จากประชาชาติธุรกิจ
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้เผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต้องถูกคำครหาจากชุมชนชาวออนไลน์ ถึงเรื่อง ′พอเพียง′ แต่ขับ ′เฟอร์รารี่′ วันนี้ ดร.สุเมธ มีโอกาสขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานครบรอบ 10 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงขอใช้โอกาสชี้แจงประเด็นรถหรูไปพร้อมกัน
เมื่อช่วงเช้าของวันนี้ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และประธานกรรมการมูลนิธิ ประเทศไทยใสสะอาด ได้ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง "การเสริมสร้างคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อสังคมไทยใสสะอาด" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานครบรอบ 10 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยจัดขึ้นที่ห้องประชุมชั้น 9 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน อาคารรวมหน่วยราชการ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ
วันนี้ ดร.สุเมธ ในวัย 71 ปี ยังคงยืนยันการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ยังยอมรับว่ายังมีกิเลส มีความอยาก และยังคงต่อสู้กับกิเลสเหล่านั้นอยู่ตลอด ชนะบ้าง แพ้บ้าง ตามประสามนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง
ประชาชาติธุรกิจได้เข้าร่วมฟังปาฐกถาของผู้อาวุโสท่านนี้ มาดูสิว่า คุณธรรมจริยธรรมเพื่อสังคมไทยนั้นเป็นอย่างไร และพลาดไม่ได้ ถ้อยแถลงเกี่ยวกับประเด็น "เฟอร์รารี่"
...........
ณ เวลานี้ ถามว่าอะไรที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ เมื่อเราออกจากห้องนี้ไป เราก็จะกลับไปสู่ทุนนิยม ไม่ได้มีการคิดถึงความดี ที่เหมือนจะกลายเป็นสิ่งที่ปลูกฝังไม่ได้ ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องเงินทอง
จริงอยู่แม้เราจะเห็นผู้คนต่อสู้ แต่เงินก็มีอิทธิพลต่อทุกสิ่งอย่างในโลก เกียรติยศก็ซื้อได้ ตำแหน่งก็ซื้อได้ ความดีก็ซื้อได้ ปริญญาก็ซื้อได้ แม้กระทั่งอนาคตของเด็ก เราก็ยังจ่ายเงินเพื่อให้พวกเขาได้เขาโรงเรียนที่ดี
และกับวันนี้ที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ ประชาธิปไตย ผมอยากรู้ว่า ใจจริงๆ นั้นใช่หรือเปล่า
จึงไม่น่าแปลกที่ในเวลานี้ไม่ว่าผมจะไปบรรยายที่ไหนก็ดูจะเป็นเรื่องที่ซ้ำ ซาก คอมมิวนิสต์ เสรีนิยม สังคมนิยม ทุนนิยม อะไรก็แล้วแต่ เวลานี้โลกถูกครอบด้วยบริโภคนิยมแม้กระทั่งประเทศที่เชยที่ สุด ล้าหลังที่สุด ก็ยังเดินไปสู่ความเป็นบริโภคนิยม ใช้ของแบรนด์เนม แต่งเนื้อแต่งตัว จนจำกันไม่ได้แล้ว
หากจะบอกว่า บริโภคนิยมเป็นต้นตอของหายนะของโลกก็คงไม่เกินจริง เพราะทุกนาทีที่เราใช้ชีวิตอยู่ เราถูกกระตุ้นให้บริโภค ผ่านไปทางไหนก็เจอแต่สินค้าลดราคา 50% 60% 70% ถามตัวเองเถิดว่า ของในบ้านเราเยอะไหม เสื้อผ้าครึ่งตู้ ผมมั่นใจว่าคุณไม่ได้ใช้
ทีนี้ทุกสิ่งที่เราใช้ ถามว่ามาจากไหน เราระดมมาจากทรัพยากรในโลก ทุกวันนี้เราทำลายโลกทุกวินาที เอาทรัพยากรไปใช้ไม่พอ ยังคายคาร์บอนกลับคืนสู่โลก
ในโลกนี้ คนอเมริกันบริโภคมากกว่าเราถึง 6 เท่า เขาบอกว่าถ้าโลกนี้ทุกประเทศบริโภคเท่ากับคนอเมริกัน เราต้องมีโลกถึง 6 ใบ
ผลพวงจากการบริโภคกระหน่ำของเราได้นำมาซึ่งภัยธรรมชาติมากมาย คล้ายเป็นสัญญาณเตือนอะไรถึงเราหรือเปล่า ครั้งหนึ่งในหลวงทรงเตือนเรา "ระวังนะ พวกเราชอบรังแกธรรมชาติ ระวังเขาจะโกรธ แล้วเขาจะทำโทษเรา"
อีกทั้งเดี๋ยวนี้คนเราไม่ได้มองต้นไม้ว่าเป็นธรรมชาติ ไม่ได้มองว่ามันมีหน้าที่ดูดคาร์บอนไดออกไซค์ สร้างออกซิเจน แต่เรามองว่าเป็นสินค้า พื้นที่ป่าวันนี้จึงเหลืออยู่ไม่มาก เผลอทีก็เหลือแค่ตอแล้ว กว่ามันจะโตต้องใช้เวลาหลายสิบปี แต่เราทำลายมันในเวลาไม่ถึง 10 นาที
ฉะนั้นหากมองลึกลงไป ทำไมจึงบริโภคนิยม ก็เพราะกิเลสตัณหา ที่มาทำลายจริยธรรม คุณธรรม ถ้าจะทำให้ได้เหมือนหัวข้อปาฐกถาวันนี้ เราจำเป็นต้องควบคุมกิเลสตัณหาของเราให้ได้ แต่ทีนี้มันก็เป็นเรื่องที่ยากมาก
การเป็นทุนนิยมนั่นหมายถึงการผูกติดกับตัวเลข จีดีพี หรือผลกำไรนานา แต่ถ้ามองย้อนกัลบไปตอนวิกฤตต้มยำกุ้งที่โอดครวญกันหนักหนา 3 ปีก่อนหน้านั้น เราเติบโต 12 กว่า 3 ปีซ้อน ไม่เคยทำไรได้มาก่อน แต่ทุกสิ่งล้วนมีสัจธรรม ลูกโป่งที่ใหญ่ขึ้นๆ วันหนึ่งมันก็ต้องแตก
ผมอยากบอกว่า ผมมีความสุขตอนที่ผมจนที่สุด มีชุด 4 ชุด มีบาตร มีห้องเล็กๆ ขนาดกวาดพื้นสี่ครั้งทั่ว กว่าจะได้ทานอาหารมื้อหนึ่งต้องเดินลงไป 3 กิโลเมตร ผมบวชวัดป่า พระวัดป่าฉันท์มื้อเดียว น้ำหนักผมลดเอาๆ ลดไป 5 กิโลกรัม แล้วมันก็อยู่ตัว นั่นหมายความว่า ตอนอยู่ในเมือง 5 กิโลกรัมที่เกินมาคือสังคม ตำแหน่งการงาน กินเลี้ยงตอนเย็น นั่นคือสิ่งที่เกินมา
ทุกวันนี้กลับมาอยู่ในเมืองต้องกินยาบรรเทากิเลส แถมยังป่วยเป็นโรคแพ้อากาศ ทั้งที่ตอนบวชนั้นไม่ป่วยไม่เป็นอะไร ไม่ต้องทานยา เดินบินฑบาต ทำวัตรเช้าเย็น กลับทำให้ร่างกายแข็งแรง
กลับมาที่กิเลส ไม่ใช่ว่าผมไม่มีนะ ก็มีอย่าง มัตซึซากะสเต็ก อยากทานนะ ชิ้นละ 9,999 บาท คำละพัน กิเลสนั้นช่างหอมหวาน
ทุก วันนี้เราติดกับซากที่ห่อหุ้มมากกว่าเนื้อแท้ที่เป็นจริง ผมขับรถแอคคอร์ดเก่าๆ ยามเห็นเขาก็ให้ผมไปจอดข้างหลัง แต่ถ้าลองเป็นเบนซ์มาเขาให้จอดข้างหน้า หรือผมไปซื้อรถโฟล์ก 37,000 บาท แต่ซ่อมไปแสนกว่าบาท แถมตอนออกจากราชการ ผมก็ใช้เงิน 5 แสน ซื้อรถสปอร์ต เพราะอยากได้ โคโรลล่า มือสอง แต่ใครไม่รู้ไปเขียนแซวมาผมถอยเฟอร์รารี่ กลายเป็นข่าวคึกโครมไปทั่ว
จะเห็นว่าทุกคนนั้นมีกิเลสอยู่ เราต้องพยายามเตือนสติตัวเองให้มาก
นอกจากนี้ความน่ากลัวของทุน ของการบริโภค คือทุกอย่างขายได้หมด ดิน น้ำ ป่าไม้ ขายได้หมด ขายคนด้วย
ล่าสุดประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นรองแชมป์ คอรัปชั่นมากที่สุดในเอเชีย แชมป์คืออินโดนีเซีย ขณะที่กัมพูชาได้อันดับ 3 อินเดีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ตามเป็นที่ 6 ขนาดฟิลิปปินส์ยังไปอยู่ที่ 6 คุณธรรมในประเทศที่มีการคอรัปชั่นมากขนาดนี้คงเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง
ถ้าเราสำนึกแล้วว่า มันถึงเวลาที่จะต้องทำอะไรกับ ผมก็ขอยกพระบรมราโชวาทของในหลวงที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2525 "การทำดีนั้นทำยาก และเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ความชั่วซึ่งทำได้ง่าย จะเข้ามาแทนที่และจะพอกพูนอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว......"
แต่สังคมเราก็สร้างคนขึ้นมาผิดรูปผิดร่าง เราชอบสร้างคนเก่ง เก่งอย่างเดียว แต่ไม่ได้มุ่งจริยธรรมคุณธรรม พอเป็นเช่นนี้ คนเก่งเหล่านี้ก็จะใช้ความเก่งในการแสวงหาผลประโยชน์ ดังพระบรมราโชวาทของในหลวงที่ให้ไว้ตั้งแต่ปี 2522
"การสอนให้คนเก่งนี้ ถ้าดูเฉพาะบางแง่บางมุม อาจเห็นว่าดี ว่าสอดคล้องต้องกับสมัยเร่งรัดพัฒนา แต่ถ้ามองให้ถี่ถ้วนรอบด้านแล้ว จะเห็นว่าการมุ่งสอนคนให้เก่งเป็นเกณฑ์ อาจทำให้เกิดจุดบกพร่องต่างๆ ขึ้นในตัวบุคคลได้ไม่น้อย
ข้อ หนึ่ง บกพร่องในความคิดพิจารณาที่รอบคอบและกว้างไกล เพราะใจร้อนเร่งจะทำการให้เสร็จโดยเร็ว เป็นเหตุให้การงานผิดพลาด ขัดข้อง และล้มเหลว
ข้อสอง บกพร่องในความนับถือและเกรงใจผู้อื่น เพราะถือว่าตนเป็นเลิศ เป็นเหตุให้เย่อหยิ่ง มองข้ามความสำคัญของบุคคลอื่น และมักก่อความขัดแย้งทำลายไมตรีจิตมิตรภาพตลอดจนความสามัคคีระหว่างกัน
ข้อสาม บกพร่องในความมัธยัสถ์พอเหมาะพอดีในการกระทำทั้งปวง เพราะมุ่งหน้าแต่จะทำตัวให้เด่น ให้ก้าวหน้า เป็นเหตุให้เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบ
ข้อสี่ บกพร่องในจริยธรรมและความรู้จักผิดชอบชั่วดี เพราะมุ่งแต่จะแสวงหาประโยชน์เฉพาะตัวให้เพิ่มพูนขึ้น เป็นเหตุให้ทำความผิดและความชั่วทุจริตได้ โดยไม่รู้สึกสะดุ้งสะเทือน"
ฉะนั้นในยุคที่บริโภคนิยมครอบงำ เราจึงจำเป็นต้องถือคุณธรรม 4 ประการของในหลวง
ประการแรก คือ การรักษาความสัตย์ ความจริงใจต่อตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง คือ การรู้จักข่มใจตนเอง ฝึกใจตนเองให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในสัจจะความดีนั้น
ประการที่สาม คือ ความอดทน อดกลั้น และอดออมที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัตย์สุจริตไม่ว่าด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่ คือ การรู้จักละวางความชั่ว ความทุจริต และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง