จากประชาชาติธุรกิจ
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันคอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกเพศทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อประโยชน์ในการทำงานหรือค้นหาข้อมูล รวมถึงใช้เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลิน โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2551 คนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้คอมพิวเตอร์จำนวน 16.99 ล้านคน ในบ้านทุก 100 ครัวเรือน จะมีบ้านที่มีคอมพิวเตอร์ 24.8 เครื่อง การใช้คอมพิวเตอร์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากในปี 2547 มีผู้ใช้ 12.54 ล้านคน
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผลจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม จะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ เกิดอาการที่เรียกว่าซีวีเอส (CVS:Computer Vision Syndrome) ซึ่งมี 2 กลุ่มอาการใหญ่ๆ กระทบต่อการทำงานของอวัยวะ ได้แก่ ตา เนื่องจากใช้มองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และกระทบต่อระบบกล้ามเนื้อและกระดูกซึ่งจะเกี่ยวกับท่านั่งขณะใช้ คอมพิวเตอร์ ในกลุ่มหลังนี้ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีที่มีปัญหาเรื่องโรคต่างๆ เช่น โรคข้อ ระบบกล้ามเนื้อ ซึ่งนับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น หากใช้คอมพิวเตอร์ไม่ถูกวิธี ก็จะมีปัญหาทั้งสายตาและมีอาการปวดไหล่ ปวดคอมากขึ้น
ขณะที่ นายแพทย์ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า มีผลการวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน จะทำเกิดให้เกิดสายตาสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 โดยเฉพาะเด็กมักจะใช้คอมพิวเตอร์ตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ที่สายตาสั้นอยู่แล้วจะทำให้สั้นมากขึ้น ซึ่งจะจัดอยู่ในกลุ่มอาการทางตา แต่ไม่มีตัวเลขที่แน่นอน ปัจจุบันในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน ฮ่องกง พบว่ามีเด็กสายตาสั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 แต่ไม่มีอันตรายต่อตา มีเพียงผลข้างเคียงเช่นอาการล้า ตาแห้ง ตามัวชั่วคราว ไม่ถึงขั้นตาบอด และมีอาการคอเคล็ด ปวดไหล่ ปวดข้อ ในบางคนจะเป็นระยะยาว สาเหตุที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการทางตา เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานเกิน 25 นาที และตั้งจอคอมพิวเตอร์ที่ปรับระดับไม่เหมาะสมกับสายตา หรือวางเม้าท์ที่ไม่ได้ระดับกับแขน ความสว่างของไฟ การนั่งเป็นเวลานาน เป็นต้น
นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อว่า การจ้องมองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน มีผลต่อระบบของการกรอกตา ระบบกล้ามเนื้อและประสาท ซึ่งจะเกิดหลังจากใช้สายตานานผิดปกติ ทำให้เกิดอาการดวงตาล้า ดวงตาตึงเครียด ตาช้ำ ตาแดง แสบตา การมองเห็นภาพไม่ชัดอยู่ในลักษณะภาพมัวๆ น้ำตาไหลมาก ปวดหัว ปวดคอ ปวดไหล่และหลัง
ในการป้องกันปัญหาทางสายตาจากการใช้คอมพิวเตอร์ แนะนำว่าควรกระพริบตาบ่อยๆ พักสายตาเป็นเวลา 25 นาที พัก 5 นาที หรือ 30 นาที พัก 10 นาที ถ้าหากจำเป็นอย่างน้อย 25 นาทีก็ควรพัก 1 ครั้ง หรือใช้วิธีมองวิวนอกหน้าต่าง มุมห้อง หรือไปเดินเล่น “ถ้าจะให้ดี การงีบหลับบนโต๊ะทำงานหลังอาหารเที่ยงประมาณ 15 นาที จะเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดในเวลาทำงาน และควรใส่แว่นสายตาที่เหมาะสม แว่นที่แนะนำให้ใช้ ควรใช้แว่นตาชั้นเดียว ชนิดใช้เลนส์เคลือบสารป้องกันการสะท้อนของแสง และป้องกันรังสีคลื่นแม่เหล็กด้วย ” นายแพทย์ฐานปนวงศ์กล่าว
นายแพทย์ฐาปนวงศ์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากมีอาการเมื่อยล้า ปวดหัว ซึ่งเกิดจากการเครียด ปวดที่ไหล่ ข้อมือ หลัง ขา ซึ่งเป็นอาการทางระบบกล้ามเนื้อและข้อ ต้องไปพบแพทย์ การรักษาจะต้องใช้เวลานานเป็นลูกโซ่ต่อเนื่อง บางรายอาจต้องใช้ยากิน ยาหยอดตา เช่น น้ำตาเทียม บางรายต้องใช้กายภาพบำบัดควบคู่ไปด้วย เพื่อให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
วิธีการป้องกันอาการที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดคือ การจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม เช่น วางคอมพิวเตอร์ให้ห่างจากตาประมาณ 20-26 นิ้ว วางคีย์บอร์ดและเม้าท์ให้อยู่ต่ำกว่าศอก แสงไฟไม่ควรส่องจากด้านหลัง และที่สำคัญไม่ควรส่องเข้าหาจอคอมพิวเตอร์ การปรับคอมพิวเตอร์ควรปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีความสว่างเท่ากับความสว่าง ของห้อง ปรับความถี่ของคอมพิวเตอร์อยู่ในระดับ 70-80 เฮิร์ต หรือปรับให้สูงสุดเท่าที่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ยังรู้สึกสบายตา การใช้ตัวหนังสือควรใช้ตัวหนังสือสีดำบนพื้นสีขาว ใช้แผ่นกรองแสง และดูแลหน้าจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้มีฝุ่นเกาะติด เพื่อทำให้การมองเห็นชัดเจน นายแพทย์ฐาปนวงศ์กล่าว