สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

อภิสิทธิ์ ทิ้งร่มแผนปรองดองสงบชั่วคราว-ระยะยาวปรับแผนสู้!

จาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

แผนปรองดองแห่ง ชาติ 5ข้อจะเป็นแค่ผ่อนคลายสถานการณ์ชั่วคราว ไปสู้กันในศึกเลือกตั้ง รอปรับแผนสู้ในระยะยาว ที่อาจเจอแรงเสียดทานอีกหลายอย่าง

ผู้นำรัฐบาลถือฤกษ์รับวัน ฉัตรมงคล เสนอปรองดองแห่งชาติ หรือโร้ดแม็ป 5 ข้อ สรุปคือ 1.เทิดทูนสถาบันกษัตริย์ 2.ปฏิรูปสังคมให้เกิดความเป็นธรรม 3.สื่อเสนอข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ 4.ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ เหตุการณ์ 10 เมษาแยกคอกวัว 22 เมษาสีลม 28 เมษาดอนเมือง 5.รื้อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลิดรอนสิทธิทางการเมือง 

ถ้าถูกยอมรับก็จะนำไปสู่การเลือกตั้ง กำหนดไว้เบื้องต้น 14 พฤศจิกายน 2553

เรื่องนี้พอจะเข้าใจได้ เพราะการปราบปรามและต้องนองเลือดอีกย่อมไม่เป็นผลดีต่อนายกฯอภิสิทธิ์ ถ้าไม่ปราบทางเสื้อแดงก็พร้อมจะชุมนุมอยู่ต่อไปให้เหมือนกลุ่มพันธมิตร

ที่เห็นและเป็นอยู่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สุเทพ เทือกสุบรรณ สั่งการกลไกรัฐไม่ได้เต็มที่ นายทหารใหญ่ และนายตำรวจใหญ่ไม่พร้อมจะปราบ ขณะที่อยู่ในอำนาจยังถูกคุกคาม ข่มขู่สารพัด ถ้าลาออก หรือปราบปรามนองเลือดอีกแล้วยุบสภา ก็ยิ่งอันตรายแก่ตัวเอง

ส่วนแกนนำ นปช.เพลี่ยงพล้ำมาตลอด กับขบวนการเสื้อแดงที่เร่งรีบรุกไล่รัฐบาล เจอข้อเสนอนี้จึงรับตกลงง่ายดาย ทั้งๆ ที่ต่างจากข้อเรียกร้องเดิมลิบลับ จากให้ยุบสภาทันที มาเป็นยุบภายใน 15 วัน ยุบภายใน 30 วัน กระทั่งยอมรับเกณฑ์ 6 เดือน

จะไม่เรียกว่าได้กระไดลงดอกหรือ เพราะดันทุรังชุมนุม ภาพลักษณ์ติดลบทุกวัน บุคคลที่เชื่อว่าเกี่ยวโยงถูกจับกุมพร้อมอาวุธสงคราม ให้ปากคำพาดพิงพัวพัน โดยเฉพาะการบุกค้นโรงพยาบาลจุฬาฯ

ดังนั้น นปช.จึงมีมติ 4 ข้อต่อรัฐบาล สรุปคือ 1.ให้รัฐบาลระบุจะยุบสภาวันไหน 2.ยกเลิกการคุกตามทุกรูปแบบ 3.นปช.ไม่ขอนิรโทษกรรมให้ตัวเองข้อหาโค่นล้มสถาบัน และก่อการร้าย 4.ยุติดึงสถาบันลงสู่ความขัดแย้ง

เรื่องนี้ไม่ง่าย ไม่ใช่เฉพาะฝ่าย นปช.แถลงยอมรับเท่านั้น ยังต้องในพรรคร่วมรัฐบาล รัฐสภา และองค์กรภาคประชาชน เห็นพ้องกัน

แน่นอนทุกพรรคไม่ชอบถูกยุบ รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้กำลังโดน 2 คดี เงินอุดหนุนพรรค 29 ล้านบาท กับเงินไซฟ่อนมาบริจาคพรรค 258 ล้านบาท

"อภิสิทธิ์"ฝ่าด่าน ไม่เห็นด้วย

โร้ดแม็ปนี้ กับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) และกลุ่มเสื้อหลากสี ส่วนใหญ่ย่อมเห็นด้วยตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ 3 เหตุการณ์สูญเสีย แต่ย่อมไม่พอใจที่จะยุบสภาเร็วเกินไป เพราะไม่อาจจะปฏิรูปสังคมให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรม เกิดสมานฉันท์
 ซ้ำ ยังไม่เชื่อ หลังงดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สื่อขบวนการเสื้อแดงจะเสนอข่าวสารอย่างสร้างสรรค์ ไม่เห็นด้วยกับการรื้อรัฐธรรมนูญ และกฎหมายคืนสิทธิการเมืองให้ 111 กับ 109 คน โดยเฉพาะต้องแน่ใจว่าจะต้องดำเนินคดีแกนนำ นปช. และกลุ่มติดอาวุธ

บางคนในกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงกับว่า อุตส่าห์หนุนช่วย อภิสิทธิ์กลับหักหลัง หักลำ นิติรัฐ นิติธรรม ที่เคยพูดเป็นแค่ลมปาก!

นักวิชาการ นักกฎหมาย หลายคนยังกังขาต่อแนวทางปรองดอง เช่น นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นด้วยกับข้อเสนอ แต่ไม่เชื่อจะทำได้ในระยะที่กำหนด อย่างน้อยต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี

"การปฏิรูปสังคมให้ปรองดอง สมานฉันท์ เป็นสิ่งเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน...หากหลายข้อไม่สามารถปฏิบัติได้ข้อเสนอ ที่มีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 14 พฤศจิกายน จะยังเกิดขึ้นอยู่หรือไม่ หรือนายกฯ และรัฐบาลชุดปัจจุบันจะยังคงบริหารงานต่อไปจนครบวาระ...ต้องระบุให้แน่ชัด ข้อเสนอ 5 ปรองดองเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จถึงจะมีการเลือกตั้ง ใหม่” อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มช. ชี้ข้อสังเกต

วันถัดมา(4 พ.ค.) ต้องตีความบทบาทท่าที ของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ท่าทีไม่พอใจแนวทาง 5 ข้อข้างต้น และอ้างว่าไม่รู้เรื่องมาก่อน ก่อนนี้ต่างยืนยันไม่ยุบสภามาตลอด แม้จะมีคนขอหรือข่มขู่...

ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรนำเรื่องนี้มาหารือกับผู้ใหญ่ในพรรคก่อนหรือไม่ นายชวน ตอบว่า มีกำนันอยู่แล้ว ไม่ต้องหารือกับผู้ใหญ่ (หมายถึงนายสุเทพ)....ในทัศนะของนายชวนมีทางออก ทางเดินเยอะ อยู่ที่จะไปทางใด...เคยคุยกับนายอภิสิทธิ์ว่า ในระบบประชาธิปไตยต้องรักษาหลักนิติธรรมเอาไว้

หากย้อนไปอ่านรายงานเมื่อเดือนเมษา หลังเกิดเหตุการณ์ 10 เมษา 22 เมษา ในที่ประชุม ส.ส.อาวุโสของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตำหนิผู้นำรัฐบาลตัดสินใจไม่เด็ดขาด อ้างถึงผู้ใหญ่ในพรรคมีประสบการณ์ไม่ได้รับเกียรติเชิญร่วมให้ข้อมูล เสนอแนะต่อนายกฯ
 
เกมเปลี่ยน ใครได้ ประโยชน์

ก่อนนั้น นายสุเทพ ผอ.ศอฉ. บอกจะนำรถยานเกราะบุกเข้าไปราชประสงค์และไม่รับประกันความปลอดภัยของแกนนำ แต่รุ่งขึ้นนายกฯกลับเสนอแผนปรองดอง จึงถือว่าเป็นการกลับลำ 90 องศา

ผังขบวนการล้มเจ้า ซึ่งเป็นการกล่าวหารุนแรง เช่นเดียวกับ ข้อหาก่อการร้าย ที่ต้องสืบสาวจัดการฟ้องดำเนินคดีต่อไป จะต้องล้มไปตามข้อเสนอปรองดองกับข้อเรียกร้องของนปช.หรือไม่
จะว่าไปใน ผังดังกล่าว หาใช่ทุกคนจะอยู่ในขบวนการล้มเจ้า ประเด็นนี้สหายเก่าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ยอมรับมีอยู่จริง แต่ผังโยงกว้างเกินไป

กับขบวนการล้มเจ้า ถูกซ้ำด้วย เนวิน ชิดชอบ "แอ็คตัวพ่อเสื้อน้ำเงิน" แกนนำพรรคภูมิใจไทย เคยน้ำตาเอ่อบอกรักชาติปกป้องสถาบันมาแล้วครั้งหนึ่ง ได้จังหวะดีอีกหลังผังล้มเจ้าออกมา ก็ถล่มพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และประกาศจะอยู่แถวหน้าปกป้องสถาบันกษัตริย์
ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทย ก็ทำนองเดียวกับ พรรคประชาราช คือ แยกตัวจากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบ เสนาะ เทียนทอง เคยประณามทักษิณบนเวทีพันธมิตรฯ ต่อมาเมื่อเห็นได้ประโยชน์ก็กลับไปถือหางทักษิณอีก

พรรคภูมิใจไทยมากอดคอร่วมรัฐบาล ก็ได้รับประโยชน์หลายอย่างจากโครงการต่างๆ เม็ดเงินงบประมาณมหาศาล รวมถึงการโยกย้ายข้าราชการมหาดไทย

ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทยก็ถูกสาธารณชนตั้งข้อสงสัยมากที่สุดถึงความไม่สุจริต โปร่งใสหลายกรณี เช่น เช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน ร้องเรียนทุจริตสอบโรงเรียนนายอำเภอ ล็อกสเปคจัดซื้อคอมพิวเตอร์จัดระบบทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน

การตั้งตัวเป็นศัตรูกับทักษิณ ขบวนการเสื้อแดง และต้องลงสนามเลือกตั้งขณะที่ยังไม่พร้อม สถานการณ์บ่มยังไม่สุกงอมพอ คือ อภิสิทธิ์สั่งปราบมือเปื้อนเลือดอีก พรรคประชาธิปัตย์ถูกสั่งยุบ พรรคเพื่อไทยตกต่ำ เพราะผูกติดกับขบวนการเสื้อแดง

ถ้าเข้าโมเดลนี้ พรรคภูมิใจไทยจะได้กินหลายต่อพร้อมกับเข้าฮ็อส!

กลับมาคิดเรื่องพรรคประชาธิปัตย์ หากในพรรคมีท่าทีเช่นว่า ย่อมแสดงถึงผู้ใหญ่ของพรรคนี้ก็เห็นเรื่องคอขาดบาดตายของบ้านเมืองเป็น เรื่องเล็ก กว่าการถือยศถืออย่าง ถืออาวุโส น่าคิด น่าตำหนิ นายชวนจะไม่มีปัญญาแนะนำทายาทการเมืองเลย

ประมวลท่าทีเหล่านี้ อาจตีความว่า คือการตัดหางอภิสิทธิ์, สุเทพ

แต่คิดกลับกัน นี่อาจเป็นการแบ่งกันเล่นบท เพื่อรักษาภาพลักษณ์บุคลากรของพรรค เพื่อรอตั้งพรรคใหม่ หากเกิดอุบัติเหตุพรรคประชาธิปัตย์ถูกคำสั่งยุบ ซึ่งมีแนวโน้มสูง

นั่นหมายถึงคณะกรรมการบริหารชุด ปัจจุบันต้องหลุดทั้งยวง นั่นหมาย ถึง คนเก่ามีบารมีอย่างนายชวน มีโอกาสมากอบกู้ในนามพรรคใหม่ และมีสิทธิ์เป็นนายกฯได้อีกครั้ง 

แต่การจี้ให้พรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบ ประกาศวันยุบสภาให้ชัดเจน ทำให้รัฐบาลต้องยอมเสียการควบคุมกลไกรัฐไปโดยปริยาย เพราะเป็นไม้ตายสุดท้ายที่ใช้กำชับบัญชาข้าราชการก็หมดความศักดิ์สิทธิ์ ข้าราชการก็ลอยตัว เกียร์ว่าง รอรัฐบาลใหม่ ใครจะมาค่อยว่ากันใหม่

ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า "การยุบสภาผู้แทนราษฎรให้กระทำโดย พ.ร.ฎ. ซึ่งต้องกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันยุบสภา"

หมายความว่า ถ้ากำหนดวันเลือกตั้ง 14 พ.ย. นายกฯก็ต้องยุบสภา อย่างเร็ว 13 กันยา อย่างช้า 28 กันยายน ซึ่งช่วงนี้ สามารถผลักดัน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 ผ่านสภาผู้แทนราษฎรได้แล้ว รวมถึงได้แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือน และทหารเสร็จเรียบร้อยสมประโยชน์พรรคร่วมแล้ว

อาจสรุปเบื้องต้น นี่คือหนทางผ่อนคลายสถานการณ์ร้อนแรง(ชั่วคราว) ในช่วงเฉลิมฉลองวันฉัตรมงคล

อาจสรุปเบื้องต้น ถ้าการชุมนุมไม่ยุติภายในต้นสัปดาห์หน้า เพราะยังไม่กำหนดวันยุบสภาที่แน่ชัด แล้วเกิดเหตุร้ายแรงแทรกซ้อนขึ้นอีก ย่อมแสดงว่า มีกลุ่มไม่ต้องการให้ปิดฉากการชุมนุมตามแผนปรองดองนี้...ต้องจับตา!

view