จากประชาชาติธุรกิจ
กรมโยธาฯยกเครื่องใหม่กฎหมายผัง เมือง ขยายอายุผังเมืองจาก 5 ปี เป็น 10 ปี แถมต่ออายุได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี อุดช่องโหว่เกิดสุญญากาศผังเมืองหมดอายุ เล็งคุมเข้มการใช้ประโยชน์ที่ดิน นำ FAR และ OSR ใช้ในพื้นที่ต่างจังหวัด พร้อมดึงตัวแทนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บีโอไอ การเคหะฯ ธนารักษ์นั่งในบอร์ดเพิ่ม ตั้งบอร์ดเล็กคุมผังเมืองจังหวัด ชี้ผังเมือง กทม.ปรับใหม่แน่ หลังหมดอายุ พ.ค.ปี"54
นายอุดม พัวสกุล อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมโยธาธิการและผังเมืองอยู่ระหว่างปรับแก้ไข พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ. 2518 ใหม่ทั้งฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยจะครอบคลุมทั้งระดับประเทศและชุมชน ทั้งนี้ ขณะนี้ตัวร่าง พ.ร.บ.การผังเมือง พ.ศ...ฉบับใหม่ อยู่ ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา
สาระสำคัญ ของร่างกฎหมายที่จะปรับใหม่มีหลายประเด็น เพราะเป็นการแก้ไขทั้งฉบับ แต่หลักใหญ่ ๆ คือ 1. จะขยายอายุการบังคับใช้ผังเมือง จากเดิม 5 ปี และต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี รวม 7 ปี จะปรับแก้ไขให้มีอายุการบังคับใช้ 10 ปี ขยายอายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ปี รวมเป็น 14 ปี ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุญญากาศช่วงผังเมืองหมดอายุ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างรอบปี หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ก็สามารถปรับรายละเอียดเนื้อหาใหม่ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีผังเมืองในพื้นที่ต่าง ๆ กว่า 70 ผังเมืองที่ขาดอายุ จากทั่วประเทศมีทั้งหมดกว่า 150 ผังเมือง
2.เพิ่มองค์ประกอบข้อ กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยมีแนวคิดให้นำอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (FAR ) และพื้นที่ว่างต่อพื้นที่อาคารรวม (OSR) รวมถึงประเภท ขนาด ความสูง ระยะถอยร่นมาใช้กับผังเมืองรวมทุกจังหวัด เหมือนกับที่กำหนดไว้ในผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปัจจุบัน เพื่อคุมการใช้ที่ดินมากขึ้น
3.ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการผัง เมืองให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ให้มีตัวแทนจากบางหน่วยงานเพิ่มขึ้น เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กรมธนารักษ์ ฯลฯ นอกจากนี้ ให้มีคณะกรรมการผังเมืองจังหวัด เพื่อกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ภูมิภาค เพื่อให้การวางผังเมืองรวมจังหวัดรวดเร็วขึ้น 4.ลดระยะเวลาการปิดประกาศรับฟังความคิดเห็นสำหรับผู้มีส่วนได้เสียจาก 90 วัน เหลือ 30 วัน เพื่อความรวดเร็วในการวางผังเมือง
นอกจากนี้ ได้เพิ่มบทกำหนดโทษ โดยเพิ่มโทษจำคุก จากไม่เกิน 6 เดือน เป็นไม่เกิน 1 ปี เพิ่มโทษปรับ จากไม่เกิน 10,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และให้เกิดความเกรงกลัวที่จะจงใจฝ่าฝืนข้อกำหนดผังเมือง
นายอุดม กล่าวว่า สำหรับผังเมืองรวม กทม.ฉบับปัจจุบัน ซึ่งใกล้จะครบกำหนดอายุบังคับใช้วันที่ 15 พฤษภาคม 2554 กทม.กำลังดำเนินการปรับปรุง จากนั้นจะเสนอให้บอร์ดผังเมืองพิจารณาอนุมัติ แต่ถ้าดำเนินการให้แล้วเสร็จไม่ทัน ก็อาจขยายอายุออกไปอีก 1 ปี
"สำหรับ ผังเมือง กทม.ฉบับใหม่ จะมีการปรับเปลี่ยนเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินบางส่วน และค่อนข้างซีเรียสเรื่องการพัฒนา แต่ข้อกำหนดหลัก ๆ จะคงเดิม เช่น FAR และ OSR เป็นต้น"
ขณะที่ผังเมืองรวมนนทบุรี ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขเช่นกัน ซึ่งในรายละเอียดจะต้องให้เชื่อมโยงกับผังเมืองจังหวัดใกล้เคียง กทม. ปทุมธานี ส่วนผังเมืองจังหวัดใน 72 จังหวัด ที่ยังไม่มีผังเมืองรวมบังคับใช้ อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยจะโฟกัสพิเศษใน พื้นที่เพิ่งเป็นที่ตั้งของตัวจังหวัด และให้อำนาจท้องถิ่นมากขึ้น
นอก จากนี้ ปัจจุบัน กรมมีโครงการ "การพัฒนาตามผังเมือง" เพื่อเสริมการพัฒนาแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามผังเมืองด้วย เมื่อประกาศบังคับใช้ผังเมืองแล้ว การดำเนินการบางอย่างไม่เป็นไปตามที่กำหนด เช่น การก่อสร้างถนน เป็นต้น สาเหตุมาจากขาดแคลนงบประมาณ ซึ่งกรมจะเข้าไปดูแลในบางเรื่อง โดยปีนี้ได้งบประมาณกว่า 100 ล้านบาท ก่อสร้างถนนนำร่อง 2 พื้นที่ในเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา และเขตเทศบาลเมืองจังหวัดกาฬสินธุ์ ในอนาคต นอกจากถนนแล้ว จะมีโครงการบำบัดน้ำเสีย ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ โดยปีนี้ กรมได้รับจัดสรรงบประมาณรวม 4,400 ล้านบาท