. ศาลแพ่งมีคำสั่งรับคำร้องไว้ และเปิดห้องพิจารณาคดีที่ 402 ทำการไต่สวนพยานผู้ร้องรวม 3 ปาก โดย พ.อ.วิจารณ์ จดแตง ทหารสังกัด กอ.รมน. เบิกความสรุปว่า การที่กลุ่มเสื้อแดงชุมนุมบนถนนราชประสงค์ ทำให้การจราจรติดขัด ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า บริษัท โรงพยาบาล และโรงแรม ที่ประกอบธุรกิจ ได้รับผลกระทบมาก การชุมนุมไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แม้จะมีการออกประกาศเตือนฉบับที่ 5 ให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่เนื่องจากเป็นการทำผิดกฎหมาย และประกาศฉบับที่ 6 ห้ามมิให้ผู้ชุมนุมเข้าไปบริเวณถนน 11 สายแล้วก็ตาม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมยังคงนิ่งเฉยไม่ปฏิบัติตาม ทั้งยังคงปราศรัยยั่วยุปลุกปั่นก่อให้เกิดความวุ่นวายมากขึ้น และเดินทางไปชุมนุมในที่ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ประชาชนไม่สามารถใช้ถนนได้ โดยสมาคมธุรกิจย่านราชประสงค์และสมาคมศูนย์การค้าไทยออกแถลงการณ์เนื่องจาก ได้รับผลกระทบต่อธุรกิจไม่สามารถเปิดบริการได้ทำให้ได้รับความเสียหาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งบังคับผู้ชุมนุม เพราะหากเจ้าหน้าที่จะดำเนินการใช้อำนาจเด็ดขาดปราบปรามประชาชนแล้ว อาจมีผลกระทบต่อประชาชนที่บริสุทธิ์ เพราะผู้ชุมนุมมีเป็นจำนวนมาก ต่อมา พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง ผบก.น.5 เข้าเบิกความสรุปว่า ได้นำประกาศฉบับที่ 5 และ 6 ไปมอบให้แกนนำและผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงทราบคำสั่งให้ออกจากถนนราชประสงค์ และห้ามข้าถนน 11 สายสำคัญแล้ว เพราะประชาชนได้รับความเดือดร้อน โดยในบริเวณนั้นเป็นสถานที่ตั้งธุรกิจสำคัญและเป็นแหล่งท่องเที่ยวมีนักท่อง เที่ยวจำนวนไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้โดยสะดวกตามปกติ โดยได้ประสานเจรจากับแกนนำแล้วยอมเปิดช่องทางเดินรถ 1 ช่องทาง แต่เมื่อผู้ชุมนุมมารวมตัวกันจำนวนมากช่องทางดังกล่าวก็ถูกปิดไปโดยปริยาย โดยการชุมนุมปรากฏว่ามีการกระทบกระทั่งกับประชาชนเป็นระยะ อาทิ เหตุการณ์มีผู้ขับรถยนต์ชน จยย.ของผู้ชุมนุมล้มเสียหาย จึงถูกกรูเข้าไปรุมทำร้าย เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปห้าม และมีการแจ้งความเป็นคดีความกัน ต่อมา ด้าน พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รอง ผบช.น. ซึ่งรับผิดชอบงานจราจร เบิกความสรุปว่า การชุมนุมของเสื้อแดงบนถนนราชประสงค์ ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมต่อการคมนามของกรุงเทพฯ ส่งผลกระทบให้ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนต้องหลีกเลี่ยงเส้นทาง โดยประชาชนที่มาจากถนนสีลม-สาทร จะมุ่งหน้าไปถนนวิภาวดีรังสิต ต้องอ้อมไปใช้ถนนพญาไทขาออก หากมาจากถนนพระราม 1 ต้องเลี่ยงไปใช้ถนนพญาไท ที่มาจากถนนสุขุมวิท ต้องเลี่ยงไปใช้ถนนวิทยุและพระราม 4 ทำให้การจราจรติดขัดหนาแน่นต่อเนื่อง ขณะที่ รพ.ตำรวจ จากเดิมที่ผู้ป่วยไร้ญาติสามารถเข้าใช้บริการได้ 3 ช่องทาง เหลือเข้าได้เพียงช่องทางเดียวคือถนนอังรีดูนังต์ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ทำแบบสอบถามผู้ป่วยและญาติที่มาใช้บริการในวันที่ 4 เมษายน ที่มีการชุมนุม จำนวน 116 คน พบว่าร้อยละ 84.7 ได้รับความไม่สะดวกในการเดินทาง และร้อยละ 82.9 ได้รับความไม่สะดวกจากเสียงรบกวน นอกจากนี้รถโดยสารประจำทางกว่า 20 สายต้องหยุด-และเปลี่ยนเส้นทางการให้บริการทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ต่อมาเวลา 18.25 น. ศาลอ่านคำร้อง โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนฟังได้ว่าการกระทำของแกนนำทั้ง 5 และผู้ร่วมชุมนุมเป็นการปิดกั้นกีดขวางเส้นทางคมนาคมและการใช้ยานพาหนะของ ประชาชนทั่วไป ส่งผลกระทบต่อธุรกิจสำคัญ รวมทั้งเกิดความเดือดร้อนต่อการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตของประชาชน จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพการเดินทางของประชาชนที่จะใช้เส้นทางสาธารณะและกระทบ ต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพการชุมนุมที่เกินกว่าขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ม.34 และ 63 บัญญัติไว้ ดังนั้น เมื่อ ผอ.รมน.โดย ผอ.ศอ.รศ.รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่แทน ได้อาศัยอำนาจตาม ม. 18 พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ออกข้อกำหนดและข้อประกาศห้ามแกนนำทั้งห้าและผู้ชุมนุมทั้งหมดออกจากพื้นที่ ที่ชุมนุมแล้ว ข้อกำหนดและประกาศดังกล่าวจึงมีสภาพบังคับอยู่ในตัว และ เมื่อมีประกาศใช้แล้วย่อมมีผลบังคับได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมาร้องขอให้ศาลออกคำบังคับตามข้อกำหนดดังกล่าวอีก และหากมีการฝ่าฝืน ผู้ฝ่าฝืนนั้นย่อมมีโทษตาม ม.24 ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และ กอ.รมน.มีอำนาจที่จะดำเนินการได้ตามที่เห็นสมควรและตามความจำเป็น เพื่อให้มีการปฏิบัติตามข้อกำหนดและประกาศ ซึ่งหมายถึงมีอำนาจในการป้องกัน ปราบปราม ระงับ ยับยั้งและแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่กระทบต่อความมั่นคง ตามที่บัญญัติไว้ใน ม.16 พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ กรณีของผู้ร้องจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลอีก จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ตาม ป.วิ แพ่ง ม.55. -สำนักข่าวไทย
ศาลแพ่งยกคำร้อง ชี้ กอ.รมน.มีอำนาจดำเนินการเสื้อแดงได้